“วันนี้ เป็นวันสงกรานต์ หนุ่มสาวชาวบ้านเบิกบานจิตใจจริงเอย ตอนเช้าทำบุญ ทำบุญตักบาตร ทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขันกันเอย เข้าวัดแต่งตัว แต่งตัวสวยสะ ไปสรงน้ำพระ ณ วันสงกรานต์กันเอย” ช่วงนี้ไม่ว่าเดิน ทางไปไหน ก็มักได้ยินเสียงเพลงรำวงวันสงกรานต์ ของชาวคณะสุนทราภรณ์ มาให้ได้ยินเข้าหูอยู่เสมอ นั่นเพราะถึงเทศกาลที่คนไทยทุกคนต่างรอคอยกับเทศกาลใหญ่ประจำคิมหันตฤดู ที่เราเรียกว่า เทศกาลสงกรานต์ นั่นเอง ช่วงสายวันนี้เราจึงขอหลบการสาดน้ำหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ แล้วเข้ามาร่วมกิจกรรมสนุกๆ ภายใน อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น ๘ กับเทศกาลสงกรานต์ บานตะไท ๒๕๕๖
เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ - วันอังคารที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๕๖ ตั้งแต่เวลา ๑๑.๐๐-๑๗.๐๐ น. ณ ลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ TK park ได้จัดกิจกรรมต้อนรับวันสงกรานต์ เพื่อสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมของไทย ด้วยกิจกรรมบันเทิงเริงรมย์ที่นิยมในเทศกาลสงกรานต์ ภายใต้ชื่อ สงกรานต์ บานตะไท ๒๕๕๖ ความสนุกจะเป็นเช่นไร ติดตามกันได้เลยค่ะ
บริเวณลานสานฝันวันนี้ ได้ยกซุ้มไม้ไผ่ พร้อมประดับธง ผ้าขาวม้า และพวงมโหตร สีสันสวยงาม จนเราเห็นแล้วนึกทึ่งว่า จำลองบรรยากาศงานวัดมาได้ไม่ผิดเพี้ยน เราเริ่มต้นความสนุกด้วยการลงทะเบียนหน้างาน แล้วรับสูจิบัตรเสื้อกระดาษ ที่เมื่อแกะออกจะมีรายละเอียดของงาน และกิจกรรมให้ร่วมสนุก เพื่อลุ้นรับของรางวัล ก่อนจะเข้าไปร่วมสนุก เราแทบไม่รู้จักตำนานวันสงกรานต์เลย จึงขอลงมืออ่านตำนานวันสงกรานต์หน้างานเสียก่อน เพื่อรู้จักเก็ดเล็กเกร็ดน้อยของประเพณีวันสงกรานต์มากขึ้น ก่อนที่จะเข้าไปร่วมสนุกกับกิจกรรมต่างๆ ภายในงาน
รู้จักตำนานสงกรานต์ไทย
รู้ไหมเอ่ย? คำว่า สงกรานต์ มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า ย่างขึ้น ก้าวขึ้น การย้ายที่ หรือ เคลื่อนที่ คือช่วงที่พระอาทิตย์ย่างจากราศีมีนสู่ราศีเมษ ซึ่งตามหลักแล้วประเพณีสงกรานต์ถูกกำหนดตามการคำนวณโดยหลักเกณฑ์ในคัมภีร์
สุริยยาตร์ ซึ่งแต่ละปีจะไม่ตรงกัน อาจจะเป็นช่วง ๑๓-๑๕ เมษายน หรือ ๑๔-๑๖ เมษายน แต่เพื่อความสะดวกในการกำหนดวันหยุดราชการและวันสำคัญอื่นๆ จึงได้กำหนดประเพณีสงกรานต์
วันที่ ๑๔ เมษายน “วันมหาสงกรานต์” ถือเป็นวันย่างขึ้นปีใหม่ โดยเป็นวันแรกของเทศกาลซึ่งเป็นวันที่พระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ วันนี้คนไทยจะเริ่มต้นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน แต่รู้หรือไม่ ว่าวันนี้ยังเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งจะสอดคล้องกับวันที่ ๑๕ เมษายน “วันเนา” เป็น วันถัดจากวันมหาสงกรานต์ ๑ วัน และถือเป็นวันครอบครัวแห่งชาติ เพราะช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี แต่ละครอบครัวจะมีการเลี้ยงพบปะสังสรรค์กันภายในครอบครัว ถือเป็นวันรวมญาติครั้งใหญ่ โดยลูกหลานก็มักจะมารดน้ำขอพรญาติผู้ใหญ่ ที่อาวุโสกว่า ไม่ว่าจะเป็นปู่ย่า ตายาย หรือ พ่อแม่ ทำให้ครอบครัวมีความผูกพันใกล้ชิด และได้ระลึกถึงญาติผู้ใหญ่ของตนด้วย
ส่วนวันที่ ๑๖ เมษายน “วันเถลิงศก” เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ หรือวันขึ้นศักราชใหม่ของไทย ก็นับว่าประเทศไทยได้ก้าวสู่ปีใหม่แบบไทยๆ แล้ว
สงกรานต์มิใช่เป็นเพียงเทศกาลสาดน้ำเท่านั้น หากแต่ประเพณีสงกรานต์เป็นประเพณีที่มีความงดงาม เปี่ยมไปด้วยภูมิปัญญาอันละเอียดลึกซึ้งของบรรพบุรุษในการสร้างเสริมสายใย รักครอบครัวให้มั่นคงแข็งแรง ก่อให้เกิดความสัมพันธ์แน่นแฟ้น และความเอื้ออาทรซึ่งกันและกันของคนในสังคมไทย ซึ่งนอกจากการสาดน้ำ ก็ยังมีกิจกรรมอันเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาให้ประชาชนได้ทำนุบำรุงพระพุทธ ศาสนา เช่น การสรงน้ำพระ การก่อเจดีย์ทราย เป็นต้น
นางสงกรานต์ ปีนี้เป็นใครกัน?
พอถึงเทศกาลสงกรานต์ทีไร ก็มักจะมีสาวงามเข้าร่วมประกวดนางสงกรานต์อยู่เสมอ แต่รู้ไหมว่า นางสงกรานต์นั้นมาจากไหน ถ้าอยากรู้ เราก็เข้าไปทำความรู้จักกันเลย “นางสงกรานต์” เป็น คติความเชื่ออยู่ในตำนานสงกรานต์ ว่าทุกๆ ๑ ปี ธิดาทั้งเจ็ดของท้าวกบิลพรหม จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่ อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ ซึ่งการกำหนดเรื่องของนางสงกรานต์เป็นกุศโลบาย เพื่อให้คนโบราณซึ่งยังไม่มีปฏิทินบอกวันเวลาและคนยังรู้หนังสือกันน้อยได้ รู้ว่า วันมหาสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามสุริยคติตรงกับวันใด ทางการจึงได้ใช้ภาพของนางสงกรานต์ทั้ง ๗ เทียบกับแต่ละวันในสัปดาห์ โดยแต่ละนางจะมีนามเรียกประจำตน ภักษาหาร อาวุธ และสัตว์ที่เป็นพาหนะแตกต่างกันตามแต่ละวัน
นางสงกรานต์ประจำปี พุทธศักราช ๒๕๕๖ ตรงกับวันเสาร์ จึงมีนามนางสงกรานต์ว่า “นางมโหธรเทวี” มโหธรเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้ว นิลรัตน์ภักษาหาร เนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง)
บรรยากาศอบอุ่นของครอบครัว ที่ร่วมกันประดิษฐ์พวงมโหตร
ตอนนี้เราก็รู้จักความเป็นมาของเทศกาลสงกรานต์จนดีแล้ว ก็ถึงเวลาเข้าไปร่วมสนุกกับกิจกรรมภายในงาน โดยแบ่งเป็น ๓ กิจกรรม ให้เราเข้าไปร่วมสนุกเพื่อจะได้รู้จักประเพณีและวัฒนธรรมของไทยมากขึ้น โดยกิจกรรมแรก ชื่อว่า สืบสานงานศิลป์ไทย ที่ ให้เราเพลิดเพลินกับการละเล่นกับของเล่นพื้นบ้าน ได้แก่ ว่าว พวงมโหตร ใบพัด และของเล่นจากต้นกล้วย ซึ่งจะสลับกันไปในแต่ละวัน ส่วนวันที่เราเข้าไปร่วมสนุกนั้น เป็นวันของการทำ “พวงมโหตร” ของเล่นที่ใช้ประดับตามงานเทศกาลรื่นเริงต่างๆ มีสีสันสวยงาม และรูปทรงที่ดึงดูดสายตาเป็นอย่างมาก
คำว่า พวงมโหตร (พวง-มะ-โหด) อาจเป็นคำที่หลายๆ คนไม่ทราบความหมาย จนถึงไม่เคยได้ยิน แม้จะเคยเห็นหน้าเห็นตามาแล้วตามงานเทศกาลต่างๆ ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ อธิบายว่า เป็นพวงอุบะซึ่งห้อยประดับอยู่ที่คันดาลฉัตรทำด้วยผ้าตาดทอง ส่วนคันดาลฉัตรคือคันฉัตรที่มีรูปเป็นมุมฉาก ๒ ทบอย่างลูกดาล เพื่อปักให้ฉัตรอยู่ตรงเศียรพระพุทธรูป ซึ่งฟังคำอธิบายจากพจนานุกรมแล้ว อาจจะทำให้เราเห็นภาพไม่ชัด ดังนั้นวันนี้ กลุ่มรุ่งอรุณของเล่นพื้นบ้าน อันเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันของผู้สูงอายุ มาร่วมกันทำของเล่นพื้นบ้าน สมัยที่คุณตาคุณยายยังเป็นเด็กๆ อยู่ ให้เด็กรุ่นหลานได้รู้จัก ได้ลงมือสอนให้สมาชิก TK park ทำพวงมโหตรกัน
คุณลุงทวีทรัพย์ นามขจรโรจน์ วิทยากรประจำกลุ่มรุ่งอรุณของเล่นพื้นบ้าน เล่าให้ฟังว่า ตามคติความเชื่อของไทย เชื่อว่า การตัดกระดาษเป็นรูปต่างๆ ถือเป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อาจเป็นผีสาง หรือเทวดา เพื่อความสุข ความมงคลในชีวิต จึงมักจะนิยมตัดกระดาษกันในวันขึ้นปีใหม่ วันขึ้นบ้านใหม่ หรือในงานบุญ เป็นต้น ซึ่งการทำ พวงมโหตร มักจะหาวัสดุอย่างกระดาษที่หาได้ง่ายๆ ตามท้องถิ่น เช่น กระดาษว่าว มาตัดเป็นโคม เป็นทรง เริ่มต้นกันง่ายๆ ด้วยการตัดกระดาษเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส จากนั้นพับเป็นรูปสามเหลี่ยม ประมาณ ๓ ทบ แล้วแต่ขนาดของกระดาษ จากนั้นพับอีกครั้ง แล้วใช้กรรไกรตัดสลับฟันปลาไปมา เมื่อคลี่ออกก็ได้จะพวงมโหตร ตามรูปทรงต่างๆ ถ้าใครตัดกระดาษถี่ ก็จะได้ทรงยาว ส่วนใครตัดไม่ถี่มาก ก็ได้ทรงป้อม ยิ่งตัดซ้อนกันหลายๆ ชั้น ก็ยิ่งสวยงามมมากขึ้น
ตามตำนานว่ากันว่า พวงมโหตร มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย จึงถือว่ามีอายุเก่าแก่มาก แม้แต่ในประเทศเวียดนามเอง ก็มีการใช้กระดาษตกแต่งสถานที่เช่นเดียวกัน ส่วนของไทยนั้น นิยมใช้กระดาษสีแดง เพราะเชื่อกันว่า สีแดง หมายถึง ความรุ่งเรือง สดใส ถือเป็นสีสันแห่งการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ต่อมาก็นิยมใช้สีทองตามความเชื่อแบบจีน
