สถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ร่วมกับเทศบาลเมืองพะเยา และ happening นำทัพเยาวชนผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการอบรม TK แจ้งเกิด “เล่าเรื่อง เมืองพะเยา” ผลิตคอนเทนต์ ทั้งการเขียนหนังสือ บทความ สัมภาษณ์ การผลิตวิดีโอ กราฟิก หรือภาพประกอบ มาร่วมอบรมบ่มเพาะความรู้และพัฒนาทักษะอย่างเข้มข้นร่วมกับวิทยากรมืออาชีพ เมื่อวันที่ 21 - 23 กรกฎาคม 2566 ที่ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุเมืองพะเยา (ศพอส.)
ในวันแรกของการอบรม พี่วิภว์ – วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการบริหาร happening นำน้อง ๆ เข้าสู่บทเรียน “คอนเทนต์คืออะไร คนทําคอนเทนต์คือใคร” ที่เปิดโลกคอนเทนต์หลากหลายรูปแบบในปัจจุบัน และทำความรู้จักความเฉพาะตัวของสื่อโซเชียลมีเดีย พร้อมแชร์ประสบการณ์ชีวิตจริงของคนทำคอนเทนต์และสารพัดเทคนิคที่ควร “รู้ก่อนโพสต์ คิดก่อนเขียน” ตามด้วย รศ.ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา และครูจุ้ย – ชลดา เวยื่อ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพะเยา และเจ้าของเพจ บ้านดินคำปู้จู้ live & learn mud house มาร่วมพูดคุย ร่วมเปิดประเด็น “พะเยามีอะไร” ถ่ายทอดเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับจังหวัดพะเยา ให้น้อง ๆ เก็บไว้เป็นสารตั้งต้นในการคิดและลงมือสร้างคอนเทนต์กันต่อไป
การอบรมยิ่งเข้มข้นขึ้นในวันที่ 2 โดยคุณวินัย สัตตะรุจาวงษ์ ผู้กํากับอิสระ อดีต Director/Production Manager จาก The Cloud มาเติมความรู้ให้กับน้อง ๆ พร้อมแชร์ประสบการณ์ทำงานคอนเทนต์รูปแบบวิดีโอ ในหัวข้อ “คนทําคลิปต้องคิดอะไร” เทคนิควิธีการเล่าเรื่องราวด้วยภาพเคลื่อนไหว สิ่งที่ควรรู้เวลาไปออกกองถ่ายทำ การตัดต่อเบื้องต้น ตัวอย่างคลิปวิดีโอที่น่าสนใจเพื่อเป็นไอเดียให้กับน้อง ๆ
ต่อด้วยเทคนิคการสร้างสรรค์ภาพนิ่งกับคุณวรรณวนัช บูรพาเดชะ และคุณนภัส นกน่วม ช่างภาพจาก happening ในหัวข้อ “คนถ่ายภาพ มองอะไร” พร้อมถ่ายทอดหลักการถ่ายภาพแบบมืออาชีพ แชร์เทคนิคการถ่ายภาพบุคคล สถานที่ อาหาร งานอีเวนต์เพื่อประกอบการทำคอนเทนต์ให้น่าสนใจและสะดุดตาผู้ติดตาม และในช่วงบ่าย กองบรรณาธิการ happening นำโดยคุณดุสิตา อิ่มอารมณ์ และคุณนิษณาต นิลทองคํา มาเติมความรู้รวมเรื่อง “รีวิวการรีวิว” เพื่อชวนเปิดมุมมองการใช้โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ ในการเขียนรีวิวหลากหลายแนว รวมตัวอย่างโพสต์และรีวิวที่น่าสนใจ
ก่อนจบวัน น้อง ๆ ได้แยกย้ายกระจายตัวตามกลุ่ม พุดคุยและปรึกษาทีมพี่เลี้ยงของโครงการฯ เพื่อร่วมกันคิด นำเสนอไอเดียที่จะพัฒนาคอนเทนต์ แบ่งงาน วางแผน และเตรียมความพร้อมก่อนลงพื้นที่ในวันที่ 3 เพื่อเก็บข้อมูลที่ได้ซึมซับจากประสบการณ์จริง มา “เล่าเรื่องเมืองพะเยา” ที่สร้างสรรค์ขึ้นจากความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากค่ายนี้
ทุกคนสามารถให้กำลังใจและติดตามชมผลงานของน้อง ๆ ผ่านสื่อมืออาชีพและสื่อออนไลน์ของจังหวัดพะเยาได้ในเร็ว ๆ นี้