ในแต่ละวันที่เราได้ชื่นชมดอกไม้สวยๆ ปลาน่ารัก หรือนกที่ร้องเสียงไพเราะ โดยไม่ทันได้สังเกตหรือเอะใจ ภายใต้ใบหน้าของเหล่าสิ่งมีชีวิตที่เราคุ้นชินนั้น แท้จริงแล้ว มีพืชบางพันธุ์ สัตว์บางชนิดที่แฝงตัวเข้ามารุกรานเราอย่างเงียบๆ!
เราเรียกชื่อผู้รุกรานเหล่านี้ว่า “เอเลี่ยน สปีชีส์” (Alien Species)
อย่าเพิ่งหลงเข้าใจผิด! คิดว่าเป็นเหล่ามนุษย์ต่างดาวแบบในหนังฝรั่งปลอมตัวมาหวังครองโลก เพราะความจริง เอเลี่ยน สปีชีส์ นั้นคือชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่เข้ามาแพร่หลายขยายพันธุ์ในถิ่นอื่นต่างหาก
เพื่อไขทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับเอเลี่ยน สปีชีส์ โครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างอุทยานการเรียนรู้ TK park กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงได้ร่วมจัดแสดง นิทรรศการ “เอเลี่ยน สปีชีส์ ผู้รุกรานจากต่างแดน” ณ ลานสานฝัน ในกิจกรรมชวนคิดวิทยาศาสตร์ วันเสาร์ที่ 6 และวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2554
ภายในงานแบ่งส่วนการจัดแสดงเป็นสองส่วนคือ “ฐานกระชากหน้ากากเอเลี่ยน” และ “ฐานเอเลี่ยน รุก บุกโลก”
ไม่รอช้าเราตรงเข้า “ฐานกระชากหน้ากากเอเลี่ยน” จะได้รู้โฉมหน้าและความจริงไปเลยว่าเหล่าเอเลี่ยน สปีชีส์นั้นจะมีหน้าตากันแบบไหน
เด็กๆ และผู้ปกครองกำลังมองหาเหล่าผู้รุกราน
หน้าทางเข้าประดับด้วยป้ายชื่องานนิทรรศการ ภายในดูมืดๆ มีแสงไฟกะพริบ สลัวๆ ให้ดูน่าสงสัย ตลอดทางเดินเต็มไปด้วยต้นไม้ดอกไม้นานาพันธุ์ สีสันสวยงาม และมีบ่อน้ำเล็กๆ มีปลาและพันธุ์ไม้อยู่ในนั้น
มองดูกันเพลินๆ สักพักพี่ประจำฐานจึงเดินมาเล่าว่า “เอเลี่ยน สปีชีส์” หรือชนิดพันธุ์ต่างถิ่นนั้นคืออะไร?
ความจริงแล้ว เอเลี่ยน สปีชีส์ หรือชนิดพันธุ์ต่างถิ่น คือสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยปรากฏในถิ่นชีวภูมิศาสตร์เดิมมาก่อน ซึ่งถูกนำเข้ามาโดยความตั้งใจ เช่น เราไปซื้อต้นไม้ หรือสัตว์จากต่างประเทศเข้ามาเพาะพันธุ์ในไทย หรือนำเข้ามาโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งมีหลายวิธี คือ อาจจะติดมากับการขนส่ง เช่น เมล็ดพันธุ์ที่ติดมากับล้อรถ กล่องบรรจุสินค้า กับสิ่งมีชีวิตอื่น เช่น แมลง ปรสิต ที่ติดมากับพืชหรือสัตว์ที่อพยพ ติดมากับการใช้ความช่วยเหลือคือ เสื้อผ้าที่ได้รับการบริจาค หรือติดมากับกิจกรรมทางทหาร เช่น ติดมากับล้อรถถังหรือเครื่องยุทธโธปกรณ์ที่ส่งไปช่วยรบในต่างประเทศ
ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น เข้ามาอยู่ในไทยเป็นเวลานานแล้ว จนทำให้บางครั้งเรายังนึกด้วยซ้ำว่าคงเป็นสิ่งมีชีวิตดั้งเดิมหรือเป็นพืชหรือสัตว์พันธุ์พื้นเมือง เช่น “ผักตบชวา” มาจากประเทศอินโดนีเซีย ดอกไม้แสนสวยอย่าง “ผกากรอง” นั้นมาไกลจากประเทศเม็กซิโกเลยทีเดียว หรือ “ไมยราบยักษ์” เห็นชื่อไทยๆ แบบนี้แต่เป็นพันธุ์พืชในทวีปอเมริกาใต้ หรือ ถ้าเป็นสัตว์ อย่างเจ้า “ปลาทอง”สีสดใสนั้น มีพื้นเพมาจากเมืองจีนเลยทีเดียว
ผักตบชวา และ ปลาทอง หนึ่งในเอเลี่ยน สปีชีส์ ที่หลายคนคุ้นตา
เห็นเหล่าเอเลี่ยน สปีชีส์ ออกจะดูมีสีสันน่ารักแบบนี้ แต่อีกด้านหนึ่งชนิดพันธุ์ที่เข้ามาแล้วตั้งถิ่นฐาน และมีการขยายพันธุ์ได้ในธรรมชาติ กำลังรุกรานและไปรบกวนต่อสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นหรือพันธุ์พื้นเมือง ทำให้พืชหรือสัตว์บางชนิดเกิดการสูญพันธุ์ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ
พี่ปีย์ - ปีย์ชนิตว์ เกษสุวรรณ นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าให้ฟังว่า เอเลี่ยน สปีชีส์ ที่เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นนั้น มีการแยกจำแนกที่แตกต่างกันไป บางชนิดไม่มีความสามารถในการรุกรานได้เลย เช่น “ปลาทอง” ไม่อาจจะใช้ชีวิตตามแหล่งน้ำธรรมชาติได้นาน แต่บางชนิดมีความสามารถในการรุกรานและทำลายวงจรชีวิตได้รุนแรงกว่าเช่น “ปลาซักเกอร์ หรือปลาเทศบาล” ซึ่งตอนแรกมีคนนำเข้ามาเพื่อบำบัดน้ำในบ่อปลา แต่เมื่อไปปล่อยลงแม่น้ำลำคลองกลับไปกินลูกปลาตัวเล็กหรือไข่ปลา ซึ่งทำให้พันธุ์ปลาพื้นเมืองแทบจะสูญพันธุ์ หรือกรณี “ปลาชะโด” ของไทยที่ถูกนำไปยังต่างประเทศก็มีพฤติกรรมในลักษณะที่ไปรุกรานชนิดพันธุ์พื้นเมืองในต่างประเทศด้วย กรณีพืช เช่น “ผักตบชวา” เมื่อไปปกคลุมพื้นน้ำเป็นจำนวนมาก ทำให้พืชใต้น้ำบางชนิดไม่ได้รับแสงอาทิตย์ก็อาจจะตายลงได้ หรือ “ผกากรอง” ไปแย่งธาตุอาหาร ทำให้พืชชนิดอื่นไม่เติบโต
ปัจจุบันมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณากลุ่มชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ได้เป็น 4 ประเภท คือ
1. ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้ว คือได้เข้ามาในประเทศไทยแล้วสามารถตั้งถิ่นฐาน แพร่กระจายได้ในธรรมชาติ และอาจทำให้ชนิดพันธุ์พื้นเมืองสูญพันธุ์และส่งผลคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น ไมยราบยักษ์ ผักตบชวา ปลานิล ปลาซักเกอร์ นกพิราบ
2. ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีแนวโน้มรุกราน คือมีหลักฐานว่ามีการรุกรานเข้ามาในไทย ต้องเฝ้าสังเกตว่าอาจแพร่ระบาดหากมีเหตุปัจจัยเกื้อหนุน หรือ เคยรุกรานในอดีตและสามารถควบคุมดูแลได้ เช่น ผักชีฝรั่ง บานไม่รู้โรย ปลาหมอสียักษ์ กบบลูฟร็อก
3. ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีประวัติว่ารุกรานในประเทศอื่น แต่ยังไม่รุกรานในประเทศไทย คือมีการนำเข้ามาแล้วแต่ยังไม่แพร่หลายมาก เช่น ปานศรนารายณ์ สนอินเดีย ปลาปิรันยา ปูขนจีน
4. ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแต่ยังไม่เข้ามาในประเทศไทย คือ มีการรุกรานในที่อื่น แต่ยังไม่ได้นำเข้ามา หรือห้ามนำเข้าตามกฎหมาย เช่น ธูปฤาษี หญ้าเจ้าชู้ทะเล คางคกยักษ์ กระรอกสีเทา
พี่ปีย์ กำลังอธิบายการจำแนกประเภทของเอเลี่ยน สปีชีส์
