“นิทาน” คำนี้ใครหลายคนอาจจะตั้งกำแพงไว้ในใจก่อนเลยว่า “นิทานนั้น เป็นเรื่องของเด็กๆ” แต่จะมีสักกี่คนที่เห็นคุณค่าและคุณประโยชน์อย่างมากมายมหาศาลของคำๆ นี้ เพราะสิ่งที่เราจะได้รับจากการอ่าน ฟัง และเล่านิทานนั้นไม่ได้ “เด็ก” อย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ
ในช่วงสายของวันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน 2554 ณ ลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ TK park ได้มีกิจกรรมดีๆ ที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย กับหัวข้องาน “หนังสือ วินัย นิสัย จังหวะ” โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิให้เกียรติมาบรรยายให้เราฟังกันถึงสองท่าน คือ ดร.แพง ชินพงศ์ และ ดร.สุภาพร เทพยสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านดนตรีศึกษาและปฐมวัย ที่มีประสบการณ์ตรงทั้งด้านการศึกษาและจากประสบการณ์ของแต่ละท่าน ซึ่งบุคลิกที่ดูอบอุ่นและใจดีของทั้งสองท่านนั่นเองที่ดึงดูดให้เด็กๆ และพ่อแม่ เดินตรงเข้ามานั่งล้อมวงให้ความสนใจกับกิจกรรมที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย
วิทยากรทั้งสองท่านดูอบอุ่น และใจดี
เวลาเกือบ 11 โมงโดยประมาณ เมื่อพิธีกรกล่าวเปิดงานเสร็จ ดร.แพง และ ดร.สุภาพร ก็เริ่มต้นด้วยเพลงซึ่งเป็นเพลงน่ารักๆ ชื่อเพลงว่า “ฉันรักเธอ” เป็นเพลงที่มีทำนองและจังหวะที่ร้องตามได้ง่าย ทำให้เด็กๆ สามารถจำทำนองได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ถือได้ว่าเป็นเพลงที่ไม่ธรรมดาตรงที่ว่า มีคำบอกรักอยู่ในเพลงนี้ถึง 11 ภาษาด้วยกัน ซึ่งผู้ที่เข้าฟังทุกคนก็ร่วมสนุกด้วยการร้องและปรบมือตามจังหวะของเพลงที่มี ดร.แพง เล่นเปียโน และ ดร.สุภาพร เป็นผู้ขับร้อง (เสียงดีมาก) กันอย่างสนุกสนาน และให้ผู้ชมได้ร่วมสนุกด้วยการให้ตอบคำถาม โดยคำถามนั้นไม่ได้ยากมาก อย่างเช่นคำว่า “ค่อยฮักเจ้า” เป็นคำบอกรักภาษาอะไร แต่ที่ประทับใจที่สุดนั้นก็คือคำบอกรักภาษาสุดท้ายที่ ดร.สุภาพร ถาม แต่ไม่มีใครสามารถตอบได้ถูก คือคำบอกรักที่พูดว่า “ซายอกาเซะห์แดมอ” ซึ่งเป็นคำบอกรักภาษา “ยาวี” ซึ่งภาษานี้มีใช้กันอยู่ใน “สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ “ ของประเทศไทยเรานี่เอง
เด็กๆ เรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ด้วยจังหวะสนุกสนาน
หลังจากนั้นทั้ง ดร.แพง และ ดร.สุภาพร ก็เริ่มต้นเนื้อหาที่ค่อนข้างเข้มข้นขึ้นในส่วนของ “นิทาน” กับความสำคัญและคุณประโยชน์ต่างๆ ที่คุณพ่อคุณแม่และลูกๆ รวมทั้งคนรอบข้างจะได้รับจากการอ่าน ดู ฟัง และ เล่านิทาน ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีหลายท่านที่เพิ่งทราบในวันนี้เองว่า “นิทาน” นั้นมีมากมายหลากหลายประเภท พ่อแม่สามารถที่จะเลือกหยิบนิทานแต่ละเรื่องมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับความต้องการที่จะพัฒนาลูกๆ ในแต่ละด้าน ซึ่ง “นิทาน” สามารถส่งเสริมพัฒนาการของเด็กได้หลากหลายด้าน เช่น ด้านร่างกาย คือนิทานที่มีเนื้อหาให้เด็กยกแขนยกขาหรือขยับไปมา ด้านจิตใจ นิสัย อารมณ์และจริยธรรม คือนิทานที่มีเนื้อหาคำสอนสอดแทรกด้านวินัย คือการสอนให้เด็กเก็บหนังสือนิทานให้เข้าที่หลังจากอ่านเสร็จ หรือการอ่านนิทานตรงเวลาทุกวันเป็นเวลา 20 นาที ด้านสติปัญญา จินตนาการ คือการให้เด็กเล่านิทานกลับมาให้พ่อแม่ฟังหรือถามให้เด็กได้คิดว่าเด็กได้อะไรจากนิทานเรื่องนั้นบ้าง เป็นต้นรวมไปถึง Q ต่างๆ ซึ่งพ่อแม่ สามารถที่จะเลือกสรรนิทานในแต่ละแบบมาใช้สำหรับการเสริมสร้างและพัฒนาทักษะของลูกๆ ได้ตามความเหมาะสม ดังเช่นที่ ดร.สุภาพร ได้กล่าวเอาไว้ว่า
“หนังสือนิทานนั้นเปรียบเสมือนกุญแจที่ไขเข้าสู่สมองเด็ก สามารถเปิดสมองเด็กได้ และหนังสือนิทานยังเปรียบเสมือน ครู สำหรับเด็กอีกด้วย เพราะหลายๆ ครั้งที่เด็กทำไม่ถูก คุณพ่อคุณแม่หลายท่านก็อาจจะใช้วิธีดุ ด่า ว่ากล่าว ซึ่งเด็กหลายๆ คนก็ไม่เชื่อไม่ฟังหรืออาจต่อต้าน ดังนั้นแทนที่พ่อแม่จะใช้วิธีดุหรือว่ากล่าว ก็ให้ใช้นิทานมาเล่าเป็นตัวอย่างให้เด็กได้เรียนรู้แทน”
“เด็กๆ อาจจะยังอ่านหนังสือไม่ออกดังนั้นพ่อแม่จึงต้องอ่านให้ฟัง และควรจะเริ่มตั้งแต่เล็กๆ เลยยิ่งดี เพราะหนังสือนิทานยังสามารถพัฒนาเซลล์สมองของเด็กได้ เด็กยิ่งโตขึ้นเซลล์สมองจะยิ่งพัฒนาช้าลง อีกทั้งการอ่านนิทานให้ลูกฟังนั้นยังเป็นการส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวอีกด้วย” ดร.แพง กล่าว
วิธีที่ดีที่สุดตามที่ท่านวิทยากรได้แนะนำมาคือทำให้หนังสือพูดได้ อย่าเล่านิทานให้เด็กฟังอย่างเดียวให้เด็กได้มีส่วนร่วมโดยการเล่านิทานให้ลูกฟังก่อนจนจบแล้วเล่าซ้ำอีกครั้ง จากนั้นให้ลูกเป็นคนเล่าให้พ่อแม่ฟังบ้างตามที่ลูกเข้าใจ ซึ่งถ้าทำได้แบบนี้ถึงแม้ว่าลูกจะเล่าได้ไม่เหมือนคุณพ่อคุณแม่หรือเล่าไม่ถูกทั้งหมด ดร.แพง บอกว่าก็ถือว่าเป็นวิธีที่ถูกต้องและประสบความสำเร็จแล้ว และการที่จะใช้นิทานให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้นเด็กๆ ควรได้เรียนรู้นิทานจาก “ประสาทสัมผัสทั้ง 5” ของเด็ก เช่น ได้ฟัง ได้ดูภาพ ได้สัมผัส ได้ดมกลิ่น ได้กระโดดโลดเต้นไปตามแต่เนื้อหาหรือจังหวะของนิทานนั้นๆ จะพาไป ซึ่งพ่อแม่จำเป็นต้องมีส่วนร่วมกับลูกด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะกิจกรรมเหล่านี้สามารถส่งเสริมความสัมพันธ์ภายในครอบครัวได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นประโยชน์ของ “นิทาน” จึงไม่ “เด็ก” อย่างที่หลายๆ คนคิด
นอกจากนี้ ดร.สุภาพร และ ดร.แพง ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “หนังสือเล่มแรกของลูกก็คือ พ่อและแม่ เพราะเด็กนั้นสามารถได้ยินเสียงตั้งแต่ตอนอายุครรภ์เพียง 4 เดือน ดังนั้นพ่อและแม่ควรที่จะอ่านนิทานให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในครรภ์ (เรื่องราวในชีวิตประจำวันก็สามารถใช้แทนนิทานได้) เพราะว่าจะทำให้ลูกนั้นมีพัฒนาการได้ดีกว่าเด็กทั่วไป หากรอให้คลอดแล้วค่อยมาพัฒนากันทีหลัง แบบนี้เท่ากับเสียเวลาไป 9 เดือน เลยทีเดียว”
ฝอยทองสุดหล่อ
นอกจากนี้ “นิทาน” ยังสามารถใช้เป็นสื่อในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กออทิสติกได้อีกด้วย แต่เราต้องเลือกใช้นิทานที่มีเนื้อหาที่ไม่ซับซ้อนและไม่ยาวมากนัก หรือเป็นนิทานภาพ ดร.แพง บอกว่า เท่าที่ได้เรียนรู้มานั้น เด็กกลุ่มนี้จะชอบให้พ่อแม่เล่านิทานให้ฟัง นอกจากนี้นั้นดนตรี หุ่นมือ และภาพต่างๆ ยังสามารถใช้ประกอบกับการเล่านิทานและเป็นตัวช่วยที่ทำให้หนังสือนิทานน่าสนใจมากขึ้นได้อีกด้วย
อ้อมกอด
สิ่งที่วิทยากรทั้งสองท่านอยากจะฝากเอาไว้กับ คุณพ่อ คุณแม่ ทุกๆ ท่านก็คือ “อยากให้เล่านิทานให้ลูกๆ ฟัง เพราะนิทานนั้นสามารถพัฒนาทักษะทุกๆ ด้านของเด็กได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นแล้วการที่ให้ลูกนั่งตัก และพ่อแม่เล่านิทานให้ลูกฟัง กอดกันไป เล่นกันไป ยังจะช่วยสร้างเสริมเด็กในด้าน จิตใจ นิสัย อารมณ์ รวมไปถึง ความสัมพันธ์ในครอบครัวอีกด้วย”
“นิทานไม่ฆ่าคนหรอกค่ะ”
นางสาวจันทร์จ้า