ในฐานะที่คลุกคลีอยู่กับการอบรมบ่มเพาะครูสายวิทยาศาสตร์และโครงงานมายาวนาน รศ.ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ เชื่อว่าเส้นทางสู่การเกิดปัญญานั้น นอกจากกระตุ้นให้เกิดความสงสัยแล้ว กระบวนการคลี่คลายความสงสัยก็สำคัญ ต้องใช้ทั้งองค์ความรู้เดิม ตรรกะ และใช้หลักเหตุผลมาช่วย หากสงสัยแล้วไม่มีกระบวนการสืบเสาะ ก็เป็นความสงสัยที่เสียเปล่า
การเรียนการสอนในห้องเรียนอาจเริ่มต้นจากการสังเกตสิ่งรอบตัว เช่น ขวดน้ำ ยานพาหนะ ลำดับถัดมาผู้สอนก็ต้องช่วยคลี่คลายความสงสัยที่จุดประเด็นให้กับเด็กๆ ให้ได้
แต่ประเทศไทยทุกวันนี้ น่าเสียดายที่ระบบการศึกษายังไม่เอื้อต่อการแสดงความคิดเห็นจากทุกระดับ และระบบยังไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการ ‘พัฒนาคน’ อย่างเต็มที่ การเรียนการสอน การทำโครงงาน ล้วนให้ความสำคัญกับตัวผลงานมากกว่าการเปลี่ยนแปลงของนักเรียน การเปลี่ยนแปลงอาจต้องเริ่มที่ผู้สอนเสียก่อน แม้ว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในเชิงปฏิบัตินั้นพอจะปรากฏให้เห็นมากขึ้น
การเรียนรู้แบบสืบเสาะควรเป็นไปในทิศทางใด การเรียนการสอนแบบไหนจะช่วยกระตุ้นให้เกิด ‘ปัญญา’ อุปสรรคที่สำคัญคืออะไร
ชมวีดิทัศน์การอภิปรายหัวข้อ ‘สร้างระบบนิเวศการเรียนรู้แบบสืบเสาะ บ่มเพาะการคิดเชิงวิพากษ์ในสังคมไทย’ โดย รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ผู้อำนวยการเพาะพันธุ์ปัญญาอะคาเดมี บันทึกจากงานสัมมนาสาธารณะ ‘Inquiry-based Learning ปลุกความสงสัย จุดไฟการเรียนรู้ตลอดชีวิต’