หลังจากได้เรียนรู้ว่าเหล่าเอเลี่ยน สปีชีส์ มีหน้าตากันแบบไหนแล้ว เรามาที่ “ฐาน เอเลี่ยน รุก บุกโลก” เป็นฐานเล่นเกมสนุกๆ ที่จะให้น้องๆ ได้เรียนรู้ว่าเอเลี่ยน สปีชีส์ จะรุกรานพืชและสัตว์ท้องถิ่นกันได้อย่างไร โดยให้แบ่งน้องๆ เป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกคือเจ้าถิ่น และอีกฝ่ายคือผู้รุกราน ซึ่งเจ้าถิ่นจะมีแผ่นป้ายให้เลือกก่อน เป็นทรัพยากรพื้นฐานคือ ที่อยู่อาศัย อาหาร และจำนวนประชากร จากนั้นจะให้เป่ายิ้งฉุบ คนที่ชนะจะได้หยิบป้ายเพื่อจะเลือกว่าจะเพิ่มทรัพยากรอะไรบ้างเป็นจำนวนตามหมายเลขที่หยิบได้ นอกจากจะได้รับความสนุกเพลิดเพลินแล้ว เด็กๆ ยังได้ข้อคิดว่าในปัจจุบันนี้ จำนวนเอเลี่ยน สปีชีส์ กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้น และได้ขยายพันธุ์เข้าไปทำลายพืชและสัตว์พื้นเมือง จนทำให้ระบบธรรมชาติดั้งเดิมและระบบนิเวศเกิดการเปลี่ยนแปลง
เกม “เอเลี่ยน รุก บุกโลก”
แม้จะชี้ให้เห็นภัยจากเอเลี่ยน สปีชีส์กันชัดๆ ขนาดนี้ แต่หลายคนอาจจะคิดว่า การที่สัตว์หรือพืชพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานแค่สิ่งมีชีวิตพันธุ์พื้นเมือง คงสร้างปัญหาเพียงแค่ธรรมชาติอย่างเดียวเท่านั้น ไม่อาจจะมีผลกระทบต่อชีวิตของมนุษย์ได้ ซึ่งคนทั่วไปยังคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว
แต่ในประเด็นนี้พี่ปีย์กลับเห็นว่า เป็นปัญหาสำคัญมากและเป็นเรื่องใกล้ตัวซึ่งส่งผลกระทบกันเป็นลูกโซ่ไปเรื่อยๆ โดยยกตัวอย่าง ถ้ามีไข่ของแมลงหรือหนอนจากต่างประเทศติดมา จนเกิดเป็นแมลงรำคาญ แมลงวันทอง แมลงหวี่ ซึ่งแมลงเหล่านี้จะไปทำลายผลผลิตทางการเกษตร ย่อมจะทำให้ผักผลไม้มีราคาแพงขึ้น และกระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจ สุขอนามัย และสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในด้านการจัดการปัญหานี้ มีหลายคนที่พยายามศึกษาอยู่หลายวิธี แต่วิธีการที่ง่ายที่สุดคือ “การกำจัด” เช่น ในประเทศออสเตรเลีย สั่งให้ฆ่าคางคงยักษ์ซึ่งไปกินกบพันธุ์พื้นเมือง แต่ในการกำจัดนั้น ควรจะเป็นการจัดการเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ในด้านอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น การจับปลาซักเกอร์ (ปลาเทศบาล) มาทำอาหาร หรือนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก หรือนำผักตบชวามาทำเครื่องจักสาน
เครื่องจักสานจากผักตบชวา
สุดท้าย พี่ปีย์ยังชวนให้หลายคนลองศึกษาข้อมูล ก่อนจะนำเอเลี่ยน สปีชีส์ เข้ามาเพราะสมัยนี้มีการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ เป็นจำนวนมากและศึกษาได้ง่ายๆ ผ่านทางเว็บไซต์
สิ่งสำคัญที่สุดในการจัดการไม่ให้จำนวนเอเลี่ยน สปีชีส์ เพิ่มจำนวนหรือแพร่พันธุ์ออกไป คือ ทุกคนอย่านำสัตว์หรือพืชต่างถิ่นมาเพาะพันธุ์หรือนำเข้ามาโดยขาดความรู้ ความเข้าใจ และความรับผิดชอบ
“สำหรับคนที่เลี้ยงหรืออยากนำเข้ามา อยากให้คิดสักนิดว่า เราจะควบคุมยังไง ถ้าสักวันหนึ่งเราเป็นคนหนึ่งที่เลี้ยงและปล่อยพวกนี้ออกไปสู่ธรรมชาติ จนควบคุมไม่ได้ เราเองจะรู้สึกผิดไปตลอดชีวิต”
พลตรัย
--------------------
ข้อมูลอ้างอิงและภาพประกอบ
- เอกสารประกอบการชมนิทรรศการ เอเลี่ยนส์ สปีชีส์ ผู้รุกรานจากต่างแดน
- www.vcharkarn.com/varticle/39471
- xn--12cma7dta4bgqd5f2bg8a5lrf.blogspot.com/