รำลึกชาติสยามกับสงครามโลกครั้งที่ 1
สงครามคือการสร้างความสูญเสีย คือสิ่งที่ทุกคนต่างเข้าใจเป็นอย่างดี แต่ในเมื่อสงครามที่เกิดขึ้นและผ่านไปแล้ว ก็คงไม่สามารถเรียกร้องอะไรกลับคืนมาได้ หลงเหลือแต่เพียงร่องรอยของประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นหลังสามารถเรียนรู้ได้
อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ได้จัด นิทรรศการ 14-18 รำลึก 100 ปี สงครามโลกครั้งที่ 1 กับผลงานภาพถ่ายประวัติศาสตร์ทหารสยามชุดพิเศษที่ถูกบันทึกไว้และไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ พร้อมทั้งการจัดฉายภาพยนตร์การเดินทางของทหารสยามไปยังประเทศฝรั่งเศสเพื่อเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 และการเสวนาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งในวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็ได้มีการเสวนาในหัวข้อ “เกร็ดความรู้จากสงครามโลก ครั้งที่ 1” โดยวิทยากรอย่าง คุณกฤษณะ คล้ายบุญมี แฟนพันธุ์แท้สงครามโลก และ อาจารย์พฤฒิพล ประชุมผล ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย มาร่วมกันเล่าถึงเกร็ดความรู้ที่เป็นการเรียนรู้อดีตที่ส่งผลถึงปัจจุบัน
จุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 1
คริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นช่วงที่เริ่มล่าอาณานิคมของชาติมหาอำนาจ แต่ก็ยังไม่มีชนวนอะไรที่ทำให้เกิดสงครามโลกได้ทันที จนกระทั่งวันที่ 28 มิถุนายน 1914 มกุฎราชกุมารของออสเตรีย-ฮังการี ได้ถูกลอบปลงพระชมน์ โดยนักศึกษาชาตินิยมที่ไม่เห็นด้วยกับการปกครองของออสเตรีย-ฮังการีในสมัยนั้น ซึ่งเป็นชนวนที่ทำให้ออสเตรีย-ฮังการีเรียกร้องที่จะครอบครองเซอร์เบียทั้งประเทศ ประเทศพันธมิตรของทั้งสองฝ่ายถูกดึงเข้ามาร่วมในสงคราม เยอรมันซึ่งเป็นพันธมิตรกับออสเตรีย-ฮังการีได้เข้าร่วมในสงคราม ทางด้านรัสเซียที่กำลังปกครองเซอร์เบียอยู่ในขณะนั้นได้เข้ามาสนับสนุนเช่นกัน เยอรมันเรียกร้องให้รัสเซียถอนกำลังออกจากประเทศและไม่ให้ฝรั่งเศสเข้ามาแทรกแซง แต่ก็ไม่เป็นผล เยอรมันจึงเปิดการบุกโดยเข้าพื้นที่เบลเยียมเป็นทางผ่านไปยังฝรั่งเศส ซึ่งเบลเยียมเป็นประเทศที่เป็นกลาง แต่อยู่ในความคุ้มครองของอังกฤษ อังกฤษจึงประกาศสงครามกับเยอรมัน สงครามโลกครั้งที่ 1 จึงเกิดขึ้น
สยามกับสงครามโลกครั้งที่ 1
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงติดตามข่าวสงครามอย่างใกล้ชิดตลอด ข้าราชการต่างเสนอว่าถ้าหากสยามจะตัดสินใจเข้าร่วมรบ ควรจะเข้ากับฝ่ายเยอรมัน เพราะในสมัยนั้นสยามมีสัมพันธไมตรีกับเยอรมันดีกว่าอังกฤษกับฝรั่งเศส เพราะอังกฤษกับฝรั่งเศสมีการล่าอาณานิคมในประเทศรอบๆ แต่พระองค์ท่านยังไม่ทรงตัดสินพระทัย แต่ประกาศว่าขอเป็นกลางไว้ก่อน
ต่อมาเมื่อวันที่ 7 เมษายน 1917 อเมริกาประกาศสงครามกับเยอรมัน เนื่องจากเรือดำน้ำของเยอรมันโจมตีเรือพาณิชย์ของอเมริกา ทำให้มีประชาชนของอเมริกาเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก พระองค์ท่านทรงเห็นว่าเหตุการณ์เริ่มพลิกกลับจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากการที่เยอรมันได้เปรียบในสงคราม เริ่มเป็นฝ่ายถอย พระองค์ท่านจึงตัดสินพระทัยอย่างลับๆ ด้วยพระองค์เอง ว่าจะประกาศสงครามกับฝ่ายเยอรมัน ในวันที่ 21 กรกฎาคม เวลาเที่ยงคืน ก่อนที่วันรุ่งขึ้นวันที่ 22 กรกฎาคม 1917 จึงเป็นการประกาศสงครามของสยามในสงครามโลกครั้งที่ 1 อย่างเป็นทางการ
เกียรติภูมิของทหารสยาม
เมื่อสยามประกาศสงครามกับเยอรมัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้เกณฑ์ทหารอาสาไปร่วมรบ ได้แก่ กองทหารบกรถยนต์ กองบินทหารบก และหน่วยพยาบาล ออกเดินทางวันที่ 19 มิถุนายน 1918 และไปถึงฝรั่งเศส วันที่ 30 กรกฎาคม 1918 เมื่อไปถึงก็เข้ารับการฝึก 3 เดือน ก่อนจะเข้าปฏิบัติการครั้งแรกในวันที่ 17 ตุลาคม 1918 โดยหน้าที่หลักคือการส่งกำลังบำรุง ทั้งอาหาร อาวุธ และยา จนฝ่ายสัมพันธมิตรให้คำชมและให้เกียรติในการเข้ายึดพื้นที่หนึ่งของประเทศออสเตรีย ถือว่าเป็นเกียรติภูมิของทหารสยามอย่างมาก
จุดกำเนิดของธงไตรรงค์
ตามหลักฐานการเปลี่ยนธงชาติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินจากอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 1916 พระองค์ได้ทอดพระเนตรธงช้างเผือกที่ชาวบ้านติดกลับหัว ทำให้พระองค์ไม่สบายพระราชหฤทัย เพราะธรรมเนียมฝรั่งคือถ้าประเทศใดกลับหัวธงหมายถึงการยอมแพ้ ซึ่งตอนนั้นสงครามโลกเกิดขึ้นแล้ว แต่สยามยังไม่เข้าร่วม พระองค์เสด็จนิวัติกลับพระนครหลังจากที่เสด็จเยือนราษฎรแล้ว ท่านจึงเปลี่ยนธงเป็นแบบ แดงขาวห้าริ้ว ที่ท่านทรงออกแบบมาเพื่อยุติการใช้ธงช้างเผือก มีลักษณะคล้ายธงไตรรงค์ในปัจจุบัน โดยสีแดงมาจากสีพื้นธงช้างเผือก สีขาวมาจากสีช้างเผือก ซึ่งสามารถกลับหัวได้
ช่วงแรกของการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 สยามยังใช้ธงช้างเผือกอยู่ เพราะชาวยุโรปรู้จักตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ขณะที่สงครามยังดำเนินอยู่กลับมีการเปลี่ยนธงเป็นแบบ แดงขาวห้าริ้ว ซึ่งการเอาธงชาติแบบใหม่เข้าไปในสนามรบทำให้เกิดการสับสน จนมีการต่อว่าจากกลุ่มสัมพันธมิตรมาสยามว่าทำไมจึงเปลี่ยนธงขณะรบ
หลังจากนั้นในวันที่ 28 กันยายน 1917 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประกาศพระราชโองการในพระราชบัญญัติว่าด้วยเรื่องของการแก้ไขพระราชบัญญัติธงปี 2460 เหตุผลที่พระองค์มีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนธงชาติ เพราะว่า ถ้าหากสยามอยากชนะสงครามร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร เราควรจะเปลี่ยนแถบสีแดงตรงกลางธงเป็นสีน้ำเงิน เพราะประเทศสัมพันธมิตรที่ร่วมรบกับสยามคืออังกฤษที่ใช้ธงยูเนี่ยนแจ็ค (Union Jack) มีสามสี คือแดง ขาว น้ำเงิน รวมไปถึงธงของของอเมริกาและฝรั่งเศสก็ใช้ 3 สีเช่นเดียวกัน ท่านประกาศไว้ว่า แถบสีน้ำเงินมีเพื่อเป็นการยืนยันว่า สยามได้มีส่วนร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นการย้ำเตือนว่าชาวสยามได้ก้าวไปสู่สากลโลกแล้ว และใช้ชื่อว่า ธงไตรรงค์ โดยมีความหมายของสีคือ สีแดงหมายถึงชาติ สีขาวหมายถึงความบริสุทธิ์ของคำสอนพระพุทธองค์ และน้ำเงินหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์
การเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงเกี่ยวพันกับธงชาติถึง 3 แบบ แบบที่ 1 คือธงช้างเผือก แบบที่ 2 คือธงแดงขาวห้าริ้ว และแบบที่ 3 คือธงไตรรงค์
ผลกระทบหลังสงครามโลกครั้งที่ 1
ทุกครั้งที่เกิดสงครามจะมีทั้งผลกระทบทั้งแง่บวกและแง่ลบ นอกจากความสูญเสียแล้ว ยังมีประโยชน์ที่เกิดจากสงครามโลกครั้งที่ 1 หลังชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร ดังต่อไปนี้
- หลังเสร็จสิ้นสงคราม กองทหารสยามได้นำเทคโนโลยีและอาวุธยุทโธปกรการรบสมัยใหม่มาสู่ประเทศ
- สยามได้มีการส่งทหาร 3 นายไปทำการฝึกการบินกับฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อเข้าทำการฝึกซ้อมบินแบบผาดโผน ทหารสยามเป็นทหารคนแรกของโลกที่ทำการฝึกซ้อมสำเร็จ นับเป็นความสำเร็จของทหารสยาม จึงทำให้เกิดแนวคิดที่จะก่อตั้งกรมทหารอากาศ ก่อนกลายมาเป็นกองทัพอากาศในที่สุด
- เมื่อสิ้นสุดสงคราม รัฐบาลสยามได้พยายามเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญาเบาว์ริงอันไม่เป็นธรรม ในด้านสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและภาษีศุลกากร ซึ่งประเทศอังกฤษให้การยอมรับ ทำให้ประเทศอื่นไม่สามารถเอาเปรียบได้ จนสุดท้ายสนธิสัญญานี้ก็ได้ยกเลิกไป
เกร็ดความรู้อื่นๆ เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 1
- สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นสงครามแรกที่ใช้แก๊สพิษในการต่อสู้ คือแก๊สคลอลีนที่อยู่ในน้ำประปา ถ้าใช้ในจำนวนเยอะจะสามารถกัดผิวหนังได้ อังกฤษจึงมีการแจกหน้ากากกันแก๊สพิษแก่ทหารทุกคน
- สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นการปฏิวัติการสู้รบขนานใหม่ จากการใช้คนจำนวนมากเป็นการใช้เครื่องจักรแทน และเป็นสงครามที่ทำให้เกิดรถถัง ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอังกฤษ
- วรรณกรรมระดับโลกเรื่อง ‘The Lord of the Rings’ มีจุดกำเนิดมาจากสงครามโลก ครั้งที่ 1 ผู้ประพันธ์เจ.อาร์.อาร์. โทลคีน ชาวอังกฤษได้เข้าไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 และได้รับบาดเจ็บจนเข้ารักษา ทำให้ได้ยินข่าวว่ามีเพื่อนสนิทเสียชีวิต เขาจึงเริ่มประพันธ์เรื่องราวของมิลเดิลเอิร์ธจากบาดแผลของสงครามในโรงพยาบาล หลังจากสิ้นสุดสงครามประมาณ 30 ปี วรรณกรรมเรื่องนี้จึงได้รับการตีพิมพ์
- หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการสร้างอนุสรณ์สถาน 2 แห่ง คือ อนุสาวรีย์ทหารอาสา ที่บรรจุอัฐิของทหารสยามที่เสียชีวิตในสงครามโลก จำนวน 19 นาย ตั้งอยู่ที่สนามหลวง และอีกสถานที่ที่ทำให้คนไทยได้ทราบว่าสยามเคยประกาศสงครามกับเยอรมันและเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรคือ วงเวียน 22 กรกฎา ตั้งอยู่ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย