ลุกกะ (lykke) เป็นภาษาเดนมาร์ก แปลว่า ‘ความสุข’ ซึ่งถูกกล่าวกันว่า เดนมาร์ก เป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก แต่คำว่า ‘ความสุข’ ก็ชวนสงสัยว่า เราจะวัดความสุขได้อย่างไร แล้วแบบไหนคือความสุขของคนในประเทศ
Bookscape และอุทยานการเรียนรู้ TK park จึงชวนมาออกล่าสมบัติของ ‘ความสุข’ จากหลากหลายแง่มุม ร่วมไขลายแทงความสุขโดย ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศิวะภาค เจียรวนาลี บรรณาธิการบริหารนิตยสาร a day ลลิตา ผลผลา ผู้แปลหนังสือ ลุกกะ: วิถีความสุขจากทุกมุมโลก" และชวน
สนทนาโดย ไศลทิพย์ จารุภูมิ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2561 ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park
จาก ‘ฮุกกะ’ ต่อเนื่องมาถึง ‘ลุกกะ’
เริ่มต้นจากหนังสือ “ฮุกกะ ปรัชญาความสุขฉบับเดนมาร์ก” ที่พาให้ผู้อ่านใส่ใจกับความสุขง่ายๆ ของตัวเองในชีวิตประจำวัน จนนำไปสู่หนังสือเล่มใหม่ “ลุกกะ…วิธีความสุขจากทุกมุมโลก” ที่พาเราไปสำรวจความสุขไกลกว่านั้น โดยออกเดินทางไปหลากหลายประเทศ เพื่อสังเกตความสุขจากทั่วทุกมุมโลก
“ถ้าใครเคยอ่าน ‘ฮุกกะ’ จะเข้าใจว่า เป็นการหาเทคนิคสร้างความสุขให้กับตัวเราเอง แล้วเน้นไปที่เดนมาร์ก ส่วน ‘ลุกกะ’ เป็นการที่ผู้เขียนพาเราไปหาเคล็ดลับความสุขจากทั่วทุกมุมโลก ไม่ได้จำกัดเฉพาะที่เดนมาร์ก แล้วหาจุดร่วมว่า คนที่เขามีความสุขที่สุดในโลก เขามีอะไรเป็นสิ่งที่มีร่วมกัน ลุกกะ จึงพาทั้งตัวเรา คนรอบข้าง และสังคมไปด้วยกันทั้งหมด” ลลิตาแสดงความคิดเห็น
ส่วนศิวะภาคมีมุมมองที่น่าสนใจต่อลุกกะไว้ว่า ลุกกะได้พาเขาออกไปสำรวจเมืองแต่ละที่ เพื่อหาว่าความสุขทุกมุมโลกคืออะไร
“ถ้า ‘ฮุกกะ’ คือการเล่าเรื่องตัวเอง ‘ลุกกะ’ คือการไปถามคนอื่นว่า คิดเหมือนฉันหรือเปล่า เพราะเป็นการสำรวจความสุขแบบทั่วโลก จากเมืองแต่ละที่ที่มีปัจจัยไม่เหมือนกันเลย ความสุขของเขาคืออะไร ซึ่งการที่บอกว่า ประเทศนี้มีความสุขอันดับเท่านี้ ผมว่ามันต้องการคุยในรายละเอียดเยอะว่า เท่านี้แปลว่าอะไร ผมไปสแกนดิเนเวียไม่ได้นานมาก ผมรู้สึกว่า มีทั้งความสุขและความทุกข์ เพียงแต่ว่าความทุกข์ของเขา เราอาจจะเฉยๆ ก็ได้ แต่ความสุขของเขา อาจเป็นความสุขแบบที่เราก็เคยมี เพียงแต่ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นกับมัน คือจะเป็นเรื่องบริบทที่แตกต่างกันไป”
ความสุขในความไว้เนื้อเชื่อใจ
Meik Wiking ผู้เขียน “ลุกกะ…วิธีความสุขจากทุกมุมโลก” เอ่ยไว้ว่า ปัจจัยที่ทำให้คนมีความสุขมีอยู่ด้วยกัน 6 ข้อ คือ ความเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือความเป็นชุมชน เงิน สุขภาพ เสรีภาพ ความไว้เนื้อเชื่อใจ และน้ำใจ ซึ่งไศลทิพย์ ได้ยกตัวอย่างความไว้เนื้อเชื่อใจของชาวเดนมาร์กที่เธอทึ่งมาก คือ ถ้าคุณแม่แวะไปกินกาแฟในร้าน ก็สามารถจอดรถเข็นเด็กที่ลูกนั่งอยู่ ไว้หน้าร้านได้เลย โดยไม่ต้องกังวลว่า จะมีใครเข็นรถไปไหน เด็กๆ ก็อยู่กันอย่างปลอดภัย
ซึ่งดร.เดชรัต เสริมว่า การที่ให้ลูกนอนข้างนอกได้ ไม่ใช่แค่ความไว้วางใจเฉยๆ แต่ยังเป็นวิถีชีวิตของชาวเดนมาร์กด้วย
“อย่างลูกคนที่ 2 ของผม ก็คลอดที่เดนมาร์ก คนเดนมาร์กบอกว่าเวลาลูกหลับ ต้องใส่รถเข็น จอดไว้นอกบ้านให้ได้รับลม ได้รับแสงแดด เพราะนั่นเป็นเรื่องปกติที่ต้องจอดไว้ เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า ถ้าเป็นเมืองไทย เราคงรู้สึกแปลกๆ แต่ของเขาสบายมาก”
อีกหนึ่งความน่าสนใจ คือการแบ่งพื้นที่สาธารณะกับพื้นที่ส่วนตัวของเขาว่าแบ่งกันยังไง เพราะเดนมาร์กมีพื้นที่สาธารณะเยอะมาก
“ตอนผมอยู่เดนมาร์ก ผมมีรายได้น้อยที่สุด เวลาซื้อของต้องดูของลดราคา ลดหนักมาก แต่ปริมาณการลดต้องซื้อ 10 ชิ้น สมมติซื้อไก่แช่แข็ง 10 ตัว ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ เราขุดหิมะออก เอาไก่วางแล้วค่อยเอาหิมะกลบ ก่อนนำไก่มาทำอาหารวันละตัว หรือวันละส่วน ไก่ไม่เคยหายไปเลย เป็นเรื่องที่ไว้ใจได้ ส่วนบ้านอื่นก็วางของเล่นลูก แต่ไม่มีวางอย่างอื่นนะ ไม่มีโต๊ะ ไม่มีขายของ ซึ่งจุดนี้เป็นเรื่องน่าสนใจจริงๆ ผมอยู่หอพักที่จนที่สุด แต่สบายมากเลยเมื่อเทียบกับเมืองไทย ห้องมันธรรมดานะ แต่สบายด้วยสเปซที่กึ่งส่วนตัว กึ่งสาธารณะ”
ดร.เดชรัต สรุปไว้ว่า เวลาคนไทยพูดถึงความสุข จะมาจากมุมมองการสัมผัส เราเจอสิ่งนี้เราเรียกว่าความสุข เราเจอสิ่งนี้ไม่ได้เรียกว่าความสุข แต่ลึกกว่านั้น มันมีอะไรซ่อนอยู่
“เวลาเราพูดถึงความสุข อาจต้องไกลจากการสัมผัสเฉยๆ สิ่งที่ลึกอยู่ในนั้น มันมีการออกแบบ มีระบบ มีความคิด ระบบที่ว่าเขาไม่ได้บอกผมนะ ว่าควรวางหรือไม่ควรวางอะไร แต่มันมีอะไรบางอย่างที่ซ่อนอยู่ ซึ่งเรายังไปไม่ถึงจุดนั้น”
ความสุขของความเป็นหนึ่งเดียวกัน
ไศลทิพย์ ชวนคุยว่า ประเทศที่มีความสุข ล้วนเป็นประเทศที่มีบรรยากาศชุมชนที่เข้มแข็ง มีการแบ่งพื้นที่ทำสวนครัว ปลูกผัก ได้มาเจอกัน ได้มาทำกับข้าวกินกัน นอกจากได้บรรยากาศชุมชน เด็กๆ ยังได้รับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองด้วย
ลลิตา ได้ยกตัวอย่างถึงเพื่อนสนิท ที่ย้ายไปอยู่ชุมชนย่านหลานหลวงไว้ว่า ในชุมชนที่เอื้อเฟื้อกัน ถ้าคนที่ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่เป็นคนเปิดใจ ก็จะได้รับความเป็นหนึ่งเดียวกันกับคนในชุมชน
“เพื่อนเปิดร้านกาแฟแถวหลานหลวง เขาก็ทำเค้กไปแจกแถวบ้าน ไปอุดหนุนร้านแถวนั้นเพื่อทำความรู้จัก เพื่อแนะนำตัวเอง ตอนนี้ผ่านมาหนึ่งปี ด้วยความที่แถวนั้นจอดรถไม่ได้ เลยต้องเอาต้นไม้ลงหน้าร้าน แล้วขับรถออกไป พอกลับมาต้นไม้หายเรียบ เพราะเพื่อนบ้านช่วยกันยกไปหลังบ้านแล้ว ในชุมชนที่มันเอื้อเฟื้อกัน ถ้าคนที่เข้าไปอยู่โอเพ่นด้วย มีน้ำใจกับเขา ชุมชนลักษณะนี้ก็จะเปิดรับเรา”
ดร.เดชรัต มองว่า คนไทยชอบคิดว่าสังคมไทยมีชุมชนเข้มแข็ง แต่ต้องตอบเลยว่า ถ้าเทียบกับเดนมาร์กนี่ไม่จริงเลย เดนมาร์กมีชุมชนที่เข้มแข็งกว่าบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นการวางรถเข็นลูกไว้นอกบ้าน หรือมีกิจกรรมให้เข้าร่วมตลอด ซึ่งคนจัดกิจกรรมก็คือคนในชุมชน
“ที่เมืองไทยเรียกว่า co-working space ส่วนเดนมาร์กเรียกว่าฮูส (hus) หรือ house ในภาษาอังกฤษ ทุกชุมชนจะมีบ้านของชุนชน ทุกคนก็สลับกันเข้ามาใช้ได้ แล้วแต่ว่าใครจะเข้ามาช่วงไหน อาจจะมาจัดดนตรี ศิลปะ แล้วพ่อแม่ก็พาลูกๆ มา”
แต่คนเดนมาร์กก็จะมีความเป็นห่วงว่า กิจกรรมเหล่านี้ ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมได้มากแค่ไหน จึงมีระบบอาสาสมัครเข้ามาดูแล เช่น เพื่อนคนหนึ่งของ ดร.เดชรัต มีความไม่พร้อมบางอย่างด้านร่างกาย เขาก็ไปเป็นอาสาสมัครช่วยซักผ้าให้ผู้สูงอายุ แต่มือเขาเจ็บ ทำงานบางอย่างไม่สะดวก เช่น ถูบ้าน ทำความสะอาดบ้าน ก็มีคนมาอาสาสมัครช่วยเขาอีกทีหนึ่ง ซึ่งเป็นระบบที่เป็นชุมชนออกแบบใหม่
“ทุกอย่างที่เราชมตัวเราว่าดี เป็นสิ่งที่ไม่ได้ถูกออกแบบซ้ำ หรือออกแบบใหม่ให้เหมาะสม ที่เรารู้สึกว่าสังคมไทยดี เป็นเรื่องเก่าในบริบทเก่า แม้จะไม่ใช่ทุกเรื่อง แต่ในเดนมาร์กเป็นพลวัตที่มีการปรับตัว และยังต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ”
ความสุขคืออะไร
ปิดท้าย ศิวะภาค ชวนคุยว่ายุคนี้เป็นยุคที่พวกเราควรมาเจอหน้ากัน พูดคุยกันมากกว่ายุคไหนๆ
“เรามักรู้จักคนแบบไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน เรามักคุ้นๆ ว่าเฟซบุ๊กนี้ คือชื่อนี้ แต่เราไม่เคยเจอเขา ซึ่งความไว้ใจเชื่อใจจะเกิดขึ้นเมื่อรู้จักกัน มันอาจไม่ 100% หรอก แต่ผมว่าถ้ามันจะมีสิ่งนี้เกิดขึ้น ต้องหาโอกาสอะไรก็ได้ ให้เรามาเจอกัน ให้เราคุยกันได้ยิ่งดี”
ลลิตา มองว่า จุดประสงค์หลักของหนังสือเล่มนี้ คืออยากให้เราหาความสุขของตัวเอง
“ความรักยิ่งให้ยิ่งเยอะ ความสุขก็เหมือนกัน เรายิ่งให้เรายิ่งได้ ยิ่งแชร์ยิ่งแบ่งปันกันก็ยิ่งงอกงาม”