ข้ามภพ ข้ามชาติ เป็นเรื่องราวความผูกพันของเด็กหญิงสามคนคือ เอมอร อมรศรี และบัวคลี่ซึ่งมีสัญญามั่นหมายต่อกันที่แม้แต่กาลเวลาและความตายของเอมอรกับอมรศรีก็ไม่อาจทำลายความผูกพันของเด็กสาวทั้งสามลงได้ เชิญร่วมค้นหาคำตอบเรื่องความจริงและมิตรภาพของเด็กหญิงได้ที่นี่...
ที่มาของนามปากกา “ครู ข้างวังฯ”
ครูก้องเล่าที่มาของชื่อ “ครู ข้างวังฯ” เพราะอยากเป็นครูมาตลอดและคิดว่าชีวิตนี้จะเป็นครู อีกทั้งเคยศึกษาที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา) ซึ่งสอนความเป็นครู เป็นช่วงชีวิตที่มีความสุข เมื่อเรียนจบมาก็ได้สอนเกือบสิบปี จากนั้นจึงไปรับราชการครูที่ต่างจังหวัด แต่ยังรำลึกถึงคุณของวิทยาลัยแห่งนี้เสมอ และที่ใช้ชื่อว่าข้างวังฯ ก็เพราะไม่ได้อยู่ในวังแล้ว แต่ยังคงตั้งใจเป็นครูเพื่อรับใช้เบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (เนื่องจากวิทยาลัยตั้งอยู่ในเขตวังสวนสุนันทา เป็นเขตพระราชฐานภายในบริเวณของพระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างและพระราชทานนามตามพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งเป็นพระอัครมเหสี)
นอกจากนี้ครูก้องยังเสริมว่าปกติใช้ชื่อมานานตั้งแต่ก่อนเป็นนามปากกาแล้ว ใช้เป็นล็อกอินในพันทิปด้วย และไม่เคยเขียนหนังสือ เคยเขียนแต่วารสารของโรงเรียน ข้ามภพ ข้ามชาติเป็นหนังสือเล่มแรกด้วยความบังเอิญ
นวนิยายแนววิญญาณและชาติภพ
ครูก้องเล่าว่าที่เลือกเขียนนวนิยายแนวนี้เพราะชอบอ่านแนวผีเป็นพิเศษ แต่ไม่ได้กลัว เว้นแต่มีเหตุให้กลัว เช่น คนรู้จักกันตายจากไปแล้วเราต้องอยู่บริเวณที่ที่เขาเคยอยู่ อีกทั้งสังเกตว่าพอเล่าเรื่องผีแล้วคนชอบมาก โดยเฉพาะเด็กๆ ที่จะให้ความสนใจมากกว่าเรื่องอื่น เป็นธรรมชาติของเด็กที่ชอบเรื่องเร้นลับ ผู้ใหญ่ก็เช่นกัน จิตวิญญาณเป็นเรื่องน่าสนใจอยู่แล้ว ส่วนตัวไม่เชื่อเรื่องภพชาติ แต่ชอบอ่านแนวนี้ หรือแนวลี้ลับ เช่น จานบิน มนุษย์ต่างดาว
ก้าวแรกสู่การข้ามภพ ข้ามชาติ
