รู้จักธรรมชาติของงู ความอันตรายที่ป้องกันได้
‘งู’ คือสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่งที่เราต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่ถึงจะรู้จักดีอย่างไร เชื่อว่าใครหลายคนกลับไม่ได้รู้สึกว่างูเป็นสัตว์ที่ใกล้ชิดกับเรามากขนาดนั้น เนื่องจากมีกรณีที่มักพบเจองูที่อาศัยอยู่ตามสถานที่รกร้างหรือตามท่อน้ำ จนมีเหตุการณ์ที่คนถูกงูกัดอยู่บ่อยๆ งูจึงยังได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่อันตรายต่อมนุษย์อย่างเราๆ
อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมกับ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ชวนมาเปิดโลกแห่งอสรพิษในกิจกรรม โลกแห่งอสรพิษ World of Snake ให้ทุกคนได้รู้จักกับ ‘งู’ ในแง่มุมอันหลากหลายมากขึ้น ผ่านนิทรรศการและกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ได้สัมผัสกับงูตัวเป็นๆ อย่างใกล้ชิด เผยแง่มุมที่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้หรือเข้าใจผิดให้ทุกคนได้หาคำตอบไปพร้อมๆ กัน
นายสัตวแพทย์ทักษะ เวสารัชชพงศ์ จากสวนงู สถานเสาวภา สภากาชาดไทย หนึ่งในวิทยากรของกิจกรรมในครั้งนี้ ก็ได้มาให้ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับงูที่อาศัยอยู่ในเมือง ว่าแท้จริงแล้วงูเป็นสัตว์ที่อันตรายจริงหรือไม่ ต้องทำอย่างไรเมื่อพบเจองู รวมไปถึงวิธีป้องกันไม่ให้งูเข้าบ้าน
ทำไมงูถึงอาศัยในเมือง
ในประเทศไทยเองมีความหลากหลายของชนิดงูค่อนข้างมาก คือมีอยู่ประมาณ 200 กว่าชนิด แบ่งออกเป็นงูที่อาศัยอยู่ในป่าเพียงอย่างเดียวและงูที่สามารถอาศัยอยู่ในเมืองได้ด้วย ขึ้นกับลักษณะแวดล้อมในบริเวณนั้น ซึ่งในเมืองก็สามารถพบเจอได้ทั้งงูมีพิษและไม่มีพิษ ประเภทของงูไม่มีพิษที่พบเจอมากได้แก่ งูเหลือม, งูเขียวพระอินทร์, งูสิง, งูปี่แก้ว, งูลายสอ ส่วนงูพิษที่พบเจอได้แก่ งูเห่าไทย, งูเขียวหางไหม้
มีการสันนิษฐานว่าเมื่อเมืองมีการขยายตัว รวมถึงการการปรับพื้นที่ดิน ทำให้สัตว์ต่างๆ ที่เคยอาศัยอยู่มีการปรับตัว การที่งูอาศัยอยู่ในพื้นที่ในเมืองจะขึ้นอยู่กับลักษณะของที่อยู่อาศัย ตามโพรง ตามหลืบ รอยแตกใต้อาคาร หรือใกล้แหล่งชุมชน เนื่องจากมีอาหารให้ล่า แต่ก็ต้องปลอดภัยจากการรบกวนของมนุษย์ด้วย
“จากสถิติคร่าวๆ ของสายด่วน 199 มีการสรุปว่าในเดือนๆ หนึ่งจะมีการโทรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ไปจับงูอยู่ที่ประมาณ 3-4 พันครั้งต่อเดือน หรือเฉลี่ยกว่าร้อยครั้งต่อวัน เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ใช่ตัวเลขที่น้อยเลย จัดเป็นหนึ่งในสัตว์ที่อยู่ในเมืองเยอะมาก” นายสัตวแพทย์ทักษะอธิบายถึงสถิติของปริมาณงูในเมืองที่ถือว่ามีจำนวนมากกว่าที่หลายคนคาดคิด
แม้ว่าการอาศัยของงูในเมืองส่วนใหญ่จะถูกมองว่าเป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่ความจริงแล้ว งูเป็นสัตว์ที่ช่วยสร้างระบบนิเวศในเมืองให้สมดุลได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องของหนูที่อาศัยอยู่ในท่อระบายน้ำ ซึ่งเป็นพาหะนำโรคต่างๆ มาสู่มนุษย์
“อาหารที่งูกินก็มีทั้งกบ เขียด จิ้งจก ตุ๊กแก และหนูตามท่อระบายน้ำ เพราะฉะนั้นความสำคัญของการที่งูอยู่ในเมืองจึงเป็นเรื่องของระบบนิเวศ ซึ่งหนูท่อในกรุงเทพฯ จะตัวใหญ่มาก สร้างความเดือดร้อนให้เรามากมาย ทั้งการทำลายทรัพย์สิน โรคระบาด และความสะอาด เราจะคุ้นเคยว่าสัตว์ที่จับหนูเก่งคือแมว แต่จริงๆ แล้วหนูมีขนาดใหญ่จนแมวจับไม่ไหว สัตว์ที่จับหนูได้คืองูเหลือมที่อาศัยอยู่ในท่อระบายน้ำนั่นเอง เลยทำให้มีข่าวว่างูโผล่มาจากท่อหรือคอห่านอยู่บ่อยๆ ถือว่างูช่วยกำจัดหนูไปเยอะมาก ถ้าไม่มีงู ประชากรของหนูคงมากกว่านี้”
จะเห็นได้ว่าแท้จริงแล้ว งูเป็นสัตว์ที่อยู่ใกล้ชิดกับเรามากกว่าที่คิด อีกทั้งยังมีประโยชน์ในเรื่องการกำจัดหนูตามท่อระบายน้ำอีกด้วย
เจองูแล้วต้องทำอย่างไรจึงจะปลอดภัย
ตามปกติแล้ว พฤติกรรมทั่วไปของงูเป็นสัตว์ที่กลัวมนุษย์อยู่แล้ว มักจะหลบซ่อนตัวอยู่เสมอ แต่กรณีที่พบเจองูตามที่ต่างๆ หรือภายในบ้านมักจะเกิดขึ้นเพราะความบังเอิญ การป้องกันอันตรายจากงู สิ่งสำคัญคือการเข้าใจพฤติกรรมและธรรมชาติของงูเสียก่อน
“ด้วยวิธีการสอนของคนรุ่นเก่าที่ทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่างูเป็นสัตว์ที่อันตราย ไม่ควรจะเข้าใกล้ ส่วนตัวถามว่างูมีอันตรายไหม แน่นอนว่ามี เพราะสัตว์ทุกชนิดมีอันตรายในตัวของมันเอง แต่งูบางชนิดที่มีพิษที่อาจอันตรายถึงชีวิต ซึ่งถ้าไม่รู้จักมันจริงๆ ก็ไม่ควรไปเกี่ยวข้อง ยุคสมัยใหม่จึงควรสอนให้อยู่ในหลักความจริงมากขึ้น ไม่ใช่ว่าเจองูมีพิษจะต้องฆ่ามันเพียงอย่างเดียว การป้องกันตัวเองจากงู ต้องทำความรู้จักงูให้มากขึ้น เพราะงูไม่ได้มีนิสัยก้าวร้าว” นายสัตวแพทย์ทักษะเน้นย้ำถึงการทำความเข้าใจกับธรรมชาติของงูให้มากขึ้น
หลังจากที่ทำความเข้าใจแล้ว ถ้าต้องเผชิญหน้ากับงูเข้าจริงๆ นายสัตวแพทย์ทักษะก็มีข้อปฏิบัติที่ถูกต้องมาแนะนำดังต่อไปนี้ “เมื่อเผชิญหน้ากับงูที่อยู่ในบ้าน ต้องตั้งสติก่อน รักษาระยะห่างไว้ อย่าไปตีงูโดยไม่จำเป็น เพราะอาจเสี่ยงต่อการถูกงูกัดได้ วิธีการที่ถูกต้องคือควบคุมพื้นที่ของงูให้อยู่ในห้องปิด แล้วจึงค่อยเรียกเจ้าหน้าที่มาจับ ถ้าเราไม่กันพื้นที่ไว้มันอาจจะหายไปจนหาไม่เจอ หรือถ้าเจองูที่นอนอยู่เฉยๆ ให้ใช้กะละมังหรือถังใบใหญ่ครอบไว้ แต่ต้องไม่ตากแดด ไม่อย่างนั้นงูอาจร้อนตายได้ แล้วจึงค่อยเรียกเจ้าหน้าที่มาจับ เป็นวิธีที่สะดวกและง่ายที่สุด”
ส่วนในกรณีที่พบเจอกับงูพิษอย่างงูเห่าหรืองูเขียวหางไหม้ก็มีข้อปฏิบัติดังต่อไปนี้ “งูเห่าเป็นงูที่ออกอาการเตือนเราอยู่เสมอด้วยการแผ่แม่เบี้ย พยายามรักษาระยะห่างไว้ก่อน อย่าไปตีหรือไล่ เพราะอาจทำให้โดนกัดได้ แต่ถ้าเป็นงูเขียวหางไหม้ที่มักหลบซ่อนตามพุ่มไม้ โอกาสที่จะพลาดแล้วโดนกัดมีมากกว่า วิธีป้องกันคือ ถ้าเราจะเข้าพุ่มไม้หรือจุดที่ไม่แน่ใจ ให้หาไม้แหย่หรือเคาะแรงๆ ก่อน จะทำให้มันขยับตัวออกมาให้เราเห็น”
จากสถิติคนโดนงูกัดจากกระทรวงสาธารณสุข รายงานว่ามีประมาณ 5 - 7 พันรายต่อปีทั้งประเทศ ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณของงูที่พบเจอ สะท้อนการป้องกันที่หากทำความเข้าใจธรรมชาติของงูแล้ว ก็สามารถป้องกันอันตรายได้อย่างเห็นผล
ป้องกันอย่างไรไม่ให้เจองู
นอกจากงูที่พบเจอตามท่อระบายน้ำแล้ว งูที่พบเจอส่วนใหญ่ในเมือง มักจะพบอยู่ตามบ้านที่อยู่อาศัยของเรา เนื่องจากธรรมชาติของงูต้องการอาศัยอยู่ในที่สงบ บ้านจึงเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับงู คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดว่าการใช้ปูนขาว กำมะถัน หรือเชือกกล้วย จะสามารถช่วยป้องกันงูเข้าบ้านได้ ซึ่งเป็นในการป้องกันงูที่เป็นความเชื่อมาแต่โบราณ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานอะไรยืนยันว่าได้ผลจริงๆ
“การป้องกันงูจริงๆ ต้องอาศัยความเข้าใจ คืองูจะมาหาเราเพราะอาหารกับที่อยู่ อย่างแรกคือป้องกันเรื่องอาหารของงู เช่น หนู กบ เขียด ที่ต้องระวังแหล่งน้ำที่สัตว์เหล่านี้อาจมาวางไข่ หรือเป็นจิ้งจกก็ต้องระวังเรื่องแมลงที่ทำให้จิ้งจกมาอาศัยอยู่ ทำให้งูบางชนิดที่สามารถปีนผนังได้เข้ามากินจิ้งจก อย่างที่สองคือที่อยู่อาศัย ที่พบเจอบ่อยๆ คือรอยทรุดใต้ตัวบ้าน ต้องถมปิดให้หมด หรือกองวัสดุที่กองทิ้งไว้บริเวณที่เก็บของ เพราะงูอาจไปอาศัยอยู่ได้ อย่างที่สามคือท่อระบายน้ำ ให้ปิดตะแกรงไม่ให้งูสามารถขึ้นมาได้ หรือเป็นขอบประตูหน้าต่างให้ปิดมุ้งลวดให้หมด” นายสัตวแพทย์ทักษะอธิบายถึงวิธีป้องกันงูเข้าบ้านที่ต้องอาศัยการป้องกันที่ต้นเหตุเป็นหลัก
เชื่อว่าเมื่อได้ทำความเข้าใจกับธรรมชาติของงูแล้ว งูอาจเป็นสัตว์ที่ไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย