อุทยานการเรียนรู้ TK park เชิญชวนนักอ่านคอวรรณกรรมเข้าร่วมกิจกรรม TK Reading Club ณ ห้องมินิเธียเตอร์ 2 อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 Dazzle Zone ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในตอน “จับตาย” ของนักเขียนเรื่องสั้นชั้นครูผู้ล่วงลับ แต่ผลงานยังมีชีวิตยืนยาวมาจนปัจจุบัน มนัส จรรยงค์ ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นนักเขียนดีเด่นในรอบร้อยปีเรื่องสั้นไทยอีกด้วย โดยในวันนี้ได้รับเกียรติจากพี่ต้อ หรือที่รู้จักกันดีในนามปากกา บินหลา สันกาลาคีรี มาเป็นวิทยากร ทั้งนี้พี่ต้อได้มาถ่ายทอดเคล็ดลับการอ่านหรือวิเคราะห์เรื่องสั้นอย่างละเอียดอีกด้วย ในส่วนนักอ่านที่มานั่งล้อมวงพูดคุยก็ให้การต้อนรับกันอย่างอบอุ่นทีเดียว
จากนักเขียนนวนิยายประโลมโลกสู่นักเขียนนวนิยายเพื่อชีวิต
พี่ต้อเล่าว่ามนัส จรรยงค์เขียนเรื่องสั้น “จับตาย” เมื่อปี พ.ศ.2485 แต่แท้จริงแล้วมนัสเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่ปี พ.ศ.2473 แล้ว โดยช่วงกลางคืนก็ทำงานหาข่าวไปด้วยเพราะเป็นนักหนังสือพิมพ์ เวลานั้นนวนิยายแบ่งออกเป็นสองแนวคือ แนวบันเทิงจำพวกเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ตอนนั้นมนัสเขียนหนังสือแนวบันเทิงกับแนวหนังสือหนักๆ เพื่อชีวิต มนัสบอกว่าตนประสบความสำเร็จกับแนวบันเทิงแล้ว จึงอยากเขียนเรื่องหนักๆ บ้าง “จับตาย” จึงถือกำเนิดขึ้นมา และเป็นเรื่องแรกที่มนัสใช้ชื่อจริงสกุลจริงว่ามนัส จรรยงค์
พี่ต้อเล่าว่าตนมีโอกาสได้ไปต่างประเทศเพื่อเยี่ยมเยือนบ้านนักเขียนชาวต่างชาติ รัฐบาลให้ความเอาใจใส่ดีมาก แต่กลับกันที่ประเทศไทยรัฐบาลไทยไม่ได้ให้ความสำคัญต่อนักเขียนเท่าที่ควร เราไม่รู้ว่าบ้านนักเขียนไทยเป็นอย่างไร บ้านของมนัส จรรยงค์เองก็เช่นกัน
ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น
พี่ต้อกล่าวว่าช่วงชีวิตคนเรามีอายุไม่เกินร้อยปี แต่งานเขียนที่ดีจะอยู่ยืนยาวกว่าช่วงชีวิตของมนุษย์ เช่น งานเขียนของ ก.สุรางคนางค์ สุวรรณี สุคนธา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ไม้เมืองเดิม รงค์ วงษ์สวรรค์ วาณิช จรุงกิจอนันต์ ฯลฯ รวมถึงมนัส จรรยงค์ด้วย มนัสอายุสั้น แต่งานเขียนของเขาอายุยืนยาว
ทั้งนี้พี่ต้อยังเผยว่าในทัศนะของนักวิชาการอย่างคุณสุจิตต์ วงษ์เทศก็ยังเคยกล่าวว่าผู้ที่เขียนเรื่องแบบไทยๆ ดีที่สุดก็คือ ไม้เมืองเดิม มนัส จรรยงค์ รงค์ วงษ์สวรรค์
งานเขียนแบบมนัส จรรยงค์
พี่ต้อกล่าวว่า มนัส จรรยงค์เขียนเรื่องเรียบๆ ง่ายๆ แต่ทรงพลัง และเขียนเรื่องของคนธรรมดาสามัญทั่วไป ทั้งที่ในยุคนั้นเป็นยุคที่เจ้าเรืองอำนาจมาก งานเขียนในยุคนั้นจึงมักไม่พ้นเรื่องของเจ้า ศักดินา แต่งานเขียนของมนัส จรรยงค์เป็นเรื่องคนธรรมดาสามัญ
มนัส จรรยงค์เป็นคนมีประสบการณ์ชีวิตมาก เรื่องเล่าของมนัส จรรยงค์แต่ละเรื่องมีมุมมองหลากหลาย เข้าใจความรู้สึกมนุษย์ อธิบายและบรรยายความเป็นมนุษย์ และนำมาตีแผ่ได้ดี
ด้านกลวิธีการเขียน มนัส จรรยงค์ใช้วิธีบรรยายเหตุผลของตัวละครทั้งปกปิดและเปิดเผย เช่น เรื่องสั้นจับตายใช้ “ฉัน” เพื่อบรรยายความรู้สึกของสกล ขณะเดียวกันก็ปกปิดเรื่องที่เกิดขึ้นบางส่วนที่นอกเหนือไปจากการรับรู้ของสกลได้
ส่วนจุดเด่นของเรื่องคือ การบรรยายอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร และไคลแม็กซ์จุดเดียวกันกับตอนจบ นอกจากนี้การทิ้งเรื่องไว้ในตอนจบก็เป็นเสน่ห์ในงาน
พี่ต้อเสริมว่าเรื่องของมนัส จรรยงค์ที่เด่นๆ คือ เรื่องผู้เฒ่า ที่คนทั่วไปมักคิดว่าผู้เฒ่ามักเป็นคนที่น่านับถือ แต่ผู้เฒ่าของมนัส จรรยงค์ไม่ใช่แบบนั้น แต่เป็นคนเจ้าเล่ห์ ซึ่งก็นำมาจากเรื่องจริงของมนัส จรรยงค์เอง
เรื่องเล่าอันกลั่นกรองจากชีวิตจริง
พี่ต้อเล่าว่า เรื่องสั้นจับตายเขียนเมื่อปีพ.ศ.2485 ซึ่งเป็นช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมันบุกโปแลนด์แล้ว สถานการณ์เริ่มตึงเครียด แม้สงครามจะยังมาไม่ถึงเอเชียก็ตาม จับตายเคยถูกนำมารวมเล่มแล้วสามครั้ง แต่ต้นฉบับไม่ตรงกันเลย เนื่องจากช่วงสงครามโลกนั้นเป็นช่วงที่จอมพลป.พิบูลสงครามปกครองอยู่ และสั่งลด-ตัดพยัญชนะไทยจำนวนมาก (เนื่องจากต้องการแก้ไขให้ภาษาไทยง่ายขึ้น) หรือที่เรียกว่า อักขรวิบัติ เรื่องจับตายก็มีการแก้ไขใหม่ทุกครั้งที่ตีพิมพ์ แต่ก็ยังมีหลุดบ้าง แก้ไม่หมด เช่น คำว่าวังไทร ก็ยังคงใช้แบบอักขรวิบัติว่าวังไซ
ทั้งนี้เรื่องสั้นจับตายถือกำเนิดจากมนัส จรรยงค์ได้ไปเป็นผู้จัดการสหกรณ์ที่ทัณฑนิคม (ธารโต หรือไอเยอร์กะดง) เมื่อปีพ.ศ.2480 แต่ก็เจ๊ง เพราะเขาเป็นคนใจใหญ่ใจกว้าง ชอบให้นักโทษเชื่อ บางครั้งก็เลี้ยงเหล้า ที่ทัณฑนิคมแห่งนี้เป็นที่คุมขังนักโทษที่ลำบากกันดาร ไม่มีรั้ว เพราะหากนักโทษหนีไปก็ไม่รอด ทั้งไข้ป่าและหุบเขา ขณะเดียวกันรัฐก็สั่งการให้นักโทษทำงานตัดถนนที่นั่น คือสายยะลา – เบตงด้วย โดยว่าจ้างด้วยเงินเดือน พร้อมกับตั้งสหกรณ์ในนั้น
มนัส จรรยงค์ใช้เวลา 5 ปีในการตกผลึกความคิดเรื่องราวในทัณฑนิคมนั้นแล้วถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องสั้นหลายเรื่อง เหมือนดังตอนหนึ่งที่มนัส จรรยงค์บรรยายไว้ในเรื่องสั้นจับตายว่า “ที่จริงฉันได้เข้ามาอยู่กับพวกเขาร้อยสี่สิบคนนี้ ก็แปลว่าฉันได้เข้าไปอยู่กับนิยายร้อยสี่สิบเรื่องนั่นเอง ชีวิตของเขาเป็นนิยาย เรื่องชีวิตของเขาเป็นนิยาย เรื่องชีวิตของเขามีรสชาติแตกต่างกันทุกๆ คน” (จับตาย, หน้า 7)
อ่านละเอียดเรื่องสั้น “จับตาย”
ธีมของเรื่องคือ เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการเอาชนะกันของผู้ชายในเรื่องผู้หญิง เห็นได้จากพรที่ไม่ยอมประสิทธิ์ ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่าเมื่อก่อเรื่องแล้วหนีไปจะต้องถูกจับตาย
ส่วนเรื่องมุมมองของเรื่องใช้การเล่าผ่านสรรพนามบุรุษที่ 1 – ฉัน ทำให้คนอ่านมีใจโน้มเอียงไปตาม “ฉัน” หรือผู้เล่าว่าพรน่าสงสาร หรืออาจไม่น่าสงสารตามแต่น้ำเสียงของผู้เล่า
สำหรับตัวละครนั้นสามารถวิเคราะห์ได้ตั้งแต่ชื่อตัวละครเลยทีเดียว โดยพี่ต้อให้ข้อมูลว่าในยุคนั้นเป็นยุคที่ชื่อพยางค์เดียวกำลังถูกแทนที่ด้วยชื่อ 2 พยางค์ เช่น สกล ประสิทธิ์ ชื่อที่มี 2 พยางค์นี้ยังสื่อถึงความเป็นคนเมือง คนกรุงเทพฯซึ่งมีอำนาจเหนือกว่าคนในพื้นที่ด้วย ในขณะที่ชื่อชาวบ้านจะเป็นชื่อสั้นๆ พยางค์เดียว เช่น หวัน พร
ฉากและบรรยากาศในเรื่องคือป่าที่ไอเยอร์กะดง ซึ่งมนัส จรรยงค์เขียนได้อย่างสมจริงเพราะน่าจะเคยไปอยู่ ป่าในเรื่องสั้นจับตายไม่ใช่ป่าในสารคดี คนอ่านจะรับรู้ได้และเข้าใจว่าป่าน่ากลัว ทั้งที่ผู้เขียนไม่ได้เขียนบอกมากมาย เพราะถ้าฉากมีพลัง เราจะรู้ว่าตัวละครรู้สึกอย่างไร คนอ่านจะเข้าใจจิตใจตัวละครได้จากฉาก
นอกจากนี้ยังมีฉากเอ็กโซติก (exotic) ซึ่งตามปกติจะใช้เล่าเรื่องเกี่ยวกับต่างประเทศที่มีความเร้นลับ แต่มนัส จรรยงค์กลับใช้ฉากเอ็กโซติกกับของไทยเอง คือฉากที่หวันเดินเข้าไปในป่าแล้วเหมือนว่าหายตัวไปได้ ไม่ต้องคิดจะตาม เพราะเดินไวมากเหมือนซาไก
ส่วนไคลแม็กซ์ (climax) ของเรื่องนี้ก็คือจุดเดียวกันกับตอนจบ คือ เจอศพพรเป็นไคลแม็กซ์ แล้วก็ทิ้งเลย ตัดจบ ที่เหลือก็อยู่ในใจคนอ่าน ซึ่งเมื่อ 50-60 ปีที่แล้ววิธีการนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ พาไปจุดสูงสุดแล้วปล่อยเลย สมัยนี้อาจเห็นคนทำมากแล้วจึงอาจไม่รู้สึกว่าใหม่ นอกจากนี้เรื่องยังมีการหักมุม ซึ่งก็เป็นการหักมุมที่สมเหตุสมผล เพราะมีอยู่ในเรื่อง ไม่ใช่ความบังเอิญ โดยมีตัวหลอกคือหมีที่ใช้เพื่อหักมุม
