เลคเชอร์เรื่องงานและอนาคตในเส้นทางดนตรี โดยรุ่นพี่นักดนตรีมืออาชีพ
หลายๆ คน มีความฝัน และหนึ่งฝันนั้น ก็คือการเป็นนักดนตรี และคงจะดีไม่น้อยหากเราได้เรียนรู้ในสิ่งนั้นๆ เพื่อก้าวสู่เส้นทางสายนี้ โดยอุทยานการเรียนรู้ TK park ได้จัดเสวนา ในหัวข้อ “วงการดนตรีไทยในปัจจุบัน และการเติบโตในสายอาชีพดนตรีต่อไปในอนาคต” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ได้รับเกียรติจากวิทยากรจากโครงการแจ้งเกิดดนตรี TK Band 10 สถาปัตย์ ธีรนิตยภาพ (ตั้ม Monotone), ประภพ ชมถาวร (กอล์ฟ Superbaker), ศิวโรจน์ จิตตนิยมพาณิชย์ (มิน Minerva Studio), วรวรรธน์ วิวรรธน์วณิชย์ (แกรนด์ จาก Grand Studio) และ ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี (พาย ฟังใจ) ร่วม พูดคุยกันเรื่องการทำงานและอนาคตในเส้นทางดนตรี
มุมมองความคิดเกี่ยวกับอาชีพสายดนตรีว่ามีแนวโน้มดีขึ้นไหม
ตั้ม Monotone : อาชีพสายดนตรีมีหลายอย่าง และกว้างมาก และแต่ละสายงานก็จะมีการพัฒนาในตัวเองไปเรื่อยๆ ผมอยากให้เห็นภาพกว้างว่า ไม่ได้มีแค่นักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์เท่านั้น ผมรู้จักน้องคนหนึ่งที่เป็น AR ดูแลศิลปิน มาตั้งแต่เขาเด็กๆ แล้ววันหนึ่งเขาก็เจริญเติบโตในสายดนตรี
กอล์ฟ Superbaker : ถ้าให้พูดจากประสบการณ์ที่ได้สอนมา เราก็จะเห็นเด็กคนหนึ่งที่เริ่มมาเส้นทางสายนี้ บางคนก็ได้ไปต่อ บางคนก็เลี้ยวไปทำอย่างอื่น ถามว่าดีขึ้นไหม สำหรับเรามองว่าไม่ได้ถอยหลัง เพราะว่ารายได้ของฝั่งดนตรี ก็อยู่ที่วัดจากหน่วยไหนด้วย สมมุติเราชอบเล่นดนตรีมาก ก็มีคนที่รวยกับมัน แต่ว่าก็ต้องเล่นแบบจริงจังกับมัน กลับกันก็มีอาชีพที่อย่างไรก็มีงาน ก็คือ ช่างซ่อมต่างๆ หรือใครก็ตามที่ทำงานเกี่ยวกับเส้นทางดนตรีก็มีมาก พูดง่ายๆ ก็คือมันมีทางเลี้ยงชีพกับความชอบดนตรีได้
มิน Minerva Studio : ในสายดนตรี มีทั้งคนที่ไปได้ และไปไม่ได้ จริงๆ ขึ้นอยู่กับว่าเราชอบอะไรก่อน ถ้าเกิดเราชอบเล่น เราจะทำอย่างไรให้ไปรอดกับการเล่น หรือถ้าเราชอบทำเบื้องหลัง ชอบเขียนเนื้อ ชอบทำดนตรีให้ศิลปิน ก็มีคนรอดในสายทางนี้เหมือนกัน ผมว่าทุกอาชีพสามารถรอดได้ทั้งหมด แต่อยู่ที่เราทำแล้วชอบแล้วไปได้ดีหรือเปล่า
แกรนด์ Grand Studio : ยุคนี้เป็นยุคแห่งความเป็นไปได้ที่สุด ใครก็สามารถทำได้ โอกาสเป็นของทุกคน มีพื้นที่สื่อของตัวเองหมดทุกคน แต่ผมว่าอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ ต้องรู้จุดแข็ง จุดอ่อน รู้ข้อจำกัดของตัวเองก่อนว่าเราไม่เท่าเขาอย่างไร ต่างกับคนอื่นอย่างไร แล้วก็ปรับวิถีให้เป็นแบบของเราเอง
