ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูผู้สอนวิชาสังคมศึกษารุ่นใหม่ จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ เชื่อว่า การ ‘เอ๊ะ’ หรือการตั้งคำถาม เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ กระบวนการ Inquiry-based Learning จะเกิดขึ้นได้ ขั้นแรก ผู้สอนและผู้เรียนควรล้มล้างความเชื่อที่ว่า ‘มีความจริงเพียงหนึ่งเดียว’ ในจักรวาลความรู้ และกระตุ้นให้เกิดการออกเดินทางค้นคว้าหาความรู้นอกห้องเรียน โดยไม่ยึดติดกับผู้สอน แบบเรียน หรือหลักสูตรเท่านั้น
“การศึกษาหรือการเรียนรู้ควรเริ่มต้นด้วยการสงสัย หรือการตั้งคำถาม…ความรู้ไม่ได้จำกัดอยู่ในห้องเรียน การสอนให้เขารู้ แต่ไม่ได้ทำให้เขา ‘เอ๊ะ’ แปลว่าทุกอย่างจบในห้องเรียน การเรียนรู้ไม่เกิดขึ้นในชีวิตจริง ถ้าเราทำให้เขา ‘เอ๊ะ’ เขาก็จะรู้สึกว่า มีความรู้รออยู่ข้างนอก อาจจะดีกว่าหรือแย่กว่า แต่ก็เป็นหน้าที่ ของเขาที่จะต้องเดินทางออกไปเรียนรู้”
นอกจากนี้การเรียนรู้แบบสืบเสาะอาจเริ่มต้นด้วย ‘คำถาม’ และจบลงด้วย ‘คำถาม’ ความสงสัยในชั้นเรียนอาจจะไม่ได้ถูกคลี่คลายในวันนั้น แต่ผู้เรียนจะเข้าใจว่า ควรจะคิดอย่างไร ตั้งคำถามอย่างไร
ท้ายที่สุด การจัดการเรียนการสอนแบบ Inquiry-based คือการสร้างสัมพันธ์ระหว่าง ‘คำถาม’ ‘เครื่องมือ’ และ ‘ปรากฏการณ์’ เช่น ตั้งคำถาม ให้เครื่องมือ เพื่อให้ผู้เรียนนำไปวิเคราะห์ปรากฏการณ์ หรือ ให้ปรากฏการณ์ ให้เครื่องมือ เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกตั้งคำถาม
ผู้สอนจะพลิกแพลงรูปแบบการสอนเพื่อเร้าความสงสัย ชมวีดิทัศน์การอภิปรายหัวข้อ ‘สร้างระบบนิเวศการเรียนรู้แบบสืบเสาะ บ่มเพาะการคิดเชิงวิพากษ์ในสังคมไทย’ โดย ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูรุ่นใหม่จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ. ระยอง บันทึกจากงานสัมมนาสาธารณะ ‘Inquiry-based Learning ปลุกความสงสัย จุดไฟการเรียนรู้ตลอดชีวิต’