ออกเดินทางเป็นสัปดาห์ที่สองแล้ว สำหรับพลพรรคความรู้ TK Mobile Library หนังสือเดินเท้า เรื่องเล่าเดินทาง ที่ขนความสุขไปมอบให้กับน้องๆ ณ ชุมชนหลังวัดปทุมวนาราม ภายใต้ชื่อกิจกรรมเช่นเดิมว่า “หนังสือมีชีวิต สร้างชีวิตให้หนังสือ” โดยความร่วมมือระหว่างอุทยานการเรียนรู้ TK park และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในวันนี้เป็นวันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน 2554 สืบเนื่องกิจกรรมต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว โดยมีพี่ๆ ทีมงานกลุ่มเดิมมาคอยดูแลน้องๆ กันอย่างคุ้นเคย อีกทั้งยังมีพี่ๆ จากสภากาชาดไทยมาช่วยดูแลน้องๆ กันอีกแรง ทำให้บรรยากาศในวันนี้คึกคักเป็นพิเศษ
เนื่องจากสถานที่ศูนย์ชุมชนหลังวัดปทุมวนาราม ที่ใช้เป็นที่จัดกิจกรรมคราวที่แล้วไม่ว่าง จึงย้ายพื้นที่กิจกรรมมายังสนามเด็กเล่นภายในชุมชนแทน เงาจากต้นไม้ต้นใหญ่บริเวณนั้นทำให้อากาศไม่ร้อนจนเกินไปและสร้างความร่มรื่นได้เป็นอย่างดี น้องๆ จึงสามารถหายใจได้เต็มปอดสนุกสนานไปกับกิจกรรมในวันนี้ได้อย่างเต็มที่
เพื่อนเล่าให้เพื่อนฟัง
เมื่อถึงเวลาเริ่มต้นกิจกรรมเวลาบ่ายโมงนิดๆ ก็ไม่จำเป็นต้องประกาศเสียงตามสายเหมือนครั้งที่แล้วแต่อย่างใด น้องๆ หลายคนที่คุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดีก็ทยอยมารวมตัวกันที่สนามเด็กเล่นแล้ว แถมยังมีน้องๆ สมาชิกหน้าใหม่มาร่วมกิจกรรมเพิ่มอีกหลายคนทีเดียว เริ่มต้นกิจกรรมแรกด้วยการให้น้องๆ นำหนังสือนิทานที่ยืมไปคราวที่แล้วมาคืนพี่ๆ แต่ก่อนที่จะคืนนั้นต้องนำนิทานมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังเสียก่อน แม้น้องบางคนจะอ่านหนังสือยังไม่ออก แต่ก็ได้พี่ๆ มาช่วยเล่าและสื่อสารใจความสำคัญจากนิทานเรื่องนั้นๆ ไปสู่เพื่อนๆ ได้ การยืมหนังสือไปแค่เล่มเดียว แต่กลับได้ประโยชน์และความสนุกสนานจากหนังสือเล่มอื่นๆ อีกนับสิบเล่ม เรียกได้ว่าคุ้มค่ามากๆ
ตั้งใจทำป้ายชื่อกันใหญ่
ก่อนที่จะเริ่มกิจกรรมต่อไปพี่ๆ ทีมงานจึงให้น้องๆ ที่มาใหม่ได้ทำป้ายชื่อแนะนำตัวและเพื่อเป็นที่สะสมสติ๊กเกอร์ความดีกันต่อ แต่ในครั้งนี้พิเศษตรงที่ว่าน้องสามารถสร้างสรรค์ป้ายชื่อเป็นของตนเองได้ด้วยดินสอสีหลากหลายสีสัน น้องคนไหนที่มีป้ายชื่ออันเก่าก็สามารถแต่งเติมให้สวยงามด้วยมือของตนเองได้เช่นกัน เมื่อน้องๆ แต่ละคนพร้อมแล้ว พี่ๆ จึงแบ่งน้องเป็นกลุ่มด้วยเพลงลมเพลมพัด ที่พัดรวมเอาอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายให้ครบตามจำนวนที่กำหนด เช่น รวมนิ้วก้อยให้ได้ 10 นิ้ว ก็หมายความว่าต้องมีน้องๆ กลุ่มละ 5 คนนั่นเอง หลังจากแบ่งกลุ่มกันเรียบร้อยแล้วพี่ๆ ทีมงานก็จัดการแจกอุปกรณ์เพื่อทำกิจกรรมสนุกๆ นั่นก็คือการใช้หลอดมาต่อกันให้ตั้งสูงที่สุดและตั้งได้โดยห้ามใช้มือจับ มีอุปกรณ์คือ หลอด 1 ถุง กรรไกร และ เทปกาวใส
หอคอยหลอดที่สูงมาก!
ทันทีที่ได้เสียงสัญญาณให้เริ่มต้นลงมือทำ น้องๆ แต่ละกลุ่มก็ลงมือทำกันอย่างขะมักเขม้น มือน้อยๆ หลายคู่ต่างหยิบอุปกรณ์ผสานกับสมองที่มีความคิดสร้างสรรค์อันล้นเหลือก่อร่างสร้างเป็นหอคอยหลอดขนาดย่อม โดยมีพี่ๆ คอยดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ละกลุ่มต่างก็มีรูปแบบการสร้างเป็นของตนเอง แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่างกัน ต่างกลุ่มกันก็ต่างจินตนาการกัน ไม่มีการลอกเลียนแบบกันแต่อย่างใด เวลาผ่านไปสักพักพี่ๆ ก็เตรียมประกาศว่าเหลือเวลาอีกนิดเดียวเท่านั้น เพื่อกระตุ้นให้น้องๆ เร่งสร้างผลงานให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด เพราะในการทำงานจริงจะมีเงื่อนไขในเรื่องเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ จึงเป็นการฝึกน้องๆ ไปในตัวด้วย เมื่อหมดเวลาผลงานหอคอยหลอดหลายหอคอยก็ได้อวดโฉมกันแล้ว ซึ่งผลลัพธ์ออกมาค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ เพราะมีถึง 2 กลุ่มด้วยกันที่สามารถตั้งตระหง่านได้สูงถึงประมาณ 2 เมตรเลยทีเดียว และแม้กลุ่มที่เหลือจะไม่สามารถตั้งได้ แต่ก็ถือว่าเป็นผลงานที่มาจากความพยายามของสมาชิกในกลุ่มแล้ว เพราะผลลัพธ์ไม่สำคัญเท่ากับการได้ลงมือทำนั่นเอง
เล่าไปวาดไปในมุมเด็กโต
พักจากกิจกรรมใช้แรงก็เปลี่ยนอารมณ์มาฟังนิทานกันบ้าง แต่คราวนี้มีการแบ่งน้องๆ ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มหนึ่งคือน้องเด็กเล็กที่อยู่ชั้นอนุบาล และอีกกลุ่มคือน้องเด็กโตที่อยู่ชั้นประถม ทั้งนี้เพื่อรูปแบบกิจกรรมที่เหมาะสมกับช่วงวัยของน้องๆ โดยน้องกลุ่มเด็กโตจะได้สนุกกับกิจกรรมนิทาน เล่าไปวาดไป ซึ่งในขณะที่ฟังนิทานก็มีการให้วาดรูปตามทีละเส้นๆ ตามเรื่องราวที่เล่า จนในที่สุดเมื่อนิทานจบลงจึงจะเป็นภาพที่สมบูรณ์ น้องๆ หลายคนที่ยังไม่เคยร่วมสนุกกับการเล่านิทานแบบนี้จึงตื่นเต้นกันยกใหญ่ และเมื่อนิทานจบลง ผลงานภาพวาดจากฝีมือของตนเองจึงปรากฏโฉมกันอย่างน่าภาคภูมิใจ แต่เท่านั้นยังไม่พอ เพราะยังมีกิจกรรมให้น่าภูมิใจต่อจากนี้อีก ต่อจากนั้นจึงเป็นคิวการเล่านิทานแบบปกติกันบ้าง เริ่มต้นด้วยนิทานเรื่อง เมี้ยว แต่งโดย ทัตสึยะ มิยานิชิ ว่าด้วยแมวจอมตะกละกับลูกหนูสามตัวที่ชวนกันไปเก็บลูกพีช และต่อด้วยนิทานเรื่อง กระต่ายตื่นตูม แต่งโดย ทินกร กาษรสุวรรณ และ สุธาสินี ศุภศิริสินธุ์ ซึ่งเป็นการนำนิทานไทยโบราณมาเรียบเรียงใหม่ให้มีความน่าสนใจมากขึ้น
หารูปทรงเรขาคณิตในมุมเด็กเล็ก
หันไปดูน้องกลุ่มเด็กเล็กกันบ้าง ที่กำลังสนุกสนานกับนิทานเช่นกัน แต่เป็นนิทานสำหรับเด็กเล็ก ซึ่งเน้นในเรื่องการสังเกตและเรียนรู้มากกว่าการซึมซับเรื่องราว และสนุกกันต่อกับเกมทดสอบไหวพริบสำรวจรูปทรงเลขาคณิต ทั้งรูปวงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม จากบอร์ดรูปการ์ตูนสีสันสดใสขนาดใหญ่ โดยให้น้องๆ ช่วยกันเลือกรูปภาพที่เป็นรูปทรงเลขาคณิตจากรูปทั้งหมด สร้างความสนุกสนานได้ไม่แพ้น้องกลุ่มเด็กโตเลยทีเดียว
เสร็จสิ้นจากกิจกรรมของทั้งสองกลุ่มก็มาถึงเวลาพักกันแล้ว โดยมีขนมและน้ำดื่มแจกให้ทานกันเช่นเคย และมีหนังสือนิทานดีๆ มากมายวางไว้ให้น้องๆ หยิบไปนั่งอ่านกันได้ตามอัธยาศัยกันอีกด้วย
ผลงานศิลปะอันสดใส
กลับเข้าสู่กิจกรรมในช่วงสุดท้าย นั่นก็คือการสร้างสรรค์ผลงานเป็นของตนเอง สำหรับน้องกลุ่มเด็กโต พี่ๆ ทีมงานได้แจกแผ่นพลาสติกใสให้น้องๆ แปะทับลงไปบนกระดาษที่วาดรูปจากนิทานเมื่อครู่ เพื่อนำดินน้ำมันสีต่างๆ มาแปะลงบนแผ่นใสตามลายเส้นที่น้องๆ วาดขึ้นมาเอง ให้กลายเป็นผลงานศิลปะส่วนตัวด้วยฝีมือของน้องๆ เอง เวลาที่ให้ได้ลงมือทำกันพักใหญ่ สีสันต่างๆ ที่ถูกแต่งแต้มไปตามจินตนาการอันสดใสปรากฏให้เห็นในรูปแบบผลงานที่สวยงามมาก เพราะศิลปะที่ทำออกมาด้วยความใสซื่อบริสุทธิ์มักจะให้ผลลัพธ์ที่งดงามเสมอ ทางด้านน้องกลุ่มเด็กเล็กก็ได้รับแจกบอร์ดรูปทรงเลขาคณิตแผ่นเล็กกันคนละแผ่น เพื่อแสดงความสามารถเฉพาะตัวในการค้นหารูปทรงเลขาคณิต ซึ่งประสบการณ์จากบอร์ดแผ่นใหญ่เมื่อครู่ ก็ทำให้ผลงานที่ออกมาแทบไม่ผิดเลยสักรูปเดียว เรียกได้ว่าน้องๆ รู้จักประยุกต์ความรู้ที่เคยเรียนไปแล้วมาใช้ได้อย่างสมบูรณ์แบบจริงๆ
ร่วมโชว์ผลงานอันน่าภูมิใจ
เมื่อทั้งน้องกลุ่มเด็กเล็กและเด็กโตต่างมีผลงานของตนเองกันคนหนึ่งชิ้นแล้ว จึงมาถ่ายรูปร่วมกันโชว์ผลงานอันน่าภูมิใจของตนเอง และก่อนจะจากกันไปก็มีธรรมเนียมเดิมคือให้น้องๆ ได้ยืมนิทานกลับบ้านกันไปคนละเล่น เพื่อในสัปดาห์หน้าหลังจากที่อ่านจบแล้วก็มาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังกันต่อ
ในสัปดาห์หน้าพลพรรคความรู้ TK Mobile Library หนังสือเดินเท้า เรื่องเล่าเดินทาง ก็จะมีกิจกรรมเด็ดๆ มากมายมาฝากน้องๆ กันเช่นเคย แต่จะสนุกสนานและเปี่ยมสุขมากขึ้นแค่ไหน ต้องติดตาม
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย