วีดิทัศน์ Smart Libraries for Tomorrow: Innovate and Transform บรรยายโดย รศ.ดร.วนิดา แก่นอากาศ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น บันทึกในโอกาสการประชุมวิชาการประจำปี 2561 (TK Forum 2018) หัวข้อ “Creating Better Library: The Unfinished Knowledge”
สังคมปัจจุบันเผชิญสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงมากมาย ทั่วโลกมีประชากรราว 4 พันล้านคนจาก 7.5 พันล้านคนที่ใช้อินเทอร์เน็ต ส่วนประชากรไทยมีประมาณครึ่งหนึ่งเป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เยาวชนเจนเนอเรชั่นวายใช้อินเทอร์เน็ตในแต่ละวันมากกว่า 7 ชั่วโมง พวกเขาหาความรู้ที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ นี่จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่า ห้องสมุดยังมีความจำเป็นหรือไม่ และถ้ามีจะต้องปรับตัวอย่างไร
มหาวิทยาลัยขอนแก่นนับเป็นศูนย์กลางด้านอุดมศึกษาของภาคอีสาน มีหอสมุดกลางเป็นแลนด์มาร์กด้านการเรียนรู้ที่สำคัญ หอสมุดกลางมหาวิทยาลัยขอนแก่นตระหนักว่า สิ่งที่ห้องสมุดจินตนาการกับสิ่งที่ผู้ใช้บริการต้องการอาจจะไม่เหมือนกัน เพราะนักศึกษาซึ่งถือเป็นเจนเนอเรชั่นใหม่ย่อมมีพฤติกรรมในการเรียนรู้ที่แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนหน้านี้ จึงได้สำรวจความคิดเห็นและวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้บริการ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพลิกโฉมการให้บริการห้องสมุด
ตัวอย่างการบริการใหม่ๆ ที่ห้องสมุดได้ริเริ่มขึ้น อาทิ การพัฒนา Mobile Application เพื่อให้บริการสืบค้นและยืมคืนทรัพยากร รวมทั้งเป็นประตูเชื่อมไปยังบริการทางการศึกษาอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย การให้บริการพื้นที่อ่านหนังสือ 24 ชั่วโมง โซน Play and Learn สำหรับเล่นเกมและผ่อนคลายอิริยาบถ สมาร์ทโปสเตอร์ซึ่งใช้เทคโนโลยี NFC-QR Code จุดยืมคืนหนังสือแบบ drive-through การชำระค่าบริการโดยไม่ใช้เงินสด การให้บริการยืมอุปกรณ์ดิจิทัลทุกระบบปฏิบัติการ และสิ่งอำนวยความสะดวกไม่ว่าจะเป็นสายชาร์จ หมอนนวด หรือแม้แต่ร่ม
นอกจากนี้ ยังมีหุ่นยนต์โต้ตอบ (chatbot) ที่สามารถตอบคำถามผู้ใช้บริการเป็นภาษาไทยและอังกฤษได้ตลอด 24 ชั่วโมง และปัจจุบันหอสมุดกลางมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้นำเทคโนโลยี big data มาวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้บริการห้องสมุด เพื่อทำนายสภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และสามารถวางแผนการบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม
ห้องสมุดทำให้นักศึกษารับรู้ว่า ห้องสมุดเป็นพื้นที่ของพวกเขา เพราะตอบโจทย์ทุกอย่างที่ต้องการ ห้องสมุดยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงออกถึงความสามารถ เช่น การแสดงดนตรี การเต้น หรือใช้ทักษะความรู้เพื่อเป็นประโชน์แก่ผู้อื่น ก่อนหน้านี้มีนักศึกษาใช้บริการห้องสมุดเพียง 1,200 คนต่อวัน หลังจากที่ห้องสมุดได้ปรับปรุงการให้บริการและริเริ่มนวัตกรรมใหม่ๆ ไปแล้ว 1 ปี มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 คน และปัจจุบันสูงถึง 9,000 คน จนห้องสมุดดูคล้ายกับเป็นสโมสรนักศึกษา
ผลตอบรับที่เหนือความคาดหมายคือ ผู้ใช้บริการเกิดจิตสำนึกในการอยากดูแลและตอบแทนห้องสมุด เช่น นักศึกษาช่วยกันจัดกิจกรรมในห้องสมุด ช่วยทาสีเพื่อจัดระเบียบที่จอดรถ ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานเพื่อจัดแสดงในห้องสมุด ฯลฯ กลายเป็นการดำเนินงานโดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากผู้ใช้บริการ
ปัจจุบันหอสมุดกลางมหาวิทยาลัยขอนแก่นยังปรับมุมมองเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายของห้องสมุด จากเดิมที่มุ่งรองรับกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเป็นหลัก ก็เริ่มขยายไปยังนักเรียนจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่นอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพราะห้องสมุดเล็งเห็นถึงความสำคัญของการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านการเรียนรู้ให้กับเยาวชน เพราะพวกเขาเหล่านั้นย่อมเติบโตและกลายมาเป็นผู้ใช้บริการหลักในอนาคต หอสมุดกลางมหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงจัดแบ่งการใช้พื้นที่ (zoning) ให้มีทั้งแบบเงียบและสามารถใช้เสียงได้ รวมทั้งยังได้รับความร่วมมือจากนักศึกษาเข้ามาจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้กับน้องๆ เช่น กิจกรรมการอ่านนิทาน ซึ่งยังสามารถต่อยอดไปเป็นการบันทึกเสียง เพื่อนำไปจัดทำเป็นไฟล์หนังสือเสียงได้อีกด้วย
รศ.ดร.วนิดา แก่นอากาศ กล่าวสรุปว่า นวัตกรรมห้องสมุดไม่ใช่เรื่องดิจิทัลเพียงอย่างเดียว แต่เป็นแนวคิดในการปรับกลยุทธ์การทำงาน ประกอบด้วยการรับฟังลูกค้า (customer focus) และการบริหารจัดการที่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง (management by fact) ความสามารถในการเชื่อมโยงการทำงานเป็นทีม และความพร้อมที่จะปรับตัวของบุคลากร เพื่อให้ห้องสมุดทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี มิใช่รอให้เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงห้องสมุด