กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๘ จำนวน ๘ คน ดังนี้
๑. สาขาทัศนศิลป์ จำนวน ๓ คน ได้แก่
๑.๑ นายกฤษฎา โรจนกร ( สถาปัตยกรรม )
นายกฤษฎา โรจนกร ปัจจุบันอายุ๖๘ ปีเกิดเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๙๐ ที่กรุงเทพมหานคร สําเร็จการศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น (ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น)
นายกฤษฎา โรจนกร เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถอย่างสูงยิ่งในการออกแบบงาน สถาปัตยกรรมหลากหลายประการ ประกอบกับมีผลงานออกแบบในหลากหลายประเทศในแถบภูมิภาค เอเชีย เช่น โรงแรมแกรนด์หลวงพระบาง ประเทศลาว และรีสอร์ทซิกส์เซนส์ นิน วัน เบย์ ประเทศ เวียดนาม เป็นต้น จึงทําให้มองเห็นมุมมองสภาพแวดล้อม สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น และสถาปัตยกรรม ร่วมสมัยอย่างชัดเจน มีผลงานออกแบบในรูปแบบและรายละเอียดเทคนิคการก่อสร้างเข้ากับยุคสมัย สภาพสังคม และสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีพลวัตร มีความสอดคล้องกลมกลืนกับบริบท และสภาพแวดล้อมพื้นถิ่น นําความดีงามในอดีต รากเหง้าทางวัฒนธรรมมาต่อยอด เข้ากับสภาพวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ในปัจจุบัน และประยุกต์ใช้ในการออกแบบต่อไปในอนาคต
๑.๒ ศาตราจารย์วิชัย สิทธิรัตน์ ( ประติมากรรม )
ศาสตราจารย์วิชัย สิทธิรัตน์ ปัจจุบันอายุ ๖๘ ปีเกิดเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๐ ที่จังหวัดนครพนม สําเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ในสาขาประติมากรรม จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ สอนศิลปะ ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๑๕ มีผลงานทั้งภาคปฏิบัติและงานวิชาการ จนได้รับการยกย่องให้เป็นศาสตราจารย์สาขาประติมากรรม พ.ศ.๒๕๕๗
ศาสตราจารย์วิชัย สิทธิรัตน์เมื่อเริ่มต้นศึกษาศิลปะ จะค้นคว้าสร้างผลงานจากแรงบันดาล ใจในธรรมชาติทั้งภาพคน สัตว์ทิวทัศน์และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ โดยมีความเชื่อว่าธรรมชาติเป็นบ่อเกิด ของความงามที่นําไปสู่ความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตในที่สุด จากรูปแบบแนวเหมือนจริง ค่อย ๆ พัฒนา ผลงานไปสู่ลักษณะกึ่งนามธรรม และก้าวสู่รูปแบบนามธรรมในที่สุด ผลงานในช่วงแรกสร้างสรรค์ ประติมากรรมตามแนวทาง Academic ใช้เทคนิคการสร้างด้วยปูนปลาสเตอร์ไม้และแผ่นเหล็ก มาเชื่อมกัน ต่อมาสนใจปรัชญาและคําสอนในพระพุทธศาสนา ที่กล่าวถึงชีวิตที่ไม่ยืนนาน มีการ เปลี่ยนแปลงไปไม่สิ้นสุด จากสิ่งที่มีกลายเป็นไม่มีวนเวียนอยู่เช่นนี้ภายในร่างกายและจิตใจ ใช้เทคนิค การสร้างสรรค์ผลงานโดยใช้สื่อต่าง ๆ เข้ามาเป็นองค์ประกอบ เช่น การใช้วีดิทัศน์แสง เสียง เข้ามา ผสมกับประติมากรรม ศาสตราจารย์วิชัย สิทธิรัตน์มีความสามารถด้านประติมากรรม เป็นที่ยอมรับในวงการประติมากรรม ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ นับเป็นประติมากรที่มีความรู้ความสามารถ ทั้งงานสร้างสรรค์ รูปแบบผลงานที่มีแบบฉบับเฉพาะตนอย่างต่อเนื่อง และงานวิชาการ เป็นผู้ผดุงรักษางานศิลปะให้ คงอยู่คู่กับแผ่นดินไทย รวมทั้งเป็นศิลปินที่สร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมและประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน
๑.๓ ศาสตราจารย์เกียรติคุณเสริมศักดิ์ นาคบัว ( การออกแบบอุตสาหกรรม )
ศาสตราจารย์เกียรติคุณเสริมศักดิ์ นาคบัว ปัจจุบันอายุ ๘๐ ปีเกิดเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ที่จังหวัดชัยนาท สําเร็จการศึกษาปริญญาศิลปบัณฑิต สาขาวิชามัณฑนศิลป์มหาวิทยาลัย ศิลปากร ระดับปริญญาโทสาขาวิชา Ceramic Art จาก University of Hawaii U.S.A. ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์สาขาวิชาศิลปะการออกแบบหัตถอุตสาหกรรม จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นอกจากนี้ ยังได้รับทุนต่างๆ จากหลายสถาบัน เช่น ได้รับทุน East – West Center ไปศึกษาวิชา Ceramics ที่ University of Hawaii U.S.A เป็นต้น
ศาสตราจารย์เกียรติคุณเสริมศักดิ์ นาคบัว มีผลงานศิลปะเครื่องเคลือบดินเผาหลากหลาย ส่วนใหญ่รูปทรงงานศิลปะได้แรงบันดาลใจการสร้างผลงานแบบอิงธรรมชาติรวมทั้งสัจธรรมต่างๆ รอบตัว จึงทําให้ผลงานเน้นความงามตามธรรมชาติของพื้นผิวที่แสดงอยู่ในผลงาน โดยมีลักษณะเด่นคือการเคลือบด้วยขี้เถ้าพืชให้ความรู้สึกสงบเงียบ สง่างาม ซ่อนความขลัง (Mystic) จึงส่งผลให้ชิ้นงานมีชีวิต (Spirit) และเป็นชีวิตที่ไม่มีวันตาย เหนือกว่านั้น เคลือบขี้เถ้าพืชกลุ่มสีเขียว (Celadon) ยังกระตุ้นอารมณ์ให้เกิดจินตภาพ (Image) ของความบริสุทธิ์ ในความเป็นธรรมชาติของการเคลือบได้อย่างชัดเจน ศาสตราจารย์เกียรติคุณเสริมศักดิ์ นาคบัว ได้ศึกษาค้นคว้าและทดลองส่วนผสมของเนื้อดินปั้น เพื่อใช้ในการเรียนการสอนอยู่ตลอดเวลา และได้ออกแบบเครื่องผสมดินเหนียวให้เหมาะสมกับสภาพของวัตถุดิบที่สามารถหาได้ง่าย อีกทั้งได้คิดค้นเตาเผาเซรามิคแบบต่อเนื่อง (Periodic) ชนิดทางเดินลมร้อนลง (Downdraught) และใช้แก๊สปิโตรเลียมเหลว เป็นเชื้อเพลิงขึ้นเป็นเตาแรกในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับระดับโลกเรื่องเคลือบขี้เถ้าพืชคือใช้ขี้เถ้าพืชและวัตถุดิบในประเทศไทย พร้อมทั้งแนะนําวิธีที่จะไม่ทําให้เกิดการตัดไม้ทําลายป่า เป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ไม่ยุ่งยากซับซ้อนแต่ได้ผลดี รวมทั้งเป็นผู้ก่อตั้งภาควิชาเครื่องเคลือบดินเผา คณะมัณฑนศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร จนได้รับรางวัลนักออกแบบแห่งปีซึ่งเป็นรางวัลเชิดชูเกียรติ ที่มอบแก่นักออกแบบไทย ผู้มีประสบการณ์ระดับสูงที่มีผลงานออกแบบอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา มากกว่า ๒๐ ปีเป็นแบบอย่างที่ดีและมีคุณูปการแก่วงการออกแบบ สังคมและประเทศชาติ
๒. สาขาวรรณศิลป์ จำนวน ๒ คน ได้แก่
๒.๑ นายธีรภาพ โลหิตกุล ( สารคดี )
นายธีรภาพ โลหิตกุล เกิดเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๑ ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอายุ ๕๗ ปี จบปริญญาตรีสังคมศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษา โรงเรียนเทพศิรินทร์ หลังสําเร็จ การศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว ได้ทํางานประจํากองบรรณาธิการนิตยสารหลายฉบับ จากนั้นเข้าทํางานผลิตรายการ สารคดีทางโทรทัศน์เป็นเวลา ๔ ปี เป็นผู้ควบคุมการผลิตและเขียนบทรายการ“โลกสลับสี” หลายชุด จากนั้นทํางานผลิตรายการสารคดีให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๗ ธีรภาพ โลหิตกุล ยึดอาชีพเป็นนักเขียนอิสระ คอลัมนิสต์ บรรณาธิการเฉพาะกิจ มัคคุเทศก์และ จัดรายการวิทยุ
เป็นเวลา ๓ ทศวรรษที่ธีรภาพสร้างสรรค์งานเขียนสารคดีจํานวนมากซึ่งนํามารวมพิมพ์เป็นเล่มแล้ว เกือบ ๕๐ เล่ม งานเขียนส่วนใหญ่เป็นสารคดีสัญจรและสารคดีชีวิต ผลงานของธีรภาพมีจุดเด่นอยู่ที่การนําเสนอ ข้อมูลเชิงลึกด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตเชื่อมโยงจากอดีตถึงปัจจุบัน การเล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิงโดย ใช้รูปแบบของบันเทิงคดีเล่าเรื่องสารคดี การเรียงร้อยถ้อยภาษาด้วยลีลาวรรณศิลป์การแสดงทัศนะวิจารณ์อุดมคติ และอารมณ์ของผู้เขียนที่แทรกไว้ รวมทั้งภาพถ่ายระดับมืออาชีพของผู้เขียนที่นํามาประกอบสารคดีให้มีสีสัน องค์ประกอบทั้ง ๕ ประการดังกล่าวถูกขับเน้นให้มีมิติลึกด้วยการเติมจิตวิญญาณให้มีชีวิต มีอารมณ์ความรู้สึก มีความเคลื่อนไหว มีบรรยากาศ มีพื้นที่ มีเวลา และมักมีตัวละครจากชีวิตจริงเป็นผู้เดินเรื่องหรือเล่าเรื่อง การแทรกแง่คิด มุมมองและอารมณ์ทําให้ผู้อ่านมิได้เพียงรับรู้เรื่องราวจากสารคดี หากแต่ได้สัมผัสจิตใจและ ความนึกคิดของผู้เขียนด้วย สารคดีของธีรภาพจึงเป็น “สารคดีมีชีวิต”และมีความโดดเด่นทางวรรณศิลป์
๒.๒ นายไพวรินทร์ ขาวงาม ( กวีนิพนธ์ )
นายไพวรินทร์ ขาวงาม เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๔ ที่บ้านสาหร่าย ตําบลทุ่งกุลา อําเภอสุวรรณภูมิจังหวัดร้อยเอ็ด ปัจจุบันอายุ๕๔ ปีหลังจบการศึกษาระดับประถมศึกษาได้บรรพชาเป็นสามเณรที่ วัดไตรรัตนาราม อําเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ศึกษาระดับนักธรรมตรีถึงเอก ต่อมาอุปสมบทเป็นภิกษุและศึกษา ระดับมัธยมศึกษาที่สภาการศึกษา มหามกุฎราชวิทยาลัย วิทยาเขตวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อมา ลาสิกขาใน พ.ศ. ๒๕๒๕ ดํารงสมณเพศรวม ๘ พรรษา
ไพวรินทร์เป็นกวีผู้มีผลงานทั้งร้อยกรองและร้อยแก้วสืบเนื่องมานานกว่า ๓ ทศวรรษ มีผลงานรวม เล่มกว่า ๒๐ เล่ม ผลงานที่โดดเด่นคือกวีนิพนธ์ที่ใช้ฉันทลักษณ์แนวขนบและปรับประยุกต์ฉันทลักษณ์พื้นบ้าน เพื่อนําเสนอเนื้อหาร่วมสมัยได้อย่างประณีตและสร้างสรรค์ ใช้ความเปรียบหรือภาพพจน์ที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตชนบท เพื่อสื่อแนวคิดที่ทั้งพรรณนา ทั้งตั้งคําถามอย่างเฉียบคม ลุ่มลึกและชวนให้ขบคิด สุนทรียภาพของกวีนิพนธ์ของ ไพวรินทร์จึงเรียบง่ายแต่งดงามเป็นเอกลักษณ์ทางวรรณศิลป์ ลักษณะเด่นด้านเนื้อหาที่ไพวรินทร์นําเสนอในกวีนิพนธ์อย่างต่อเนื่องคือภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทอีสาน โดยเน้นย้ำคุณค่าและความงดงามของวิถีชีวิตชนบทโดยเฉพาะชีวิตชาวนา เชิดชู คุณค่าของวัฒนธรรมพื้นถิ่นและระบบครอบครัวไทย
๓. สาขาศิลปะการแสดง จำนวน ๓ คน ได้แก่
๓.๑ นางสาวเวณิกา บุนนาค ( นาฏศิลป์ไทย )
นางสาวเวณิกา บุนนาค ปัจจุบันอายุ ๖๙ ปีเกิดเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๔๘๙ ที่จังหวัดธนบุรี (ปัจจุบันคือเขตธนบุรีกรุงเทพมหานคร) สําเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรนาฏศิลป์ชั้นสูง สาขาวิชา นาฏศิลป์ไทย ละคร (พระ) จากวิทยาลัยนาฏศลปิ และปริญญาศึกษาศาสตรบัณฑิต (ศษ.บ.) จากวิทยาลัย เทคโนโลยีและอาชีวศึกษา เริ่มรับราชการครูที่วิทยาลัยนาฏศิลป เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ จนเกษียณอายุราชการ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙ ในตําแหน่งอาจารย์๓ ระดับ ๙ วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร
นางสาวเวณิกา บุนนาค ศิลปินผู้งดงามพร้อมด้านศิลปะของนาฏศิลป์ไทยผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทย สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์กระทรวงวัฒนธรรม มีรูปหน้าและทรงร่างงามสมสัดส่วนของละครตัวพระเป็นผู้มี พรสวรรค์ทางด้านการแสดงละคร ศึกษาและฝึกวิชานาฏศิลป์จากครูผู้ทรงคุณวุฒิของวิทยาลัยนาฏศิลปะหลายท่าน จนมีความสามารถในการแสดงและได้รับมอบหมายให้แสดงต่อหน้าสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง จึงช่วยให้เกิดการสั่งสมประสบการณ์ทางด้านนาฏศิลป์ไทยมาตั้งแต่เยาว์วัยอย่างเป็นระบบ เกิดทักษะ ความรู้ความเชี่ยวชาญ มีความสามารถอย่างสูงยิ่งในด้านการแสดงนาฏศิลป์ไทย ครอบคลุมทั้งด้านปฏิบัติ ด้านทฤษฎีและการถ่ายทอดศิลปวิทยาการให้แก่ศิษย์ ความโดดเด่นปรากฏจากการแสดงในบทบาทตัวละครสําคัญๆ จํานวนมาก นางสาวเวณิกา บุนนาค เป็นนาฏศิลปินที่มีความเยี่ยมยอดในบทบาทเชิงศิลป์ที่ได้รับการกล่าวถึงของวงการนาฏศิลป์ไทย เป็นครูนาฏศิลป์ที่เชี่ยวชาญในการถ่ายทอดวิชาความรู้กระบวนท่ารํา เป็นนักสร้างสรรค์ผลงานนาฏศิลป์งานวิชาการที่รอบรู้จึงนับได้ว่าท่านเป็นศิลปินแบบอย่างที่ดีควรค่าในการยกย่องเชิดชู
๓.๒ เรือตรีสันติ ลุนเผ่ ( ดนตรีสากล )
เรือตรีสันติ ลุนเผ่ ปัจจุบันอายุ ๗๙ ปี เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๙ที่ กรุงเทพมหานคร ชื่อเดิมว่าไพศาล ลุนเผ่ เมื่อครั้งที่ถวายงานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในงานขับร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียงเพลงพระราชนิพนธ์เพลงรักชาติทรงรับสั่งเรียกชื่อว่า สันติ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น สันติ ในด้านการศึกษาสําเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสอบชิงทุนยูธ ลีดเดอร์ชิพ ไปศึกษาด้านการเรียบเรียงเสียงประสานที่ประเทศ อิสราเอล จากนั้นได้รับการฝึกฝนดนตรีคลาสสิกจากการขับร้องเพลงในโบสถ์คริสต์และสอบหลักสูตร ทรี นิตี้คอรัส ออฟ ลอนดอน จากนั้นได้เข้ารับราชการ ประจําวงดุริยางค์ทหารเรือ มีหน้าที่สอนขับร้องและ เรียบเรียงเสียงประสาน
เรือตรีสันติ ลุนเผ่ ศิลปินผู้โดดเด่นในพลังการขับร้องเพลงปลุกใจและเพลงคลาสสิก ชื่นชอบดนตรีคลาสสิกมาตั้งแต่เด็ก โดยบิดาเป็นผู้สอนร้องเพลงให้เป็นนักร้องเสียงเทนเนอร์ทรงพลังอมตะมีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นนักร้องประจําคณะดุริยางค์แห่งกองทัพไทย มีผลงานเด่นในด้านขับร้องเพลงรักชาติและเพลงคลาสสิกจากการมีน้ำเสียงขับร้องเพลงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวจึงมีโอกาสได้ขับร้องเพลงคารูโซร่วมกับวงดุริยางค์กองทัพเรือต่อหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในงานเลี้ยงพระราชทานเหล่ากาชาดนานาชาติต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ร่วมขับร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ และเพลงรักชาติ รวมทั้งได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาทถวายงานขับร้องเพลงอยู่เสมอ จากผลงานขับร้องที่โดด เด่น และเป็นผู้อุทิศตน ประกอบคุณงามความดีช่วยเหลือกิจกรรมของกองทัพและบําเพ็ญสาธารณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง เป็นศิลปินที่มีคุณลักษณะเฉพาะควรต่อการเป็นแบบอย่างของประชาชนชาวไทย
๓.๓ นายสมบูรณ์สุข นิยมศิริ ( ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ )
นายสมบูรณ์สุข นิยมศิริ หรือ เปี๊ยก โปสเตอร์ ปัจจุบันอายุ ๘๓ ปีเกิดเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๔๗๕ ที่ค่ายกาวิละ (ค่ายทหารบก) อําเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่สําเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจาก โรงเรียนวัดราชาธิวาส สําเร็จการศึกษาแผนกฝึกหัดครูประถมการช่าง จากโรงเรียนเพาะช่างและมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
นายสมบูรณ์สุข นิยมศิริ ศิลปินผู้ยอดเยี่ยมในด้านการสร้าง การกํากับภาพยนตร์และละคร โทรทัศน์เป็นผู้ทรงคุณค่าคนหนึ่งในวงการบันเทิง มีอารมณ์ศิลปะที่อ่อนโยน เข้าใจงานศิลปะอย่างลึกซึ้ง โดยเริ่มจากความเป็นศิลปินวาดใบปิดภาพยนตร์คัทเอาท์ ต่อมาเป็นผู้สร้างและผู้กํากับภาพยนตร์ไทยที่ยอดด้วยฝีมือและมีความคิดสร้างสรรค์ล้ำหน้าอยู่ตลอดเวลา ได้ทุ่มเทแรงกายและความสามารถสร้างและกํากับภาพยนตร์ไทยไว้เป็นมรดกแก่สังคมรวม ๒๙ เรื่อง จากผลงานยอดเยี่ยมดังกล่าวจึงได้รับรางวัลหลายรางวัล ปัจจุบันนายสมบูรณ์สุข นิยมศิริ เป็นครูสอนและวิทยากรเทคนิควิธีการสร้างสรรค์ภาพยนตร์แก่บุคคลในวงการภาพยนตร์ทั้งที่บ้านพักและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ นับว่าเป็นบุคคลที่ผู้สร้างหรือผู้กํากับภาพยนตร์ปัจจุบันยอมรับและยกย่องให้เป็นปูชนียบุคคลของวงการภาพยนตร์ไทย ที่สร้างผลงานมีคุณูปการต่อวงการภาพยนตร์และละครโทรทัศน์
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม www.culture.go.th