Pantip.com โซเชียลมีเดียแห่งการแบ่งปัน
อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมกับ ALA-Asian Leadership Academy ได้จัดกิจกรรม Inspired by idol โดยมีแขกรับเชิญพิเศษอย่าง คุณอภิศิลป์ ตรุงกานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีเว็บไซต์ Pantip.com ที่จะมาเปิดเผยเรื่องราวเบื้องลึกเบื้องหลังจากอดีตถึงปัจจุบัน รวมไปถึงจุดยืนของการบริหารงาน ให้สังคมออนไลน์แห่งนี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
สามยุคสมัยของพันทิป
เว็บไซต์พันทิปเริ่มต้นมาจากแนวคิดของ คุณวันฉัตร ผดุงรัตน์ ที่ต้องการเปิดนิตยสารออนไลน์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ก่อนจะพัฒนาสู่การให้บริการเว็บบอร์ด เปิดตัวเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2539 โดยในยุคแรกนั้นทีมงานมีอยู่เพียงไม่กี่คน และในขณะนั้นคุณอภิศิลป์ยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย แต่ก็ยังแบ่งเวลาเพื่อมาช่วยดูแลเว็บโดยไม่รับผลตอบแทนใดๆ
“พันทิปแบบออกเป็น 3 ยุค ยุคแรกคือยุค startup ประมาณช่วงสองสามปีแรก เป็นช่วงที่ตั้งไข่และไม่มีรายได้ มีคุณวันฉัตร ผดุงรัตน์ เป็นผู้ก่อตั้ง มีผมดูแลด้านเว็บ มีเพื่อนอีกคนดูด้านดีไซน์ของเว็บ และมีอาสาสมัครกลุ่มหนึ่งที่เล่นพันทิปบ่อยๆ คอยมาดูแลลบกระทู้ที่ไม่เหมาะสมออกให้ ส่วนใหญ่ทำงานกันด้วยใจรัก”
พันทิปเดินทางมาถึงยุคที่สองคือยุคเติบโต เริ่มมีรายได้จากการโฆษณาเพื่อมาหล่อเลี้ยงบริษัท โดยกินเวลายาวนานกว่าสิบปี “ยุคนี้เกิดขึ้นเมื่อยุคดอทคอมเฟื่องฟูในปี 2000 เว็บไทยหลายๆ เว็บมีฝรั่งมาซื้อ ตอนนั้นเราเริ่มมีรายได้เป็นก้อนมากขึ้นจากการขายโฆษณา แต่ก็ยังไม่ได้เยอะอะไร สามารถนำมาเช่าออฟฟิศและจ้างทีมงานเข้ามาดูแลได้มากขึ้น”
ยุคที่สาม คุณอภิศิลป์กล่าวว่าเป็นยุคที่เติบโตอย่างรวดเร็วมากที่สุด โดยนับย้อนหลังไปเมื่อสามปีที่ผ่านมาเท่านั้น “เราเรียกยุคนี้ว่ายุค big data ตอนยุคที่สองช่วงปลายๆ มีคนเข้าเว็บประมาณ 8 - 9 แสนคนต่อวัน แต่พอยุคที่สามผ่านไปแค่ปีเดียว มีคนเข้าวันละประมาณ 4.5 ล้านคน บางช่วงที่พีคสุดๆ คือ 5.1 ล้านคนต่อวัน กระทู้เพิ่มมาวันละ 4 - 5 พันกระทู้ต่อวัน ถือว่าโตเร็วมาก มีการจ้างทีมงานเพิ่ม จากเดิมประมาณ 40 คน ปัจจุบันมีประมาณ 80 คน สมาชิกก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น จากยังไม่ถึงล้าน ตอนนี้มีมากถึงประมาณ 3 ล้านคน”
พลังขับเคลื่อนของสมาชิกพันทิป
หากใครที่ใช้เว็บไซต์พันทิปเป็นประจำ คงจะทราบถึงระบบสมาชิกเป็นอย่างดี ซึ่งเปรียบเหมือนหัวใจหลักของเว็บไซต์ที่ทำให้เกิดสังคมพันทิปขึ้นมาได้ แต่กว่าที่ระบบจะพัฒนาจนสมบูรณ์ได้อย่างทุกวันนี้ ก็ต้องลองผิดลองถูกหลายต่อหลายครั้ง
