TK Café: ซึมไม่เศร้า รู้จักและรักษาโรคซึมเศร้าอย่างเข้าใจ
แม้ว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมากระแสของ ‘โรคซึมเศร้า’ จะเป็นหนึ่งในความสนใจของผู้คนส่วนใหญ่ เพราะถือเป็นโรคที่ต้องอาศัยความเข้าใจอยู่พอสมควร ทั้งการประเมินภาวะป่วย การรักษา ไปจนถึงการช่วยเหลือจากคนรอบข้างที่สำคัญไม่แพ้กัน แต่ด้วยคำบอกกล่าวในสื่อโซเชียลฯ ต่างๆ ที่มีทั้งข้อมูลถูกต้องและผิดพลาดปะปนกันไป ทำให้บางครั้งเกิดความสับสนหรือเข้าใจผิดได้ ซึ่งคนที่ให้คำตอบได้ดีที่สุดจึงเป็นคุณหมอที่รักษาอาการของโรคซึมเศร้าโดยตรง
อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมกับเหล่าอาสา ชวนมาล้อมวงพูดคุย ในกิจกรรม TK Café กับ 31 หัวข้อคัดสรรที่จะสร้างบทสนทนา เติมแรงบันดาลใจ จุดพลัง และสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ กับเรื่องราวธรรมดาแสนมหัศจรรย์ที่มอบประสบการณ์ดีๆ ไม่แพ้การอ่านหนังสือสักเล่ม
โดยในหัวข้อ ซึมไม่เศร้า ได้คนอาสาอย่าง หมอลูกปลา - พญ.สามิตรา กลีบบุบผา จากโรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์ ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์จากการเป็นหมอที่รักษาผู้ป่วยซึมเศร้าโดยตรง ถึงสาเหตุของอาการซึมเศร้าว่าเกิดขึ้นจากอะไร การสำรวจตนเองและคนรอบข้างว่ากำลังป่วยไหม และความสำคัญของคนรอบข้างที่มีส่วนช่วยในการรักษา
โรคซึมเศร้าเกิดขึ้นเพราะอะไร
“ความแตกต่างระหว่างอารมณ์เศร้าธรรมดากับโรคซึมเศร้า อาการเศร้าโดยทั่วไปอาจจะเป็นแค่อารมณ์หนึ่งเฉยๆ เป็นภาวะสั้นๆ แต่ถ้าเป็นโรคอาจจะทำให้เสียฟังก์ชันในการใช้ชีวิตตามปกติ มีอาการผิดปกติที่ทำให้สูญเสียความสามารถในการใช้ชีวิตบางอย่างไป ซึ่งต้องอาศัยการรักษาโดยแพทย์” หมอลูกปลานิยามความแตกต่างของอารมณ์เศร้ากับอาการป่วยที่แตกต่างกัน
“อาการของโรคเกิดจากสารเคมีหรือสารสื่อประสาทในสมอง 3 ตัว คือโดพามีน อะดรีนาลีน และเซโรโทนิน ที่ทำให้คนเราแอคทีฟหรือทำให้คนเราอยากจะพูดคุย อยากใช้ชีวิต แต่เมื่อใดก็ตามที่สารเคมีทั้ง 3 ตัวนี้ลดลงไป ทำให้เกิดอาการซึมเศร้า เบื่อ ไม่อยากทำอะไร อยากอยู่เฉยๆ เพราะอารมณ์เกิดจากสารเคมีในสมองและประสบการณ์ชีวิต ทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงสังคม ซึ่งทุกอย่างนี้เป็นสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการของโรคซึมเศร้า”
จะเห็นได้ว่าสาเหตุของโรคซึมเศร้าเกิดขึ้นจากภาวะความผิดปกติของร่างกาย จิตใจ และสิ่งเร้าภายนอกต่างๆ ที่เอื้อให้เกิดโรคซึมเศร้า
จะรู้ได้อย่างไร ว่ากำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
“โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางใจที่ไม่สามารถตรวจเจอง่ายๆ เหมือนตรวจเบาหวานหรือความดัน ต้องเป็นการวินิจฉัยโดยแพทย์ว่าเข้าข่ายไหม ลักษณะของโรคทำให้เราเสียฟังก์ชันการใช้ชีวิตไปจากปกติ อย่างการทำงาน กิน นอน มีอาการรู้สึกท้อแท้ รู้สึกสิ้นหวัง ขาดสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ ที่ต้องสังเกตคือคนทั่วไปจะอยู่กับอารมณ์เศร้าได้ไม่นาน แต่เมื่อใดก็ตามที่เราสูญเสียการใช้ชีวิตปกติเป็นระยะเวลาสองสัปดาห์ต่อเนื่องกัน จะเข้าข่ายว่าเป็นโรคแล้ว” หมอลูกปลาแนะนำให้ลองสังเกตอาการแบบคร่าวๆ คือหากมีเพื่อนหรือตนเองที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าติดต่อกัน ให้วินิจฉัยได้ว่าอาจจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้
หมอลูกปลาได้เน้นย้ำถึงขั้นตอนต่อไปว่า ถ้าหากเริ่มสงสัยว่าเข้าข่ายให้รีบปรึกษาแพทย์ก่อน “ถ้าเราสงสัยว่าเราเข้าข่ายว่าจะเป็น ก็ให้ลองปรึกษาแพทย์ดีกว่า จริงๆ แล้วปัจจัยที่ทำให้ไปโรงพยาบาลอาจจะต้องหนักจริงๆ เมื่อไรที่เราสูญเสียการใช้ชีวิตหรือการทำงานปกติไป เราต้องหาตัวช่วย เพราะส่วนใหญ่จะแก้ไขด้วยตัวเองไม่ได้
“สำหรับคนที่มีอาการเศร้าปกติ เวลาเจอสิ่งกระตุ้นใหม่ๆ หรือเข้าหาอะไรดีๆ จะสามารถหายได้ แต่คนที่เป็นโรคซึมเศร้าไม่สามารถหายได้ ซึ่งไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากหาย ไม่ใช่เขาไม่อยากสู้ แต่เขาทำไม่ได้ ครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะคอยให้กำลังใจและสนับสนุน”
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่ยอมไปพบแพทย์ด้วยตนเอง สิ่งสำคัญคือคนรอบข้างเมื่อพบเห็นสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนเข้าข่ายว่าจะเป็นโรคซึมเศร้าจึงควรแนะนำให้ไปพบแพทย์ก่อนคือทางออกที่ดีที่สุด
จะรักษาให้หายด้วยวิธีการไหน
โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต การรักษาให้หายจึงไม่สามารถรักษาให้หายในระยะเวลาอันสั้นเหมือนโรคที่เกิดขึ้นกับร่างกายส่วนอื่นๆ จึงจำเป็นต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง “การรักษาโรคซึมเศร้ามีทั้งใช้ยาและไม่ใช้ยา ปกติยาจะใช้เวลากินนาน ซึ่งไม่ควรจะหยุดเอง กว่าที่ยาจะออกฤทธิ์ก็ประมาณสองถึงสามสัปดาห์ เมื่อกินไปเกินหกเดือนและไม่มีอาการติดต่อกันหมอจึงจะค่อยๆ ปรับลดยาลงไป”
นอกจากการใช้ยาแล้ว ยังมีวิธีการรักษาที่ไม่ต้องใช้ยาอีกด้วย แต่ต้องขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน “หลังจากที่หมอวินิจฉัยแล้วจะให้ปรับไม่ใช้ยาก็ได้ เป็นการรักษาโดยการพูดคุยและปรับทัศนคติ” ซึ่งการพูดคุยที่ว่าไม่ใช่เพียงแค่แพทย์เท่านั้น คนรอบข้างก็สามารถใช้วิธีนี้ในการช่วยรักษาผู้ป่วยได้เช่นกัน
“อยากให้คนรอบข้างใช้ใจฟังจริงๆ จะสามารถรับรู้ความรู้สึกของผู้ป่วยตรงหน้าว่าเขาอยากบอกอะไรเรา เพราะคนตรงหน้าคือคนที่สำคัญที่สุดสำหรับเขาตอนนั้น now is good หมอชอบคำนี้สุด ปัจจุบันนี้ดีที่สุดแล้ว อดีตผ่านไปแล้ว อนาคตยังไม่มาถึง
“จริงๆ ทุกคนอยากมีตัวตน อยากเป็นคนสำคัญ อยากมีคุณค่า เป็นเหตุผลที่ทำให้คนเราอยากมีชีวิตอยู่ได้ เมื่อไรก็ตามที่ผู้ป่วยรู้สึกว่ามีที่ยืนอยู่ในสังคม ทำประโยชน์ให้ผู้อื่นได้ จะทำให้เขาอยากอยู่ต่อไป ถ้ารู้สึกว่าคนใกล้ตัวเป็นแบบนี้ให้ลองถามว่าอยากให้ช่วยอะไรไหม ซึ่งส่วนใหญ่คนที่ป่วยจะต้องการคนรับฟังและให้กำลังใจอยู่เสมอ อยากให้ฟังกันมากขึ้นโดยใช้ใจ โดยไม่ต้องไปตัดสิน และให้กำลังใจว่าเราจะอยู่กับเธอนะ”
นอกจากการรักษาให้ถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์แล้ว ความเข้าใจจากคนรอบข้างคือสิ่งที่สำคัญมากที่สุดในการรักษา ด้วยคำพูดที่ออกมาจากใจให้ผู้ป่วยได้รู้สึกว่าตนเองยังมีความสำคัญอยู่ โรคซึมเศร้าก็จะไม่ใช่โรคที่ต้องเศร้าอีกต่อไป
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย