มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ (UTS) มีแต่อาคารเรียน ไม่มีพื้นที่ว่างและสวน ส่วนห้องสมุดตั้งอยู่นอกมหาวิทยาลัย โจทย์สำคัญคือ จะทำอย่างไรให้นักศึกษาเดินทางไปใช้บริการห้องสมุด โครงการ ‘นักสร้างสรรค์ในพำนัก’ ถูกริเริ่มขึ้นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของผู้คนและชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มศิลปิน เข้ามาร่วมออกแบบ แก้ปัญหา หรือพัฒนาห้องสมุดให้มีภาพลักษณ์อบอุ่นและเป็นมิตรมากยิ่งขึ้น
โครงการนี้ดำเนินมาแล้วประมาณ 10 ปี แต่ละปีจะมีการตั้งธีมแตกต่างกัน และเปิดรับสมัครผู้สนใจโดยไม่จำกัดเฉพาะนักศึกษาในมหาวิทยาลัย คณะกรรมการจะพิจารณาคุณสมบัติจากเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ประกอบกับพอร์ตโฟลิโอแสดงผลงาน ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับเงินสนับสนุน 10,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ค่าวัสดุปกรณ์ พื้นที่ทำงานในห้องสมุด และการอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ จากเจ้าหน้าที่ เป็นระยะเวลา 6 เดือน
เมื่อผ่านการคัดเลือกแล้ว นักสร้างสรรค์ทั้งหลายจะได้รับรายการ ‘ปัญหาและความต้องการ’ จากห้องสมุด เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์มากที่สุด ที่ผ่านมามีรูปแบบผลงานมากมาย เช่น เก้าอี้ซึ่งได้รับการออกแบบเฉพาะสำหรับห้องสมุด UTS การตกแต่งพื้นที่มุมอับเพื่อให้เกิดประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น แผนที่ระบุชนิดพันธุ์พืช หรือแม้กระทั่งการทาสีตกแต่งห้องสมุดตามรหัสสีสอดคล้องกับระบบทศนิยมดิวอี้ เพื่อให้ผู้ใช้งานค้นหาหนังสือได้ง่ายขึ้น
คุณค่าของโครงการ ‘นักสร้างสรรค์ในพำนัก’ คือ ห้องสมุดได้ผู้มีศักยภาพมาร่วมแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันศิลปินก็มีโอกาสผลิตผลงานตามจินตนาการ โดยได้รับความสะดวกอย่างครบครัน และสามารถต่อยอดให้เกิดมูลค่าในอนาคต
ชม... วีดิทัศน์ เรื่อง “To Reside in Creativity: UTS Library Creative in Residence” บรรยายโดย ไมเคิล กอนซาเลซ (Michael Gonzalez) หัวหน้าบรรณารักษ์ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ (UTS) ประเทศออสเตรเลีย บันทึกในโอกาสการประชุม TK FORUM 2023 “Library Possible: The Creative Solutions for Better Library Service”