นอกจากการเรียนการสอนในระบบแล้ว กิจกรรมแบบไหนที่จะกระตุ้นให้เยาวชนสงสัย ตั้งคำถาม และหาคำตอบด้วยการสืบเสาะได้อีก? โครงการ ‘นักสืบสายน้ำ’ ที่แตกยอดมาเป็นโครงการอื่นๆ เช่น นักสืบสายลม นักสืบชายหาด น่าจะเป็นประจักษ์พยานแห่งความสำเร็จของ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ นักสิ่งแวดล้อม นักนิเวศวิทยา และอดีตประธานมูลนิธิโลกสีเขียว ที่ดูแลโครงการเหล่านี้เป็นอย่างดี
การเดินเลาะลำน้ำเพื่อสังเกตพืชพันธุ์และสัตว์โลกรวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เป็นกิจกรรมที่นอกจากจะส่งเสริมให้เด็กๆ รู้จักสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัวแล้ว ยังเกิดผลมากกว่านั้น คือทำให้ผู้ร่วมโครงการรู้จักตั้งคำถาม และเข้าใจกระบวนการคิด ในสถานการณ์อื่นๆ ที่ต้องเผชิญในอนาคตด้วย
“กระบวนการนักสืบสิ่งแวดล้อมทำให้เด็กรู้สึกสนุก เด็กหลายคนเห็นคุณค่าในตัวเอง รู้สึกว่ามีประโยชน์ มีความหมาย มีภารกิจ มีเป้าหมายในชีวิต…เราไม่ได้หยุดแค่ตรงวิทยาศาสตร์ มันคือหนทางดูแลธรรมชาติ แก้ปัญหาด้วยการตั้งคำถามว่าเราทำอะไรได้บ้าง ผ่านมา 25 ปี ก็ยังเป็นคำถามที่คลาสสิก เวลาผ่านไปไม่ว่าสถานการณ์จะแย่แค่ไหน เด็กจะต้องต่อกรกับใคร พอตั้งคำถามว่าเราพอจะทำอะไรได้บ้างและมองเห็นภาพใหญ่ ก็จะทำให้เขาไม่ท้อ…”
โครงการนักสืบสิ่งแวดล้อม เป็นโครงการที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนคือการสร้างนักอนุรักษ์ตัวน้อย ด้วยการให้เครื่องมือเพื่อช่วยให้พวกเขาหัดสังเกต และคิดจนครบกระบวนการสืบเสาะ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน โจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมก็ไม่เคยตกยุค
ประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมจะช่วยฝึกทักษะการตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบได้อย่างไร ชมวีดิทัศน์การอภิปรายหัวข้อ ‘สร้างระบบนิเวศการเรียนรู้แบบสืบเสาะ บ่มเพาะการคิดเชิงวิพากษ์ในสังคมไทย’ โดย ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ นักนิเวศวิทยา นักสิ่งแวดล้อม และอดีตประธานมูลนิธิโลกสีเขียว บันทึกจากงานสัมมนาสาธารณะ ‘Inquiry-based Learning ปลุกความสงสัย จุดไฟการเรียนรู้ตลอดชีวิต’