ความสวย ความงาม การแต่งกายไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไป เพราะเสื้อผ้า หน้า ผม รวมถึงเครื่องแต่งกายบนเรือนร่าง ของคนสมัยนี้ นอกจากจะมีไว้ประดับเพื่อความสวยงามแล้ว ยังใช้เพื่อแสดง “ตัวตน” หรือกลายเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ที่ทรงอิทธิพลเป็นอย่างมาก
กระแสของการแต่งกายเกิดขึ้นและดับไป เป็นคลื่นลูกใหม่ที่พร้อมมากลืนกินสิ่งเก่าอยู่ตลอดเวลา
เราเรียกสิ่งนั้นว่า “แฟชั่น”
……………………………………
หลังจากอุทยานการเรียนรู้ TK park ประสบความสำเร็จ ในการปั้นเยาวชนนักการตลาดมาแล้วหลายรุ่น นอกเหนือจากการเฟ้นหาเยาวชนที่มีใจรักอยากประกอบธุรกิจแล้ว ยังมุ่งเน้นส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และกิจการที่ก่อให้เกิดประโยชน์สำหรับสังคมอีกด้วย
ปีนี้ อุทยานการเรียนรู้ TK park ได้จัดอบรมเยาวชน โครงการ “TK แจ้งเกิดเยาวชนทางด้านการตลาด” ภายใต้หัวข้อ“แต่ง ฝัน ปั้น แบรนด์” ให้แก่เยาวชน นิสิต นักศึกษาที่มีอายุระหว่าง 18 -25 ปีที่มีความรู้ ความสนใจในหลักการตลาดยุคใหม่ มีความพร้อมในการเรียนรู้และต้องการพัฒนาทักษะเฉพาะด้าน โดยมีผู้สมัครเข้ามามากถึง 200 คน และได้รับคัดเลือกเหลือเพียง 30 คนเพื่อเข้าร่วมอบรมรับความรู้จาก “มืออาชีพ” ในวงการการตลาดและแฟชั่น
โฉมหน้าผู้เข้าร่วมโครงการ TK แจ้งเกิด : เยาวชนด้านการตลาด
ในวันเสาร์ที่ 13 กรกฏาคม 2556 เวลา 11.00 – 16.30 น. ณ ห้อง Learning Auditorium อุทยานการเรียนรู้ TK park เป็นวันแรกที่ทุกคนจะได้เข้าร่วมอบรมแนวคิดด้านการตลาดและแฟชั่น
คุณอัศรินทร์ นนทิหทัย หัวหน้าฝ่ายกิจกรรม อุทยานการเรียนรู้ TK park ได้กล่าวต้อนรับและพูดถึงโครงการนี้ว่าเกิดจาก คำ 4 คำคือ “แต่ง ฝัน ปั้น แบรนด์” ซึ่ง “แต่ง” หมายถึงการแต่งหน้า แต่งตัวซึ่งเกี่ยวข้องกับแฟชั่นและหัวข้อในการอบรมครั้งนี้ “ฝัน” ความฝันของผู้เข้าร่วมอบรมทุกคน “ปั้น” คือการทำความฝัน ไม่ให้หยุดอยู่แค่บนหน้ากระดาษหรือความคิด แต่สามารถสร้างเป็นรูปธรรมออกมา ซึ่งต้องใช้กำลังกายและกำลังใจ และ “แบรนด์” หัวใจสำคัญของโครงการนี้ที่มุ่งจะสร้างแบรนด์แฟชั่นใหม่ๆ สำหรับเมืองไทยที่เกิดจากพลังของเยาวชน สิ่งสำคัญคืออยากให้ทุกคนได้ลงมือทำจริง มีโอกาสได้พบและเรียนรู้จากวิทยากร
สำหรับกิจกรรมในช่วงเช้า ให้ผู้เข้าร่วมอบรมทุกคนได้ทำความรู้จัก ผ่านกิจกรรมสนุกๆ เช่น speed dating เป็นการเขียนข้อมูลส่วนตัว 4 อย่างเพื่อนำไปพูดคุยแลกเปลี่ยน และแนะนำตัวเองกับเพื่อนใหม่ และมีเกมทายชื่อด้วยการโยนลูกบอลหลากสี ใครจับได้ลูกบอลสีเหมือนกันต้องรีบพูดชื่อของอีกฝ่ายให้ได้ก่อน
คุณพัชรี ติวะวงศ์ บอกเล่าประสบการณ์
ในช่วงบ่าย หัวข้ออบรมเรื่องแรก คือ “เย็บ กึ๋นการตลาด” เรียนรู้การตลาดจากผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพ โดยได้รับเกียรติจากคุณพัชรี ติวะวงศ์ ฝ่าย creative strategy (กลยุทธ์ในการสร้างสรรค์) ของ Central marketing group (Cmg) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการตลาด เป็นผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายสินค้าภายใต้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภคทั่วโลก
คุณพัชรี กล่าวถึงโครงการล่าสุดที่มีโอกาสได้เข้าร่วมไปจัดทำคือ “120 RedCross” ซึ่งจัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสที่สภากาชาดไทยจะก่อตั้งครบรอบ 120 ปี โดยเลือกทำในรูปแบบการกุศลออนไลน์ มีรูปลักษณ์ที่ทันสมัยและพยายามเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนกิจการของสภากาชาดไทย ผ่านการบริจาคหรือซื้อสินค้าจากโครงการและสินค้า Limited Edition จากแบรนด์ ยอดนิยมกว่า 20 แบรนด์
เธอให้เคล็ดลับว่า หัวใจสำคัญของการเริ่มต้นทำงานจะต้องผ่านการคิด การออกแบบ และมองหาวิธีการสื่อสาร ซึ่งโจทย์ของโครงการนี้คือจะทำอย่างไร ที่จะดึงให้กลุ่มวัยรุ่นเข้ามาสนใจกิจการงานของสภากาชาดไทย และแก้ไขทัศนคติแบบเดิมที่คนทั่วไปมักเข้าใจว่า ภารกิจของสภากาชาดมีเพียงแค่การรับบริจาคโลหิตเท่านั้น คุณพัชรีและทีมงานจึงได้ทำการศึกษาข้อมูลและได้พยายามวางกิจกรรมหลักๆ ของสภากาชาดในด้านต่างๆ ไว้ 4 หัวข้อ ได้แก่ 1. เพื่อให้ (TO GIVE) ซึ่งได้แก่การบริจาคเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือผู้อื่น2. เพื่อรักษา (TO HEAL) เช่น การบริจาคโลหิต 3. เพื่อบรรเทา (TO RELIEF) เช่น การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยหรือภัยพิบัตต่างๆ 4.เพื่อป้องกัน (TO PROTECT) เป็นศูนย์กลางของการป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกและโรคภัยต่างๆ
โครงการ 120 RedCross
สำหรับวิธีการสื่อสาร เธอเริ่มต้นคิด “โลโก้” หรือตราของโครงการ ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องคิดทบทวนอย่างหนัก เพราะจะทำอย่างไรให้ทุกคนทราบได้ว่าเป็นงานของสภากาชาดและต้องไม่น่าเบื่อ จึงได้นำส่วนหนึ่งของตราสภากาชาด มาปรับให้เป็นรูปหัวใจและเมื่อได้โลโก้เสร็จเรียบร้อยแล้ว เธอแนะนำว่าอย่านำไปใช้เพียงแค่แสดงไว้อย่างเดียว แต่ควรนำมาประยุกต์ปรับใช้กับส่วนอื่น เช่น สินค้า หรือตัวเลขด้วยก็ได้
จากนั้น จึงได้มีการคิดคำหรือข้อความเพื่อสื่อสารอย่างสั้นๆ กระชับ เข้าใจง่ายๆว่า “ต่างใจเดียวกัน” (Same Heart. Different Wishes) มีความหมายว่าทุกคนต่างมีความคิดความหวังที่แตกต่างกันไป แต่มีจิตใจที่จะคิดช่วยเหลือเหมือนกับสภากาชาดไทยที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางพร้อมช่วยเหลือทุกคน นอกจากนี้เธอมองว่าเมื่อมีข้อความที่ต้องการสื่อแล้ว น่าจะมี “ท่าทาง” เพื่อช่วยสื่อสารโดยไม่จำเป็นต้องพูด คือการใช้มือประสานกันที่หน้าอกเป็นรูปหัวใจ เพื่อสื่อถึงโลโก้ของโครงการนี้นั่นเอง