“ในพันทิปยุคแรก เราไม่มีระบบสมาชิกเลย แปลว่าตอนตอบกระทู้ คุณจะใส่ชื่อใครก็ได้ เราอยากให้มีความเป็นนิรนาม ทำให้คนรู้สึกสบายใจที่จะตั้งกระทู้และตอบกระทู้ ทีนี้ก็เกิดปัญหาขึ้น คือมีการแอบอ้างชื่อกัน” คุณอภิศิลป์เล่าถึงเหตุผลที่ต้องพัฒนาระบบสมาชิกที่อาศัยชื่อล็อกอินกับพาสเวิร์ดเพื่อยืนยันตัวตน ก่อนจะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากยังมีปัญหาเรื่องการล็อกอินหลายชื่อ “มาถึงยุคหนึ่งที่เราเริ่มรู้สึกว่า ล็อกอินแบบเดิมไม่ได้ผูกตัวตนอะไรกับเขามาก แค่ใครอยากใช้อะไรก็เซ็ตและใส่พาสเวิร์ดขึ้นมาแค่นั้นเอง จนเกิดปัญหาว่ามีคนหนึ่งคนเอาล็อกอินหนึ่งมาตั้งกระทู้ และเปลี่ยนอีกล็อกอินหนึ่งมาตอบ ตั้งเองตอบเอง พอเป็นปัญหาแบบนี้เราก็ต้องพยายามสร้างตัวตนแบบหนึ่งคนหนึ่งล็อกอินขึ้นมา เราจึงต้องนำบัตรประชาชนมาผูกกับชื่อล็อกอินของสมาชิก”
แม้ว่าระบบการยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนจะสามารถแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาได้ แต่ระบบนี้ก็ยังไม่เอื้อต่อคนที่เข้ามาใช้งานชั่วคราวได้ พันทิปจึงมีการพัฒนาระบบสมาชิกอีกรูปแบบ “แบบสุดท้ายเป็นสมาชิกแบบสมัครด้วยอีเมลปกติหรือล็อกอินด้วยเฟซบุ๊กก็ได้ ซึ่งแบบนี้เอาไว้แก้ปัญหาในบางกรณี เช่น มีกระทู้หนึ่งถามเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย แล้วมีนักกฎหมายท่านหนึ่งมีความรู้ที่จะตอบกระทู้นั้นได้ แต่ตัวเองไม่มีล็อกอินพันทิป ก็เลยให้ใช้วิธีล็อกอินด้วยอีเมลหรือเฟซบุ๊กก็สามารถเข้ามาตอบกระทู้นั้นได้ทันทีเลย เป็นการเปิดช่องให้กับคนที่ยังไม่เคยเป็นสมาชิกพันทิปมาก่อนได้เข้ามาเป็นสมาชิกได้ง่ายขึ้น เพื่อให้ความรู้ของเขาสามารถแชร์กับคนในพันทิปได้”
พลังบวกที่ส่งผลให้พันทิปได้รับความนิยม
“พันทิปเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่กลางที่ทำให้คนมาแบ่งปันความรู้กัน ดังนั้นหลายๆ คนมีความรู้ก็จะมาแชร์ คนไม่รู้ก็จะมาถามและได้คำตอบไป ทำให้คนรู้สึกว่าพันทิปคือที่พึ่งพิงของเขาเวลามีปัญหา” คุณอภิศิลป์อธิบายถึงเป้าหมายของพันทิปที่เป็นเหมือนแหล่งรวบรวมความรู้ผ่านการถามและตอบของสมาชิก
“พอเป็นอย่างนี้ทำให้เกิด snowball effect อย่างมีน้องผู้หญิงคนหนึ่งเป็นเด็กผู้หญิงที่เพิ่งเรียนจบ ทำงานได้ไม่กี่ปี เคยตั้งกระทู้แบกเป้นั่งรถไฟจากหัวลำโพงไปหลังคาโลก และดังมากจนได้ออกหนังสือของตัวเอง ที่เขากล้าทำแบบนี้เพราะว่าเคยอ่านกระทู้พันทิปแล้วได้แรงบันดาลใจ พอเขาได้แรงบันดาลใจและกล้าออกไปทำแล้ว ก็อยากกลับมาตอบแทน มาตั้งกระทู้เล่าถึงแรงบันดาลใจในพันทิป ทำให้คนอื่นๆ ที่อ่านอยากไปเที่ยว กลับมาก็มาตั้งกระทู้อีกไปเรื่อยๆ เป็นพลังบวกที่ทำให้ความรู้ต่างๆ อยู่ในพันทิปมากมาย”
พลังบวกที่คุณอภิศิลป์เอ่ยถึง ยังหมายถึงเรื่องรอบตัวในชีวิตประจำวันอย่างการทำกับข้าวอีกด้วย “มีกระทู้ที่ดีๆ เยอะ อย่างกระทู้ ‘กระหล่ำปลีทอดน้ำปลา เคล็ดลับที่ถูกเปิดโปง’ เป็นเมนูที่ง่ายมาก แต่มีเทคนิคในการผัดให้อร่อย ทำให้กระทู้นี้มีคนแชร์เยอะมาก นี่คือสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นจิตวิญญาณของพันทิปเลย”
กระทู้ดราม่าสู่การแลกเปลี่ยนในพันทิป
แต่ละโซเชียลมีเดียมีจุดยืนที่แตกต่างกัน อย่างทวิตเตอร์เกิดมาเพื่อรายงานสถานการณ์แบบสดๆ เฟซบุ๊กเกิดขึ้นมาเพื่อเชื่อมต่อผู้คนทั่วโลกเข้าด้วยกัน และจุดยืนของพันทิปก็แตกต่างออกไป “เราจะทำอย่างไรเพื่อมีคำตอบที่น่าเชื่อถือกับทุกคำถามของคนไทย ใครมีปัญหาหรือคำถามใดๆ ก็จะมีคำตอบให้ ดังนั้นจุดยืนพันทิปจะไม่เหมือนโซเชียลมีเดียอื่นๆ”
แม้ว่าจุดยืนของพันทิปจะชัดเจนในเรื่องการแบ่งปันข้อมูล แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาก็หนีไม่พ้นเรื่องดราม่าที่เกิดจากการแสดงทัศนคติที่ไม่ตรงกัน “การที่คนมาถกเถียงกันในกระทู้ผมมองว่าเป็นเรื่องดี เพราะว่าคนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ถ้าความคิดของเขาไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับใคร บางทีการถกเถียงก็ทำให้เกิดคำตอบแบบใหม่ๆ ได้ พันทิปมี vision ที่ชัดเจน คืออยากสร้างแรงบันดาลใจเชิงบวกให้กับผู้คนให้ได้” คุณอภิศิลป์ให้ความเห็นในประเด็นนี้อย่างตรงไปตรงมา
ก้าวต่อไปของพันทิป
การเดินทางตลอด 20 ปีที่ผ่านมาของพันทิป เป็นสิ่งที่ยืนยันชัดเจนถึงจุดยืนที่มีต่อสังคมออนไลน์ของไทย แม้ว่าจะมีโซเชียลเน็ตเวิร์กใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเป็นคู่แข่งมากมายก็ตาม ซึ่งคุณอภิศิลป์ก็มองว่าเป็นความท้าทายที่ต้องเดินหน้าเอาชนะต่อไป
“เวลาคุณมีปัญหาแล้วเสิร์ช google เจอพันทิป อาจจะเจอคำตอบบ้างไม่เจอบ้าง ถ้ามี 100 เปอร์เซ็นต์ อาจะเจอแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ ยังเหลืออีก 99 เปอร์เซ็นต์ที่ยังไม่เจอ เราจะทำอย่างไรให้เรามีคำตอบมากพอเพื่อจะครอบคลุมทุกคำถามของคนไทยให้ได้ และทำให้มีความน่าเชื่อถือด้วย ตรงนี้คือความท้าทาย”
นอกจากตัวเว็บพันทิปเองที่เป็นเหมือนพื้นที่กลางสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดแล้ว คุณอภิศิลป์ยังมองว่าผู้ใช้ทุกคนต่างหากคือผู้ที่สร้างประโยชน์อย่างแท้จริงให้กับทุกคน “เราต้องมองว่าเรามีคุณค่าต่อโลกใบนี้อย่างไร คุณค่าของพันทิปคือความรู้ที่อยู่ข้างใน ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม rom หรือ read only member คือเน้นอ่าน แต่ไม่ได้เข้าไปตอบ คือทุกคนมีความเชี่ยวชาญในสายงานตัวเองอยู่ ความรู้ของทุกคนมีประโยชน์กับสังคมไทย ถ้าเกิดเราเอาสิ่งที่รู้มาแชร์ในพื้นที่ในพันทิป แล้วคนอื่นได้อ่าน ได้ความรู้ ได้แรงบันดาลใจ จะมีคนได้ประโยชน์จากความรู้ที่แชร์มาก บางทีอาจไม่ใช่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิศวะ การแพทย์ แต่เป็นความรู้ทั่วๆ ไป ความรู้เหล่านี้จึงมีประโยชน์มหาศาลมาก”
ตามหน้าที่ของการใช้งาน พันทิปเป็นเพียงแค่พื้นที่ที่เปิดให้ทุกคนมาแลกเปลี่ยนความคิดเท่านั้น แต่ผู้ที่ทำให้การแบ่งปันความรู้เกิดขึ้นได้จริงในสังคมออนไลน์ คือผู้ใช้ทุกคนนั่นเอง
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย