Moving and Cut กับความเคลื่อนไหวสู่ความสำเร็จทางเสียงดนตรี
“เมื่อก่อนตอนอยู่มหา’ลัย เราจริงจังกับการทำเพลงมาก อยากส่งเดโม อยากมีค่าย แล้วก็มาถึงจุดหนึ่งที่เราไม่ได้คาดหวังกับการทำเพลงแล้ว แต่พอมียูทูบขึ้นมา เรากลับมารู้สึกตื่นเต้นอีกครั้ง”
นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวในวงการเพลงของ Moving and Cut วงดนตรีป๊อปอิสระที่แจ้งเกิดพร้อมกับแพลทฟอร์ม YouTube พื้นที่ที่ทำให้วงดนตรีอิสระหลายวงแจ้งเกิดมาแล้ว
อุทยานการเรียนรู้ TK park ได้จัดกิจกรรม TK Music Weekend: New Face มินิคอนเสิร์ตแจ้งเกิดของศิลปินหน้าใหม่ไฟแรงจากโครงการ TK band 8 และมีศิลปินรุ่นพี่มาแบ่งปันประสบการณ์ดีๆ ให้กับศิลปินรุ่นน้อง ซึ่งคราวนี้เป็นคิวของ Moving and Cut วงดนตรีป๊อปอิสระ เจ้าของเพลงโทนหม่นเศร้าอันเป็นเอกลักษณ์อย่าง ‘ปล่อยให้ตัวฉันไป’ ประกอบไปด้วยสมาชิกคือ มีน - ปารินทร์ โฆรวิส (ร้องนำ, กีตาร์), บุ๊ค - ศุภกร บุญจิมาวัฒน์ (กีตาร์), การ์ตูน - จิตรลดา นวลเนตร์ (ซินธิไซเซอร์), ต้น - ฆฤนษาพัฒน์ ภมมินทร์ (กลอง), ต้นหยาง - ธีรัตม์ นิลวดี (เบส)
จากจุดเริ่มต้นที่มาจากความสนใจส่วนตัวด้านดนตรี หลังจากที่มีเวลาว่างจากงานประจำมีนจึงทำเพลงด้วยตนเองเพื่อปล่อยให้คนฟังในยูทูบ “พอปล่อยไปก็มีคนฟังประมาณหนึ่ง คลื่นแฟตก็เอาไปเปิด จนถึงจุดหนึ่งผมก็มั่นใจว่าอยากจะมีวง เพราะเป็นคนที่ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง เลยอยากได้คนที่เจาะจงกับรายละเอียดของเครื่องดนตรีชนิดนั้นจริงๆ คืออยากให้ทุกโชว์มีคาแรกเตอร์ของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น ซึ่งหลักๆ จะเริ่มมาจากผม แต่ทุกอย่างจะสมบูรณ์ไม่ได้เลย ถ้าเราไม่มีวง” มีนเล่าถึงการรวมตัวของสมาชิกในวง โดยเริ่มต้นจากการปล่อยเพลง ‘ปล่อยให้ตัวฉันไป’ ที่ทำให้มีคนรู้จักเพลงของวงมากขึ้น “วงเราเหมือนมีมีนเริ่มต้นสร้างบ้านเลโก้ขึ้นมา สมาชิกคนอื่นก็เหมือนการต่อเติมบ้านให้สำเร็จ” ต้นหยาง มือเบสอธิบายเสริมถึงการทำงานของวงที่เริ่มต้นมาจากมีนเป็นหลัก
“เพลงของ Moving and Cut เป็นดนตรีที่ง่ายๆ มีความเป็นอิเล็กทรอนิกส์อยู่นิดหน่อย มีความเป็นร็อกอยู่นิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากทุกอย่างที่เราฟังมันไปตกผลึกอยู่ในเพลง จริงๆ เราไม่ได้ตั้งใจให้มันเป็นยังไงเลย ทำเพราะสนุกๆ เลยออกมาเป็นแบบนี้ ซึ่งเราพูดเลยว่าเรามีหลายศิลปินมากที่เราชอบ คือเราไม่ใช่ออริจินัล ได้รับอิทธิพลมาอยู่แล้ว เลยอยากให้น้องๆ ฟังเยอะๆ ถ้าเรามี input เยอะ เราจะหยิบตรงนั้นมาใช้ได้” นักร้องนำนิยามถึงแนวดนตรีของวงที่เป็นส่วนผสมทางดนตรีที่ง่ายแต่ลงตัว ส่วนเนื้อหาของเพลงก็ขึ้นชื่อว่าเป็นวงที่มีเนื้อหาเพลงหม่นเศร้า “มีคนบอกว่าทำไมเพลงเราเศร้าจัง แต่จริงๆ เราทำเพลงเพราะความสุข คือถ้าไม่มีความสุข เราจะแต่งเพลงเศร้าไม่ได้ ซึ่งจริงๆ เรามีเพลงเศร้ากว่านี้อีก แต่ไม่ได้เอามาอยู่ในอัลบั้ม”
เมื่อถามถึงเพลงที่มีความหมายและเศร้าสำหรับสมาชิกในวงมากที่สุด การ์ตูนก็ได้ยกตัวอย่างเพลง ‘ผ่านไปอีกวัน’ “เป็นเพลงที่เศร้าที่สุดในอัลบั้มและเป็นเพลงที่ฟังแล้วอยากจะร้องไห้ พูดถึงสถานการณ์ของคนที่อยู่ในที่ที่ไม่ใช่ของตัวเอง ทำอะไรก็ไม่รู้สึกว่าพอดีกับชีวิต ซึ่งทุกคนน่าจะมีโมเมนต์แบบนั้น อาจจะเรียนอยู่แล้วได้เรียนไม่ตรงสาย หรือทำงานแล้วคาดหวัง แล้วมันไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เลยรู้สึกว่ามันเป็นแค่อีกวันที่ผ่านไป ณ วันที่แต่งเพลงนั้นคือรู้สึกแย่แบบนั้นจริงๆ” ก่อนที่มีนจะเล่าถึงความรู้สึกขณะที่แต่งเพลงว่า “มันเป็นเพลงที่เราแต่งในขณะที่เรารู้สึกเบื่อในชีวิต มันจะทรมานแค่ไหน ถ้าเราต้องทำเรื่องน่าเบื่อๆ เพื่อแค่ให้จะมีชีวิตแค่ผ่านไปอีกวัน”
แม้ทุกวันนี้ Moving and Cut จะยังไม่ใช่วงดนตรีที่เป็นรู้จักในวงกว้าง แต่ก็ถือได้ว่ามีแฟนประจำที่ติดตามพวกเขาตามงานคอนเสิร์ตต่างๆ อยู่ไม่น้อย ซึ่งพวกเขาก็ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่เกินความคาดหมาย “การที่ผมได้มาเล่นบนเวทีก็เป็นอีกความฝันที่ตามหาอยู่ เป็นอีกวีถีชีวิตหนึ่งที่ผมรัก เหมือนเป็นกระดูกสันหลังเล็กๆ คอยคุมจังหวะให้เพื่อนๆ เพราะผมก็เป็นครูสอนตีกลองด้วย” ต้น มือกลองเล่าถึงความสุขที่ได้เล่นดนตรีร่วมกับสมาชิกคนอื่นในวง
การทำเพลงเพื่อให้ประสบความสำเร็จได้นั้น หลายคนอาจจะคิดว่าต้องพยายามทำให้เข้าถึงตลาดมากที่สุด เพราะความสำเร็จมักถูกวัดด้วยปริมาณของคนฟัง แต่สำหรับ Moving and Cut ในฐานะที่เป็นวงดนตรีรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์มาก่อน พวกเขากลับแนะนำว่าควรทำในแบบที่สมาชิกในวงพอใจก่อน
“เราอยากให้ทุกคนทำแบบในที่ตัวเองอยากทำ อย่าลืมว่าต้องใช้ความสุขทำเป็นหลัก ในวันที่เพลงประสบความสำเร็จคือวันที่ปล่อยเพลงออกมาแล้วสมาชิกในวงชอบ นั่นคือความสำเร็จ เพราะถ้าวันหนึ่งเราพยายามทำเพลงเพื่อให้คนอื่นชอบ มันจะกลายเป็นว่าสมาชิกในวงที่ทำก็ไม่ชอบ เพราะฉะนั้นเอาแค่ในวงชอบก่อน แล้วทุกอย่างจะไปต่อได้เอง” มีนสรุปการทำเพลงในแบบ Moving and Cut ที่ทุกอย่างเกิดขึ้นจากความเป็นตัวเอง จนสามารถสร้างความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ให้กับวงการเพลงไทยได้สำเร็จ
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย