เลี้ยงลูกน้อยอย่างไรให้เป็นนักอ่าน
คงจะได้ยินว่า การอ่านหนังสือมีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กขนาดไหน โชคดีเป็นของคุณพ่อคุณแม่เพราะมีการศึกษาออกมาแล้วว่า เราควรเลี้ยงลูกในแต่ละช่วงวัยอย่างไรให้เขาโตมาเป็นนักอ่าน
เริ่มตั้งแต่เจ้าตัวน้อยยังเล็กๆ
ถึงเวลาปัดฝุ่นนิสัยรักการอ่านของผู้ปกครองแล้ว พยายามหาเวลาจากตารางงานที่วุ่นวายกลับมาอ่านหนังสือเยอะๆ เพราะหากต้องการเลี้ยงลูกให้เป็นนักอ่าน พ่อแม่เองก็ต้องเป็นนักอ่านด้วย
เด็กน้อยแรกเกิด (Newborns)
ไม่ต้องรอให้ลูกพลิกตัวได้ก่อนค่อยอ่านหนังสือให้ฟังหรอกนะ จริงๆ แล้วเด็กแรกเกิดสามารถได้รับประโยชน์มากมายจากการ “ฟัง” หนังสือที่คุณอ่าน ลองทำวิธีเหล่านี้
อ่านออกเสียงดังๆ: เลือกหนังสืออะไรก็ได้ที่ผู้ปกครองสนใจ ไม่ว่าจะเป็นตำราอาหารหรือนวนิยายเล่มโปรดแล้วอ่านออกเสียงให้ลูกฟัง เนื้อหาของหนังสือไม่ได้มีความสำคัญกับเด็ก แต่สิ่งที่สำคัญคือเสียงที่คุณเปล่งออกมา จังหวะจะโคนในการอ่าน และคำศัพท์ต่างๆ ต่างหาก งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า คำศัพท์ต่างๆ ที่เด็กได้เรียนรู้ตั้งแต่ยังเล็ก มีผลสำคัญต่อการพัฒนาภาษาและนิสัยรักการอ่านในอนาคต แต่ต้องอย่าลืมว่า ภาษาต้องมีความสดใหม่ผ่านการพูดหรืออ่านให้เด็กฟังกับตัวเด็กเอง ดังนั้น การเปิดโทรทัศน์หรือ audiobooks ให้เด็กฟังจึงอาจจะไม่ได้ผลลัพธ์เท่ากับการอ่านหนังสือให้เด็กฟังเอง
ให้ลูกได้ใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ: เมื่อเราอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ลูกจะเรียนรู้ว่าการอ่านหนังสือเป็นเรื่องที่สนุก แถมยังได้ฝึกการใช้สัมผัสต่างๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น การได้จับกระดาษ การได้ดมกลิ่นกระดาษ การเห็นภาพต่างๆ ในหน้าหนังสือและการได้ยินเสียงพ่อกับแม่ตอนอ่านหนังสือให้ฟัง
สนใจลูกน้อยในระหว่างที่คุณอ่านให้เขาฟัง: พยายามสบตาลูกไปด้วยระหว่างที่อ่านหนังสือให้เค้าฟัง หลายครั้งอาจจะดูเหมือนลูกไม่ได้ฟังอยู่ แต่จริงๆ แล้วเขากำลังซึมซับประสบการณ์ใหม่ๆ เหล่านี้เข้าไป จนนิสัยรักการอ่านหนังสือจะกลายเป็นความชอบที่ติดตัวเขาไปตลอด
พยายามสนับสนุนให้ลูกออกเสียง: ลูกน้อยอาจจะพยายามออกเสียงตามในระหว่างที่คุณพ่อคุณแม่อ่าน นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมหนังสือเด็กหลายๆ เล่มจึงมีเสียงของสัตว์หรือเสียงอะไรก็ตามที่อาจฟังดูไม่มีความหมาย แต่ง่ายต่อการออกเสียงเลียนแบบ หากลูกน้อยพยายามออกเสียง คุณก็ควรโต้ตอบกับเขา แม้มันจะฟังแล้วไม่มีความหมาย แต่ถือว่าเป็นการพัฒนาการสื่อสารของลูกที่ดีมากๆ
เด็กน้อยวัยหัดเดิน (Toddlers)
การอ่านหนังสือมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการทางอารมณ์ สังคมและความเฉลียวฉลาดของเด็ก เมื่อผู้ปกครองอ่านหนังสือกับลูกในวัยหัดเดิน พวกเขาจะสามารถรับรู้ทุกสิ่งเพื่อมาสั่งสมเป็นประสบการณ์ของตัวเอง ทั้งคำศัพท์และโครงสร้างภาษา ตัวเลขและหลักคณิตศาสตร์ สีสันและรูปทรง สัตว์และธรรมชาติ การวางตัวและกิริยามารยาท รวมไปถึงข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับโลกใบนี้ เมื่ออ่านออกเสียงให้เขาฟัง เด็กจะเชื่อมโยงหนังสือเข้ากับสิ่งที่เขาคุ้นเคย เช่น เสียงอันอ่อนโยนของคุณ และการอ่านหนังสือด้วยกันยังเชื่อมคุณกับเขาให้ใกล้ชิดกันมากขึ้นอีกด้วย ความใกล้ชิดต่างๆ นี้จะช่วยสร้างความรู้สึกเชิงบวกให้เด็กกับหนังสือต่อไปในอนาคต
อย่าลืมว่า
การอ่านเกิดขึ้นได้ทั้งวัน: พ่อแม่จะคุ้นเคยกับการอ่านหนังสือให้ลูกฟังก่อนนอน แต่จริงๆ แล้ว การอ่านหนังสือให้ลูกฟังตอนกลางวันด้วยก็มีประโยชน์ไม่น้อย เพราะมันจะช่วยให้ลูกได้หยุดพักและสามารถรวบรวมสมาธิได้ดียิ่งขึ้น
ดูว่าลูกชอบอ่านหนังสือประเภทไหน: บางทีลูกอาจไม่ได้ชอบอ่านหนังสือแบบที่คุณเคยชอบตอนคุณอายุเท่าเขา ดังนั้น ควรเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความเห็นว่า เขาชอบหรือไม่ชอบอะไรในหนังสือเล่มที่อ่านอยู่ และหากพบว่าเขาชอบหนังสือเกี่ยวกับอะไรเป็นพิเศษก็พยายามหาหนังสือคล้ายๆ กันมาอ่านให้ฟังอีก
ลูกและคุณพ่อคุณแม่ควรมีส่วนร่วมในการอ่านหนังสือพอๆ กัน: แม้ลูกจะอ่านยังอ่านเองไม่ได้ แต่การอ่านหนังสือด้วยกันเด็กจะยิ่งรู้สึกสนุกและรักการอ่านยิ่งขึ้น เช่น หากลูกไม่ชอบให้คุณทำเสียงสัตว์ประหลาด คุณก็ควรหยุดทำ จำไว้ว่า แม้คุณพ่อคุณแม่จะอ่านให้เขาฟัง แต่ช่วงเวลานี้ก็เป็นช่วงเวลาการอ่านของเขาเช่นกัน ผู้ปกครองอาจจะให้เขาได้มีส่วนร่วมด้วยการพลิกหน้ากระดาษเอง เพื่อทำให้เขารู้สึกว่าเขามีส่วนสำคัญในการอ่านหนังสือนี้ด้วยเช่นกัน
ยอมให้ลูกขัดจังหวะ: หากลูกขัดจังหวะโดยการถามคำถามหรือแสดงความเห็นใดๆ ขึ้นมา ผู้อ่านควรหยุด ฟัง และพยายามโต้ตอบ เพราะเท่ากับว่า เขากำลังพยายามจะมีส่วนร่วม ไม่ควรบอกลูกว่า “อย่าเพิ่งถาม รอให้พ่อ/แม่อ่านหน้านี้จบก่อนนะ” ควรให้ลูกถามคำถามอีกครั้ง และหากเขาไม่สามารถถามออกมาเป็นคำถามได้ คุณพ่อคุณแม่ควรให้เขาพยายามอธิบายหรือชี้จากภาพที่เขาเห็นแทน
เปิดโลกของเขาให้กว้างขึ้น: บางครั้งเด็กในวัยหัดเดินจะติดอยู่กับหนังสือบางเล่มหรือตัวละครบางตัว คุณควรเปิดโลกของเขาให้รู้จักกับเรื่องที่อาจดูไกลตัวหรือไม่เคยรับรู้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็น ธรณีวิทยา ประวัติศาสตร์ ศิลปะ หรือชีวิตของคนต่างประเทศหรือต่างวัฒนธรรม เด็กในบางช่วงวัยเมื่อโตขึ้นจะสนใจแต่ตัวละครที่เป็นเพศเดียวกับตนเท่านั้น ผิดกับเด็กในวัยหัดเดินที่เปิดรับทุกอย่าง ดังนั้น ควรฉวยโอกาสนี้ สอนให้เค้ารู้จักทัศนะของคนทั้งสองเพศอย่างเท่าๆ กัน
เลือกหนังสือให้หลากหลาย: เด็กทุกคนจินตนาการตัวเองตามหนังสือที่อ่าน หากลูกของคุณมีลักษณะที่แตกต่างไปจากเด็กส่วนใหญ่ในสังคมที่อาศัยอยู่ เช่น สีผิวหรือเชื้อชาติ คุณควรหาหนังสือที่มีตัวละครที่มีลักษณะคล้ายๆ กับลูกของคุณ และในทางกลับกัน หากลูกของคุณอยู่ในคนกลุ่มใหญ่ของสังคม คุณก็ควรหาหนังสือที่ทำให้เค้าได้เรียนรู้คนที่มีสีผิวหรือหน้าตาต่างจากเขาด้วยเช่นกัน เพราะการแนะนำให้เด็กได้รู้จักกับความแตกต่างหลากหลายผ่านหนังสือ ถือเป็นการเตรียมตัวให้เขาสามารถปรับตัวอยู่ในสังคมได้ง่ายขึ้นต่อไป
แหล่งข้อมูลจาก: https://www.nytimes.com/guides/books/how-to-raise-a-reader
Photo by Picsea on Unsplash