เมื่อวันที่ 1 ถึง 4 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา นายวัฒนชัย วินิจจะกูล รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) พร้อมด้วยนายอิสระ โพธิจันทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้ และทีมงานทั้งจากฝ่ายพัฒนาเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้ ฝ่ายพัฒนาองค์ความรู้ และฝ่ายพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ต้นแบบ เดินทางไปดำเนินภารกิจหลากหลาย ที่จะกลายเป็นองค์ประกอบในกระบวนการยกระดับนครศรีธรรมราชสู่เมืองอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วยการเรียนรู้อย่างมั่นคงในอนาคตอันใกล้
หนึ่งในภารกิจหลักของการเดินทางครั้งนี้ คือการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการระบบห้องสมุดอัตโนมัติ และการแคตตาล็อกหนังสือและสื่อการเรียนรู้ ให้กับผู้ปฏิบัติงานอุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราช (City Learning Park: CLP) ซึ่งการอบรมดังกล่าว เป็นการเพิ่มศักยภาพของ CLP ในการให้บริการยืม-คืนหนังสือให้แก่สมาชิกของ CLP
CLP คืออุทยานการเรียนรู้ซึ่งให้บริการโดยเทศบาลนครนครศรีธรรมราชตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2549 ก่อนเข้าร่วมเป็นเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้ของ สอร. เมื่อปี พ.ศ. 2563 นับแต่นั้น CLP จึงได้ยกระดับและขับเคลื่อนการให้บริการแก่ประชาชนด้วยพลังและศักยภาพของเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การอบรมพัฒนาบุคลากรของ CLP การจัดทำชุดหนังสือนิทานภาพ สื่อสาระท้องถิ่นเมืองนครศรีธรรมราช สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 4-12 ปี ตลอดจนอบรมให้ครู อาจารย์ และผู้ปฏิบัติงานของ CLP นำชุดหนังสือนิทานภาพไปใช้ในการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้เรื่องราวของเมืองนครศรีธรรมราชอย่างมีประสิทธิภาพ
อีกหนึ่งภารกิจที่ครอบคลุมระบบนิเวศของการเรียนรู้ในระดับที่กว้างขึ้น คือภารกิจเกี่ยวกับแผนการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ของจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 นายวัฒนชัยได้เข้าร่วมหารือกับนายกณพ เกตุชาติ นายกเทศมนตรีนครศรีธรรมราช โดยพิจารณาร่วมกันว่าการที่เมืองนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาและการเรียนรู้มาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน รวมทั้งมรดกทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน รวมถึงศิลปิน ผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้าน และแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์ในรูปแบบหลากหลาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเป็นต้นทุนที่ล้ำค่าในการขับเคลื่อนให้นครศรีธรรมราชกลายเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่จะสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เข้ากับเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน จะทำให้ประชาชนในท้องถิ่นได้รับประโยชน์ในวงกว้างและอย่างทั่วถึง
ในโอกาสนี้ สอร. จึงมีความเห็นว่า การเชื่อมโยงและการสร้างเครือข่ายผู้จัดการเรียนรู้ในพื้นที่ แล้วสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนด้วยการจัดงานเทศกาลการเรียนรู้ จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้และพัฒนาตนเองตามความสนใจได้อย่างทั่วถึง โดยนายกเทศมนตรีฯ เห็นสมควรในการร่วมมือกันจัดเทศกาลดังกล่าว โดยเสนอให้มีการกิจกรรมที่ครอบคลุมไปยังภาคส่วนต่าง ๆ อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวและชูของดีเมืองนครศรีธรรมราชให้ผู้คนได้รับรู้ในวงกว้าง
นอกจากนี้ สอร. ยังได้ใช้โอกาสในการเดินทางครั้งนี้เพื่อลงพื้นที่และศึกษาความเป็นไปได้และความพร้อมในการจัดเทศกาลดังกล่าว เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อให้งานดังกล่าวเป็นของคนนครศรีธรรมราชอย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม โดยภาคส่วนที่ทำงานด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ที่ สอร.ได้เข้าร่วมหารือในโอกาสนี้ มีทั้งภาคประชาชน เช่น นายนิคม นกอักษร จากกลุ่มนครหัตถกรรม ครูผู้เชี่ยวชาญหัตถกรรมเครื่องถม ที่เปิดบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านหัตถกรรมแขนงต่าง ๆ นายวาที ทรัพย์สิน พิพิธภัณฑ์บ้านหนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สิน ที่ตั้งใจสร้างบ้านให้เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและศูนย์เรียนรู้ด้านหนังตะลุงให้แก่ผู้ที่สนใจ เยาวชนที่รักในการค้นคว้าความรู้ นางสาวพิชญา เพ็งจันทร์ ที่ริเริ่มทำห้องสมุดทบทวน เพื่อทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน และการพัฒนาทักษะในด้านศิลปะให้กับเด็ก และนายณัฏภัทร หมื่นมโน ที่เปิดบ้านมโนสุข ให้เป็นที่สำหรับผู้สนใจฝึกทักษะด้านศิลปะรวมถึงพื้นที่แสดงผลงานสำหรับศิลปินเมืองนครศรีธรรมราช
ต่อมา เป็นการพูดคุยหารือกับภาคประชาสังคม เช่น กลุ่มบวรนคร กลุ่ม Creative Nakhon และภาคเอกชน เช่น คุณศรีโรจน์ อนุตรเศรษฐ์ จาก Norm Space ที่เปิดพิพิธภัณฑ์ประวัติครูน้อมให้ผู้สนใจเข้าไปเรียนรู้ หวังสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ คุณจิรายุณัฐ อัจฉริยะขจร จาก One More ที่ดำเนินธุรกิจแปรรูปโกโก้เป็นช็อกโกแลตพรีเมียม และศูนย์เรียนรู้เพื่อสร้างอาชีพโดยใช้ฐานจากทรัพยากรชุมชน หอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยคุณกรกฎ เติตรานนท์ และกลุ่ม YEC นำโดยนายสิทธิพันธุ์ ปิติเจริญกิจ รวมถึงภาควิชาการ ประกอบด้วย ผศ.ดร.ไพโรจน์ นวลนุ่ม จากคณะเศรษฐศาสตร์ รศ.วิทยา อาภรณ์ สำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป รศ.ดร. วิรุจ ถิ่นนคร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ผลจากการหารือและการสำรวจข้อมูลในเบื้องต้น ภาคส่วนต่าง ๆ ยินดีที่ สอร. จะเข้ามาขับเคลื่อนกับภาคีเครือข่ายและพันธมิตร ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดขึ้นได้ในช่วงกลางเดือนกันยายน 2567 โดยในระหว่างนี้ สอร. จะร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ จัดระดมความคิดเห็นและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคส่วนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแนวทางการจัดเทศกาลการเรียนรู้นครศรีธรรมราชในครั้งแรกร่วมกัน