การจัดกิจกรรมวันนี้ในสายตาคุณลุง จึงเป็นกิจกรรมที่สานสายใยครอบครัวให้มากขึ้น เพราะเด็กๆ ได้จับต้องของที่เป็นวัตถุแล้วลงมือทำด้วยตัวเอง แม้จะตัดกระดาษขาด ก็จะมีคุณพ่อ หรือคุณแม่ คอยให้ความช่วยเหลือ เมื่อเด็กประดิษฐ์เองได้สำเร็จ ก็จะมีความภูมิใจ และหวงแหนของเล่นของเขามากขึ้น ดังนั้นกิจกรรมนี้จึงเป็นกิจกรรมที่เด็กๆ เข้ามาร่วมกิจกรรมไม่ขาดสาย ต่างคนก็ต่างตั้งใจ ตัดกระดาษอย่างระมัดระวัง เพราะกลัวขาดนั่นเอง แน่นอนว่าหลังจากทำสำเร็จ แต่ละคนก็จะมี พวงมโหตรไปประดับตกแต่งที่บ้านเพื่อต้อนรับวันขึ้นปีใหม่ของไทยด้วย
ภาพน่ารักของคุณแม่ และลูกตัวน้อยๆ ที่ช่วยกันทำขนมชมพูนุช
หลังจากนั้น เราก็ไปต่อกันด้วยฐานกิจกรรมที่ ๒ ลิ้มรสไทย ที่มีกิจกรรมให้ร่วมเรียนรู้เคล็ดลับการทำดินสอพอง ขนมทองชมพูนุช ลูกชุบ และเม็ดขนุน ซึ่งวันนี้เป็นคิวของขนมทองชมพูนุช ขนมไทยชื่อไม่คุ้นหู หาทานยาก ให้เราได้ทำเองกับมือ
“ขนมทองชมพูนุช” หนึ่งในขนมโบราณชุดทองที่มีชื่อเสียงโด่งดัง อันมีอยู่ด้วยกัน ๙ ชนิด ถือเป็นขนมมงคลที่คนไทยนิยมใช้แทนคำอวยพร โดยวันนี้ อาจารย์ธนวิทย์ ลายิ้ม หรือ อาจารย์หนึ่ง หัวหน้าสาขาวิชาธุรกิจอาหาร คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ มาเป็นครูผู้สอนให้สมาชิก TK park ได้ลองทำขนมไทยหายากชนิดนี้กัน ซึ่งการทำนั้นก็ไม่ได้ยาก อาจารย์ได้เตรียมแป้งที่ผสมไว้พร้อมแล้ว ให้น้องๆ ปั้นเป็นก้อนกลมๆ ๓ ก้อน ใส่แม่พิมพ์รูปต่างๆ ที่มีทั้งดอกไม้ ใบใม้ แล้วเคาะออกมา ก็จะได้ขนมทองชมพูนุช หน้าตาน่ากิน นำใส่กระทงใบเล็กๆ ชิมฝีมือตัวเ องหรือเอากลับบ้าน
อาจารย์หนึ่ง เล่าว่า แม้ตามประวัติขนมตระกูลทองจะมีที่มาจากชาวโปรตุเกส แต่เมื่อได้แพร่หลายในไทย ก็ได้มีการปรับปรุงและพัฒนารูปลักษณ์ให้เหมาะกับลิ้นคนไทย และกลายเป็นขนมในแบบของเราอย่างชัดเจน ส่วนเหตุที่ขนมทองชมพูนุชหาทานยาก นั่นเพราะแต่เดิม ขนมทองชมพูนุชเมื่อทำเสร็จมักจะอยู่ได้ไม่นาน จะทำมาขายก็ไม่คุ้มนัก เพราะคืนตัวได้เร็วเกินไป จึงมีการปรับปรุงสูตร ใช้ แป้งข้าวเจ้า แป้งทองหยอด และแป้งสาลีคั่ว ผสมกันอย่างละ ๒๕ กรัม ๒๕ กรัม ๑๐๐ กรัม ตามลำดับ จึงได้สูตรที่เหมาะสมกับการมาทำขายตามท้องตลาดมากขึ้น ขนมทองชมพูนุช ถือเป็นขนมที่คล้ายกับขนมทองเอก แต่มีรสชาติหวานน้อยกว่ามาก จึงเหมาะกับคนที่ไม่ชอบทานหวาน
เมื่อถามถึงความนิยมของขนมตระกูลทองในสายตาชาวต่างชาติ พบว่า อยู่ในลำดับที่ ๘-๙ ของนักท่องเที่ยว ส่วนอันดับที่ครองใจเป็น ๓ อันดับแรก คือ ข้าวเหนียวมะม่วง กล้วยบวชชี และตะโก้ ตามลำดับ เนื่องด้วยชาวต่างชาติชอบกะทิ เพราะบ้านเขาไม่มี พอมาเมืองไทยจึงชอบขนมไทยที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบหลัก ส่วนขนมไทยที่ใช้ไข่เป็นส่วนประกอบ จึงไม่ค่อยนิยมมากนัก เพราะใช้ไข่เหมือนขนมบ้านเขา ดังนั้นไม่ว่าจะขนมไทย หรือ อาหารไทย คนไทยทุกคนก็ควรให้ความสนใจ และภูมิใจในรสชาติและความเป็นไทยของเรา เพราะถือเป็นอาหารประจำชาติเรา
เมื่อเราเข้ากิจกรรมครบทั้ง ๒ กิจกรรมแล้ว ก็ถึงคราวไปร่วมสนุกตักไข่ชิงโชคที่ กิจกรรม ช้อนไข่ บานตะไท โดยมีของที่ระลึกคือของเล่นวันวาน ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้ของเล่นในสมัยก่อน เช่น หุ่นจิ๋ว ตัวปั๊ม เป็นต้น เป็นของรางวัลกลับบ้าน อย่างไรก็ตามงานสงกรานต์บานตะไท ยังไม่หมดเพียงแค่นี้ เพราะชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ามีกิจกรรมให้เล่นบานตะไท แน่ๆ เราจึงไปต่อกับแต่งกายงามตามอย่างไทย ที่ ชวนสมาชิก TK park รุ่นเล็กและรุ่นใหญ่มาแปลงโฉมเป็นหนุ่มไทย และสาวไทย งานนี้สนุกสนานเป็นอย่างมาก คุณพ่อคุณแม่หลายท่าน ก็ได้ถ่ายรูปลูกๆ ในชุดไทย จนสร้างเสียงหัวเราะให้มุมกิจกรรมนี้ ไม่แพ้มุมอื่นๆ กันเลยค่ะ
พักเหนื่อยด้วยการนั่งฟังเพลงบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีอังกะลุง จากคณะอาจารย์สำรวย เปรมใจ
ร่วมสนุกกับกิจกรรมกันครบแล้ว ก็มานั่งฟังวงดนตรีไทยกันแบบเพลินๆ วันนี้ อาจารย์สำรวย เปรมใจ ต้นตำรับอังกะลุงไทย ๓ กระบอก ได้พาคณะเยาวชนบ้านเปรมใจมาบรรเลง อังกะลุง เครื่องดนตรีจากกระบอกไม้ไผ่ อันเป็นเครื่องดนตรีที่มีต้นแบบจากประเทศอินโดนีเซีย ที่เรียกว่า อุงคะลุง โดย หลวงประดิษฐ์ไพเราะ เป็นผู้นำเข้ามา ซึ่งแต่เดิมเป็นชนิดคู่ (ใช้ไม้ไผ่เพียง ๒ กระบอก) มี ๕ เสียง ในสมัยต่อมาจึงมีการพัฒนาอังกะลุง โดยขยายจำนวนไม้ไผ่เป็น ๓ กระบอก และเพิ่มเสียงจนครบ ๗ เสียง การบรรเลงอังกะลุงจึงสร้างความประทับใจให้กับสมาชิก TK park เป็นอย่างมาก
กลุ่มคุณแม่ยังสาว ที่พาลูกๆ มาร่วมสนุก
คุณทศวรรณ ธัญญธนาพร หนึ่งในผู้ร่วม กิจกรรมได้ชักชวนเพื่อนอีก ๒ คน เข้ามาร่วมสนุกภายในงาน โดยแต่ละคนก็ได้พา ลูกชาย และลูกสาว เข้ามาร่วมกิจกรรมต่างๆ สร้างความสนุกสนานให้กับเด็กๆ เป็นอย่างมาก
“เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์กับเด็กๆ มาก ทำให้รู้ว่าสงกรานต์คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร จะได้เรียนรู้วัฒนธรรมของไทยตั้งแต่ยังเด็ก ส่วนตัวลูกชาย คือ น้องพอดี ชอบกิจกรรมประดิษฐ์พวงมโหตรมาก เพราะเขาได้ลงมือทำเอง จึงมีความตั้งใจสูง”
ส่วนใครที่พลาดกิจกรรมนี้ไป ก็ไม่ต้องเสียดาย เพราะคราวหน้า TK park ยังมีกิจกรรมอื่นให้ร่วมสนุกอีกเพียบ
งามอย่างไทยกับหนูน้อยสมาชิก TK park
กมลพร สุนทรสีมะ