อุทยานการเรียนรู้ TK park เชิญชวนนักอ่านมาร่วมเปิดมุมมันส์ของวรรณคดีไทยกับ วิว ชนัญญา เตชจักรเสมา เจ้าของผลงานวรรณคดีไทยไดเจสต์ ในกิจกรรม TK Reading Club ตอน อิเหนา ณ ห้องมินิเธียเตอร์ 2 อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 Dazzle Zone ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่มนักอ่านที่มาให้กำลังใจอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ในงานยังมีการถ่ายทอดสด (live) ผ่านทางช่องทางของ TK park อีกด้วย
ทำไมจึงชอบวรรณคดีและทำไมจำได้
ก่อนจะเข้าเรื่องอิเหนา วิวตอบคำถามคลายข้อข้องใจที่หลายคนสงสัยว่า “ทำไมจึงชอบวรรณคดีและทำไมจำได้” วิวตอบว่า หากให้ตอบเวอร์ชั่นสั้น ๆ ว่าทำไมชอบวรรณคดีก็เพราะตอนเด็กโดนหลอกว่าเป็นสื่อบันเทิงเพียงอย่างเดียวและที่จริงไม่ใช่วรรณคดีทุกเรื่องที่ชอบ แต่ชอบหนังสือทุกเรื่องที่สนุก เคล็ดลับคือสนุกไปกับมันเราก็จะจำได้เอง แม้จะไม่อินกับชื่อคนเยอะๆ แต่ถ้าอินกับเนื้อเรื่องก็จะจำได้
สรุปเรื่องอิเหนาในแบบฉบับ point of view
วิวเกริ่นว่า อิเหนาเป็นบทละครในสมัยรัชกาลที่ 2 สร้างมาเพื่อเล่นละคร ไม่ได้สร้างมาเพื่ออ่าน จึงไม่แปลกหากจะอ่านไม่จบทั้งเล่ม อีกทั้งฉบับนี้แค่ลองอ่านสารบัญก็เหมือนเรื่องย่อแทบจะทั้งเรื่องคือมีถึง 18 หน้า จาก 1012 หน้า
เรื่องเริ่มจากเทวดาองค์หนึ่งเป็นเทวดาบรรพบุรุษของเมืองสี่เมืองอยู่บนเกาะชวา ได้แก่ กุเรปัน ดาหา กาหลัง และสิงหัดส่าหรี ทั้งสี่เมืองเป็นอสัญแดหวาหรือวงศ์เทวัญ อยากให้ลูกหลานเป็นเลือดบริสุทธิ์ ไม่อยากให้แต่งงานปะปนกับเมืองอื่น จึงมักแต่งงานกันเองเรื่อยมา แต่บนเกาะนี้ยังมีเมืองหมันหยาที่เป็นเมืองเล็ก ๆ ส่งลูกสาวไปเป็นมเหสีเมืองกุเรปันและเมืองดาหา และลูกคนสุดท้ายคือจินตะหรายังคงอยู่ที่เมือง เมืองกุเรปันมีเจ้าชายคืออิเหนา ส่วนเมืองดาหามีเจ้าหญิงคือบุษบา ทั้งสองเป็นคู่หมั้นกัน ยายของอิเหนาซึ่งอยู่เมืองหมันหยาเสียชีวิต พ่อของอิเหนาไม่อยากให้มเหสีซึ่งกำลังท้องแก่เดินทางไปงานศพ อิเหนาซึ่งอยู่ในวัยเด็กหนุ่มจึงต้องเป็นตัวแทนไปงานศพยาย และได้ไปเจอจินตะหราที่เป็นลูกพี่ลูกน้องสวยถูกใจ จึงใช้อุบายต่าง ๆ จนได้มาเป็นเมีย และไม่ยอมกลับเมืองตัวเอง
เวลาล่วงเลยไปจนบุษบาได้วัยแต่งงาน ท้าวดาหาทวงสัญญาให้อิเหนามาขอแต่งงาน ท้าวกุเรปันก็ทวงสัญญากับอิเหนา แต่อิเหนาปฏิเสธ ท้าวดาหาโกรธจึงประกาศยกบุษบาให้ใครก็ได้ที่มาขอ เวลาเดียวกันนั้นมีเจ้าเมืองหนึ่งชื่อจรกา มีรูปชั่วตัวดำ พุงพลุ้ย ฟันขาว (ซึ่งสมัยนั้นไม่นิยม ต้องฟันดำหรือแดงเพราะเคี้ยวหมาก) จรกาอยากมีเมียสวย จึงส่งจิตรกรไปทั่วเกาะเพื่อวาดรูปหญิงงาม จนได้บุษบามา 2 รูป องค์ปะตาระกาหลาโกรธอิเหนาที่ปฏิเสธบุษบา จึงขโมยรูป 1 รูปไปทิ้งไว้ที่อื่น จรกาได้รูปมาจากจิตรกรแล้วถูกใจจึงไปขอบุษบาเป็นคนแรก วิหยาสะกำได้อีกรูปไป วิหยาสะกำเป็นเจ้าชายเมืองกะหมังกุหนิง มาทีหลังจรกา เมืองกะหมังกุหนิงแม้จะยิ่งใหญ่กว่าแต่มาช้ากว่าจรกาจึงถูกปฏิเสธ ท้าวกะหมังกุหนิงโกรธจึงยกทัพมาเพราะรักลูก ทั้งที่มีแต่คนห้ามเพราะกลัวอิเหนา เพราะหากอิเหนามารบยังไงก็ชนะ ท้าวกุเรปันให้อิเหนามาช่วยรบเพราะเป็นคนก่อเรื่อง อิเหนาเข้าเมืองดาหาและรบจนชนะ ฆ่าวิหยาสะกำตาย บุษบามาไหว้อิเหนา อิเหนาเห็นว่าบุษบาสวยกว่าจินตะหรามาก จึงอยู่ตื๊อเพื่อกันท่าจรกา ก่อนงานแต่งบุษบา อิเหนาเผาเมืองดาหาและปลอมตัวเป็นจรกา ลักตัวบุษบาไปอยู่ที่ถ้ำนอกเมืองและได้เสียกัน อิเหนาแกล้งกลับเมืองมาจากล่าสัตว์และมาแก้ตัว
องค์ปะตาระกาหลาโกรธที่อิเหนาเผาเมือง จึงเอาลมหอบบุษบาไปอยู่ที่เมืองอื่น และแต่งบุษบาให้กลายเป็นชายชื่ออุณากรรณ อิเหนาหาบุษบาไม่เจอ บุษบาได้กลายเป็นลูกบุญธรรมเมืองต่าง ๆ ส่วนอิเหนาไปบวชเพื่อสะเดาะเคราะห์ ฝ่ายบุษบาก็พยายามผจญภัยสร้างชื่อเพื่อให้อิเหนาหาเจอ บุษบาได้เมียเยอะเพราะได้เมืองขึ้นเยอะเช่นเดียวกันกับอิเหนา แต่องค์ปะตาระกาหลาสาปไว้ว่าไม่ให้ทั้งสองจำกันได้ จนกว่าจะมีคนสี่คนมาอยู่ในเมืองเดียวกัน คือ อิเหนา บุษบา วิยะดา น้องสาวอิเหนา และสียะตรา น้องชายบุษบา จนวันหนึ่งบุษบาได้เจออิเหนาและบอกว่าตัวเองคือเจ้าชายจากเมืองหนึ่ง สังคามาระตา น้องชายบุญธรรมของอิเหนาไม่โดนคำสาปก็จำได้ว่านี่คือบุษบา ส่วนอิเหนาแนะนำตัวว่าเป็นโจรป่าปันหยีที่มาจากเกาะอื่น บุษบาก็จำไม่ได้ ด้านสียะตรา น้องชายบุษบาซึ่งโตเป็นหนุ่มได้เดินทางออกจากเมืองไปตามหาอิเหนากับบุษบา
