ด้วยในสังคมไทยที่การอ่านเป็นเรื่องไกลตัว สื่ออิเล็กทรอนิกส์รอบข้างล้วนแล้วแต่ทำให้เราห่างไกลไปจากหนังสือมากขึ้นทุกที ‘วัยเด็ก’ ซึ่งเป็นวัยอันสมควรจะได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ จากหนังสือมากที่สุด กลับไม่ได้ใกล้ชิดหนังสืออย่างที่ควรจะเป็น
ทางอุทยานการเรียนรู้ TK park ได้เล็งเห็นความสำคัญของประเด็นดังกล่าวจึงจัดกิจกรรมเสวนา ปั้นลูกรักให้เป็นนักอ่านโดย คุณพรอนงค์ นิยมค้า โฮริคาวา เลขาธิการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญจากโครงการหนังสือเล่มแรก (Bookstart) และนักแปลนิทานชื่อดัง มาร่วมให้คำแนะนำเพื่อสร้างวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือและตระหนักถึงความสำคัญของการอ่านแก่คุณพ่อคุณแม่
คุณพรอนงค์เริ่มต้นสนใจเรื่องการอ่านหนังสือในเด็กจากการที่ได้ศึกษาโครงการ Bookstart ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโครงการที่เสริมสร้างนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็ก โดยการมอบถุงผ้าที่ภายในจะบรรจุหนังสือคู่มือสำหรับพ่อแม่และนิทานสำหรับเด็ก เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มแรกที่เด็กจะหยิบขึ้นมาอ่าน
จุดเริ่มต้นของโครงการ Bookstart มีต้นกำเนิดมาจากเมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษตั้งแต่ปี 2535 โดยความคิดริเริ่มของ MS.Wendy Cooling “ปกติคนอังกฤษเป็นคนอ่านหนังสือเก่ง แต่เขาไปเจอเด็กคนหนึ่งไม่รู้จักหนังสือเลย เอาหนังสือมาตัด มาเล่น ไม่รู้ว่าหนังสือเป็นของที่อ่านได้ เนื่องจากที่เมืองเบอร์มิ่งแฮมมีชาวต่างประเทศเยอะ แล้วชาวต่างประเทศไม่อ่านหนังสือให้เด็กฟังก่อนนอน ซึ่งเดิมเป็นประเพณีของที่นี่ ก็เลยทำให้เด็กไม่รู้จักหนังสือ เด็กจะรู้จักหนังสือจากที่โรงเรียน เพราะครูสอน จึงมีการทำวิจัยว่าจะทำยังไงให้เด็กรู้จักหนังสือก่อนที่จะเข้าโรงเรียน เพราะกว่าเด็กจะเข้าโรงเรียนก็สามขวบแล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาทองที่เด็กจะได้เจอหนังสือก่อน โครงการ Bookstart จึงเกิดขึ้นมา” คุณพรอนงค์เล่าที่มาของโครงการ
ต่อมาโครงการนี้ก็ได้รับต่อยอดในประเทศญี่ปุ่นและพัฒนาอย่างต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ประเทศไทยก็เกิดขึ้นจากแนวคิดของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ประธานมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก โดยได้ตั้งชื่อเป็นภาษาไทยว่า ‘โครงการหนังสือเล่มแรก’ ในปี 2546 ซึ่งเป็นปีที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้เป็นปีแห่งการอ่านอีกด้วย
น้องเป๋าเป่าช่วยสำรวจถุงผ้า Bookstart
คุณพรอนงค์ได้นำถุงผ้า Bookstart ของประเทศต่างๆ มาให้ผู้ร่วมเสวนาได้ชมกัน ทั้งของประเทศอังกฤษ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และไทย ซึ่งภายในมีหนังสือแตกต่างกันออกไปตามวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ส่วนของประเทศไทยเองภายในประกอบไปด้วย “คู่มือพัฒนาลูกน้อยด้วยการอ่าน คู่มือหนูรักหนังสือ หนังสือนิทานคำคล้องจอง จันทร์เจ้าขา และนิทานเรื่อง น้องหมีเล่นกับพ่อ” โดยมอบให้กับครอบครับที่มีเด็กแรกเกิด “เหตุผลที่ให้หนังสือเพราะว่าต้องการกระตุ้นให้คุณพ่อคุณแม่เห็นความสำคัญของการอ่าน พ่อแม่คิดว่าการอ่านไม่สำคัญก็จะไม่ซื้อหนังสือให้ลูกเพราะคิดว่าแพง และไม่รู้ว่าการอ่านหนังสือให้ลูกฟังนั้นสำคัญ พอนำมาให้เขาก็ลองอ่านดู เด็กจะโต้ตอบอย่างมีความสุข พ่อแม่ก็มีความสุขไปด้วย” คุณพรอนงค์อธิบายถึงเหตุผล โดยถุงผ้าของไทยมีสัญลักษณ์เป็นรูปช้าง วาดโดยอาจารย์ชีวัน วิสาสะ นักแต่งนิทานและนักวาดภาพประกอบชื่อดัง
คุณพรอนงค์เล่าต่อว่าหลังจากที่แต่ละครอบครัวได้รับถุงผ้า Bookstart แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องอ่านให้ลูกฟังเป็นตัวอย่าง “วิธีการอ่านจะเกิดตามธรรมชาติ เราต้องอ่านสาธิตให้เขาเห็นเป็นตัวอย่าง เนื่องจากหนังสือเด็กจะเป็นหนังสือง่ายๆ เขาจึงสามารถทำตามได้ไม่ยาก” นิสัยรักการอ่านของเด็กจึงเกิดขึ้นได้จากพ่อแม่นี่เอง “การอ่านหนังสือให้เด็ก ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีเวลาก็สามารถอ่านให้ฟังจนถึงชั้น ป.6 ได้เลย เพราะการอ่านเองกับการอ่านให้ฟังจะเป็นคนละอย่างกัน การอ่านเองกว่าเด็กจะอ่านได้ เขาจะเสียเวลามาก แต่ถ้าเด็กได้ฟังเสียงของคุณพ่อคุณแม่ เสียงจะอยู่ในหัวเขาและสนุกไปกับเรื่องได้” คุณพรอนงค์เปรียบเทียบให้เห็นภาพ
นิทานยอดนิยม น้องหมีเล่นกับพ่อ
หนังสือเล่มหนึ่งในถุงผ้าที่ชื่อว่า น้องหมีเล่นกับพ่อ ของ ชิเงโอะ วาทานาเบะ แปลโดยคุณพรอนงค์ นิยมค้า เป็นที่กล่าวถึงในกลุ่มพ่อแม่ว่าได้รับความสนใจจากเด็กๆ มาก คุณพรอนงค์จึงให้เหตุผลว่า “ตอนที่มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กทำโครงการ Bookstart จะไม่มีหนังสือสำหรับเด็กเล็ก หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือเล่มแรกสำหรับเด็กอายุ 1-4 ขวบ ซึ่งเล่าเรื่องชีวิตประจำวันของหมีตัวหนึ่งที่เล่นกับพ่อ หนังสือเล่มนี้จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก ซึ่งปกติพ่อจะไม่ค่อยเลี้ยงลูก ความผูกพันของพ่อกับลูกตอนเล็กๆ มีความสำคัญมาก เพราะว่าแม่ต้องทำหน้าที่หลายอย่าง บทบาทของพ่อจึงมีน้อยกว่า ถ้าพ่อกับลูกผูกพันกัน อ่านหนังสือด้วยกัน มีความสุขด้วยกัน ความเป็นพ่อจะอยู่ในใจลูก จึงอยากสนับสนุนให้พ่ออ่านนิทานให้ลูกฟัง”
โลกกว้างที่บรรจุอยู่ในหนังสือจึงเป็นเสมือนโลกจำลองให้เด็กๆ ได้ไปสัมผัสและเรียนรู้ทางอ้อมได้อย่างดีที่สุด “หนังสือสามารถสื่อกับเด็กได้ทุกๆ ด้าน เราอยากให้ลูกได้อะไร หนังสือมีให้หมด และได้ผลกว่าที่เราจะไปสอนเอง เพราะเด็กไม่ว่าเล็กหรือโตจะไม่ชอบให้พ่อแม่สอน ถ้าเขาเรียนรู้ด้วยตัวเองเขาจะมีความภูมิใจมากกว่า”