เธอเปรียบว่าการตลาด เป็นเหมือนการเล่าเรื่อง ต้องรู้ว่ากำลังสื่อสารกับใคร อีกทั้งการทำงานทุกครั้ง จะต้องมีการคิด มีการปรับปรุง แก้ไขอยู่ตลอด บางงานต้องผ่านการคิด ทำใหม่มาหลายร้อยครั้ง เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการมากที่สุด อย่าเลือกทำของมาหนึ่งอย่างแล้วยัดเยียดให้กับทุกคนต้องมาชอบ อย่าเพิ่งหยุดคิดว่าสิ่งนี้ดีพอแล้วหรือดีที่สุดแล้ว เพราะสิ่งที่ดีที่สุดมักมีสิ่งที่ดีกว่านั้นเสมอ
“การที่เราได้คิดเยอะๆ ทดลองทำเยอะๆ จะได้เห็นสิ่งที่ดีกว่าสิ่งที่ดีที่สุด”
คุณพิชิต แนะแนว กฎ 10 ข้อ
จากนั้น คุณพิชิต วีรังคบุตร จาก ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC ได้บรรยายในหัวข้อ “เขย่าไอเดียสร้างสรรค์ หลุดกรอบการตลาดภาคทฤษฎี”
คุณพิชิตแนะนำตัวพร้อมกับข้อความที่ดึงดูดสายตาและความสงสัยว่า “don’t talk to me, if you don’t read book”(อย่าคุยกับผมถ้าไม่เคยอ่านหนังสือ) ก่อนจะอธิบายว่า “การไม่อ่านหนังสือ” หมายถึงคนที่ไม่ยอมเรียนรู้ทั้งประวัติศาตร์ สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ศิลปะ วิทยาศาสตร์ หรือศาสตร์ความรู้ทางด้านอื่นๆ เลย เปรียบเหมือนคนที่ไม่มีฐานความรู้มาก่อน การจะเป็นนักการตลาด จำเป็นจะต้องมีพื้นฐานที่แข็งแรง และรู้สิ่งที่ตัวเองต้องการ
กระแสที่ส่งผลต่อทุกอย่างบนโลกใบนี้ล้วนเกิดขึ้นมาแล้ว การสร้างแบรนด์ต้องเกิดจากรากฐานหลายๆ อย่างมาประกอบกัน จึงต้องมีการศึกษาหาความรู้จากในอดีต เพราะยิ่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์มากก็ยิ่งทำความเข้าใจอนาคตได้มากขึ้น
เขาอธิบายต่อว่าปัจจุบันในวงการการออกแบบ ในประเทศเดนมาร์กได้มีการกำหนด บันไดของการออกแบบ (Design Ladder) เอาไว้ว่าการออกแบบสิ่งของหรือสินค้าต่างๆ นั้นมีทั้งหมด 4 ขั้นด้วยกัน
1.No design ไม่มีการออกแบบเลย เน้นถึงวัตถุประสงค์การใช้สอยอย่างเดียว
2.Design as styling เน้นการออกแบบในเรื่องความสวยงามเท่านั้น
3.Design as process มีการผสมผสานกระบวนการคิด การผลิต มากกว่าการประยุกต์ใช้เพียงอย่างเดียว ซึ่งสามารถจับต้องได้ด้วย
4.Design as strategy เป็นการผลักดันทุกกระบวนการ จนก่อให้เกิดนวัตกรรม
สำหรับการออกแบบในประเทศไทย เขามองว่ายังคงอยู่ในขั้นที่ 2 เท่านั้น ในด้านการตลาดเพียงแค่นำรูปแบบใหม่มาใส่ ในงานแต่ละครั้ง แล้วนำไปขายเลยทันที ซึ่งทำให้การออกแบบไม่ยั่งยืน สิ่งที่เป็นหัวใจของ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ คือต้องสร้างแก่นที่แข็งแรง ต้องเป็นของที่สร้างขึ้นมาแล้วนำไปประยุกต์ใช้ในงานอื่นๆ ได้ต่อเนื่องจะดีและเหมาะสมกว่า ไม่ต้องมานั่งคิดซ้ำๆ ในงานที่ต้องทำใหม่
นอกจากนี้ เขาได้เสนอกฎ 10 ข้อของการเป็นนักการตลาดและการคิดแบรนด์ คือ
1.observation reading, research เป็นคนที่ช่างสังเกต เก็บข้อมูล สามารถจัดการกับระบบความคิดได้ดี ในการทำงานทางด้านแฟชั่น ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 2 อย่างคือ “ธุรกิจและการออกแบบ” ซึ่งต้องทำให้สำเร็จไปด้วยกันทั้งสองอย่าง อีกทั้งในการทำงานมีคำที่ต้องพูดกระตุ้นเตือนตัวเองอยู่ตลอดคือคำว่า “จริงเหรอ?” คือต้องพยายามตั้งคำถามต่อตัวเองอยู่ตลอด อย่าเพิ่งเชื่อหรือหลงความคิดของตัวเอง
2.finding new way of storytelling ในการทำธุรกิจที่สร้างสรรค์ คือต้องหาวิธีการที่ต่างออกไป พยายามหาข้อมูล หรือหาวิธีการเล่าเรื่องที่ “สด” กว่าเดิม ซึ่งแตกต่างจากคำว่า “ใหม่” เพราะในคำว่า “สด” อาจจะมีของเก่ามาผสมกันได้ และนำมาเล่าหากลวิธีและการนำเสนอที่น่าสนใจ ไม่เหมือนกับสิ่งที่มีอยู่เดิม
3.what is your fashion statement หาข้อความบางอย่างที่ต้องการจะเล่าและสื่อออกไป มีการสร้างเนื้อหาแบบใหม่ขึ้นมา เช่น รองเท้าของ camper ที่ไม่ขายเป็นคู่ แต่เลือกขาย 3 ข้าง หรือการเลือกใช้ สโลแกน ว่า “walk don’t run” (เดินอย่าวิ่ง)
4.what does your brand stands for กำหนดเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการทำอะไร เช่น adidas ที่เน้นผลิตสินค้าทางกีฬา
5.Any cultural references สืบค้นที่มาที่ไปของสิ่งของหรือเรื่องราวทางประวัติศาสตร์
6.knowledge of material and technics การมีความรู้ความเข้าใจในวัตถุดิบและเทคนิคการทำ เช่น การเย็บกางเกงยีนส์ด้วยกาวที่เหนียวและแข็งแรงกว่าการเย็บแบบปกติ หรือการทำรองเท้าจากแผ่นยางเพียง 3 ชิ้น
7.interpretation การนำข้อมูลหรือสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว นำมาประยุกต์ ดัดแปลง เล่าใหม่
8.perceive value ทำให้ผู้บริโภคเห็นคุณค่า ถ้าเป็นเสื้อผ้าต้องทำให้คนกล้าสวมใส่ มั่นใจ รู้สึกไม่อาย
9.design ต้องเรียนรู้การออกแบบ
10. business model and marketing strategy holistic approved ต้องหัดคิดและมองภาพรวมของงาน ต้องหมั่นเก็บข้อมูลอยู่ตลอดเวลา การออกแบบที่ดี เกิดจากการทำวิจัยเก็บข้อมูล ไม่ใช่เพียงแค่จินตนาการหรือความชื่นชอบอย่างเดียวเท่านั้น
กิจกรรม fahion lab
กิจกรรมสุดท้าย สำหรับวันนี้ คือ “Fashion Lab” ที่ให้น้องๆ 6 กลุ่มกลุ่มละ 5 คน ได้แก่ ทีม 1.ทีมZL (ซีแอล) 2. ทีมลิงยักษ์ 3.ทีมAMATA 4.ทีมWARP 5.ทีมTufashionista และ 6.ทีม S’he ทั้งหมดระดมความคิดออกแบบเสื้อผ้าตามโจทย์ที่กำหนดพร้อมพัฒนาต้นแบบ และนำเสนอไอเดียสร้างสรรค์ร่วมกัน
ตัวอย่างโครงการที่น่าสนใจ เช่น “รณรงค์ให้ใช้ถุงยางอนามัยในเด็กนักเรียนมัธยม” น้องๆ ได้เลือกทำร่มและกระเป๋าขึ้นมาเป็นสินค้า เพราะเหมาะสำหรับนักเรียนที่จะนำไปใช้ อีกทั้งร่มยังสื่อถึงการป้องกันอีกด้วย ถัดมา “รณรงค์การใช้จักรยาน” ที่เลือกผลิตเสื้อสะท้อนแสง นอกจากจะมีปลอกแขนสีสดใสไว้ช่วยกันแดดในตอนกลางวันแล้ว ยังสามารถสะท้อนแสงในการปั่นจักรยานตอนกลางคืนได้ด้วย และวางกลุ่มเป้าหมายไปที่คนที่สนใจกีฬา ซึ่งจะมีความสนใจสินค้าได้มากกว่าคนทั่วๆ ไป
