การอบรมเชิงปฏิบัติการ เรียนรู้แนวคิดในการใช้นิทานเป็นหนึ่งในกิจกรรมโครงการ "อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน เชียงราย" จัดขึ้นภายใต้การสนับสนุนของสถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ในวันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม 2563 ณ ห้องประชุมภูลานนา โรงแรมแสน อ.เมือง จ.เชียงราย โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยคุณครูอนุบาล ครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และผู้ทำงานเกี่ยวกับเด็ก ในเขตเทศบาลนครเชียงรายและอำเภออื่นๆ ในจังหวัดเชียงราย กว่า 60 คน
ภายในงานได้มีการแนะนำหนังสือนิทานซึ่งเกิดจากการดำเนินการของคณะทำงานจากคนเชียงรายทุกภาคฝ่าย ซึ่งได้ประชุมและมีกระบวนการทำงานร่วมกันอย่างเข้มข้น ตั้งแต่กระบวนการคิดและและกำหนดทิศทางของเนื้อหา รวมถึงภาพประกอบ สร้างเป็นหนังสือนิทานเพื่อเด็กๆ ชาวเชียงราย และสำเร็จเป็นหนังสือนิทานจำนวน 2 เล่ม คือ ‘มาลีแอ่วดอย’ เล่าเรื่องความหลากหลายทางชาติพันธ์ของจังหวัดเชียงรายผ่านการละเล่นต่างๆ และ ‘ทรายน้ำกก’ ที่สะท้อนภาพความหลากหลายทางกายภาพของเมือง สอดแทรกวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวเชียงราย ซึ่งผูกพันกับพระพุทธศาสนา
การจัดอบรมดังกล่าวจึงจัดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่ออบรมเชิงปฏิบัติการแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ให้มีความรู้ความเข้าใจในการใช้สื่อหนังสือนิทานสำหรับเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะหนังสือนิทานทั้งสองเล่มที่เกิดจากความร่วมใจของชาวเชียงราย
กิจกรรมเริ่มต้นจากการให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ทำความรู้จักกันมากขึ้น และเรียนรู้การวิเคราะห์หนังสือนิทานด้วยตนเอง โดยแยกออกเป็นการวิเคราะห์ลักษณะทั่วไป การย่อใจความสำคัญ และการวิเคราะห์คุณค่า เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสามารถแยกแยะได้ว่า หนังสือนิทานเล่มนั้นๆ เนื้อหาถูกต้องเหมาะสมดีหรือไม่ มีสาระสำคัญอะไรภายในเล่ม เหมาะสมกับการนำมาใช้เป็นสื่อการเรียนรู้แก่เด็กๆ อย่างไรบ้าง เพราะผู้ใช้หนังสือนิทานนั้นต้องมีความเข้าใจในสื่อการเรียนรู้ที่ตนเองจะนำไปใช้ให้มากที่สุด โดยได้ทดลองให้ผู้เข้าร่วมแบ่งกลุ่มเพื่อวิเคราะห์หนังสือนิทานในโครงการ อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน เชียงรายทั้งสองเล่ม
ในภาคบ่ายมีการเชิญผู้เขียนและผู้วาดนิทาน คือ คุณนัน ภู่โพธิ์เกตุ และคุณผูกพันธ์ ไชยรัตน์ ผู้แต่งและผู้วาดนิทาน เรื่อง “มาลีแอ่วดอย” และคุณพจวรรณ พันธ์จินดา ผู้แต่งและผู้วาดนิทาน เรื่อง “ทรายน้ำกก” มาร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุย ขั้นตอนการดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรคที่พบ รวมถึงตอบคำถามแก่ผู้เข้าร่วมในบางประเด็นซึ่งเป็นข้อสงสัย หลังจากนั้นเป็นกิจกรรมแนะนำประโยชน์และแนวทางการใช้หนังสือนิทาน ซึ่งแยกออกเป็น 4 หัวข้อหลัก คือ การอ่าน การเล่า การเล่น และการเรียนรู้ เพราะหนังสือนิทานเพียง 1 เล่ม สามารถปรับและต่อยอดเป็นสื่อเรียนรู้ที่หลากหลายและเป็นเอกลักษณ์ขึ้นอยู่กับผู้นำไปใช้ ซึ่งไม่ใช่เพื่อให้เกิดความสนุกสนานเท่านั้น แต่ต้องช่วยสร้างสรรค์จินตนาการ ความคิด ความเข้าใจ ความฝันและการรับรู้ให้กับเด็กๆ ผู้เข้าร่วมได้แบ่งกลุ่มและช่วยกันคิดวิเคราะห์แนวทางการใช้ประโยชน์หนังสือนิทานทั้งสองเล่ม และเสนอการนำไปต่อยอดเป็นสื่อการเรียนรู้ได้อย่างน่าสนใจ
ในตอนท้ายของกิจกรรมได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนความรู้สึกและเป้าหมายที่จะดำเนินการต่อไป ซึ่งผู้เข้าร่วมมีความประทับใจทั้งในการร่วมมือของคณะทำงานทุกคนที่สร้างสรรค์หนังสือนิทานของชาวเชียงรายจนสำเร็จ ออกมาเป็นหนังสือนิทานที่มีคุณภาพ ความร่วมมือของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกๆ คน และทีเคพาร์คที่ทำให้เกิดโครงการดังกล่าว และตื่นเต้นกับการที่จะได้นำหนังสือนิทานทั้งสองเล่มนี้ไปใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ในโรงเรียนของตน ผ่านวิธีการอันเกิดจากกระบวนการเรียนรู้ในวันนี้ และยินดีที่ได้เข้าเป็นส่วนหนึงเพื่อผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีแก่เด็กชาวเชียงราย ให้พวกเขาเหล่านั้นได้มีการเรียนรู้อย่างสนุกสนานตามช่วงวัยและเติบโตเป็นกำลังสำคัญของเมืองเชียงรายและของชาติต่อไป และทุกคนอยากให้มีกระบวนการเช่นนี้ได้มีโอกาสเกิดขึ้นอีกในพื้นที่อำเภออื่นๆ ของจังหวัดเชียงรายต่อไป
และในวันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม 2563 ณ ห้องสมุดเสมสิกขาลัย จังหวัดเชียงราย ได้มีการประชุมตัดสินการประกวดการทำหนังสือเล่มเล็กสำหรับเด็กและเยาวชน “เล่าเรื่องเมืองเจียงฮาย” เป็นหนึ่งในกิจกรรมของโครงการ "อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน เชียงราย" โดยเป็นผลงานของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - มัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่า ซึ่งมีน้องๆ ให้ความสนใจและส่งหนังสือเข้าร่วมประกวดถึง 41 เล่มด้วยกัน ซึ่งคณะกรรมการทุกท่านได้ร่วมกันพิจารณาผลงานทั้งหมดอย่างเข้มข้น โดยอ่านและพิจารณาอย่างละเอียดทุกเล่ม เพราะเป็นผลงานที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพและความน่าสนใจ แสดงถึงความตั้งใจของน้องๆ ทุกทีมที่ส่งเข้าประกวด ทั้งนี้จะมีการประกาศผลงานที่ได้รับรางวัลอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 ตุลาคม 2563 ผ่านทาง facebook page “อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน”