วิเคราะห์ความสามารถด้านการอ่านของเด็กไทยผ่านการสอบ PISA
วิเคราะห์ความสามารถด้านการอ่านของเด็กไทยผ่านการสอบ PISA เป็นเอกสารสรุปความรู้เกี่ยวกับโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ซึ่งเป็นเครื่องมือชี้วัดคุณภาพการศึกษาและสามารถเปรียบเทียบศักยภาพในการแข่งขันของเยาวชนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจากนักเรียนวัย 15 ปีของแต่ละประเทศ PISA ประเมินการเรียนรู้ที่สำคัญ 3 ด้าน คือ การอ่าน (Reading Literacy) คณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy) และวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy)
สำหรับการรู้เรื่องการอ่าน (Reading literacy) หมายถึง ความรู้และทักษะที่จะเข้าใจเรื่องราวและสาระของสิ่งที่ได้อ่าน ตีความหรือแปลความหมายของข้อความที่ได้อ่าน และประเมินคิดวิเคราะห์ ย้อนกลับไปถึงจุดมุ่งหมายของการเขียนได้ว่าต้องการส่งสารสาระอะไรให้ผู้อ่าน ทั้งนี้ เพื่อจะประเมินว่านักเรียนได้พัฒนาศักยภาพในการอ่านของตนและสามารถใช้การอ่านให้เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ ในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมและความเป็นไปของสังคมอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่เพียงใด เพราะการประเมินของ PISA นั้นเน้น “การอ่านเพื่อการเรียนรู้” มากกว่าทักษะในการอ่านที่เกิดจากการ “การเรียนรู้เพื่อการอ่าน” และ PISA ประเมินผลเพื่อศึกษาว่านักเรียนจะสามารถรู้เรื่องที่ได้อ่าน สามารถขยายผลและคิดย้อนวิเคราะห์ความหมายของข้อความที่ได้อ่าน เพื่อใช้ตามวัตถุประสงค์ของตนในสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างกว้างขวางทั้งในโรงเรียนและในชีวิตจริงนอกโรงเรียน
นิยามเรื่องการอ่านของ PISA จึงมีความหมายกว้างกว่าการอ่านออกและอ่านรู้เรื่องในสิ่งที่อ่านตามตัวอักษรเท่านั้น แต่การอ่านยังได้รวมถึงความเข้าใจเรื่องราวสาระของเนื้อความ สามารถคิดพิจารณาถึงจุดมุ่งหมายของการเขียน สามารถนำสาระจากข้อเขียนไปใช้ในจุดมุ่งหมายของตน และทำให้สามารถมีส่วนร่วมในสังคมสมัยใหม่ที่มีความยุ่งยากซับซ้อนขึ้น ด้วยการสื่อสารจากข้อเขียน
ผลการทดสอบการอ่านของนักเรียนไทยจาก PISA 2009 มีคะแนนเฉลี่ย 421 คะแนน ในภาพรวมอยู่ในลำดับที่ 50 จากทั้งหมด 65 ประเทศ นักเรียนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 43 รู้เรื่องการอ่านต่ำกว่าระดับพื้นฐาน อีกประมาณร้อยละ 37 รู้เรื่องการอ่านที่ระดับพื้นฐาน (ระดับ 2) ดังนั้น จึงมีนักเรียนเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่มีความรู้และทักษะการอ่านสูงกว่าระดับพื้นฐาน และเกือบจะไม่มีนักเรียนที่รู้เรื่องการอ่านที่ระดับสูงมาก (ระดับ 5 และระดับ 6) มีร้อยละ 0.3 เท่านั้น และเมื่อเปรียบเทียบระดับคะแนนการอ่านของ PISA 2000 และ PISA 2009 พบว่า คะแนนการอ่านของนักเรียนไทยมีแนวโน้มลดลง
คลิกเพื่อดาวน์โหลดเอกสาร