ส่วนโครงการ “รณรงค์ให้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ” สมาชิกในทีมวางแผนทำเสื้อที่สามารถเรืองแสงขึ้นมาได้ เมื่ออยู่ใกล้คนสวมเสื้อชนิดเดียวกัน ซึ่งจะทำให้คนอยากใส่เสื้อแบบนี้หลายๆ คนเหมือนการเดินทางที่ต้องไปด้วยกัน ย่อมมีสีสันความสนุกมากกว่าการเดินทางโดยคนเดียวหรือใช้รถส่วนตัว ต่อมาเป็นโครงการ“รณรงค์ไม่กินเนื้อสุนัข” ด้วยการทำเสื้อให้สุนัขและเจ้าของได้ใส่เหมือนกัน และพยายามจะเชิญชวนคนที่รักสุนัขเข้ามาร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะเป็นพลังสำคัญในการช่วยรณรงค์ได้เป็นอย่างมาก และโครงการ “รณรงค์ประหยัดพลังงาน” ที่นำเสนอได้แปลกโดยการเลือกใช้ “นิ้ว” เข้ามาเป็นสัญลักษณ์ในสินค้า สื่อถึงการร่วมปิดไฟเป็นเรื่องเล็กๆ ง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถร่วมทำได้ รวมถึงวางแผนเปิดร้าน “ปิดไฟขายของ” เพื่อแสดงเสื้อที่สามารถสะท้อนแสงในความมืด กระตุ้นการประหยัดพลังงาน เรียกความสนใจให้กับกลุ่มวัยรุ่น
ทีม “ลิงยักษ์”
น้อง “ท็อป” นายแบบ โครงการรณรงค์เมาไม่ขับ
สำหรับทีมที่ได้รับการโหวตให้คะแนนมากที่สุดในวันนี้ คือ โครงการ “รณรงค์เมาไม่ขับ” ของทีมลิงยักษ์ ที่เลือกทำตู้ขายเสื้อยืดซึ่งตั้งจำหน่ายตามสถานบันเทิงต่างๆ ลูกเล่นของทีมนี้คือบนเสื้อยืด จะมีข้อความตลกๆ ที่ชวนเรียกรอยยิ้ม เช่น “take me home please” (พาฉันไปส่งบ้านที) หรือ “call my mom” (โทรหาแม่ให้หน่อยนะ) เน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่คนชอบดื่มเหล้า ว่าถ้าเมาแล้ว ไม่ควรจะขับรถกลับบ้านเอง เมื่อใส่เสื้อตัวนี้ คนรอบข้างจะได้ช่วยอาสาพาเขากลับไปส่งถึงบ้านได้ด้วย
“ท็อป” นายนฤชิต โรจนยางกูร นิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 3 บอกเล่าความประทับใจในกิจกรรมวันนี้ว่าทำให้เขาเข้าใจว่าการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่นิยมเป็นเรื่องยากต้องใช้เวลา ต้องวางแผน หาข้อมูลและคิดหลายๆ ครั้ง ซึ่งการทำกิจกรรมแบบนี้ เป็นโอกาสที่สำคัญเพราะคงไม่สามารถหาได้ในห้องเรียน ซึ่งสมาชิกคนอื่นๆ ในทีมก็เห็นสอดคล้องกัน
ก้าวแรกของนักการตลาดรุ่นเยาว์เพิ่งเริ่มต้นขึ้น ในวันนี้พวกเขาและเธอกำลังอยู่ในช่วงของการออกแบบความฝัน แม้ว่าจะเป็นก้อนอากาศที่ลอยอยู่ในความคิด หรืออาจจะตกหล่นอยู่ในกระดาษ แต่ความฝันเหล่านี้ กำลังรอให้เยาวชนสะสมประสบการณ์ช่วยกัน “ปั้น”ขึ้นมา และเร็วๆ นี้ พวกเราคงต้องมาร่วมกันลุ้น ร่วมกันเชียร์ และคอยติดตามกันว่า พวกเขาจะสร้าง “แบรนด์” และสินค้าแบบไหนมาเพื่อประดับวงการแฟชั่นไทย
พลตรัย