5 เรื่องน่ารู้ของปลากัดไทย
หากเอ่ยถึงชื่อของ ‘ปลากัด’ หลายคนคงคุ้นเคยกับปลาตัวเล็ก แต่สีสันสดใสสวยงาม มักเลี้ยงไว้ในขวดโหลขนาดเล็ก แต่เบื้องหลังเจ้าปลาตัวเล็กนี้ คือปลาน้ำจืดพื้นเมืองของไทยที่เลี้ยงไว้เพื่อความสวยงามและอยู่คู่กับวิถีคนไทยมาช้านาน จนกระทั่งปัจจุบันปลากัดเป็นปลาสวยงามนิยมเลี้ยงทั้งในประเทศและต่างประเทศ กลายเป็นปลาเศรษฐกิจที่สร้างรายได้มหาศาลเป็นอันดับหนึ่งให้แก่วงการปลาสวยงามของไทย
อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และฟาร์มปลากัด ขวัญศิริ ฟาร์ม ได้ร่วมเปิดประสบการณ์เรื่องราวที่น่าสนใจของปลากัดกับนิทรรศการ ปลากัด...นักสู้แห่งสยาม (Siamese Fighting Fish) ที่รวบรวมสารพันรายละเอียดที่น่าสนใจ พร้อมด้วยกิจกรรมเวิร์กช็อปต่างๆ ที่ทำให้ใกล้ชิดและรู้จักปลากัดในแง่มุมที่หลากหลายมากขึ้น และต่อไปนี้คือ 5 เรื่องน่ารู้ของปลากัดไทย
1.จากปลานักสู้สู่สุดยอดปลาสวยงาม
ปลากัด เป็นปลาน้ำจืดสายพันธุ์พื้นเมือง พบได้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เดิมทีชาวไทยสมัยโบราณนิยมเลี้ยงปลากัดเพื่อนำมากัดในลักษณะเกมกีฬาคล้ายกับการชนไก่มากว่าร้อยปีแล้ว เพราะปลากัดเป็นปลาที่มีความอดทนในการต่อสู้เป็นระยะเวลานานเพื่อเอาชนะกัน มีคุณสมบัติว่องไว อดทน แข็งแรง มีสัญชาตญาณของการเป็นนักสู้เพื่อปกป้องอาณาเขตของตนเอง โดยลักษณะธรรมชาติในการกัดของปลากัดจะมีลีลาที่สวยงามและมีชั้นเชิงในการต่อสู้ มีการพองครีบให้ขยายใหญ่ขึ้นเพื่อข่มขวัญคู่ต่อสู้ ซึ่งแท้จริงแล้วยังมีปลาอีก 2 ชนิดที่นิยมนำมากัดแข่งขัน นั่นคือ ปลาหัวตะกั่วและปลาเข็ม แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่ากับปลากัด ขณะเดียวกันด้วยสีสันลวดลายสดใสแตกต่างจากปลาชนิดอื่น ปลากัดจึงนิยมนำมาเลี้ยงเพื่อเป็นปลาสวยงามเช่นกัน
2.มีเอกลักษณ์จนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ
ปลากัดไทยถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศไทย ชาวต่างชาติรู้จักปลากัดในชื่อ Siamese Fighting Fish เมื่อปี พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ขึ้นทะเบียนปลากัดให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ไม่ต่างจากข้าวหอมมะลิไทย แต่ถ้าจะเล่าถึงจุดเริ่มต้นต้องย้อนกลับไปเมื่อเกือบร้อยปีก่อน ดร.ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ นักชีววิทยา ชาวอเมริกัน ได้เดินทางมาสู่ประเทศไทยเพื่อศึกษาปลาน้ำจืด ก่อนจะได้เข้ามาช่วยเหลือทางราชการไทยด้านการเพาะพันธุ์สัตวน้ำ ดร.ฮิวจ์มีส่วนสำคัญที่ทำให้ปลากัดเป็นที่รู้จักในระดับโลก โดยเขียนบทความชื่อ "The Fighting Fish of Siam" ลงในวารสารต่างประเทศหลายฉบับ เล่าถึงลักษณะเฉพาะตัวของปลากัด ทั้งลักษณะนิสัยตามธรรมชาติ และที่สำคัญคือการต่อสู้ของปลากัด รวมไปถึงความสวยงามอันเป็นเอกลักษณ์ของปลากัดไทย
3.สายพันธุ์ยิ่งหลากหลาย ยิ่งสวยงาม
เดิมทีปลากัดไทยเป็นปลาที่สามารถพบได้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไป อย่างท้องนาและบึงต่างๆ มีชื่อเรียกสายพันธุ์ว่า ‘ปลากัดป่าหรือปลากัดลูกทุ่ง’ มีลักษณะไม่สวยงามมากนัก ปกติจะมีสีน้ำตาล เทา หรือเขียว แต่เมื่ออยู่ในสภาวะที่ต้องต่อสู้ ตัวผู้จะมีน้ำเงินหรือแดงปรากฏขึ้นชัดเจน และครีบจะพองโตกางออกเต็มที่ ดูสง่าสวยงาม ต่อมามีการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้ปลากัดป่าสามารถกัดเก่งขึ้น อดทนขึ้น จึงมีชื่อเรียกใหม่ว่า ‘ปลากัดลูกหม้อ’ ซึ่งมาจากการใช้หมอดินในการเพาะเลี้ยงระยะแรก มีรูปร่างหนาและใหญ่มากขึ้น ส่วน ‘ปลากัดจีน’ ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์มาจากปลากัดหม้ออีกทีหนึ่ง มีลักษณะครีบและหางยาวขึ้นมากกว่าลำตัวอีกเท่าหนึ่ง ที่สำคัญคือมีการพัฒนาสีสันให้สวยงามมากขึ้น ซึ่งชื่อปลากัดจีน ไม่ได้หมายความว่ามาจากเมืองจีน แต่มาจากครีบที่ยาวกรุยกรายสีสดใสเหมือนชุดงิ้วของจีนนั่นเอง นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาเป็นสายพันธุ์อื่นๆ อีกมากมาย ตามลักษณะของหาง ทั้งปลากัดหางพระจันทร์ครึ่งซีก ปลากัดหางคู่ ปลากัดหางมงกุฎ ฯลฯ
4.ปลากัดจ้องตาแล้วท้องจริงไหม
หลายคนคงเคยได้ยินมาว่า ปลากัดเพียงแค่จ้างตากันก็สามารถท้องได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะปกติแล้วปลากัดตัวผู้จะจ้องตาตัวเมียเพื่อกระตุ้นให้สร้างไข่ในท้อง ก่อนที่ตัวผู้จะรัดตัวเมียเพื่อให้ไข่ออกมาครั้งละ 7-20 ฟอง ตัวผู้จึงปล่อยน้ำเชื้อเข้าผสมกับไข่ แล้วอมไข่ไปพ่นติดกับหวอดที่ก่อไว้บริเวณผิวน้ำ ทำขั้นตอนทั้งหมดนี้ซ้ำๆ จนไข่ของตัวเมียหมดท้อง และสุดท้ายเป็นหน้าที่ของตัวผู้ที่คอยดูแลไข่จนฟักออกมาเป็นตัว กระบวนการทั้งหมดนี้เรียกว่าเป็นการปฏิสนธิภายนอก แตกต่างจากปลาหางนกยูงที่มีการปฏิสนธิภายในและคลอดลูกออกมาเป็นตัวนั่นเอง
5.ปลากัดไทยที่หนึ่งในโลก
แม้ปลากัดจะเป็นปลาตัวเล็กๆ แต่ความสวยงามไม่เล็กไปตามตัว เพราะปลากัดได้รับความนิยมทั้งในบ้านเราและในระดับโลก ทั้งอเมริกา ยุโรป และเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกที่สร้างมูลค่ากว่าร้อยล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว ถือเป็นปลาสวยงามที่มีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของไทย ส่วนหนึ่งที่ปลากัดไทยได้รับความนิยมคงต้องยกเครดิตให้บริษัท Apple ที่เปิดตัว iPhone 6s ด้วยภาพ Wallpaper รูปปลากัดที่เคลื่อนไหวได้ นอกจากความนิยมในการเลี้ยงแล้ว ยังมีธุรกิจการถ่ายภาพปลากัดเพื่อส่งขายในเว็บไซต์ขายภาพถ่าย Stock ระดับโลกอีกด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นภาพถ่ายฝีมือคนไทยอีกด้วย แม้บ้านเราจะเป็นต้นกำเนิดของการเพาะเลี้ยงปลากัดเพื่อส่งออก แต่ระยะหลังประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและมาเลเซียก็เริ่มต้นบุกเบิกธุรกิจนี้แล้ว สร้างการแข่งขันในตลาดเพาะเลี้ยงปลากัดให้มีมูลค่าสูงยิ่งขึ้นไปอีก
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย