ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอิสระ และนักจัดกระบวนการเรียนรู้ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องระบบการศึกษา ได้ฝากข้อคิดเอาไว้อย่างน่าฟัง เธอท้าทายข้อสันนิษฐานที่ว่าเด็กไทยหรือคนไทยไม่มีความสนใจใฝ่รู้ เพราะเชื่อว่า ความสงสัยคือสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ แต่ประเด็นสำคัญคือเราได้รับอนุญาตให้สงสัยมากน้อยแค่ไหน คำศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วย ตัว ส.เสือ ในภาษาไทยที่สะท้อนความหมายของความ ‘อยากรู้’ จึงมีนัยยะเชิงลบมากกว่าเชิงบวกเสียอีก นี่อาจเป็นสัญลักษณ์ที่ชี้ให้เห็นจุดยืนของสังคมไทย
หากระบบการศึกษาไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยที่เราจะแสดงความสงสัยและลงมือสืบเสาะ ความสงสัยใคร่รู้และพลังในการค้นหาคำตอบก็จะถูกถ่ายเทไปสู่พื้นที่อื่นๆ ที่สามารถแสดงออกได้แทน เช่น โลกออนไลน์ เป็นต้น โจทย์สำคัญในการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ อาจไม่ได้อยู่ที่การผลิตผู้สอนที่ใคร่รู้เท่านั้น หากเป็นการ ‘เปิดกว้าง’ ให้อิสระด้วยอีกส่วนหนึ่ง
อีกโจทย์ที่สำคัญคือ ความใคร่รู้ในแต่ละคนนั้นตายตัวและแช่แข็งจริงหรือ ความสงสัยใคร่รู้อาจผันแปรตามความสนใจ และความรู้สึกเชื่อมโยงกับประเด็นนั้นของตัวบุคคลก็เป็นได้ อีกโจทย์สำคัญคือ เราเชื่อว่า Inquiry-based Learning คือ กระบวนการที่ดี และควรผลักดันให้เกิดขึ้น แต่การนำมาใช้ในบริบทไทยนั้น มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริงมากน้อยแค่ไหน มีสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ และควรจัดการอย่างไร
ชมวีดิทัศน์การเปิดประเด็น ร่วมวิเคราะห์ และถกทิศทางการเรียนรู้แบบสืบเสาะ โดย ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอิสระด้านการศึกษาในงานสัมมนา ‘Inquiry-based Learning ปลุกความสงสัย จุดไฟการเรียนรู้ตลอดชีวิต’