หลังจากที่การอบรมในช่วงเช้า ซึ่งเป็นการอบรมในหัวข้อ เลือกสรรมุมชีวิต ลิขิตเป็นเรื่องสั้นและนวนิยาย เสร็จสิ้นลง ก็มาถึงช่วงบ่าย ในหัวข้อที่มีชื่อว่า เลือกสรรมุมชีวิต ลิขิตเป็นนิทานและเพลง ซึ่งเป็นกิจกรรมเนื่องในโอกาสกิจกรรม ร้อยกิจกรรมวันหนังสือเด็กแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ตอน หนังสือคือจินตนาการ ที่ทางอุทยานการเรียนรู้ TK park ได้ร่วมมือกับ บมจ.ซีพี ออลล์ มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก และสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการส่งเสริมเรื่องการอ่านและการเขียนให้กับเด็กและเยาวชน
การอบรมในช่วงบ่ายนี้ยังเป็นน้องๆ นักเรียนมัธยมชุดเดิมที่เข้าร่วมอบรมในช่วงเช้า มาเรียนรู้กันต่อถึงการเลือกสรรมุมชีวิตเพื่อนำมาสร้างสรรค์ผลงานในอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นก็คือ ‘นิทานและเพลง’ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้มากความสามารถ คุณสุริยัน สุดศรีวงศ์ (แม้ว คนรักแมว) นักเขียนวรรณกรรมเยาวชนเจ้าของผลงาน วันที่โลกไร้แมว และ คุณชมัยภร แสงกระจ่าง อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ที่จะมาให้ความรู้กันต่อ
“นิทานเป็นรูปแบบหนึ่งของการประพันธ์ ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องเชิงเปรียบเทียบ เราอยากให้เรื่องเป็นอย่างไร เราก็จินตนาการแล้วเปรียบเทียบไป เป็นเรื่องที่สามารถให้คนเข้าใจในรูปแบบนิทาน ซึ่งปลุกเร้าอารมณ์ได้มากขึ้น เพื่อที่จะให้คติสอนใจ แล้วแต่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่เป็นผู้ฟัง” คุณชมัยภรให้นิยามของคำว่านิทาน ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เน้นการเปรียบเทียบกับบริบทความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างคติสอนใจทางอ้อม โดยเสริมแต่งจินตนาการเข้าไปให้เกินจริง โดยมากนิทานมักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องแต่งสำหรับเด็ก ซึ่งอาจเกิดจากการนำเสนอที่เกินจริง ทำให้ไม่ถูกใจผู้ใหญ่ ในทางกลับกันมักจะถูกใจเด็กมากกว่า แต่แท้จริงแล้วนิทานสามารถอ่านหรือฟังได้ทุกวัย
คนส่วนใหญ่มักจะสับสนในรูปแบบของนิทานและเรื่องสั้นที่มีความคล้ายคลึงกัน คุณชมัยภรจึงอธิบายถึงความแตกต่างว่า “นิทานจะไม่มีบทสนทนาเหมือนเรื่องสั้น จะเล่าต่อไปเรื่อยๆ แต่นิทานสมัยใหม่ก็อาจมีก็ได้ และนิทานอาจจะเป็นเรื่องที่เราได้ยินได้ฟังมาก่อนตั้งแต่สมัยอดีต เป็นเรื่องที่เราแต่งขึ้นโดยใช้จินตนาการเพื่อที่ผูกเรื่องให้จับใจคน ไม่ต้องสมจริงก็ได้ นิทานจะไม่ยาวและส่วนใหญ่จะมีภาพประกอบ” ด้วยรูปแบบการนำเสนอที่สั้นและมีภาพประกอบ และด้วยแนวคิดที่ว่านิทานเป็นสื่อที่เด็กสามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุด นิทานสมัยใหม่จึงมีรูปแบบที่เอาใจเด็กเล็กเป็นส่วนมาก
ในการแต่งนิทานนั้นก็มีแนวคิดในการแต่งที่ไม่ต่างจากการแต่งเรื่องสั้นและนวนิยายเลย การเลือกสรรมุมชีวิตที่น่าสนใจมานำเสนอก็เป็นหัวใจหลักข้อหนึ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกัน คุณชมัยภรจึงยกตัวอย่างคลิปวิดีโอที่ได้รับความนิยมอย่างมากในอินเทอร์เน็ต เป็นคลิปวิดีโอของเด็กหญิงชาวเลบานอนคนหนึ่ง เธอสามารถร้องไห้ออกมาเป็นเม็ดคริสตัลจริงๆ ได้ แม้จะยังไม่มีการพิสูจน์ว่าเรื่องนี้เป็นจริงหรือไม่ แต่คุณชมัยภรก็แนะนำว่าสามารถนำเรื่องราวอันเหลือเชื่อนี้มาแต่งให้เป็นนิทานได้เรื่องหนึ่งเลย เพราะด้วยความแปลกใหม่และไม่มีใครเคยรู้มาก่อน เมื่อนำแรงบันดาลใจนี้มาสานต่อ จะทำให้กลายเป็นนิทานที่มีความน่าสนใจ ไม่เหมือนเรื่องอื่นๆ ได้
คุณสุริยันสอนแต่งเพลง
หลังจากที่การเรียนรู้เรื่องนิทานจบลง ก็มาถึงช่วงการเรียนรู้เรื่องการแต่งเพลงกันต่อ คุณสุริยันเริ่มต้นกล่าวว่า นิทานเกิดจากที่นำเรื่องยากๆ มาเล่าใหม่ให้เข้าใจได้ง่ายและสนุกมากขึ้น การแต่งเพลงก็ใช้หลักการเดียวกัน คุณสุริยันจึงเล่านิทานเรื่องหนึ่งที่ชื่อว่า แม่ไก่ลายกับไข่ขี้เซา เป็นเรื่องราวของแม่ไก่ตัวหนึ่งที่กำลังฟักไข่ แล้วมีไข่ฟองหนึ่งที่มีขนาดใหญ่กว่าฟองอื่นและไม่ยอมฟักออกมาเป็นตัว หมอสุนัขบอกว่าไข่ฟองใหญ่เกินไปทำให้ลูกเจี๊ยบหลับสบายไม่ยอมตื่น แม่ไก่จึงไปให้สัตว์ตัวอื่นๆ ช่วยเหลือ สัตว์ทุกตัวก็พยายามส่งเสียงปลุกให้ลูกเจี๊ยบตัวนั้นตื่นขึ้นมา จนในที่สุดก็เป็นเสียงขันของพ่อไก่เองที่ทำให้ลูกเจี๊ยบฟักออกมาได้ ในระหว่างที่เล่าคุณสุริยันก็นำเนื้อหานิทานบางส่วนมาแต่งเป็นเพลงง่ายๆ ซึ่งช่วยเสริมให้นิทานเรื่องนี้ฟังสนุกมากขึ้น
จากนิทานเรื่องดังกล่าว ตัวละครของเรื่องจะเป็นสัตว์ชนิดต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของการแต่งนิทานคือการสร้างให้ตัวละครเป็นสัตว์ ตัวอย่างเช่นสัตว์ยอดนิยม ไม่ว่าจะเป็น สิงโต ช้าง กระต่าย ลิง สุนัขจิ้งจอก และหมี ก็ได้รับการนำมาแต่งเป็นนิทานหมด เมื่อโยงไปถึงเรื่องการแต่งเพลงนิทาน การที่มีสัตว์หลายๆ ชนิดอยู่ในเพลงเดียวกันก็ทำให้เพลงๆ นั้นสามารถดึงความสนใจของเด็กได้
เมื่อกล่าวถึงนิทาน เด็กๆ ยุคใหม่ก็มักจะนึกถึงนิทานเก่าๆ อย่างนิทานชาดกหรือนิทานอีสป คุณสุริยันจึงแนะนำว่านิทานก็สามารถประยุกต์ให้มีความร่วมสมัยขึ้นได้ ไม่จำเป็นต้องผูกกับเรื่องเก่าๆ เสมอไป โดยการใส่เรื่องราวใหม่ๆ อย่างเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปได้
ได้เวลาปล่อยของ
เสร็จสิ้นจากทฤษฎีทั้งหมดแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการลงมือเขียนบ้าง โดยให้น้องๆ ที่เข้าร่วมอบรมใช้ความรู้ทั้งหมดที่ฟังมาตั้งแต่ช่วงเช้าถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานหนึ่งชิ้น จะเป็นรูปไหนก็ได้ ทั้ง เรื่องสั้น นิทาน และเพลง ในเวลาที่กำหนด
เวลาผ่านไปเพียงครึ่งชั่วโมงเศษๆ ความรู้ทั้งหมดก็ได้ตกผลึกออกมาเป็นผลงานวรรณกรรมหลากหลายรูปแบบด้วยกัน โดยมี คุณชมัยภร แสงกระจ่าง คุณกนกวลี พจนปกรณ์ และคุณสุริยัน สุดศรีวงศ์ มาร่วมวิจารณ์และแสดงความคิดเห็นเพื่อให้น้องๆ ได้นำกลับไปปรับปรุงฝีมือการเขียนต่อไป
รับฟังคำแนะนำ
แม้ผลงานส่วนใหญ่จะถูกวิจารณ์ไปในทางที่ต้องปรับปรุงเป็นส่วนใหญ่ เนื่องด้วยเวลาที่จำกัด แต่คุณชมัยภรก็ยังยืนยันที่จะวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ไม่เน้นคำกล่าวชมมากนัก เพราะต้องการให้กลับไปปรับปรุง ข้อบกพร่องในผลงานที่พบเห็นเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ การเขียนในรูปแบบเป็นบทความไม่ใช่เรื่องสั้นหรือนิทาน การใช้กลวิธีผิดรูปแบบ การเล่าเรื่องที่ไม่เห็นภาพ และการติดกลิ่นอายของต่างประเทศมากเกินไป ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการศึกษาให้เข้าใจมากขึ้นและฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ
“เมื่อไรที่เราสรรเสริญตัวเอง เราจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าเราสรรเสริญคนอื่นและตำหนิตัวเอง เราจะประสบความสำเร็จ เพราะมันแสดงให้เห็นว่าข้างในเรามีข้อบกพร่องอะไรอยู่” คุณชมัยภรทิ้งท้ายไว้ให้น้องๆ ได้ลองคิดตาม
มอบเกียรติบัตรแห่งความภูมิใจ
หลังจากเสร็จกิจกรรมการอบรมในวันนี้ ก็ได้มีการมอบเกียรติบัตรเพื่อแสดงว่าผ่านการอบรมให้กับน้องๆ ทุกคนด้วย เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติให้นำความรู้ที่ได้ในวันนี้กลับไปใช้สร้างสรรค์ผลงานที่ดีออกมาประดับวงการวรรณกรรมต่อไป
เพราะไม่ว่าเรื่องราวในชีวิตของคนเรา จะสะท้อนแง่มุมไหนออกมา จะดีหรือไม่ดีก็ตาม เมื่อนำมาถ่ายทอดผ่านผลงานศิลปะที่เรียกว่า ‘วรรณกรรม’ แล้ว เรื่องราวเหล่านั้นย่อมมีค่าและงดงามเสมอ
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย