โอกาสใหม่ของคนทำหนังสือ
อาชีพในฝันของคนรักหนังสือ คงหนีไม่พ้นการทำงานเกี่ยวกับตัวหนังสือ ซึ่งต้องอาศัยหัวใจอันแข็งแกร่งในการทำงาน ถึงจะรักษาสถานะคนทำหนังสือให้อยู่ได้อย่างสง่างามในโลกยุคใหม่
ก้อง-ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหารนิตยสาร a day และ วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร happening ผู้เดินอยู่บนเส้นทางสายอักษรมาเป็นเวลานานจนตัวหนังสือของพวกเขาชัดเจนสามารถเข้าไปอยู่ในหัวใจของใครหลายคนได้ไม่เปลี่ยนแปลง มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดวงการหนังสือ แสดงมุมมองด้านการทำงานเป็นบรรณาธิการในงานเสวนา ‘โอกาสใหม่ของคนทำหนังสือ’ ณ ลานฝัน อุทยานการเรียนรู้ TK เมื่อวันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา
ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสิ่งพิมพ์จะอยู่รอดในแต่ละยุค ย่อมต้องมีการปรับตัว นิตยสารศิลปะอย่าง happening ก็เปลี่ยนแปลงเนื้อหา ปรับโฉมอยู่หลายครั้ง แต่พี่วิภว์ บูรพาเดชะ บอกว่ามีสิ่งหนึ่งที่ไม่ยอมเปลี่ยนก็คือ จุดยินในการเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่พูดถึงแวดวงศิลปะบันเทิงโดยมีจุดมุ่งหมายให้เป็นตัวช่วยพัฒนาวงการศิลปะ และล่าสุดในฉบับ 101 happening ได้เปลี่ยนตัวเองครั้งใหญ่จากรายเดือนเป็นราย 2 เดือน ทำนิตยสารให้เป็นเหมือน ‘โปรเจกต์ทางศิลปะ’ คือมีการพ่วงคอนเสิร์ต หรือนิทรรศการศิลปะ
ในขณะเดียว a day ก็ปรับตัวเองให้ทันยุคสมัยอยู่ตลอดเวลา โดยพี่ก้อง-ทรงกลด มองว่านิตยสารจะอยู่รอดได้ต้องมองหาจุดแข็งให้เจอ ถึงจะโดดเด่นในยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์เสื่อมถอย ซึ่งความตั้งใจในการทำงานเป็นบรรณาธิการของพี่ก้อง คือการผลิตเนื้อหาในนิตยสาร a day ให้เป็นมากกว่าตัวหนังสือ ด้วยการทำให้สิ่งที่นำเสนอสามารถต่อยอดไปสู่สิ่งอื่นๆ หรือสามารถมีส่วนร่วมกับสังคมไปด้วยได้
แม้ว่าวงการสิ่งพิมพ์จะมีการปรับตัวขนาดไหน แต่ก็ไม่วายที่ผู้คนจะติดภาพจำว่า เป็นนักเขียนต้องไส้แห้ง สำหรับ 2 บก. แสดงความคิดเห็นเหมือนกันว่า ก่อนทำอาชีพนี้ก็มีกังวลกับคำนี้เหมือนกัน เพราะมองจากภาพรวมคนทำหนังสืออาจเป็นอาชีพที่มีรายได้น้อยกว่าอาชีพอื่นก็จริง แต่ถ้าไม่เอาจริงเอาจังก็ไส้แห้งได้ทุกอาชีพ
“การเขียนหนังสือยุคนี้ไม่ใช่แค่ก้าวเท้าออกไปเท่านั้นแล้ว แต่จะก้าวออกไปอย่างไรมากกว่า เป็นเรื่องของกลยุทธ ต้องรู้เขาด้วย เพราะอย่างนักเขียนพ็อกเก็ตบุ๊ครายได้มาจากทางเดียวคือการเขียนหนังสือ ดังนั้นต้องอยู่อย่างวางแผนหน่อยมองการตลาดว่าเขียนเรื่องแบบไหนขายได้ ควรเขียนปีหนึ่งกี่เรื่อง หรืออาจต้องมีอาชีพเสริมประเภทอื่นๆ บ้าง แต่ก่อนรู้เขา ต้องรู้เราก่อนว่าเป็นใคร ทำอะไรได้บ้าง แล้วหาฐานที่มั่นของตัวเองให้เจอ” พี่ก้อง ทรงกลด แชร์ความคิดถึงคนที่อยากทำอาชีพนักเขียนให้ฟังอย่างตรงไปตรงมา