วิธีการอยู่รอดในเส้นทางดนตรี
มิน Minerva Studio : ต้องรีบหาว่าเราชอบอะไร พอเจอแล้วจะได้มุ่งไปในสิ่งที่ชอบตั้งแต่แรก เพราะแน่นอนเมื่อเราชอบอะไร ต้องทำงานหนักกับมันอยู่แล้ว อย่างอาชีพผม ก็ต้องใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมา สังเกตดูว่า ดนตรีรอบๆ เราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เพราะแต่ละปีการทำงานเราก็อาจไม่เหมือนเดิม เราต้องเปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยนให้ทันดนตรีที่เปลี่ยนไป พอเราพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ก็จะมีทางของมันเอง คนก็รับรู้และก็เห็น
แกรนด์ Grand Studio : นอกจากฝีมือที่ทุกคนต้องพัฒนาอยู่แล้ว ผมว่าอีกอย่างคือเราต้องเสนอความเป็นตัวเรา อย่างเปิดรับ
ตั้ม Monotone : เราต้องมองตัวเองว่าสิ่งที่เราชอบ สามารถแลกอะไรกับสิ่งนั้นได้ไหม เราอาจต้องเพียรพยายามกับมันให้มาก แต่อย่างที่มินบอกว่าแต่ละปีก็ทำงานไม่เหมือนเดิม ผมอยากให้มองว่าพรุ่งนี้ก็เปลี่ยนแล้ว สมมุติเราอยากเป็นยูทูเบอร์ด้านดนตรี แล้วเราก็ทำมันเดือนละครั้ง ซึ่งอาจยังไม่ถี่พอ หรือเราอยากนำเสนอเพลงที่เราแต่ง แต่ไปรอให้มันฮิตก่อนแล้วค่อยทำเพลงใหม่ นี่ก็เสียเวลาเปล่าๆ คือผมมองว่าถ้ามีไฟก็ทำเลย หรืออย่างงานทำเพลงโฆษณาแบบ ผมก็จะพยายามจำลองให้น้องๆ เหมือนอยู่ในสนามจริง ว่าเราเป็นดีไซน์เนอร์ก็จริง แต่เราก็ดีไซน์ได้ประมาณหนึ่ง แล้วความไม่สนุกของการเป็นศิลปินที่เราต้องมาทำงานตามกรอบ มันมีอยู่จริง อย่างคอมเม้นต์บางอย่างที่เขาอาจไม่ชอบที่ผมคอนเมนต์เลย แต่มันคือโลกความจริง ที่เมื่อคุณเรียนจบไปแล้ว ถูกผลิตออกมาให้มาทำงานเพลงโฆษณา คุณก็จะเจอแบบนี้แหละ
กอล์ฟ Superbaker : ก็อยู่ที่ว่าเราอินจริงหรือเปล่า คนไม่อินจริงทำเหมือนว่าอินจริง ก็จะได้ถึงจุดหนึ่งก็จะท้อ แล้วก็จะมีอะไรสารพัดที่มาบอกว่า วันนี้อุกกาบาตตก วันนี้ PM 2.5 ก็ไม่มีทางออกไปทำอะไร แต่คนที่อินจริง เรื่องพวกนี้ไม่มีผลกระทบอะไรกับเขาเลย จะหมกมุ่น เจาะลึก มีความลงทุนกับตัวเองเยอะมาก ผมว่าถ้าจะแข่งขัน ก็ต้องลงทุนในตัวเอง แต่ปัญหาหลักก็คือคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ผมว่ามีทางเดียวก็คือต้องลองทำให้เยอะที่สุด
ความรู้ที่ต้องขวนขวายเพิ่มเติมในสายงานดนตรี
กอล์ฟ Superbaker : ผมคิดว่าถ้าเราเชื่อว่าทุกอาชีพเหมือนกัน ต่างกันแค่เครื่องมือ จะสนุกมาก เช่นดูรายการ Chef's Table ไม่ใช่คนทำอาหารอร่อยนะ แต่คือจอมยุทธในด้านนั้นๆ แล้วเราก็จะรู้เลยว่าจะมาปรับใช้อย่างไร คือเปิดรับหลายๆ ด้าน ยิ่งฝั่งที่มีลูกค้า แน่นอนการบริการทุกคนต้องมี เชื่อมสัมพันธ์ จิตวิทยาอะไรแบบนี้
ตั้ม Monotone : ควรเป็นมนุษย์ที่เปิดกว้างหน่อย เปิดกว้าง แล้วรับสื่อทุกทาง แล้วสามารถประยุกต์ในชีวิตได้จริง คือเก่งด้านเดียวก็ได้ แต่ก็ต้องลงลึก แต่ด้านอื่นก็ต้องเปิดรับด้วย อย่างเรื่องหนึ่งที่ทุกคนต้องรู้ อย่างตอนผมเริ่มตั้งบริษัท ก็คือ เรื่องบัญชี เพราะเรื่องพวกนี้เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย
มิน Minerva Studio : เราควรต้องรู้ระดับหนึ่งว่าคนที่เราทำงานด้วยเขามีพื้นฐานอย่างไร เราอาจต้องคุยกับเขาในด้านอื่นๆ บ้าง ในแบบมนุษย์กับมนุษย์ และเวลาที่ต้องเกิดการโต้แย้งกันขึ้น เช่นเราคิดว่าไลน์ประสานอันนี้ไม่เวิร์ค แต่ตัวโปรดิวเซอร์คิดว่ามันเวิร์ค เราก็ต้องมีเหตุผลมารองรับด้วยว่าเพราะอะไร หรือไม่ก็ลองเป็นออฟชันที่หนึ่ง ที่สอง
แกรนด์ Grand Studio : สำหรับผมคิดว่ายุคนี้เป็นยุคที่ทุกคนต้องเสริมมากกว่าเรื่องเครื่องมือของตัวเอง อย่างมือกีต้าร์ ก็อาจไม่ใช่โฟกัสแค่กีต้าร์อย่างเดียว บางทีต้องเข้าใจเสียงเบื้องต้น เรื่องการเรียบเรียงเบื้องต้นบ้าง แล้วการทำงานจะสนุกหลากหลายขึ้น และทำงานกับคนอื่นได้ง่ายขึ้น
วิธีการจัดการอัลบั้มของตัวเองให้อยู่ในโทนเดียวกัน
ตั้ม Monotone : แต่ละเพลงที่เราแต่งแล้วไม่เข้ากัน อาจจะเริ่มจากความสนใจแต่ละช่วงเวลาไม่เท่ากัน แต่จริงๆ แต่ละเพลงที่เสร็จอาจจะดีในทิศทางของมันอยู่แล้วก็ได้นะ แล้วอาจถูกเชื่อมด้วยบางอย่างที่ทำให้แต่ละเพลงร้อยเรียงกัน ก็ได้ คือคอนเซ็ปต์อัลบั้ม บางทีเพลงไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเลยก็ได้ แต่ถ้าอยากให้มันเหมือนกันก็ต้องถอดชิ้นส่วน
กอล์ฟ Superbaker : ต้องมีซาวน์อะไรบางอย่างร่วมกันอยู่ เหมือน Red Hot Chili Peppers ที่บางเพลงเป็นฟังก์ บางเพลงไม่ฟังก์ ก็ยังฟังรู้ว่าใช่วงนี้ เป็นซาวน์ของเขา การเล่นของเขา หรือเราอาจเอาแนวของบางกลิ่นนั้นมา แล้วใส่กับแนวเราที่ชัดเจน แล้วจะกลายเป็นของใหม่ด้วย ลองหาจุดร่วม เอาชิ้นส่วนบางชิ้นออก ชิ้นที่กวนจริงๆ
สุดท้ายสำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ TK Band โครงการที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้ขั้นตอนงานเพลงอย่างแท้จริงกับพี่ๆ มืออาชีพในวงการ ตั้งแต่การแต่งเพลง ผลิตผลงานเพลง การเล่นดนตรี การแสดงดนตรี การทำงานกับโปรดิวเซอร์ ตลอดจนการวางแผนการตลาด เพื่อเพิ่มศักยภาพในทุกด้านทั้งความรู้ ประสบการณ์สู่เส้นทางสายอาชีพที่ตัวเองรัก สามารถสมัครได้แล้วตั้งแต่วันนี้ ถึงสิ้นเดือนมีนาคม สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง http://www.tkpark.or.th