‘สโลว์รีดดิ้ง’ อ่านช้าๆ ได้ประโยชน์มากกว่า
กระแส ‘สโลว์ไลฟ์’ หรือการใช้ชีวิตให้ช้าลง พินิจพิเคราะห์สิ่งรอบตัวให้มากขึ้น กำลังถูกพูดถึงและนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก เจ้าปรัชญาความช้านี้ได้แทรกซึมเข้าไปในวิถีชีวิตด้านต่างๆ ของคนเรามากมาย เห็นได้จากคำพูดเก๋ๆ ตั้งแต่สโลว์ฟู้ด สโลว์ทราเวล สโลว์ดีไซน์ และล่าสุด ‘สโลว์รีดดิ้ง’
ในกรุงเวลลิงตัน เมืองหลวงของนิวซีแลนด์ มีคลับเล็กๆ ชื่อว่า ‘สโลว์รีดดิงคลับ’ มันไม่ใช่ที่สังสรรค์สำหรับคอหนังสือ หรือเวทีถกเถียงด้านวรรณกรรม แต่มันคือสถานที่ที่สมาชิกมารวมตัวด้วยจุดหมายเดียวกัน คือตัดขาดจากโลกภายนอกชั่วคราว อยู่กับตัวเอง และอ่านหนังสือเล่มโปรดอย่างช้าๆ ละเอียด บรรจง พร้อมกัน
นี่ไม่ใช่แค่กิจกรรมเก๋ๆ ที่สร้างขึ้นมาต้านกระแสสังคมอันรีบเร่งเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีงานวิจัยหลายชิ้นที่รับรองว่า การอ่านหนังสือช้าๆ เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านมากมาย นิตยสารอย่าง ‘นิวโรโลจี’ และ ‘ไซแอนซ์’ เผยแพร่งานวิจัยระบุว่าการอ่านหนังสือช้าๆ ช่วยเสริมสร้างสมาธิ ลดความตึงเครียด เพิ่มความสามารถในการคิด ฟัง และทำความเข้าใจ ไปจนถึงลดอัตราเสี่ยงความจำเสื่อมได้
ขณะที่งานวิจัยอีกจำนวนหนึ่งค้นพบว่า การอ่านหนังสือบนเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีลิงก์และมัลติมีเดียต่างๆ คั่นอยู่ตลอดเวลานั้น ทำให้คนเราเข้าใจเรื่องที่อ่านได้น้อยกว่าการอ่านตัวหนังสือล้วนๆ บนหนังสือหรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ด้วย
สำหรับคนที่สนใจ นักส่งเสริมแนวคิดนี้แนะนำว่า ควรอ่านหนังสืออย่างน้อยวันละ 30 ถึง 45 นาที บนเก้าอี้ที่นั่งสบายที่สุด ผ่อนคลายที่สุด และที่สำคัญต้องหยุดใช้คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนในขณะอ่านอย่างเด็ดขาด และถ้าเป็นไปได้ ควรจะมีตารางการอ่านที่สม่ำเสมอ คล้ายกับตารางการออกกำลังกาย แต่ถือเป็นการออกกำลังกายสมองและอารมณ์แทน
การอ่านแบบช้าๆ ไม่ได้หมายความว่าคนที่อ่านจะต้องอ่านหนังสือที่เป็นเล่มกระดาษเสมอไป แม้นักอ่านช้าหลายคนจะนิยมหนังสือกระดาษมากกว่า ด้วยเหตุผลด้านความรู้สึกและความคลาสสิก แต่นักอ่านช้าอีกจำนวนหนึ่งก็ยืนยันว่า การอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ก็ให้ผลไม่ต่างกัน ขอแค่มีรูปแบบตัวหนังสือและการจัดหน้าที่ไม่หวือหวามากนักก็พอ
ตอนนี้คลับสำหรับนักอ่านช้าไม่ได้มีแค่ในเวลลิงตันเท่านั้น แต่ในเมืองใหญ่ อย่างนิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก ไปจนถึงลอนดอน ต่างมีการรวมตัวอ่านหนังสือลักษณะนี้เช่นกัน ส่วนในประเทศไทยไทยช่วงที่ยังไม่มีใครริเริ่มตั้งคลับสำหรับสโลว์รีดดิ้ง นักอ่านที่สนใจก็สามารถลองอ่านช้าด้วยตัวเองได้ที่บ้านดูก่อนก็ได้ เพราะนอกจากจะช่วยพัฒนาสมองและอารมณ์ความรู้สึกแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งไอเดียสำหรับลดการเสพติดโซเชียลเน็ตเวิร์กที่น่าสนใจด้วย
ที่มา
http://www.wsj.com/articles/read-slowly-to-benefit-your-brain-and-cut-stress-1410823086