เส้นทางการทำนิตยสารไม่ได้สบาย หรือได้ทำแต่สิ่งที่รักเท่านั้น บางครั้งต้องยอมเหนื่อย ทำสิ่งที่ไม่รักบ้างเพื่อจะได้ทำในสิ่งที่รัก ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีปัญหาให้คอยแก้อยู่ตลอดเวลา สำหรับพี่วิภว์ บอกเล่าถึงอุปสรรคของคนทำงานนิตยสารที่เจอบ่อยๆ ให้ฟังว่า “ต้องอธิบายก่อนว่า หนังสืออยู่รอดได้ด้วย ค่าขายหนังสือ และอีกรายได้หลักคือค่าโฆษณา ซึ่งปัญหาที่ตามมาคือลูกค้าจะเข้ามามีบทบาทกับการทำงานเรามากขึ้น อาจทำให้ตัวตนของหนังสือถูกลดทอน ก็ต้องบริหารจัดการให้ดีว่าสิ่งไหนที่ยอมโอนอ่อนได้หรือสิ่งนั้นควรแสดงจุดแข็ง”
กระแสสังคมยุคใหม่ทำให้คนแจ้งเกิดขึ้นง่าย บางคนมีชื่อเสียงก่อนแล้วค่อยเขียนหนังสือ บางคนก็เขียนก่อนแล้วก็กลายเป็นคนมีชื่อเสียง ซึ่งพี่ก้องมองประเด็นนี้ว่า “เราอาจต้องถามตัวเองว่าสะสมประสบการณ์ทำงานมาจนมีชื่อเสียง แล้วจะเอาชื่อเสียงไปทำอะไรดี สิ่งที่อยากทำคือส่งต่อสิ่งดีๆ สู่คนอื่นมากกว่า อยากให้คำพูดที่พูดออกไปมีน้ำหนัก เป็นแรงบันดาลใจกับผู้คน อย่างงานเสวนา หรือแชร์ประสบการณ์อะไรบางอย่างวันนี้ ผมมองว่าเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ใช่กับเราที่ได้โปรโมทตัวเอง แต่เป็นการคืนบางอย่างให้กับคนอื่น เพราะความรู้ที่เราได้ก็มาจากรุ่นพี่ที่พวกเขาก็ไม่ได้คิดเงินเราเหมือนกัน”
สำหรับความสุขของคนทำงานหนังสือที่ทั้งคู่มีเหมือนกัน คือการได้เห็นสิ่งที่คนเสพนำเนื้อหาที่พวกเขานำเสนอไปต่อยอดสู่สิ่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำตัวหนังสือของพี่ก้อง ทรงกลดไปทำเป็นภาพยนตร์กวนมึนโฮ หรือกลุ่มนักศึกษาที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องสั้นของวิภว์ บูรพาเพชะ จนนำไปทำละครเวที ซึ่งสิ่งเหล่านี้สร้างความตื่นเต้นและภาคภูมิใจให้กับพวกเขาทั้งสองมากกว่าแค่การได้เห็นชื่อตัวเองหรือหนังสือตัวเองบนแผง
มาถึงประเด็นโซเชียล พี่ก้องแสดงความคิดเห็นว่า “คนที่ฝันอยากเป็นนักเขียนอาจจะลดลง เพราะทุกคนทำเพจได้ โพสทีหนึ่งมีคนเห็นเป็นหมื่น ต่างกับหนังสืออาจอยู่ที่หลักร้อยหรือหลักพัน แต่ทางที่ดีโซเชียลก็เป็นการคัดกรองคนที่อยากทำหนังสือจริงๆ กรองคนที่อยากสร้างอะไรที่มากกว่างานคำคม อยากทำงานที่ใช้ทักษะการเขียนที่มากกว่านั้น แต่ต้องบอกเลยว่าเหนื่อยกว่าหนักกว่าด้วย แต่ก็ดีที่จะได้ทำสิ่งที่รัก แต่ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าการที่ทำอะไรที่ศรัทธากับมันนั้นเป็นพลังชีวิตที่ดี”
ส่วนพี่วิภว์ บอกว่า “ถึงแม้ว่าสิ่งพิมพ์จะอยู่ในช่วงขาลง แต่โซเชียลก็ทำให้โอกาสของคนที่อยากกระโดดลงมาทำนิตยสารง่ายขึ้น มีโอกาสเขียนงานจริงๆ ลงนิตยสารง่ายกว่าแต่ก่อน แจ้งเกิดได้ง่ายกว่านักเขียนรุ่นก่อน เพราะการที่จะส่งงานให้บรรณาธิการไม่ยากเลยในยุคนี้”
แต่ไม่ว่าจุดมุ่งหมายของเด็กรุ่นใหม่จะไปถึงง่ายขนาดไหน ก็ต้องอาศัยความมุ่งมั่นตั้งใจจริง มีความรับผิดชอบกับระบบการทำงานด้วย ที่สำคัญต้องเคี่ยวกรำตัวเองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการฝึกฝนที่ได้ผลดีอย่างหนึ่งของ 2 บก. ก็คือการอ่านหนังสือ แล้วหมั่นตั้งคำถามกับเนื้อหา และค่อยๆ ลึกลงไปกับรูปเล่ม กับกระดาษ ภาพประกอบ หรือองค์ประกอบอื่นๆ ของหนังสือ เพราะถ้าอยากทำหนังสือ แล้วไม่รัก ไม่อ่านหนังสือ ไม่ซื้อหนังสือ สุดท้ายหนังสือก็อาจหายไปจริงๆ ก็ได้