ครูก้องเล่าว่าตนเป็นคนชอบศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ ชอบดูชอบอ่านภาพเก่าๆ วันหนึ่งได้เข้าพันทิป เจอกระทู้เมืองไทยในอดีตก็นั่งอ่านและดูรูปไปเรื่อยๆ อย่างเพลิดเพลิน จนกระทั่งเจอรูปคุณยายทั้งสิบ (หน้าปกหนังสือข้ามภพ ข้ามชาติ ซึ่งภายหลังได้ติดต่อกับเจ้าของภาพคือ อาจารย์เอนก นาวิกมูล นักวิชาการประวัติศาสตร์ซึ่งบังเอิญเป็นหลานของคุณยายท่านหนึ่งในรูปด้วย) ก็รู้สึกเอะใจกับรูปนี้เป็นพิเศษ แรกเริ่มคือคิดว่าทำไมเด็กๆ จึงไม่ยิ้ม ซึ่งก็อาจเป็นเพราะคนสมัยก่อนไม่ได้ถ่ายรูปบ่อย จึงจริงจัง จึงไม่ยิ้ม รูปภาพนี้เป็นภาพในปี พ.ศ. 2470 ถ่ายที่หาดแหลมสมิหลา จังหวัดสงขลา ซึ่งเมื่อมองดูแล้วก็เห็นเด็กหญิงคนหนึ่งหน้าเหมือนอรวรรณซึ่งเป็นเด็กนาฏศิลป์ในโรงเรียน ตอนนั้นยังไม่รู้สึกอะไร ก็แคปรูปไปให้ครูหลายๆ คนดูว่าเหมือนลูกศิษย์ของเรา ทุกคนลงความเห็นว่าเหมือน พอเอารูปให้น้องชายอรวรรณดู น้องชายก็ทักขึ้นมาเองโดยที่ตนยังไม่ได้พูดอะไร พอเรียกอรวรรณมาดูเธอก็ตกใจ
จากเรื่องเล่าในเฟซบุ๊กไปสู่การเป็นนวนิยาย
ครูก้องกล่าวว่าวางพล็อตตั้งแต่ต้นจนจบตั้งแต่แรกก่อนเขียน แต่ก็ไม่คิดว่าจะยาวขนาดนี้ มีการสอดแทรกภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมของจังหวัดพัทลุงซึ่งเป็นจังหวัดเล็กๆ เพราะอยากให้ได้เห็นบรรยากาศบ้านเกิดของครูก้องบ้าง เช่น ตอนที่ไปตามหาคุณยายบัวคลี่ก็ต้องขับผ่านเขาอกทะลุ หรือการสอดแทรกเกร็ดวัฒนธรรมและสถานที่ทางประวัติศาสตร์ เช่น มโนราห์ โรงละครโนรา รำโนรา และดอกโนราซึ่งหาชมได้ยาก (ดังภาพหน้าปกหนังสือ) ถึงตรงนี้มีนักอ่านร่วมเล่าความประทับใจด้วยเช่นกันว่าชอบฉากในเรื่องซึ่งเคยมีโอกาสได้ไปเยือนจริง เช่น สะพานเฉลิมพระเกียรติข้ามทะเลน้อยที่สวยงามมาก
ส่วนเวลาที่เขียนก็ราวหนึ่งสัปดาห์ เขียนสัปดาห์ละตอน โดยเขียนเฉพาะช่วงว่างเสาร์อาทิตย์ เขียนแล้วอัพเดตลงสเตตัสเฟซบุ๊กของตนเองเลย ไม่มีสต๊อก พอตอนที่ 3 เริ่มมีครูอาจารย์เข้ามาอ่านและสนใจมาก จนมาถึงตอนที่ 5 จึงตั้งจิตอธิษฐานถึงคุณยายทั้งสิบท่าน ขอเขียนเพื่อสอนเด็กเรื่องความรักและมิตรภาพ ขอให้ดลบันดาลให้เด็กชอบ ระหว่างที่นั่งเขียนก็น้ำตาไหลเพราะซาบซึ้งตื้นตันใจ โดยเป็นตอนที่อมรศรีมาพบเอมอรกับอรวรรณในโรงแรม เมื่ออัพเดตลงเฟซบุ๊กก็ไม่ได้เปิดพับลิก แต่เด็กขออนุญาตไปลงจนในที่สุดก็แพร่กระจายไปในวงกว้าง ตอนนั้นกลัวว่าเด็กจะหลงงมงายเพราะแยกแยะไม่ได้ จึงแก้ไขสเตตัสใหม่ว่า “ไม่ใช่เรื่องจริง” แต่ลูกศิษย์ไม่ได้เอาข้อความนั้นไป แชร์ได้แค่ 2 วัน ก็มีข้อความส่งเข้ามามากมายหลายพัน จึงต้องเปิดเพจตามคำแนะนำของลูกศิษย์ และให้ลูกศิษย์เป็นแอดมินด้วย
สไตล์การเล่าเรื่องที่พลิกผันไปเป็นนวนิยาย
ครูก้องและลูกศิษย์พบว่าข้อความที่ได้รับมักจะมีหลายคนเข้ามาบอกเล่าเรื่องราวว่าเคยเห็นเรื่องทั้งอดีตและอนาคต บางคนดูงมงายไปก็มี บางคนก็บอกว่าเขาเคยเกิดร่วมชาติกับอรวรรณ ทำให้กังวลเรื่องชีวิตของลูกศิษย์คืออรวรรณ (หรือชื่อเล่นว่าอร และเอมอรในนวนิยาย) ซึ่งเมื่อถึงตอนที่ 5 ก็มีคนมายุ่งวุ่นวายในเฟซบุ๊กมาก ซึ่งปกติอรวรรณเป็นเด็กเก็บตัวและไม่ค่อยเล่นเฟซบุ๊กด้วย แต่ไปไหนคนก็มอง ทำให้อรวรรณไม่สบายใจมาก ตนจึงต้องบอกให้คิดด้านบวกว่า อรวรรณเป็นเด็กนาฏศิลป์ ชอบเล่นกีตาร์ ชอบดาราเกาหลีด้วย เวลาไปแสดงก็ย่อมต้องมีคนมอง ตอนนี้อรวรรณเป็นดาวแล้ว มีแต่คนชอบก็เหมือนกับเวลาเราชอบดาราเกาหลี อรดังเพราะเค้ารักอร ต้องภูมิใจ ต่อไปเวลาใครทักหรือมองให้ยิ้มแล้วยกมือไหว้ขอบคุณ จนกระทั่งเขียนไปถึงตอน 8 – 9 เริ่มไปหาคุณยายบัวคลี่ คุณยายก็เป็นดาวแทน อรเลยสบายใจขึ้น แต่บางคนก็พยายามติดต่อและตามหาคุณยายบัวคลี่ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ ทำให้ครอบครัวได้รับความเดือดร้อน จึงต้องเขียนพิกัดสถานที่ที่ไปตามหาตัวละครให้ผิดไปจากสถานที่จริง และพยายามปรับเปลี่ยนสไตล์การเขียนให้เป็นนิยายหรือเรื่องไม่จริงไป เช่น ใส่ลูกเล่น ใส่สัญลักษณ์ เช่น แหวนนะโมแทนอมรศรี เพื่อให้เพื่อนรักทั้งสามได้มารวมกันในตอนสุดท้าย โดยแหวนนะโมนี้ก็เป็นเหมือนแหวนพระคุ้มครองซึ่งเป็นความเชื่อของชาวใต้
ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อเขียนถึงตอนที่ 6 ก็จะมีสไตล์การเขียนที่ต่างจากเดิมไปเลยคือ ผสมผสานความดูนิยายมากๆ อธิบายเยอะ เล่าเรื่องไม่รวดเร็วเหมือนห้าตอนแรก เพื่ออยากลดกระแสความเชื่อของผู้อ่านบางท่านที่งมงาย
ส่วนวิธีการทำงานก็ต้องปรับเปลี่ยน โดยแรกเริ่มใช้วิธีเขียนหลายเวอร์ชันแล้วให้ลูกศิษย์ที่เป็นแอดมินเลือกตอนที่ชอบและไม่ชอบ จากนั้นเลือกตอนลูกศิษย์ชอบน้อยที่สุด ซึ่งเป็นตอนที่พรรณนามาก การเดินเรื่องไม่เล่าพรวดๆ รวดเร็วเหมือนห้าตอนแรก และดูเป็นเรื่องแต่งมากกว่า โดยตนตั้งใจให้เป็นแบบนี้ เพราะตอนนั้นคิดแต่ว่า “ต้องเป็นครูที่รับผิดชอบต่อสังคม”
ความจริง ความลวง เรื่องจริงหรือนวนิยาย
ครูก้องกล่าวว่าไม่อยากพูดว่าจริง เพราะอย่างที่เล่าไปว่ามีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ในเรื่อง เลยต้องบอกว่าไม่จริง อีกประการคือกลัวเด็กแยกแยะไม่ได้ กลัวเขาจะหลงคิดงมงาย เด็กเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สำนวนเปลี่ยน และต้องการหยุดความเชื่อของคนที่งมงาย แต่ถ้าถามว่าจริงแค่ไหน ก็บอกได้เลยว่ามีแค่ประมาณ 10% ที่ไม่จริง
ชื่อเสียงเริ่มเข้ามา
ครูก้องเล่าว่าตอนนั้นเริ่มมีชื่อเสียง คนติดตามมากมาย แอดมินบอกว่าต่อไปจะกลายเป็นหนังสือ แต่ตนยังไม่อยากคิดไปไกล คิดอยากจะเล่าเรื่องไปเรื่อยๆ จนจบมากกว่า แล้วก็มีหลายสำนักพิมพ์ติดต่อมาจริงๆ แต่ปฏิเสธไปหมดเพราะไม่อยากถูกผูกมัดหรือต้องปรับเปลี่ยนเรื่องราว แต่ในใจก็แอบคิดว่าอยากตีพิมพ์กับอมรินทร์ เพราะเห็นสำนักพิมพ์มานานเนื่องจากบ้านอยู่ฝั่งธนบุรี เป็นสำนักพิมพ์ในดวงใจที่ผลิตงานมีมาตรฐาน จนกระทั่งเขียนจบไปสองวัน อมรินทร์ถึงมา เข้ามาตอนสุดท้าย ไม่ได้เข้ามาก้าวก่ายเนื้อหาตามที่ตั้งใจไว้ เพียงแต่ฉบับหนังสือก็มีการเขียนเพิ่มเติมสอดแทรกเนื้อหาบางอย่างที่เพิ่งทราบแน่ชัด เนื่องจากตอนที่เขียนลงเพจนั้นเป็นการเขียนสดๆ
อย่างไรก็ตาม ครูก้องทิ้งท้ายว่า “ชื่อเสียงผ่านมาก็ผ่านไป” ที่ผ่านมาให้สัมภาษณ์แค่ไทยรัฐเดลินิวส์ที่ตั้งคำถามดีและให้เกียรติ จากนั้นก็แทบไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับใคร ทั้งที่บางรายการตนชอบมากๆ รายการคนค้นฅน ตนจะชอบนำเรื่องคุณธรรม คุณงามความดีในรายการไปสอนตลอด ผู้กำกับภาพยนตร์บางคนก็ติดต่อมา แต่เราไม่ยอมให้ ไม่อยากให้ธุรกิจเข้ามา เพราะกลัวถูกครอบโดยธุรกิจ
ความสำเร็จที่เกิดคาดนำมาสู่มิตรภาพอันน่าประทับใจ
ครูก้องเปิดใจว่าถือว่าประสบความสำเร็จอย่างทะลุเป้า จากตอนแรกที่เขียนขึ้นมาเพื่อตั้งใจสอนเรื่องความรักและมิตรภาพให้เด็กในโรงเรียนเท่านั้น แต่ในที่สุดมันไปไกลถึงคนทุกเพศทุกวัย มันไม่ใช่นวนิยายรักหรือนวนิยายแก้แค้นอะไร แต่เป็นเรื่องราวของเพื่อนและมิตรภาพ ประทับใจมากที่มีผู้อ่านหลายท่านซื้อหลายเล่ม แล้วบอกว่าจะให้ตัวเอง ให้แม่ ให้ลูกอย่างละเล่ม
นอกจากนี้ จากเรื่องราวของมิตรภาพในหนังสือยังกลายมาเป็นมิตรภาพระหว่างคนเขียนและคนอ่านในชีวิตจริงอีกด้วย ครูก้องเล่าว่าแต่เดิมวิธีเขียนนวนิยายเรื่องนี้คือพิมพ์ในมือถือ แล้วส่งให้แอดมิน แล้วลูกศิษย์ก็จัดใส่คอมพิวเตอร์ พอแอดมินอ่านแล้วก็ลงเพจ ที่ตนไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์เพราะไม่ได้ซื้อไว้ เข้าใจผิดว่าคงจะใช้ยากและเกินความสามารถ ปรากฏว่ามีทั้งครูที่โรงเรียนอาสาให้ยืม มีทั้งนักอ่านคือ คุณธิติรัตน์ซึ่งบอกว่าจะส่งโน้ตบุ๊กมาให้ฟรี หลายคนมีน้ำใจมากๆ จนกลายเป็นเหมือนญาติกัน ในที่สุดพอมีผลงานเล่มสองจึงซื้อคอมพิวเตอร์มาลองใช้งาน ซึ่งก็ง่ายเหมือนมือถือ แต่เข้าใจผิดว่ายากเหมือนในอดีต บางครั้งทำงานเพลินมาก พิมพ์สี่ทุ่มถึงตีสองก็มี (หัวเราะ)
ความจริงที่ถูกเปิดเผย และภาคต่อของคุณยายบัวคลี่กับเอมอร
นักอ่านและแฟนานุแฟนของนวนิยายเล่มนี้ เมื่ออ่านไปจนถึงตอนจบคงจะได้ทราบ (ปนประหลาดใจ) แล้วว่า ที่แท้คุณยายบัวคลี่ที่ครูก้องหรือตัวละครในเรื่องตามหามาตลอดเป็นคุณย่าของครูก้องนี่เอง! (เพียงแต่ปรับเปลี่ยนชื่อเล็กน้อยเพื่อความเป็นส่วนตัว)
ครูก้องกล่าวว่า มีคนถามถึงคนในชีวิตจริงตลอด ซึ่งเป็นเรื่องบังเอิญที่ตนเองก็คาดไม่ถึงอย่างมากกล่าวคือ อาของตนชื่อจริงคล้องกันกับคุณยายเอมอรกับอมรศรีจริงๆ คือ อาตุ๊ชื่อเอมอร อาต้อยชื่ออมร ซึ่งตนจำไม่ได้จริงๆ เพราะจากบ้านมา 30 ปีแล้ว อีกทั้งปกติก็เรียกกันแต่ชื่อเล่น
ดังนั้นนวนิยายเรื่องที่สอง คือ “ภูตต่างพบ” จะเป็นเรื่องราวของคุณย่าบัวคลี่ผสมผสานกับคุณยายเอมอรเล็กน้อย แต่ละเรื่องเป็นเรื่องราวที่คุณย่าบัวคลี่เคยเล่าให้ครูก้องฟังตั้งแต่ยังเด็ก ส่วนปัจจุบันคุณย่าจะจำได้เพียงเรื่องในอดีต คุณย่าเกิดช่วงปลายรัชสมัยรัชกาลที่หก จึงยังจำเรื่องราวสมัยการสิ้นพระชนม์ได้
ครูก้องเสริมว่าในครอบครัวของตน พ่อแม่เป็นครูทั้งคู่ก็จะไม่สอนเรื่องภูตผีปีศาจ แต่ย่าเชื่อมาก ภูตต่างพบจึงเป็นนวนิยายเกี่ยวกับความทรงจำเรื่องสิ่งเร้นลับในครอบครัว โดยมีคุณย่าบัวคลี่เป็นตัวละครหลักที่คอยเล่าเรื่องต่างๆ นอกจากนี้ยังมีเรื่องจริงในครอบครัวที่ได้ประสบมา คือ เรื่องของหลานที่พูดเรื่องความทรงจำสมัยก่อน เช่น หลานบอกว่าตนเป็นพี่สาวของพ่อกลับชาติมาเกิด ทั้งที่ไม่มีใครเล่าเรื่องนี้ให้หลานฟังมาก่อน ซึ่งแรกเริ่มไม่มีใครเชื่อ แต่หลานพิสูจน์มาเรื่อยๆ แม้กระทั่งพาไปชมหอพักที่คุณป้าเคยอาศัยอยู่สมัยเป็นนักศึกษา แม้แต่ตอนเสียชีวิตก็ยังเล่าถูก ทางบ้านก็เชื่อและเข้าใจว่าเมื่อโตขึ้นหลานคงจำได้น้อยลงๆ ซึ่งก็จริงตามนั้น
“ครูนักเล่า” ไม่ใช่ “นักเขียน”
ครูก้องเปิดใจว่าตนเป็นคนมีความสุขกับการเล่า ไม่กล้าพูดว่าเป็นนักเขียน รู้สึกว่าเป็นคำที่สูงเกินไป ตนให้เกียรตินักเขียนทุกคนเป็นครู ถ้าจะเรียกก็อยากให้เรยกว่า “ครูนักเล่า” มากกว่า ซึ่งนักอ่านบางท่านก็ทราบและมีการเล่นมุกที่มีอารมณ์ขันน่าประทับใจเช่นบอกว่า “ไม่ได้มาหานักเขียนชื่อดัง แต่มาหานักเขียนชื่อก้อง” (หัวเราะ)
ครูก้องเล่าว่าจุดเริ่มต้นของการชอบอ่านมาจากตอนเด็กได้อ่านหนังสือในห้องเรียนเรื่องมอมของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รู้สึกชอบและประทับใจมาก เมื่อโตขึ้นและเข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา ก็ได้เรียนกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ดวงฤดี โอษฐ์จันทึก ทำให้ชอบการอ่านการเขียนยิ่งขึ้น ซึ่งท่านก็ได้อ่านเรื่องข้ามภพ ข้ามชาติตั้งแต่ยังไม่ได้ตีพิมพ์และให้กำลังใจเสมอมาด้วย
ส่วนนักเขียนในดวงใจก็มีหลายท่าน เช่น อัศศิริ ธรรมโชติ ทมยันตี และวินทร์ เลียววาริณ
ผลงานเล่มต่อไป
ครูก้องกล่าวว่าเนื่องจากสองเล่มที่ผ่านมาเป็นเรื่องราวของผู้หญิง เล่มที่สามจึงจะเป็นเรื่องของผู้ชายบ้าง เป็นเรื่องของเด็กหนุ่มวัยรุ่น 3 คนที่เกิดขึ้นในสวนสุนันทา โดยเขาไปค้นพบสมบัติของชาติซึ่งถูกขโมย เป็นแนวปัจจุบันกับย้อนยุค อยากเขียนให้อ่านง่ายแบบข้ามภพข้ามชาติ
ครูก้องเสริมว่าเด็ก 3 คนนี้มีอยู่จริง เขาเข้ามาในชีวิต พอเขียนเล่มหนึ่งจบ ก็มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งเป็นนักดนตรีร็อคเรียนอยู่ปีสามปีสี่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เด็กคนนี้บอกว่าอ่านแล้วร้องไห้ แล้วเล่าเรื่องราวที่เขาประสบมามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาให้เราฟัง
ฝากสำหรับเด็กที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ
ครูก้องกล่าวว่าถ้านักเรียนมีเพื่อนหรือเพื่อนรักที่มีความผูกพันกัน อยากให้ลองอ่านห้าตอนแรก ถ้าไม่ชอบก็วาง ถ้าอยากอ่านต่อก็อ่านได้เลย เราจะค้นพบเรื่องการหวนกลับไปเจอกันเพียงแต่มันข้ามภพข้ามชาติ เราจะได้เห็นว่าเพื่อนสมัยก่อนเขารักกันยังไง เขา ซื่อสัตย์กับเพื่อนอย่างไร มีดอกโนราสามดอกที่แทนเพื่อนสามคน
Chestina Inkgirl