14 ปี TK park ชูแนวคิด Learning to Learn เรียนรู้ที่จะเรียน
มุ่งสร้างสังคมไทยสู่สังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
อุทยานการเรียนรู้ “TK park” ครบรอบ 14 ปี ประกาศพร้อมเป็นพลังสำคัญร่วมสร้างสรรค์สังคมไทยสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ในยุค “Digital Disruption” ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ด้วยแนวคิด Learning to Learn เรียนรู้ที่จะเรียน พร้อมแถลงข่าวเปิดตัว "กิตติรัตน์ ปิติพานิช" ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้คนใหม่ล่าสุด กับพันธกิจการบริหารและพัฒนา TK park ให้เป็นอุทยานการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเปิดตัว 14 แฟนพันธุ์แท้ที่ยืมหนังสือและเข้าใช้บริการอุทยานการเรียนรู้สูงสุดในปี 2561 ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ “TK park” หน่วยงานในสังกัด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดวิสัยทัศน์เกี่ยวกับภารกิจสำคัญในฐานะที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งผู้บริหารอุทยานการเรียนรู้ TK park เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาว่า ตามแนวคิดหลักที่เราจะใช้ในการขับเคลื่อน TK park ในปีนี้ คือ Learning to Learn เรียนรู้ที่จะเรียน และวางเป้าหมายการบริหารและพัฒนาอุทยานการเรียนรู้นี้ไว้ 3 แนวทาง คือการสร้างสรรค์พื้นที่เรียนรู้ต้นแบบแห่งศตวรรษที่ 21 มุ่งสร้างต้นแบบและกิจกรรมการเรียนรู้ด้านนวัตกรรม โดยใช้ศาสตร์ของ Design Thinking & Service Design และเป็นต้นแบบของการแก้ปัญหาโดยใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลางผ่านโครงการ Solution Lab ช่วยประสานความร่วมมือและสร้างแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาในสังคม ต่อมา คือการสร้างความตื่นตัวในการเรียนรู้ คิดเป็น และทำเป็น ให้ขยายไปทั่วประเทศ โดยใช้ Digital Technology และการสร้าง Innovation Capacity ให้เครือข่ายสามารถสร้างนวัตกรรมทางการให้บริการ พร้อมพัฒนาฟังก์ชั่นและฐานข้อมูล TK Public Online Library เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการการเรียนรู้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และสุดท้าย คือ การสร้างแนวร่วมและเครือข่ายการอ่านการเรียนรู้ทุกภาคส่วนให้เข้มแข็ง ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ TK Forum งานเสวนาวิชาการนานาชาติ แนะให้แนว กิจกรรมที่จะช่วยให้เยาวชนค้นหาตนเองก่อนการเลือกเส้นทางการเรียนในอนาคต ทีเคแจ้งเกิด สำหรับเยาวชนที่สนใจในสายดนตรีและนักเขียนเพื่อเรียนรู้และสร้างสมประสบการณ์และทักษะในวิชาชีพนั้นๆ
ในงานยังมีการเสวนาในหัวข้อ “ทำไมต้องเรียน รู้ที่จะเรียน”โดย แคน - นายิกา ศรีเนียน ศิลปินหญิงเดี่ยว อดีตสมาชิกวง BNK 48, ริบบิ้น-นิชาภา นิศาบดี เยาวชนในโครงการ TK แจ้งเกิด นักดนตรี พิธีกรและครีเอทีฟ และ “หนุ่มเมืองจันท์” สรกล อดุลยานนท์ นักเขียนและคอลัมนิสต์ชื่อดัง ที่ล้วนให้แง่คิดและมุมมองเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่น่าสนใจทีเดียว
น้องแคน - นายิกา ศรีเนียน ศิลปินหญิงเดี่ยว อดีตสมาชิกวงBNK 48 กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยี และ โซเชียลมีเดีย เป็นเหมือนเพื่อนสนิทของเธอเลย เช่นเดียวกับอินเทอร์เน็ตและการเรียนรู้แทบจะทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นในห้องเรียน หากเราไม่เข้าใจบทเรียนตรงไหนที่อาจารย์สอน ก็สามารถเปิดยูทูปค้นหาหัวข้อเรื่องเดิม เพื่อที่จะเรียนซ้ำอีกครั้งให้เข้าใจในจุดที่ยังไม่เข้าใจได้ แม้แต่เรื่องดนตรี ภาพยนตร์ อินเทอร์เน็ตถือว่าเป็นช่องทางสำหรับคนที่มีไอเดียใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา แล้วก็สามารถโพสต์ลงในโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ สำหรับคนรุ่นใหม่ๆ พอได้เห็นก็อยากทำตามบ้าง ถือเป็นการเรียนรู้ผ่านสื่อใหม่ใกล้ตัวสำหรับคนรุ่นใหม่
ริบบิ้น - นิชาภา นิศาบดี เยาวชนในโครงการ TKแจ้งเกิด นักดนตรี พิธีกรและครีเอทีฟ กล่าวว่า ตนพูดได้เลยว่า TK park ช่วยเสริมความฝันของตนเองได้จริงๆ ซึ่งเริ่มต้นจากความสนใจด้านดนตรี ซึ่ง TK park ได้มอบโอกาสให้ตน ไม่ใช่แค่เรื่องดนตรีเท่านั้น ที่นี่ยังมีอะไรอีกมากมาย มีห้องสมุดให้เรายืมหนังสือ มีภาพยนตร์ให้เรายืมมาศึกษา มีสารคดีให้เราเรียนรู้ จากที่เราเล่นอูคูเลเล่เป็นงานอดิเรก พี่ๆก็ชวนมาสอนอูคูเลเล่ให้คนอื่นบ้าง จนเป็นแรงบันดาลใจอยากเล่นดนตรีต่อไป เมื่อมาทำงานด้านทีวีตามที่เรียนมา ได้เดินทางไปทำรายการสารคดี ที่ประเทศญี่ปุ่นบ้าง และนี่ก็เป็นก้าวแรกที่ริบบิ้นได้นำประสบการณ์ที่ได้รับจาก TK park ที่ไม่เคยปิดกั้นตนจากการเรียนรู้ มาผลักดันให้เรากล้าออกไปเผชิญโลกกว้างและส่งต่อแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นต่อไป
ด้าน “หนุ่มเมืองจันท์” สรกล อดุลยานนท์ นักเขียนและคอลัมนิสต์ชื่อดัง ให้มุมมองว่า ความรู้ในโลกนี้มีอยู่สองอย่าง รู้ว่ารู้อะไร กับ รู้ว่าไม่รู้อะไร ถ้ารู้ว่าเราไม่รู้อะไรมันมีอะไรที่เราไม่รู้เยอะ และในโลกยุคใหม่นี้ทำให้ประสบการณ์เก่าถูกนำมาใช้ได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น ผมมีโอกาสได้คุยกับนักธุรกิจหลายท่านมาก ทำให้รู้ว่าบางคนพออายุ 50 เขาจะสู้ไม่ค่อยได้จะเริ่มถอยแล้ว แต่บางคนกับรู้สึกว่ามันมีอะไรที่น่าเรียนรู้อีกเยอะ เพราะมันมีสิ่งที่เราไม่รู้เยอะมาก ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่ดีมาก ทำให้รู้สึกว่าจากเดิมที่เคยคิดว่าผมต้องเรียนรู้อีก 20% วันนี้ผมอาจต้องเรียนรู้อีก 60% นั่นหมายถึง สนามนี้เป็นสนามที่มีขนาดใหญ่มาก สำหรับคนที่รู้สึกว่า “ความไม่รู้คือลาภอันประเสริฐ” เลยทำให้รู้สึกว่า มันเป็นสิ่งใหม่ที่เราต้องเรียนรู้อีกเยอะมาก จริงๆกลุ่มเป้าหมายกลุ่มใหญ่ที่ผมมองว่าต้องการการเรียนรู้คือกลุ่มคนทำงาน ในมุมมองของผมมองว่ามันคือโอกาส โอกาสที่มีสิ่งใหม่มาให้เราเรียนรู้ ที่จริงน้ำเต็มแก้วอยู่ดีๆ เทคโนโลยีเข้ามาแล้วทำให้น้ำในแก้วรั่วออกไปครึ่งแก้ว ชีวิตที่มีการเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ เป็นเรื่องสนุก มันมีความหวัง มีสิ่งใหม่มาให้เราได้เรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด นี่คือความโชคดีของคนในยุคนี้
และปิดท้ายด้วย ผอ.TK park นาย กิตติรัตน์ ปิติพานิช ได้ให้แง่คิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ได้น่าสนใจมาก นั่นคือ “ผมเห็นด้วยกับคำว่า “การไม่รู้เป็นลาภอันประเสริฐ” เพราะแม้ว่าผมไม่รู้แต่ผมรู้นะว่าจะไปหาคำตอบด้วยวิธีอะไร อันนี้จึงสำคัญกว่า ซึ่งทักษะตรงนี้ จะเป็นสิ่งที่ทำให้เราต่อยอดพร้อมรับต่อความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ในส่วนของ TK park เราทำเรื่องของพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ เรามีหลายแผนก ห้องสมุดมีชีวิต มีฝ่ายกิจกรรม และอีกหลายๆ แผนก เราจัดการและหาองค์ประกอบบริบทที่มาห้อมล้อมผู้คน เพื่อทำให้ผู้คนอยากจะ ต้องการหาคำตอบอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง TK park เป็นพื้นที่ต้นแบบ ดังนั้นเราจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องผลิตต้นแบบใหม่ๆ ผลิตไอเดียใหม่ๆ ผลิตกิจกรรมใหม่ๆ เรื่อย ๆ ซึ่งทำให้เกิดการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ของผู้ใช้บริการ”
เกี่ยวกับอุทยานการเรียนรู้ TK park
อุทยานการเรียนรู้ TK park เปิดให้บริการครั้งแรกในวันที่ 24 มกราคม 2548 ช่วง14 ปีที่ผ่านมา มีผู้เข้าใช้บริการแล้วกว่า 6 ล้านคน มีการยืม-คืนหนังสือและสื่อการเรียนรู้ ประมาณ 4 แสนครั้งต่อปี ล่าสุดได้ขยายเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้เต็มรูปแบบ จำนวน 25 แห่งในพื้นที่ 19 จังหวัด เครือข่ายแหล่งเรียนรู้ชุมชน Mini TK จำนวน 20 แห่ง และผนึกกำลังกับ 7 หน่วยงานภาคี นำร่องสร้างสรรค์เครือข่ายศูนย์เรียนรู้ใกล้บ้าน 202 แห่ง มุ่งลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ สนับสนุนกระบวนการเรียนรู้สาธารณะ มุ่งเพิ่มทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเองของเด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไป อันจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพชุมชนอย่างยั่งยืน