ส่วนศัพท์และสัญลักษณ์ในเรื่องที่ช่วยให้วิเคราะห์เรื่องได้อย่างลึกซึ้ง เช่นคำว่า คลึง ครืน ที่หมายถึงบ่วงดักนก พรก็เหมือนนกหว้าในเรื่องที่ติดคลึง ยังไงก็ต้องติดบ่วงตาย อีกคำคือคำว่าดอกพุทธชาดหรือมะลิป่า ที่หมายถึงหวัน ซึ่งเป็นคนดูสะอาด น่ารัก บริสุทธิ์ ซึ่งก็น่าสงสัยว่าจริงหรือไม่ เพราะมีแต่สกลที่เรียก คนอื่นไม่ได้เรียก
อย่างไรก็ตามพี่ต้อกล่าวว่าในเรื่องก็ยังมีรอยตำหนิอยู่ คือ เรื่องภาษา ซึ่งไม่ทราบว่าภาษาของมนัสถูกแก้ไขโดยคนรุ่นต่อมา หรือมนัสเขียนเอง หรือเป็นภาษาในสมัยนั้นหรือไม่ เช่นคำว่า “พวกเขาทั้งหลาย” ซึ่งดูเป็นภาษาอังกฤษมาก (they) และไม่รู้ว่ามนัสเขียนหรือไม่ ทั้งนี้หากเป็นภาษาไทยไม่จำเป็นต้องมีคำว่าทั้งหลาย อีกคำคือคำว่า “นกหว้า (ตระกูลไก่ฟ้า)” จริงอยู่ว่ามนัสเขียนผิด แต่ก็ไม่ควรจะไปวงเล็บกลางเรื่อง เพราะตัวละครกำลังพูดอยู่
บทสรุปความรักสามเส้าหนึ่งหญิงสองชาย
ถึงตรงนี้พี่ต้อตั้งคำถามว่าคิดว่าในเรื่อง หวันรักพรหรือรักประสิทธิ์ ผู้อ่านในห้องร่วมกันแสดงความคิดเห็นหลากหลาย ส่วนพี่ต้อแสดงความเห็นว่า ความรักหนึ่งหญิงสองชายนี้ หวันไม่น่าจะรักพร พรคิดไปเองทั้งสิ้น เพราะพรพูดเองแต่หวันไม่เคยพูด คิดว่าหวันน่าจะสนใจชายทั้งสองคน แต่ยังไม่คิดปลงใจ รวมถึงไม่กล้าปฏิเสธผู้ชายวัย 38 อย่างพรตรง ๆ ด้วยซ้ำ และหวันนี่เองที่ “จับตาย” พร เพราะหวันไม่กล้าปฏิเสธพรตรงๆ จึงกำจัดพรทางอ้อมด้วยการไม่เอายาที่สกลแกล้งทำตกไปให้พร
อย่างไรก็ตามพี่ต้อเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์นั้นมีตอนจบที่แตกต่างออกไป สืบเนื่องมาจากการอยู่ในสังคมผู้ชายมีอำนาจที่มักจะคิดว่าผู้หญิงต้องมีวีรกรรมด้วย ต้องเชิดชูผู้หญิงด้วย เหมือนภาพยนตร์เรื่องแผลเก่าที่ให้เรียมฆ่าตัวตายตามขวัญ ไม่ใช่บังเอิญโดนมีดแทงตายเอง ส่วนภาพยนตร์เรื่องจับตาย หวันเก็บยาไว้ให้พร แล้วหนีไปกับพร
เรื่องสั้นในยุคปัจจุบัน
พี่ต้อกล่าวว่า คิดว่านักเขียนรุ่นใหม่ๆ ยังไม่น่าสนใจนัก มักจะเล่าเรื่องที่ตนเองรู้มากที่สุด ซึ่งก็คือเรื่องตัวเอง อาจเป็นเพราะยังไม่ค่อยมีประสบการณ์ชีวิต ส่วนตัวคิดว่าแดนอรัญ แสงทองเป็นคนที่เขียนเรื่องสั้นได้น่าสนใจที่สุดในยุคนี้
เหตุใดงานเขียนของมนัส จรรยงค์จึงมักเป็นเรื่องโศกนาฏกรรม
เรื่องนี้พี่ต้อแสดงความเห็นว่า อาจเพราะมนัส จรรยงค์คิดว่า ชีวิตคนเราก็คือโศกนาฏกรรม แม้แต่เรื่องที่ดูไม่เศร้าอย่างเซตเรื่อง เฒ่า แม้จะดูเหมือนไม่เศร้า แต่ก็เศร้าอย่างตลกร้าย และการเห็นว่าชีวิตคนอื่นเศร้ากว่าเราอีกมากมายมันก็เป็นการเยียวยาชีวิตอย่างหนึ่งว่าชีวิตของเราไม่ได้เลวร้ายเกินไปนัก
Chestina Inkgirl