เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ‘เด็กทีเค’
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) หรือ TK park ภายใต้สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ได้ให้โอกาสเด็กรุ่นใหม่เรียนรู้ และสั่งสมประสบการณ์ที่มีประโยชน์ ภายใต้โครงการต่างๆ มากมาย เราอาจจะเรียกเยาวชนเหล่านี้ว่า ‘เด็กทีเค’ และต่อไปนี้คือเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับเด็กทีเค
1. สาขาความรู้ที่ TK park เคยจัดกิจกรรมให้กับเด็กๆ ได้มาเรียนรู้ มีหลากหลายสาขาอาชีพ ได้แก่
นักเขียน หรือ TK Young Writer
ดนตรี หรือ TK Band
กราฟิกแอนด์มัลติมีเดีย หรือ TK Graphic & Multimedia
ภาพยนตร์ หรือ TK Filmmaker
การตลาด หรือ TK Marketer
เป็นผลให้ 10 ปีที่ผ่านมา มีเด็กทีเคเป็นจำนวนมากถึง 1,200 คน ที่ได้เข้าร่วมอบรม ‘บ่มเพาะ’ จากเมล็ดพันธุ์แห่งความฝัน สู่ต้นกล้าที่แข็งแกร่งและพร้อมเติบโตเป็นไม้ใหญ่อย่างมืออาชีพ
2. จุดเด่นอย่างหนึ่งของเด็กทีเค คือ จะมีโอกาสได้รับความรู้จากวิทยากรที่มีชื่อเสียง ต่อไปนี้คือบางรายชื่อของวิทยากรที่เคยมาอบรมให้เด็กทีเค
[วิทยากร TK Band]
ศุ บุญเลี้ยง
แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข
พยัต ภูวิชัย
[วิทยากร TK Young Writer]
‘หนุ่มเมืองจันท์’ สรกล อดุลยานนท์
‘นิ้วกลม’ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์
บินหลา สันกาลาคีรี
[วิทยากร TK Filmmaker]
มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล
โสภณ ศักดาพิศิษฏ์
เกรียงไกร วชิรธรรมพร
[วิทยากร TK Marketer]
ทรงกลด บางยี่ขัน (a day)
อมฤต เจริญพันธ์ (HUBBA)
วัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด (สวนเงินมีมา)
[วิทยากร TK Graphic& Multimedia]
ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ (วิธิตา แอนิเมชั่น)
ปนัดดา ราศรี (วิธิตา แอนิเมชั่น)
สุภณวิชญ์ สมสมาน (The Monk Studio)
3. สาขา TK Graphic & Multimedia TK park ได้ให้โอกาสกับเด็กทีเคที่สนใจงานด้านนี้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ในปี 2554 มีการร่วมกับสถาบันที่มีการเรียนการสอนด้านแอนิเมชัน จัดโครงการ TK Animation Training ตอน ขบวนการขัดเงา (Polishing Process)-TK PoP 2010 ที่ช่วยเสริมความรู้ให้กับนักศึกษานอกเหนือจากที่ทำอยู่แล้วในสถาบัน ก่อนจะมีความต่อเนื่องและเข้มข้นขึ้นในปีต่อมาใน TK Animation Training ตอน ขบวนการขัดเงา 2 (Polishing Process)-TK PoP 2011 พอถึงปี พ.ศ. 2555 TK park ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA และสตูดิโอระดับโลก The Monk Studio จัดโครงการอบรม Animation Master Class ให้นักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่ทำงานในสายอาชีพนี้ จนกระทั่งปี 2556 ก็ได้มีการทดลองเอาแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกไปตอบโจทย์ที่น่าสนใจในโครงการ TK แจ้งเกิด : รวมพลังสร้างคน รวมพลสร้างโอทอป ที่มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ของแบรนด์พื้นถิ่นต่างๆ ถึง 7 แบรนด์ และล่าสุดปีที่ผ่านมาสาขานี้ก็ได้สร้างโครงการ แจ้งเกิด...นักออกแบบคาแรกเตอร์ โดยจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การออกแบบคาแรกเตอร์กับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทการ์ตูนชั้นนำ พร้อมประกวดออกแบบตัวการ์ตูนส่งเสริมรักการอ่าน
4. TK Filmmaker เป็นอีกสาขาหนึ่งที่มีการอบรมและต่อยอดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การจัดอบรมหนังจอเล็ก อ่านจนได้เรื่อง (2552) และเขียนให้ได้ ถ่ายให้เป็น (2553) จนถึงโครงการ TK แจ้งเกิด ด้านภาพยนตร์ (2554, 2555) ที่ทุกครั้งล้วนได้วิทยากรมืออาชีพมาสอนการทำภาพยนตร์ ตั้งแต่การเขียนบท การถ่ายภาพ การตัดต่อ ไปจนถึงการบริหารกองถ่ายภาพยนตร์! แถมความเก๋ของ TK Filmmaker อีกอย่างคือหนังสั้นที่น้องๆ ในโครงการได้ผลิตขึ้นมานั้น ยังเกี่ยวข้องกับความเป็นห้องสมุดของ TK park ด้วย โดยมีการหยิบเอาวรรณกรรมไทยชั้นดีหลายเรื่องมาทำเป็นหนังสั้นนั่นเอง
5. ในหมวดนักเขียน TK park ได้เริ่มก่อร่างสร้างกลุ่มเยาวชนนักเขียน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ในชื่อ กองกำลังปั้นฝัน ซึ่งได้ฝึกฝนวิชาการเขียนและการทำงานหนังสือกับบรรณาธิการมืออาชีพ รวมถึงเพิ่มเติมความรู้จากวิทยากรอย่างต่อเนื่อง มีผลงานออกมาเป็น จุลสาร TK รายเดือน ทั้งสิ้น 28 ฉบับ รวมถึงมีผลงานเขียนบทความ ที่สามารถติดตามอ่านผลงานได้ที่ www.tkpark.or.th จากกองกำลังปั้นฝันเติบโตมาเป็น TK Young Writer ในปี พ.ศ. 2551 ซึ่งแต่ละปีจะมีสอนการเขียนกันในทุกรูปแบบ ทั้งสารคดี บทความ วรรณกรรม บทสัมภาษณ์ และการทำนิตยสาร โดยเมื่อเสร็จสิ้นการอบรมก็จะมีผลงานจากน้องๆ ออกมาทุกครั้ง ทั้งหนังสือเล่ม และนิตยสารฉบับพิเศษ นอกจากนี้ หลังจบการอบรมแล้ว ทาง TK park ยังมีนิตยสารออนไลน์ Read Me Egazine ให้น้องๆ ที่เคยผ่านการอบรมได้มาลองฝึกทำงานเขียนอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
6. ส่วน TK Marketer หรือ ‘แจ้งเกิดการตลาด’ ทาง TK park ก็เปิดโอกาสให้กับเยาวชนที่สนใจด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์มาแล้วเป็นเวลา 3 ปี โดยจัดเวิร์คช็อปเพิ่มกลยุทธ์การตลาดกับวิทยากรตัวจริงของวงการ ผ่านโจทย์ที่ท้าทายต่างๆ ไล่ตามลำดับเวลาตั้งแต่ TK Social Enterprise ผู้ประกอบการเพื่อสังคม ในหัวข้อ Knowledge No Limit! บริษัท เรียนรู้ไร้ขีด จำกัด (2554) ชวนคนรุ่นใหม่ส่งแผนธุรกิจเพื่อสังคม ส่งเสริมการเรียนรู้ไม่จำกัดรูปแบบ พร้อมเงินทุนการศึกษาและเงินทุนตั้งต้นในการทำธุรกิจ, TK Marketer เมื่อพลังการตลาด ทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุก (2555) จัดอบรมเรื่องการตลาดให้นักศึกษา 6 สถาบัน ร่วมกันสร้างแผนการตลาดที่ทำให้เด็กไทยอยากอ่าน อยากเรียนรู้มากขึ้น ล่าสุดก็คือ TK park แจ้งเกิดเยาวชนด้านการตลาด ‘แต่ง ฝัน ปั้น แบรนด์’ (2556) ที่ให้นิสิตนักศึกษารวมกลุ่มสร้างผลิตภัณฑ์สำหรับร้านในฝัน ดึงความคิดสร้างสรรค์ออกแบบกราฟิก โลโก้ และพัฒนาแผนการตลาดให้ครองใจลูกค้า ก่อนเปิดร้านค้าขายที่ TK Pop Up Store
7. สำหรับน้องๆ ที่สนใจเรื่องดนตรี TK Band ก็เป็นกลุ่มคนดนตรี ที่ขึ้นชื่อเรื่องการให้โอกาสทางดนตรีมาแล้วหลายปี ทุกๆ ปีจะมีการรับสมัครสมาชิกเยาวชนคนดนตรี TK Band รุ่นใหม่ มาเรียนรู้เรื่องการแต่งเพลง การเล่นดนตรีด้วยกัน โดยอยู่ในความดูแลของ ศุ บุญเลี้ยง และทีมวิทยากรมืออาชีพ ที่สำคัญคือน้องๆ จะได้โอกาสคลุกคลีร่วมกันทำอัลบั้มแบบจริงจังกับมืออาชีพปีละหนึ่งชุด ซึ่งถึงตอนนี้มีการออกงานต่อเนื่องมาแล้ว 5 ชุด ได้แก่อัลบั้ม สิ่งที่ถูกมองข้าม, คิดบวก, Share, ร่วมสมัย และล่าสุดเมื่อปีกลายคือ บ้าน...บ้าน เพลงทุกเพลงในทุกอัลบั้ม เป็นตัวแทนมุมมองที่สร้างสรรค์ของเหล่าเด็ก TK Band ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ TK park ยังขยายการอบรมเพาะบ่มเยาวชนคนดนตรีไปตามเครือข่ายภูมิภาคต่างๆ โดยใช้กระบวนการอบรมเดียวกันซึ่งได้แก่ กิจกรรมค่ายปั้นเรื่องให้เป็นเสียงเพลง ที่เปิดโอกาสให้เยาวชน ผู้รักในเสียงเพลง และมีความสนใจทางด้านดนตรี ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา, สตูล, ยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส และในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, ตราด และ ปราจีนบุรี ได้มีโอกาสมาร่วมเป็นเครือข่ายเยาวชนคนดนตรี ซึ่งบทเพลงในอัลบั้มของทั้ง 2 กลุ่ม ก็มีเอกลักษณ์และสะท้อนความเป็นตัวตนของแต่ละภาคได้อย่างน่าสนใจ
8. ยังมี ‘เด็กทีเค’ อีกกลุ่มที่เราจะไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือเด็กทีเคจากจังหวัดยะลา อุทยานการเรียนรู้ ยะลา เป็นอุทยานการเรียนรู้ภูมิภาคต้นแบบ เกิดจากความร่วมมือกับเทศบาลนครยะลา เมื่อปี 2548 เพื่อส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้ของเยาวชน และสร้างความเข้าใจร่วมกันอันดีระหว่างคนในชุมชน ที่ผ่านมา อุทยานการเรียนรู้ ยะลาได้จัดกิจกรรมที่น่าสนใจมาแล้วหลายครั้ง ยกตัวอย่างเช่น โครงการ จุดประกายความคิด คลิกแรงบันดาลใจ สรรค์สร้างผลงาน A Day @ Yala ชวนน้องๆ รวมกลุ่มพลังเยาวชนวัยสร้างสรรค์ สรรค์สร้างผลงานถ่ายภาพ หนังสั้น หนังสือทำมือ และของที่ระลึก ที่เล่าเรื่องราวว่าเมืองยะลาเป็นเมืองที่น่าอยู่ และโครงการคิดสร้างค่า Creative Design ที่เป็นการอบรมและเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้ออกแบบด้วยแนวคิด Reduce & Reuse เพื่อลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง หรือ โครงการ TK Reading Power ปล่อยพลัง...รักการอ่าน ที่เป็นการส่งเสริมทักษะชีวิตโดยให้นักศึกษาเสนอโครงการส่งเสริมการอ่าน เพื่อมาคัดเลือกรับทุนและนำโครงการไปปฏิบัติจริงต่อไป
9. และมาถึงวันนี้ 10 ปีที่ผ่านมา ‘เด็กทีเค’ ก็ได้แยกย้ายกระจายตัวไปลงหลักปักต้นกล้าที่แข็งแกร่งและกำลังเติบโตเป็นไม้ใหญ่ในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในองค์กรมากมายและด้วยการประกอบอาชีพอิสระของตัวเองอย่างมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นอาชีพนักเขียน, นักการตลาด, พิธีกร, ผู้กำกับภาพยนตร์, นักดนตรี, นักแต่งเพลง และงานอื่นๆ อีกหลายรูปแบบ ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างชื่อองค์กร ชื่อรางวัล และผลงานที่เหล่าเด็กทีเคเข้าไปมีส่วนร่วม
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
นิตยสาร a day
สำนักพิมพ์ Salmon
สหมงคลฟิล์ม
บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด
บริษัท อิเมจิแมกซ์ จํากัด
บริษัท เดอะมั้ง สตูดิโอ จํากัด
10. มาถึงข้อสุดท้าย หากคุณหรือน้องๆ ของคุณอยากจะแจ้งเกิดเป็น ‘เด็กทีเค’ บ้าง เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสต่อไป คุณสามารถติดตามข่าวสารของกิจกรรมและการรับสมัครต่างๆ ได้จากช่องทางต่อไปนี้
Website: www.tkpark.or.th
Facebook: TK park อุทยานการเรียนรู้
IG: TKpark_TH
TWITTER: TKpark_TH
Line@: @tkpark