เติ้ล ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน คือ คนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจ หลงใหลในวิทยาศาสตร์ และเชื่อว่าวิทยาศาสตร์ควรเข้าถึงได้โดยมวลชน เขาคิดว่าสังคมของเราทุกวันนี้มีกับดักของการเข้าถึงความรู้และความจริงอยู่ คือ Ignorance (ความไม่รู้) และ Fear (ความกลัว) ทั้งสองสิ่งขัดขวางการเข้าถึงความรู้ และเป็นอุปสรรคที่สำคัญของความสงสัยใคร่รู้ ที่จะกระตุ้นให้ผู้คนออกค้นหาความจริง
วิธีที่ใช้ต่อสู้กับอุปสรรคทั้งคู่ คือการทดลองลงมือทำในสิ่งที่เป็นประสบการณ์แปลกใหม่ ยังไม่เคยมีใครลองทำมาก่อน เช่น การเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์กับประเด็นทางสังคมและการเมือง การใช้ถ้อยคำเผ็ดร้อนกับการเขียนบทความวิชาการ หรือแม้กระทั่งจัดกิจกรรมในงานออกบูธที่แหวกแนว ทั้งหมดนี้ก็เพื่อกระตุ้นให้เกิดความสงสัย อย่างน้อยก็คือจุดประกายคำถามเริ่มต้น ‘ทำได้จริงไหม’
นอกจากนี้ เติ้ลยังแบ่งปันทัศนะเกี่ยวกับการตั้งคำถามเอาไว้อย่างน่าสนใจ “การตั้งคำถามเป็นเรื่องที่ดี แต่บางคำถามก็เป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก มันเป็นคำถามที่เหมือนกับถูกสอนมาว่าให้ถาม คุณเห็นคนอื่นถามคำถามนี้ ก็เลยอยากถามบ้าง เพราะรู้สึก belong กับสังคม แต่คุณไม่เคยถามคำถามอื่นที่สังคมไม่ได้บอกหรือสอนเลย”
ชมวีดิทัศน์การอภิปรายหัวข้อ ‘สร้างระบบนิเวศการเรียนรู้แบบสืบเสาะ บ่มเพาะการคิดเชิงวิพากษ์ในสังคมไทย’ โดย ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหาร Spaceth.co บันทึกจากงานสัมมนาสาธารณะ ‘Inquiry-based Learning ปลุกความสงสัย จุดไฟการเรียนรู้ตลอดชีวิต’