เนื้อเพลงคือความจริงใจ: ถ่ายทอดเนื้อหาให้เป็นมากกว่าบทเพลง
ในแบบของ ตั้ม Monotone และ กอล์ฟ Superbaker
เป็นที่ทราบกันดีว่า ศิลปิน นักร้อง หรือนักดนตรี ย่อมไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ที่คอยสร้างความสุข หรือความสนุกสนานผ่านบทเพลงเท่านั้น เพราะเนื้อเพลงหรือถ้อยคำที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์ ถ่ายทอดเป็นท่วงทำนองที่มีเอกลักษณ์เหล่านั้น ยังทำให้พวกเขาอยู่ในฐานะของ ‘ผู้ส่งสาร’ หรือ ‘นักเล่าเรื่อง’ ที่สามารถส่งต่อแรงบันดาลใจ สามารถเปลี่ยนแปลงวิธีคิด หรือการใช้ชีวิตของคนๆ หนึ่งได้เลยทีเดียว หากพวกเขาเคี่ยวกรำและสามารถถ่ายทอดความรู้สึกและเรียงร้อยถ้อยคำต่างๆ ได้คมชัดเพียงพอ
การอบรมในหัวข้อนี้ จึงได้เชิญ ตั้ม - สถาปัตย์ ธีรนิตยภาพ แห่งวง Monotone และ กอล์ฟ - ประภพ ชมถาวร จากวง Superbaker มาให้ความรู้ รวมทั้งแชร์ประสบการณ์สุดพิเศษเกี่ยวกับการเขียนเนื้อเพลงกับน้องๆ TK Band
โดยตั้งแต่เริ่มต้น ตั้มและกอล์ฟพยายามบอกน้องๆ ว่า สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของการเขียนเนื้อเพลงให้ดี ไม่ใช่การพยายามบอกว่าศิลปินหรือนักเขียนเพลงคือผู้ ‘ค้นพบ’ อะไรบางอย่างที่เหนือกว่าคนทั่วไป เพราะแท้จริงแล้ว เสน่ห์ของเนื้อเพลงและความกินใจของเนื้อเพลงมักเกิดขึ้น เมื่อเราพยายามบรรยายสถานการณ์หรือถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ค่อยชัดเจน อาจเป็นความตะขิดตะขวง ไม่แน่ใจ หรือรู้สึกคาใจกับเรื่องราวบางอย่างที่เกิดขึ้นในอดีต จนไม่สามารถหยุดหวนกลับไปคิดถึงมันได้ง่ายๆ ความรู้สึกดังกล่าวนี้ จะทำให้เราถ่ายทอดอารมณ์ที่ลึกซึ้งได้ดีกว่าเรื่องที่เรารู้ชัดเจนแล้ว หรือเรื่องที่เราไม่รู้สึกว่ามีอะไรค้างคาอยู่ในความรู้สึกส่วนลึก
หลังจากนั้น วิทยากรทั้งสองจึงเปิดโอกาสให้น้องๆ TK Band ได้ลองเขียนเพลงสดๆ ตามความรู้สึกที่ตัวเองมีในขณะนั้น และย้ำอยู่เรื่อยๆ ถึงหลักการแต่งเพลงที่สำคัญอีกประการหนึ่งว่า บางครั้งเพลงดีๆ ก็ไม่ได้เกิดจากการพยายามเล่าเรื่องออกมาเป็นเนื้อเพลงเสมอไป นักแต่งเพลงอาจพยายามถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ที่มาจากประสบการณ์ส่วนตัวออกมาเป็นร้อยแก้วธรรมดาๆ ก่อนก็ได้ โดยไม่ต้องสนใจว่าการเขียนเรื่องราวแบบนั้นจะเข้ากับการปรับเป็นเนื้อเพลง หรือจะสามารถวางเมโลดี้ที่ไพเราะได้หรือเปล่า
ซึ่งการทำแบบนี้ อาจเป็นวิธีที่ดีกว่าสำหรับบางคน อีกทั้งยังทำให้เรียบเรียงประเด็นได้คมชัด ไม่ติดกรอบของความพยายามทำให้เป็นเนื้อเพลง แต่หากไม่ถนัดวิธีนี้ เราอาจขึ้นเนื้อเพลงโดยวางประเด็นไว้อย่างคร่าวๆ ก็ได้ แต่ปัญหาของวิธีวางประเด็นก็คือ ศิลปินหรือนักแต่งเพลงมักจะไม่สามารถเขียนเนื้อเพลง รวมถึงเล่าเรื่องราวที่หลุดออกไปจากเรื่องความรักได้
หลังจากลองแนะนำหลักการบางส่วนดูแล้ว ตั้มและกอล์ฟให้น้องๆ ลองเขียนเล่าเรื่องราวในแบบของตัวเอง เพื่อจะนำมาลองปรับเป็นเนื้อเพลง ซึ่งมีทั้งน้องๆ ที่เล่าเรื่องเป็นร้อยแก้ว บ้างก็เล่าเรื่องเป็นบทกวี หรือบางคนก็เลือกที่จะพยายามเขียนเป็นเนื้อเพลง อย่างไรก็ตาม แต่ละคนมีเอกลักษณ์ของตัวเองชัดเจน มีบ้างเหมือนกันที่พยายามจะแตกประเด็นไปไกลกว่าเรื่องความรัก อย่างเช่นบทกวีของคนหนึ่ง ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับคุณค่าของสิ่งรอบตัว
ได้ยินอยู่ทุกเช้าค่ำ รวยคือทางออก รวยแก้ปัญหา
รวยแล้วจะดี จะมีความสุขดี
แต่ทุกปีคนตายก็มีที่รวย รวยกาย แต่จิตใจนั้นอับจน
พร้อมแลกอะไรเพื่อได้รวย พร้อมยอมสิ่งใดเพื่อเงินทองที่สัญญาว่าจะแก้ปัญหา
เค้าบอกว่ามีเงินแล้วมีค่า มีเงินแล้วสำคัญ ใครมีค่ากว่ากันถ้าเงินให้คุณค่า
ทั้งสองกล่าวชมว่า การแต่งเนื้อเพลงในลักษณะนี้ จะทำให้คนฟังได้อะไรมากกว่าความไพเราะของดนตรี และนำไปสู่การตั้งคำถามอะไรบางอย่าง ซึ่งบางทีอาจทำให้ชีวิตของคนฟังเพลงเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น แต่ความยากก็คือจะทำให้รายละเอียดทั้งหมดออกมาเป็นเพลงที่ไพเราะได้อย่างไร เพราะหากไม่สามารถจับประเด็นให้ออกมาเป็นเพลงที่กระชับได้ ก็จะกลายเป็นเพลงที่มีใจความที่สะเปะสะปะ และไม่สามารถตรึงอารมณ์ของผู้ฟังได้ดีเท่าที่ควร
ในช่วงถัดมา ตั้มและกอล์ฟจึงแนะนำอีกวิธีหนึ่ง สำหรับคนที่อาจจะยังจับจุดวิธีแต่งเพลงในแบบของตัวเองไม่ได้ ตั้มกล่าวว่า ในหลายๆ ครั้งที่ต้องเริ่มแต่งเพลงใหม่ เราอาจตั้งต้นจากการคิดคำขึ้นมาเพียงคำเดียว อาทิ กาแฟ แล้วลองเติมรายละเอียดหรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคำๆ นั้นลงไป เพื่อทำแผนผังความคิดหรือ Mind Map เกี่ยวกับคำว่า กาแฟ ทำให้พบว่าแต่ละคนมีวิธีคิดเกี่ยวกับคำๆ นี้แตกต่างกันไป แต่ในความหลากหลายนั้น ก็มีความน่าสนใจมากๆ บางคนพูดถึงร้านกาแฟที่เคยไปนั่งกับแฟนเก่า ขณะที่บางคนก็บอกว่า ร้านกาแฟเป็นสถานที่ที่เคยไปนั่งมองผู้หญิงที่ตนเองแอบชอบ อย่างไรก็ตาม นอกจากการแต่งเพลงโดยเริ่มจากคำๆ เดียว จะทำให้น้องๆ ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ออกไปได้ง่ายขึ้นแล้ว บางทีเรายังเอาลักษณะพิเศษจากคำคำนั้น มาเป็นอารมณ์ของเพลงได้ด้วย เช่น หากเราเริ่มจากคำว่า กาแฟ ก็อาจต่อยอดทำให้เราคิดถึงซาวนด์ดนตรีที่นุ่มนวล หรืออาจมีเนื้อหาที่สร้างความรู้สึกขมเหมือนกาแฟดำ เป็นต้น
สุดท้ายตั้มและกอล์ฟได้สรุปว่า ไม่ว่าจะแต่งเพลงแนวไหนก็ตาม สิ่งสำคัญคือ ‘ความจริงใจ’ ทั้งความจริงใจต่อตัวเอง และจริงใจต่อคนฟัง ที่จะช่วยสร้างความรู้สึกร่วมและทำให้คุณค่าของบทเพลงปรากฏเด่นชัด นำไปสู่ความสำเร็จได้อย่างไม่ยากเย็น