ทุกคนมะงุมมะงาหราเดินป่าตามหากัน จนได้ไปรวมตัวกันที่เมืองกาหลัง เวลานั้นบุษบาหนีไปบวชเป็นชีแล้ว อิเหนาจัดการแสดงละครเกี่ยวกับการพลัดพรากจากบุษบา บุษบาดูแล้วร้องไห้ อิเหนาจึงรู้ว่าเป็นบุษบา ประกอบกับตรงตามเงื่อนไขของคำสาปคือจะจำกันได้เมื่อคนสี่คนอยู่เมืองเดียวกัน ทั้งหมดจึงพากันกลับเมือง
ฝ่ายจินตะหรารออยู่เมืองหมันหยานาน 10 ปี และได้รับการสถาปนากลายเป็นประไหมสุหรี (มเหสีตำแหน่งสูงสุด) ฝั่งขวาของอิเหนา เพราะแม้จะต่ำศักดิ์แต่เป็นเมียแรกและอายุมากกว่าบุษบานิดหน่อย จึงได้เป็นฝั่งขวา ส่วนบุษบาได้เป็นประไหมสุหรีฝั่งซ้าย
ตอนเด่นของอิเหนา
วิวเกริ่นว่าวรรณคดีเรื่องอิเหนาต่างจากรามเกียรติ์ที่คนจะรู้ไทม์ไลน์ว่าเป็นการไปรบกับยักษ์ ขณะที่เรื่องอิเหนาคนจะคุ้นแค่ตอนศึกกะหมังกุหนิงซึ่งอยู่ในแบบเรียน และความยากอีกอย่างคือศัพท์ยาก ชื่อคนยาก
ตอนบุษบาเสี่ยงเทียนก็เป็นตอนที่ดัง เป็นตอนหลังจบศึกกะหมังกุหนิง มีภูเขาชื่อวิลิศมาหรา ซึ่งคนเชื่อว่าองค์ปะตาระกาหลาอยู่ที่นี่ จึงมักมีคนมารำแก้บนหลังจบศึก ส่วนบุษบาไปเพราะมะเดหวี แม่เลี้ยงบุษบาพาบุษบาไปเสี่ยงเทียนว่าบุษบาจะต้องครองคู่กับจรกาจริงหรือไม่ เพราะหากคู่กันก็เปรียบเหมือนเพชร (บุษบา) ที่ถูกโยนไปในกองขี้ (จรกา) ในถ้ำที่ไปเสี่ยงเทียนแห่งนี้มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ มีการจุดเทียน 3 เล่ม เทียนซ้ายคือจรกา เทียนกลางคือบุษบา เทียนขวาคืออิเหนา และบนบานว่าใครได้คู่กันขอให้เทียนนั้นสว่าง อิเหนาแอบอยู่หลังพระเลยพากย์ว่าบุษบาคู่กับอิเหนา อิเหนาให้คนไล่ค้างคาวออกมาจนเทียนดับ อิเหนาออกไปลวนลามบุษบา จนในที่สุดความแตก ถือเป็นตอนที่ค่อนข้างดัง
วิวเสริมว่ามีอีกตอนหนึ่งคือ ตอนดรสาแบหลาซึ่งอยู่ตอนต้นเรื่อง ละครเวทีชอบนำมาเล่น เป็นฉากที่ไม่ค่อยสำคัญแต่สวยงาม เรื่องเกิดจากตอนต้นเรื่องที่อิเหนาจะไปหาจินตะหรา ลูกน้องอิเหนาไปมีเรื่องกับสามีของนางดรสา สามีของนางแพ้อิเหนาและตาย ดรสาจึงฆ่าตัวตายตามคล้าย ๆ กับการทำสตีตายตามสามีไป
อิเหนาเวอร์ชั่นอินโดนีเซียแตกต่างจากเวอร์ชั่นไทยอย่างไร
วิวกล่าวว่าเวอร์ชั่นอินโดนีเซียคือเรื่อง หิกะยัต ปันหยี สะมิหรัง เรียกง่ายๆ ว่า นิทานปันหยี คล้าย ๆ นิทานพระราม ต่างกับไทยแบบคนละเรื่อง ของไทยคือจักรวาลของอิเหนา ของอินโดนีเซียเรื่องราวหมุนรอบตัวนางเอก ซึ่งเทียบได้กับจินตะหราของไทย (ส่วนบุษบาในเวอร์ชั่นอินโดนีเซียเป็นแม่) เนื้อเรื่องคล้ายคลึงกับเรื่องปลาบู่ทองของไทยคือแม่เลี้ยงใช้ยาเสน่ห์ทำให้พ่อรัก พ่อจึงรักแม่เลี้ยงกับลูกสาวคนเล็กมากกว่า จินตะหราเป็นคู่หมั้นอิเหนาแห่งเมืองกุเรปัน ซึ่งเป็นเมืองใหญ่กว่าแต่ก็ไม่ใช่เมืองเด่นเท่าเมืองดาหา จินตะหราโดนกลั่นแกล้งต่างๆ นานา แย่งของกับน้องสาวตลอด ในที่สุดน้องสาวจะแย่งอิเหนา และใส่ร้ายจินตะหราถึงขั้นว่าเป็นกบฏ จินตะหราโดนตัดผมจึงปลอมเป็นผู้ชาย และมีความคิดจะช่วยเหลือผู้หญิง จึงกวาดต้อนผู้หญิงเอาเข้ามาในเมือง คนภายนอกจึงเข้าใจว่าจินตะหราเป็นโจรบ้าผู้หญิง
นอกจากนี้วิวยังเสริมว่าอิเหนาเวอร์ชั่นอินโชนีเซียเป็น “วาย” แท้ๆ ถึงกับปฏิเสธน้องสาวจินตะหราเพราะหลงรักจินตะหราที่ปลอมเป็นโจรผู้ชาย ส่วนของไทยไม่ได้วาย อาจเป็นการ “จิ้น” กันไปเองมากกว่า ส่วนที่เรียกว่า “ปันหยี” นั้นแปลว่าเจ้าชาย ก็หมายถึงจินตะหรานั่นเอง
สาเหตุที่ชอบเรื่องอิเหนา
วิวตอบอย่างรวดเร็วว่าชอบเรื่องอิเหนาเพราะกระทบใจ เป็นสาเหตุง่ายๆ และได้อ่านเรื่องอิเหนาตอนม.4 ซึ่งเป็นวัยที่อินเรื่องความรักพอดี พออ่านหนังสือเรียนเราจะเจอพระรามปราบยักษ์ เป็นผู้ทรงเกียรติ์ หรือเรื่องทุกข์ของชาวนาซึ่งเราไม่อิน ไตรภูมิพระร่วงก็อ่านแต่ไม่อิน แต่พออ่านอิเหนาแล้วเจอท่อนที่จินตะหรากล่าวว่า “แล้วว่าอนิจจาความรัก พึ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล ตั้งแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไป ที่ไหนเลยจะไหลคืนมา สตรีใดในพิภพจบแดน ไม่มีใครได้แค้นเหมือนอกข้า ด้วยใฝ่รักให้เกินพักตรา จะมีแต่เวทนาเป็นเนืองนิตย์ โอ้ว่าน่าเสียดายตัวนัก เพราะเชื่อลิ้นหลงรักจึงช้ำจิต จะออกชื่อลือชั่วไปทั่วทิศ เมื่อพลั้งคิดผิดแล้วจะโทษใคร” เพราะไปเชื่อคำหวานของผู้ชายเลยต้องช้ำใจ รู้สึกว่าเข้าถึงกว่าวรรณคดีเรื่องอื่น ๆ และจินตะหรายังเป็นตัวละครที่ชอบมากที่สุดในเรื่องนี้ เพราะทำให้คิดได้ว่าความรักก็เท่านี้ ผู้ชายรักแล้วเดี๋ยวก็ลืม
สีดา vs บุษบา เทียบกันแล้วใครสวยที่สุด
นักอ่านร่วมแสดงความคิดเห็นว่าสีดาน่าจะสวยที่สุดเพราะเป็นอวตารของเทวี อย่างไรก็น่าจะสวยกว่า นักอ่านท่านหนึ่งกล่าวว่าเคยได้ยินคนชมความงามของสีดามากกว่า บุษบาไม่มีบทชมโฉมที่เราจำได้ขนาดนี้
วิวกล่าวว่าไม่อยากเทียบเป็นส่วนๆ เพราะทุกเรื่องจะบอกคิ้วโก่ง นมดอกบัว ก้นสุดเสียงสังข์ หน้าเหมือนพระจันทร์ ทุกเรื่องก็เหมือนกันหมด อยากให้ดูเอฟเฟ็กต์ที่คนเห็นแล้วเกิดอาการต่างๆ เช่น สีดาคนลือกันว่างามจนทศกัณฐ์อยากจะเห็น ต้องเดินทางมาดู บุษบาคนเห็นแค่รูปก็แย่งชิงรบกัน อิเหนาที่บอกว่าจินตะรายังไงก็สวยกว่า ตอนเห็นบุษบาครั้งแรกก็เสียสติ จีบกลางโถงต่อหน้าผู้คน อีกทั้งยังอุ้มน้องบุษบาอยู่ แต่พอเห็นบุษบาแล้วมือตก
วิวเสริมว่าในความคิดของวิวคือคนที่สวยคือคนที่เรารักที่สุด ในสายตากวีคือคนที่ฉันเขียนก็เป็นคนที่สวยที่สุด ถ้าชอบก็สวย
นักอ่านท่านหนึ่งถามว่ามีสี่สาวงามในประวัติศาสตร์จีน ของไทยมีหรือไม่ วิวตอบว่าของไทยไม่มีลำดับความงาม เพราะมาจากวรรณคดี ส่วนของจีนมี 4 คนตามช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ ได้แก่ 1.ไซซี ฉายามัจฉาจมวารี คือสวยจนปลาลืมว่ายน้ำ จมน้ำตาย 2. หวังเจาจวิน ฉายาปักษีตกนภา นกก้มมองจนลืมบิน ตกลงมาตาย 3. เตียวเสี้ยน ฉายาจันทร์หลบโฉมสุดา คือเตียวเสี้ยนชมพระจันทร์ แล้วพระจันทร์อาย หนีไปจนเกิดจันทรุปราคา และ 4. หยางกุ้ยเฟย ฉายามวลผกาละอายนาง คือเตียวเสี้ยนชมดอกไม้ ดอกไม้อายเลยหุบหนี
บุษบา vs จินตะหรา อิเหนารักใครมากกว่ากัน
วิวเริ่มด้วยการถามนักอ่านในห้องว่ามีใครคิดบ้างว่าอิเหนารักจินตะหรามากกว่า ปรากฏว่าทุกคนในห้องคิดเห็นในทางเดียวกันว่าอิเหนารักจินตะหราน้อยกว่า วิวเสริมว่าเพราะได้บุษบามายากกว่า สวยกว่า และเป็นเมียคู่ทุกข์คู่ยาก
จิ้นวายในอิเหนา ตกลงอิเหนาชอบผู้ชายด้วย!?
นักอ่านส่วนหนึ่งกล่าวว่าน่าจะจิ้นวายได้ นักอ่านท่านหนึ่งบอกว่าอิเหนามีสเป็คที่ชอบคือบุษบา พอเจออุณากรรณเลยชอบเพราะหน้าเหมือน
วิวกล่าวว่าอิเหนาชอบคนหน้าตาดี ตอนอิเหนาฆ่าวิหยาสะกำตายก็ยังชมว่าทนต์แดงเหมือนแสงทับทิม ควรอยู่หล่อๆ ไป ชอบอุณากรรณด้วย ชอบคนที่มีปฏิสัมพันธ์ด้วย กับผู้หญิงอิเหนาเข้าหาได้ตรงๆ เลย
วิวเสริมว่าการจิ้นเรื่องอิเหนาคิดว่าวายแน่สำหรับอินโดนีเซียส่วนของไทยให้เหตุผลในการกระทำของอิเหนาอยู่เสมอ คือไม่วาย แม้จะเป็นผู้ชายที่ชมผู้ชายที่หล่อด้วยกัน ผู้ชายในวรรณคดีไทยชอบคนอ้อนแอ้น อย่างจรกาเป็นคนล่ำ ๆ ออกจากฟิตเนส อารมณ์นักมวยบัวขาว ไม่ได้แย่ในสมัยนี้ แต่ตัวพระในวรรณคดีต้องนุ่มนิ่ม ชมผู้ชายกันเองว่าหล่อ อย่างตอนทศกัณฐ์แปลงร่างเป็นชายก็หล่อ พระรามยังเสียดาย
ส่วนตอนที่อิเหนาเอาสียะตราและสังคามาระตามากอดจูบลูบคลำก็มีเหตุผล ตอนที่กอดสังคามาระตาซึ่งเป็นน้องชายมาหยารัศมี เพราะหน้าเหมือนมาหยารัศมี และอยู่ในสถานการณ์ที่ได้รับผู้หญิงมา แต่ตนกำลังจะไปหาเมียหลวงคือจินตะหราก็ไม่ควรจะมีอะไรกับเมียน้อย เลยกอดจูบสังคามาระตาแทน และตอนนำสียะตรามากอดเล่นเพราะตอนนั้นสียะตราเป็นเด็กห้าขวบ หน้าเหมือนบุษบา และเชียร์อิเหนา สียะตราจะขอดอกไม้ ขอหมากจากบุษบามาให้ตลอด
ส่วนตอนที่ดูเหมือนชอบอุณากรรณเพราะคิดถึงเมียคือบุษบาซึ่งไม่เจอหน้ามา 10 ปี หน้าตาเหมือนบุษบาแค่เป็นผู้ชาย อย่างไรก็ตามวิวเสริมว่า วรรณคดีเรื่องใดก็ตามถ้าพ้นออกจากมือผู้สร้างแล้วเราก็สามารถตีความได้
ผู้ชายดีๆ ในวรรณคดีมีบ้างมั้ย!?
น้องนักอ่านคนหนึ่งตอบว่าที่ดีที่สุดน่าจะเป็นพระสุธนในเรื่องพระสุธน-มโนราห์เพราะรักเดียวใจเดียว จนพระอินทร์ถึงกับเห็นใจลงมาช่วยพระสุธนให้ตามหานางมโนราห์จนสำเร็จ
วิวตั้งคำถามชวนคิดว่า ต้องตอบให้ได้ก่อนว่า “ดี” คืออะไร น้องนักอ่านในห้องส่วนใหญ่ตอบว่าการผัวเดียวเมียเดียว หรือการมีสิทธิ์เท่าเทียมกันของชายหญิง น้องนักอ่านท่านหนึ่งกล่าวว่า อยู่ที่ความยินยอมพร้อมใจมากกว่า ถ้าอยากมีหลายผัวหลายเมียหรือมีความสัมพันธ์ร่วมกันแล้วทุกคนโอเคก็คือจบ ถือว่าดีแล้ว
วิวเสริมว่า สำหรับอิเหนาด้านความรักคือแย่แน่เพราะมีหลายเมีย แต่ด้านการปกครองก็ไม่เคยละเลยเมือง ที่สำคัญต้องเข้าใจว่าในสมัยโบราณการมีหลายเมียไม่ผิด ไม่มีกรอบสมัยปัจจุบันคือเรื่องรักเดียวใจเดียว คนแรกพระสุธนนี่ชัดเจนมาก แต่คนรักเดียวใจเดียวในวรรณคดีมีเยอะมาก เราลืมเพราะเขามีเมียแค่คนเดียว พอพูดถึงหลายเมียเราก็ไปโฟกัสที่หลายเมียจนลืมไปว่าเขาทำอะไรอย่างอื่นมากมาย อย่างขุนแผนเราไปโฟกัสแต่เรื่องหลายเมียจนลืมความดีเรื่องอื่น ๆ ของเขา สำหรับสมัยก่อนที่ยังไม่มีเรื่องความเท่าเทียมของชายหญิง การที่ผู้ชายดูแลผู้หญิงเหมือนดูแลสมบัติชิ้นหนึ่งก็ถือว่าดีแล้ว
นักอ่านท่านหนึ่งกล่าวว่า สาวิตรีที่เป็นเรื่องผัวเดียวเมียเดียวมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นช่วงที่ฝรั่งเข้ามา ศาสนาคริสต์เข้ามา ทำให้เกิดเรื่องผัวเดียวเมียเดียว วิวเสริมว่าวรรณคดีขึ้นอยู่กับยุคสมัยด้วย หลายร้อยปีข้างหน้าคนอาจจะสงสัยก็ได้ว่าทำไมยุคนี้เราจิ้นวายกัน
ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง : สำนวนติดปาก
วรรณคดีเรื่องอิเหนาทำให้เกิดสำนวนติดปากขึ้นมากมาย วิวกล่าวว่าเพราะวรรณคดีเป็นสื่อบันเทิงของยุคสมัยหนึ่ง ยุคนี้อาจจะมีสำนวน #ของมันต้องมี วรรณคดีคือสื่อที่แพร่หลายและเราเข้าใจกันไปทั่วในยุคสมัยหนึ่ง อย่างเรื่องอิเหนาก็มีหลายสำนวน เช่น ตอนที่อิเหนาด่าจรกากับวิหยาสะกำว่าไปรบกันกะอีแค่แย่งบุษบา แต่พอตนเห็นนางบุษบากลับพร่ำเพ้อหนักกว่า จึงเป็นที่มาของสำนวน “ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง” อีกสำนวนคือ “วิลิศมาหรา” มาจากชื่อเขาวิลิศมาหราที่สวยงามมาและเชื่อกันว่าองค์ปะตาระกาหลาอยู่ที่นี่ มักมีคนมารำแก้บนหลังจากบนก่อนไปรบ จากเรื่องบุษบาก็ไปในตอนบุษบาเสี่ยงเทียน อีกสำนวนคือ “มะงุมมะงาหรา” ซึ่งหมายถึงการเดินป่า แต่กลายเป็นการเดินงง ๆ ไม่รู้ที่มาที่ไป ซึ่งก็จริงเพราะเดินป่ากันเป็นสิบปี
อ่านวรรณคดีได้อะไร
ตบท้ายกิจกรรมด้วยคำถามยอดฮิตอย่าง “อ่านวรรณคดีไทยได้อะไร” น้องนักอ่านคนหนึ่งกล่าวว่า จากเรื่องอิเหนาได้ข้อคิดเรื่องกรรมตามสนอง อย่างอิเหนาที่สุดท้ายต้องวุ่นวายเพราะมีเมียเยอะ วิวเสริมว่า ประสบการณ์จากตัวละครก็สอนเราได้
น้องนักอ่านอีกคนเสริมว่าช่วยให้เห็นค่านิยม สังคม ประเพณี เช่น ก่อนไปรบก็ต้องมีการตัดไม้ข่มนาม
วิวเสริมว่าอย่างเรื่องอิเหนารับเอาวรรณคดีชวามา เราก็จะเห็นภาพรวมๆ ของชวาไปจนถึงวัฒนธรรมไทย ซึ่งมีพิธีกรรมที่มีจริงๆ ในสมัยรัชกาลที่ 2 ที่ดัดแปลงไม่ให้ดูพุทธศาสนามากเกินไป เช่น จากเชิญพระมาสวดก็แปลงเป็นฤๅษีมา เป็นต้น
กิจกรรม TK Reading Club ตอน อิเหนา จบลงพร้อมความอบอุ่นและความสนุกสนาน วิทยากรและนักอ่านทุกท่านได้ร่วมถ่ายรูปเป็นที่ระลึก
...เพราะการอ่านไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในตำราเรียน...
Chestina Inkgirl