"คนทำหนังรุ่นใหม่ต้องเจออะไรในชีวิตจริง"
หากพูดถึงคนทำหนังนอกกระแสที่กำลังมาแรงในขณะนี้ มีชื่อของ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ อยู่ในลำดับแรกๆ ด้วยผลงานที่ชัดเจนในแนวทาง และจัดจ้านด้วยวิธีการบอกเล่า ตั้งแต่ 36 เรื่อยมาจนถึง Mary is happy, Mary is happy, The Master รวมถึงหนังสั้นที่กำลังเป็นที่จับตามอง อย่าง มั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้านคนเกลียดเมธาวี
ส่วนด้านกระแสหลัก คงไม่มีใครไม่รู้จักซี่รี่ย์วัยรุ่นที่โด่งดังที่สุดเรื่องหนึ่งอย่าง ฮอร์โมน เดอะ ซีรีย์ ที่มี วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์ เป็นหัวเรือใหญ่ของทีมเขียนบท ซึ่งเมื่อสังเกตจากความเข้มข้นในเรื่องเล่า และความลุ่มลึกของสิ่งที่ต้องการนำเสนอ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเธอทำหน้าที่ได้อย่างดี ในฐานะนักเขียนบทหน้าใหม่ของ GTH
ไม่ต่างกับความเคี่ยวกรำของ ไท-ประดิษฐเกษร หนุ่มสารคดีคับแน่นคุณภาพ ที่การันตีคุณภาพด้วยรางวัลชนะเลิศหนังสารคดีนักศึกษาระดับเอเชีย 'Seadoc Awards' เรื่อง The Gardener ที่ขับเน้นความย้อนแย้งของความบ้าบิ่น และอุดมการณ์ได้อย่างถึงแก่น ผ่านเรื่องราวของ ร.ต.ต.วิชัย สุริยุทธ ผู้หมกมุ่นกับการปลูกต้นไม้มาค่อนชีวิต
อย่างไรก็ดี ก่อนเกสรแห่งความสำเร็จจะผลิบาน ย่อมเกิดจากเมล็ดพันธุ์ที่ถูกบ่มเพาะด้วยความบากบั่นเสมอ คงไม่แปลกเท่าไรนัก หากจะให้พวกเขามาบอกเล่าอุปสรรคที่คล้ายคลึง จากคนทำหนังเบื้องหลังความสำเร็จ สู่คน(อยาก)ทำหนังในปัจจุบัน
จุดเริ่มต้นของการทำหนัง เริ่มจากอะไร
เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์: เริ่มจากการชอบดูหนังครับ และคงโชคดีที่เกิดในยุคที่เทคโนโลยีใช้ได้พอดี มันมีกล้องเล็กๆ ที่เราพอจะซื้อมาถ่ายเองได้ แล้วก็มีคอมพิวเตอร์ที่พอจะตัดต่อได้ เลยซื้อกล้องมาลองถ่ายแล้วตัดต่อเองเลย
วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์: เริ่มจากการเรียนที่นิเทศจุฬา และเห็นรุ่นพี่ทำงาน รู้สึกว่ามันน่าสนุกดี เราก็เลยเลือกเรียนภาพยนตร์ และทำงานด้านนี้มาเรื่อยๆ ค่ะ
ไท-ประดิษฐเกษร: ของผมเกิดจากไปชอบผู้หญิงคนนึงตอนอยู่ ม.5 เราก็คิดว่าจะไปจีบผู้หญิงยังไงดี ก็เลยทำหนังสั้น แล้วบอกให้เขามาเล่นให้
ยากสักแค่ไหน กว่าจะได้หนังสักเรื่องหนึ่ง
เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์: ตอนนั้นไม่ทันนึก มันเหมือนเราค่อยๆ เริ่มมาจากศูนย์ ไต่สเต็ปไปเรื่อยๆ เริ่มจากถ่ายง่ายๆ ถ้าถ่ายออกมาแล้วมันไม่ดี ก็หาทางว่ารอบหน้าจะถ่ายยังไง ก็เรียนรู้และหาทางไปเรื่อยๆ ไม่เคยคิดว่ามันยากเกินไปจนทำไม่ได้ พอรู้ตัวอีกทีเราก็พัฒนาขึ้นมาแล้ว อีกทั้งตอนนี้มีช่องทางการที่จะเผยแพร่มากขึ้น ทั้งจากประกวดหนังสั้นบ้าง อย่างไรก็ตามหนังที่ไม่ผ่านสายตากรรมการไม่ได้แปลว่าหนังเราไม่ดี อาจจะแค่มีรสนิยมไม่ตรงกัน แต่ถ้ามันแป๊กจริงๆ เราก็ต้องเรียนรู้ว่าหนังของเรามีอะไรบางอย่างที่ต้องแก้ไข
ถ้าจะทำหนังสักเรื่องหนึ่ง เราต้องมีกระบวนการคิดอะไรบ้าง
วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์: ถ้าตอนเด็กๆ วรรณจะหยิบจากเรื่องรอบตัวก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งก่อนหน้าที่จะมาเขียนบทฮอร์โมน ก็จะออกไปทางการทำสารคดีมากกว่า ก็หยิบจากเรื่องรอบตัว เป็นสิ่งที่คนรอบตัวมีส่วนร่วมด้วยได้
เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์: คล้ายๆ คนอื่น คือเริ่มจากเรื่องที่เราสนใจ เรื่องที่เรามีประสบการณ์ร่วม พอเราทำเรื่องที่เรารู้ดี บทก็จะมีรายละเอียดที่ดี เป็นรายละเอียดเฉพาะที่มีแต่เราที่เล่าได้ เพราะคนดูก็อยากเห็นในสิ่งที่เขาไม่เคยรู้ ชอบมีน้องๆ บอกว่าชีวิตเราไม่น่าสนใจเลย ข้อนี้ผมไม่เห็นด้วย ผมคิดว่าชีวิตทุกคนมีองค์ประกอบแตกต่างกัน มันน่าสนใจแต่เราต้องดึงออกมาเล่าให้ได้ และด้วยวิธีการเล่าก็จะทำให้มันดูน่าสนใจขึ้นมาอีก
ไท-ประดิษฐเกษร: การคิดบทสารคดีมันจะไม่เหมือนอย่างอื่นครับ มันมีหลายอย่างที่อยู่เหนือการควบคุม เวลาเราเขียนบทสารคดีต้องทำเป็นแค่โครงร่างไว้เฉยๆ แล้วไปดูเฉพาะหน้าว่ามันจะแตกออกเป็นประเด็นอะไรได้บ้าง
ปัญหาใหญ่สำหรับการที่จะทำให้หนังเราได้รับความสนใจคืออะไร
ไท-ประดิษฐเกษร: ผมว่าภาพยนตร์เป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่น่าสงสาร ถ้ามองในแง่การตลาด มันจะไม่เหมือนเขียนรูป เขาลงทุนกับเรามา เขาก็ต้องอยากได้อะไรคืนไป เราจะต้องประนีประนอมระหว่างสิ่งที่เราต้องการนำเสนอกับสิ่งที่ตลาดต้องการ
เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์: ผมว่าเป็นมาทุกยุคแหละ คนทำหนังควรจะมีความรู้ด้านการบริหารเงินนิดนึงก็ดี ปัญหาคือ หากเรามีเงินอยู่เท่านี้ ควรจะทำหนังออกมายังไงให้เป็นหนังที่ดี ซึ่งมันก็มีหลายวิธี เราก็เห็นว่ามีหนังบางเรื่องที่ถ่ายแค่คนสองคนคุยกันในห้องแล้วสนุกมาก กลายเป็นหนังที่ดี เราต้องดูว่าที่หน้าตักเรามีอะไรบ้าง แล้วการหาเงินมาทำหนังก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หนังมันไม่มีสูตร มันไม่มีทางจะได้ร้อยล้านทุกเรื่อง
วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์: ขอพูดแบบสายแมส ปัญหาจะต่างออกไป อิงจากเรื่องฮอร์โมนละกัน สิ่งที่คนทำหนังต้องเจอ ไม่ว่าจะเป็นคนเขียนบท หรือเป็นคนกำกับ มันจะมีฟีดแบคที่หลากหลายมาก เราไม่สามารถควบคุมความเข้าใจของคนดูได้ เราต้องเตรียมใจรับความคิดหลายๆ แบบ และมั่นคงมากพอว่าเราจะสื่อสารอะไร แต่ทั้งนี้ เราก็ต้องเปิดรับความคิดเห็นหลายๆ แบบด้วย เพื่อนำมาพัฒนางานของเราในครั้งหน้า แล้วก็ทำความเข้าใจไปพร้อมกันด้วยว่าเป็นเพราะเขาอยู่กลุ่มนี้ เลยมีฟีดแบคแบบนี้ เพื่อนำเอาสิ่งที่คิดได้มาพัฒนาเป็นองค์ประกอบของบทต่อไป
แม้ว่าในปัจจุบันจะมีคนให้ความสนใจการทำหนังมากขึ้น แต่สิ่งที่คนทำหนังทั้งสามเห็นตรงกันคือ หากคนทำหนังหน้าใหม่มีความตั้งใจมากพอ พวกเขาย่อมประคับประคองเรือแห่งความฝันให้ไปถึงจุดหมายได้ในที่สุด
พุทธิพงศ์ อึงคนึงเวช