หลังจากการเสวนาคุณพรอนงค์ได้เปิดภาพยนตร์โฆษณาชุด อุ้มลูกนั่งตัก สื่อรักด้วยหนังสือ โดยความร่วมมือของมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กและมูลนิธิซีเมนต์ไทย ให้ผู้ร่วมเสวนาได้ชมกัน ซึ่งฉายภาพของพ่อแม่ที่อาศัยอยู่ในชุมชนซอยเสือใหญ่ แม้จะมีฐานะไม่ดี แต่สามารถสร้างรากฐานทางการศึกษาที่ดีให้กับลูกได้ โดยการที่พวกเขาอ่านหนังสือให้ลูกฟังทุกวัน การเรียนรู้ของลูกจึงไม่ได้อยู่ที่เงินทองหรือฐานะทางสังคม ความสัมพันธ์ในครอบครัวต่างหากเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
คุณพรอนงค์ฝากข้อคิดถึงคุณพ่อคุณแม่
“การเป็นนักอ่านของเด็ก จะเกิดขึ้นจากการที่ผูกพันกับหนังสือ เหมือนว่าทำไมทุกเช้าเราต้องแปรงฟัน ถ้าวันไหนไม่แปรงฟันจะรู้สึกว่าออกจากบ้านไม่ได้ นิสัยรักการอ่านก็เหมือนกัน ก่อนนอนถ้าไม่อ่านหนังสือ จะรู้สึกว่าขาดอะไรไป ถ้าคนที่ติดหนังสือ สิ่งที่ได้จากหนังสือจะทำให้เราไม่เหงาเลย เราจะมีเพื่อน สิ่งที่ได้จึงไม่ใช่แค่ความผูกพันในครอบครัว ยังให้ลูกมีเพื่อนไปตลอดชีวิตด้วย และยังได้สานวัฒนธรรมของไทยเราต่อไปจนรุ่นลูกรุ่นหลาน” คุณพรอนงค์ฝากทิ้งท้ายให้กับพ่อแม่ทุกคน หากการอ่านกลายเป็นกิจวัตรประจำวันที่เด็กๆ ขาดไม่ได้แล้ว เชื่อว่าต่อไปเด็กคนนั้นจะต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรอบรู้ในทุกๆ ด้านอย่างแน่นอน
ทางด้าน คุณแม่ปัญจมา ฉันทวุฒิ ที่พา น้องเป๋าเป่า หรือ ด.ช.พศฐิฏญ์ ฉันทวุฒิ มาร่วมฟังเสวนาด้วยนั้น คือตัวอย่างหนึ่งของผลสำเร็จของการเลี้ยงดูลูกให้เป็นนักอ่านที่ดี เพราะน้องเป๋าเป่าเป็นเด็กคนหนึ่งที่สนใจการอ่านหนังสืออย่างมาก ซึ่งคุณแม่ปัญจมาได้เผยถึงเทคนิคในการเลี้ยงลูกว่า “เริ่มจากการที่เราอ่านหนังสือให้ลูกฟังและพยายามพาเขาไปร้านหนังสือ ตั้งแต่เขาเล็กๆ เลย พยายามปลูกฝังให้เขาอ่าน ต้องเริ่มต้นจากมีเวลาอ่านให้เขาฟังก่อน กระตุ้นให้เขาสนใจ แล้วเขาก็จะหยิบหนังสือมาอ่านเอง”
โลกหนังสือที่เคยอยู่ห่างไกลก็อาจกลับมาอยู่ใกล้ๆ เด็กๆ อีกครั้ง หากพ่อแม่ให้ความสำคัญ ‘ครอบครัว’ จึงเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุดในการสร้างให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นนักอ่านที่ดีได้
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย
--------------------
ข้อมูลอ้างอิงและภาพประกอบ
- ASTV ผู้จัดการออนไลน์. Bookstart: หนังสือสามารถเปลี่ยนชีวิตได้. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก www.manager.co.th (วันที่ค้นข้อมูล 2 มีนาคม 2553).
- จิตราภรณ์. หนังสือเล่มแรก: Bookstart ผู้มีเด็กวัย ๐-๖ ปีไว้ในครอบครองควรอ่าน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก www.oknation.net (วันที่ค้นข้อมูล 2 มีนาคม 2553).
- www.kidsquare.com (วันที่ค้นข้อมูล 2 มีนาคม 2553).