คุยกับภูมิ-วิภูริศ ศิริทิพย์ ถึงการส่งออกดนตรีไปต่างประเทศ
ภูมิ-วิภูริศ ศิริทิพย์ นักดนตรีหนุ่มไทยวัย 22 ปี ที่เพิ่งย้ายกลับมาจากนิวซีแลนด์ไม่กี่ปี เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาควบคู่ไปกับการเล่นดนตรี จนเกิดผลงานเพลงที่มีความโดดเด่นน่าสนใจ หลังจากเพลง Long Gone ในอัลบั้ม Manchild (2017) ของเขาถูกส่งต่อกันผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก จนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ตามด้วยเพลง Lover Boy ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานเพลงของเขาที่เต็มไปด้วยสไตล์เฉพาะตัว จนเรียกได้ว่าเขาเป็นนักดนตรีหนุ่มมืออาชีพ ที่ทำให้นักฟังเพลงโลกหันมาสนใจเพลงไทยที่ถูกส่งต่อผ่านเนื้อร้องภาษาอังกฤษไปสู่ทั่วมุมโลก
อุทยานการเรียนรู้ TK park ได้เปิดเวทีสำหรับเยาวชนที่สนใจด้านดนตรีได้ร่วมพูดคุยกับ ภูมิ-วิภูริศ ศิริทิพย์ โดยมี ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี (พาย ฟังใจ) มาร่วมเป็นวิทยากร ในหัวข้อ “การส่งออกดนตรีไปต่างประเทศ”
ไม่ได้ตั้งเป้าหมายแต่แรกว่าจะต้องส่งดนตรีออกไปสู่ต่างประเทศ
“พอภูมิได้มีโอกาสเป็นศิลปิน ตอนนั้นรู้สึกดีใจ ที่ได้ทำเพลงมีผลงานที่เป็นภาษาที่ตัวเองใช้ ได้มีคอนเทนต์ ได้ลงในโลกออนไลน์ ไม่ได้ตั้งเป้าไว้ว่าวันหนึ่งเราจะได้ไปเล่นในแต่ละทวีปที่เราได้ไปมา อัลบั้มแรกภูมิใช้เวลาทำประมาณ 5 ปี คือค่อยๆ ทำ เพราะตอนนั้นภูมิใช้เวลากับการเรียนมากกว่าโฟกัสว่าเรามีดนตรีที่ต้องทำให้เสร็จในปีนี้ ภูมิจะกลับไปแต่งเพลงในช่วงที่เรามีแรงบันดาลใจจริงๆ แล้วช่วงนั้นภูมิก็เพิ่งย้ายกลับมาเมืองไทย เลยยังไม่รู้ว่าที่ไทยมีค่ายอะไรบ้าง พอเจอ Rats Records ก็เข้าไปดู ก็เจอว่าเป็นค่ายที่ทำให้เพลงศิลปินไทยนี่แหละ ที่ชอบแต่งเพลงภาษาอังกฤษ ซึ่งก็ตรงกับภูมิที่สุด แล้วก็เป็นบ้านของภูมิในปัจจุบัน”
การส่งออกเพลงไทยไปต่างประเทศไม่จำเป็นต้องร้องเพลงเป็นภาษาอังกฤษ
“ภูมิไม่เคยคิดว่าเพลงจะไปนอกประเทศได้ ต้องเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาไทย จริงๆ เป็นเพลงที่ไม่มีเนื้อร้องเลยก็ได้ แค่ขอให้มีความเป็นตัวเอง เช่นวงเครื่องบิน (Khruangbin) จากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีกลิ่นอายของหมอลำ และกำลังทัวร์รอบโลกอย่างจริงจัง เป็นวงที่แทบไม่มีเนื้อร้องเลย นี่เป็นหนึ่งวงที่แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากเพลงหมอลำบ้านเรา แต่เล่นโดยต่างชาติ 3 คน ที่ไปเล่นทั่วโลก ถึงแม้ภาษาอังกฤษยังเป็นภาษาสากล ซึ่งก็อาจจะง่ายขึ้นที่จะได้สื่อสารกับพวกเขา แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นภาษาอังกฤษ เช่นวงบอยแบรนด์ วงเกาหลีที่ดังไปทั่วโลก”
ศิลปินไทยสามารถสร้างผลงานที่ไม่ได้อยู่แค่ในไทย แต่ดังไปไกลถึงต่างแดนได้
“สำหรับภูมิคิดว่าไม่จำเป็นที่ศิลปินต้องดังในประเทศตัวเองก่อน เพราะไม่ว่าเราจะทำเพลงแนวไหน เราเลือกไม่ได้เลยว่าใครจะเป็นคนฟังเพลงเรา มันเป็นสิ่งที่ภูมิได้เรียนรู้ตั้งแต่ตอนทำเพลงเป็นซิงเกิ้ลแรกในประเทศไทย มันเลือกไม่ได้ว่าวันหนึ่งเราจะดังก่อนในประเทศไทย หรือเราจะมีคนตามในอินโดนีเซียก่อน ภูมิว่าไม่ต้องไปคิดถึงตรงนั้นบ้างก็ได้ ถ้าคุณเป็นนักดนตรีที่อยากจะสร้างสรรค์ผลงาน ก็ทำในสิ่งที่คุณชอบไปแสดงความเป็นตัวเอง แล้วมันจะดึงคนที่มุมมองคล้ายๆ คุณ เข้ามาเป็นกลุ่มนักฟังเพลงตัวจริงของเราเอง”
สิ่งที่ศิลปินควรทำเพื่อไปเล่นในต่างประเทศ
“การที่เราจะได้ไปเล่นในต่างประเทศได้ ค่อนข้างยาก ไหนจะค่าตั๋วทั้งเราและคนในทีม แล้วก็ความยากของการขอวีซ่าทำงาน แต่ภูมิว่ามันก็อยู่ที่คอนเทนต์ของตัวศิลปินเอง ว่าเพลงที่เราออกไป มีกลุ่มคนฟังที่เราอยากจะไปหรือเปล่า อย่างเคสภูมิโชว์แรกที่ได้ไปคือ Luc Fest ที่ไต้หวัน ก่อนที่เราจะรู้ด้วยซ้ำว่าว่าเรามีกลุ่มคนฟังตรงนั้น แล้วเราได้เจอคนจัดเฟสติวัลหลายคน และคุยกับคนที่เป็น co-founder ของงานนั้น จนเรารู้ว่าเราควรมี international tour agent คนกลางที่คอยคุยระหว่างคนที่เขาสนใจพาเราไปเล่น เขาจะเชื่อมทุกอย่างให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งสำหรับศิลปินทุกคนที่อยากไปทัวร์ต่างประเทศ และมีโอกาส โอกาสที่ดีก็คือการไปมิวสิคเฟสติวัล ต่างๆ ที่จัดขึ้นทั่วมุมโลก อย่าง Luc Fest เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้ไปสร้างคอนเนคชันใหม่ๆ กับคนทั่วโลก”
ประสบการณ์การทัวร์ต่างประเทศ ไม่ได้สวยงามกว่าที่หลายคนคิด
“จริงๆ การทัวร์ต่างประเทศ ไม่ได้สวยงาม แต่เป็นอะไรที่เหนื่อยมาก บางงาน เราไปทัวร์ คนอาจยังไม่เข้าใจว่าเราคือใคร แล้วการไปทัวร์แต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน แต่ว่าก็ประสบการณ์ที่ดีมาก ได้เรียนรู้ว่าโลกดนตรีมันกว้างมาก ในขณะเดียวกันก็เหนื่อยมาก การเตรียมตัวไปทัวร์เมืองนอกสำหรับภูมิ คิดว่าอย่างแรกเลยคือต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และก็เอาของไปให้น้อยที่สุด เพราะเราต้องแบกทุกอย่างเองทั้งหมด ข้อสุดท้ายก็คือการไปทัวร์ต่างประเทศอาจเป็นโอกาสครั้งเดียวในชีวิตที่ได้ทำอะไรแบบนี้ ฉะนั้นเล่นให้เต็มที่ เล่นให้สนุก คือทุกๆ ที่ ที่ภูมิไปเล่นมา อาจไม่ใช่ทัวร์ที่เพอร์เฟค แต่ทุกครั้งมันจะเป็นอะไรที่สนุกมาๆ เพราะเรารู้ตัวว่าพรุ่งนี้เราอาจไม่ได้เล่นที่โปแลนด์ หรือเกาลีอีกแล้ว”