Internet of Things: เชื่อมโลก เชื่อมอนาคต
เทคโนโลยีการเชื่อมต่อ
หากจะกล่าวถึงการใช้ชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบัน อาจต้องยอมรับว่า เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ กำลังเข้ามามีส่วนร่วม กำหนดความต้องการ รวมถึงวิธีที่เรามีความสัมพันธ์กับคนรอบตัวมากขึ้นเรื่อยๆ
แม้เราจะเข้าใจระบบอินเทอร์เน็ต ว่าเป็นกระบวนการสื่อสารรูปแบบหนึ่ง รองศาสตราจารย์ ดร.วิวัฒน์ มีสุวรรณ์ ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ความเข้าใจดังกล่าว อาจยังไม่ครอบคลุม และไม่ได้สะท้อนอิทธิพลของอินเทอร์เน็ตได้ดีเท่าไรนัก “เวลาพูดถึงระบบอินเทอร์เน็ต คนมักจะเน้นไปที่การสื่อสารผ่านโครงข่าย หรือตัวกลางแบบใดแบบหนึ่ง แต่ความจริงแล้ว อินเทอร์เน็ตมีความหมายมากกว่านั้น ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเรามากกว่านั้น และอาจสร้างผลกระทบที่เราเองก็คาดไม่ถึง”
รองศาสตราจารย์ ดร.วิวัฒน์ กล่าวเสริมว่า ความหมายของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านโครงข่าย ที่คนทั่วไปมักเข้าใจตรงกันคือ ทุกอย่างเริ่มต้นจากผู้ให้บริการ หรือผู้ปล่อยสัญญาณ ก่อนจะเชื่อมต่อสัญญาณผ่านตัวกลาง หรือเซิร์ฟเวอร์ผู้ให้บริการ และปล่อยสัญญาณเข้าอุปกรณ์ต่างๆ เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือคอมพิวเตอร์ แต่ความจริงแล้ว หากเจาะลึกลงไปที่กระบวนการเชื่อมต่อ และพยายามจำแนกออกมาให้ละเอียดมากขึ้น เทคโนโลยีภายใต้โครงข่ายอินเทอร์เน็ต ยังสามารถแบ่งออกมาอีก 3 ลักษณะด้วยกัน คือ
1. การเชื่อมต่อข้อมูลด้วยเทคโนโลยีไร้สาย (Wireless technologies) เป็นเทคโนโลยีที่เราต่างรู้จักกันดี ระบบไร้สายเป็นการเชื่อมต่อข้อมูลผสมผสานระหว่างคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เป็นคลื่นพาหะ (Radio Frequency: RF) และคลื่นอินฟราเรด (Infrared) ที่เป็นตัวกลางในการรับ - ส่ง ข้อมูลระหว่างคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อื่นๆ
ระบบไร้สายนี้ถูกพัฒนาขึ้นมา เพื่อลดความยุ่งยาก ในการใช้อุปกรณ์ต่อพ่วง และช่วยตัดปัญหาเรื่องความจำกัดของช่องสัญญาณข้อมูล ซึ่งโดยภาพรวม มันยังทำให้โครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อกันทั่วโลกมีเสถียรภาพมากขึ้นหลายเท่าตัวด้วย
2. ไมโครเทคโนโลยี (Micro-Electro-Mechanical) เทคโนโลยีลักษณะนี้ จะเกี่ยวข้อง และประกอบด้วยการรวมกันของอนุภาคที่เล็กมากๆ (ประมาณ 0.001-0.1 มิลลิเมตร) อีกทั้งประกอบด้วยไมโครเซนเซอร์ ที่ทำให้ตัวต่อสัญญาณทำงานกับอุปกรณ์อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3. ไมโครเซอร์วิส (Microservices) การออกแบบสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ออกเป็นหน่วยย่อยๆ ที่จะช่วยให้ระบบอินเทอร์เน็ตมีการจัดเก็บข้อมูล แก้ไข ประมวลผลข้อมูลตามหน่วยข้อมูลย่อยได้อย่างเป็นระบบ อีกทั้งเชื่อมต่อกับหน่วยรับข้อมูลภายนอกได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ความโดดเด่นของไมโครเซอร์วิส ก็คือการออกแบบหน่วยข้อมูลย่อยที่มีอิสระต่อกัน ดังนั้น หากหน่วยข้อมูลมีความเสียหาย ด้วยระบบไมโครเซอร์วิส จึงทำให้เราสามารถปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และเคลื่อนย้ายข้อมูลได้สะดวกมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น มันยังรองรับการถ่ายโอนข้อมูลขนาดใหญ่จากผู้ใช้งานจำนวนมากได้อีกด้วย
อินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง
โครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่แพร่หลายไปทั่วโลก ด้วยเทคโนโลยีที่หลากหลาย ทำให้เราเห็นภาพมากขึ้นว่า เมื่อนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ มาผสานเข้ากับวิถีการใช้ชีวิตของมนุษย์แล้ว การเชื่อมต่อลักษณะนี้ สามารถนำไปสู่เป้าหมายการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ยกระดับเทคโนโลยี อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงนวัตกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยี และระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองได้อย่างไร และอาจรวมถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีเอง ที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยมนุษย์เป็นสื่อกลางด้วยเช่นกัน
อาจารย์ วิวัฒน์ กล่าวว่า “ความจริงแล้ว แนวคิดเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง เกิดขึ้นมานาน ตั้งแต่ปี 1999 ซึ่งคนที่พูดเรื่องนี้เป็นคนแรกในแวดวงวิชาการคือ Kevin Ashton เขาได้นิยามไว้ว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เทคโนโลยีการเชื่อมต่อต่างๆ ทั้งสิ่งที่อยู่บนโครงข่ายอินเทอร์เน็ต และสิ่งที่เป็นการเชื่อมต่อรูปแบบอื่น ได้พัฒนาตัวมันเองไปถึงจุดหนึ่ง จะทำให้สรรพสิ่ง หรือวัตถุต่างๆ (Things) บนโลกสามารถมีปฏิสัมพันธ์เชื่อมต่อกับมนุษย์ได้ และเกิดเป็นการเชื่อมโยงของทุกอย่างจนกลายเป็นสิ่งเดียวกัน”
ในแง่นี้ หากจะเข้าใจความหมายของ “อินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง อาจารย์ วิวัฒน์ แนะว่า เราต้องปรับมโนทัศน์ และเข้าใจสิ่งต่างๆ ว่า ทุกอย่างล้วนเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) และไม่สามารถแยกขาดออกจากกันได้ ทั้งสิ่งที่เรารับรู้ผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น เก้าอี้ โต๊ะ ความร้อน ความเย็น ต้นไม้ ฯลฯ หรือการจัดการตัวเลข หรือการจัดการข้อมูลใดๆ ก็ตาม ที่มีลักษณะกึ่งนามธรรม เมื่อเข้าใจแบบนี้แล้ว การพยายามสร้างโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อเชื่อมต่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จึงอาศัยการเก็บรวมรวมข้อมูล การจัดการ และแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างเป็นระบบ
“เราต้องเห็นความเป็นไปได้ว่า ทุกสิ่งรอบๆ ตัวเรา สามารถเปลี่ยนเป็น ‘Smart Objects’ คำๆ นี้ค่อนข้างสำคัญ บางคนอาจจะเคยได้ยินมาแล้วเกี่ยวกับไอเดียเรื่อง Smart Home หรือ Smart Classroom เป็นต้น ซึ่งความจริงสิ่งเหล่านี้ ก็คือไอเดียเรื่องของการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ที่กระจัดกระจาย และนำมันมาแปรเปลี่ยน ทำให้สามารถยกระดับชีวิตของเราได้นั่นเอง
อาจเริ่มต้นจากการค่อยๆ สร้างสภาพแวดล้อมการสื่อสาร และทำให้สิ่งต่างๆ มีความสัมพันธ์โต้ตอบซึ่งกันและกัน เช่น ระบบ RFID (Radio Frequency Identification) ที่ ทำให้เราสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ผ่านโปรโตคอล และฝังชิปเซ็นเซอร์ เพื่อใช้ระบุตำแหน่ง หรือตัวตน ของอุปกรณ์ชิ้นนั้นๆ
ลองคิดภาพว่า เราสามารถควบคุมระบบการขนส่งสินค้าได้ด้วยระบบนี้ ก็จะทำให้เราสามารถควบคุมการผลิตในโรงงาน การขายปลีกในห้างสรรพสินค้า แก้ปัญหาการสูญหายของสินค้า รวมถึงยังสร้างรูปแบบการเลือกซื้อสินค้าใหม่ ที่อาจไม่ต้องใช้คนเป็นตัวกลางเพื่อขนส่ง หรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคอีกต่อไปแล้ว ซึ่งข้อดีตรงนี้ก็คือ ช่วยลดต้นทุนการผลิตสินค้า และแก้ปัญหาการเข้าถึงสินค้าของผู้บริโภคได้ด้วย”
เพื่อสรรพสิ่ง เพื่ออนาคต
“ทีนี้ หากถามว่า แนวคิดอินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่งเนี่ย สุดท้าย มันมาเชื่อมโยงให้เราเข้าใจโลกอนาคตยังไง ก็คือมันเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คน ตั้งแต่ระดับเล็กที่สุด ไปจนถึงระดับใหญ่ คือระดับประเทศ หรือว่าทั้งโลก
หากจะกล่าวในระดับบุคคล การเชื่อมต่อปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์เข้ากับสิ่งต่างๆ มันทำให้ข้อมูลจำนวนมากส่งตรงไปยังผู้ใช้ การใช้งานบริการ และสิ่งของต่างๆ จะเปลี่ยนไปจากเดิม แบบที่ผมพูดไปเรื่อง Smart Classroom เมื่อเราเชื่อมต่อการสอนเข้ากับผู้เรียนที่อยู่ห่างไกลได้ ภายใต้โครงข่ายของระบบอินเทอร์เน็ต มันหมายถึงการเข้าถึงโอกาสที่มากขึ้น การมองโลกของเด็กๆ ที่จะเปลี่ยนไป เขาเห็นช่องทาง เห็นความเป็นไปได้ที่จะทำให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้น
หรือเรื่องการเชื่อมต่อข้อมูลความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือดของคนไข้แต่ละคน ที่ต่อไปนี้ คุณหมออาจจะสามารถติดตามข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์และพัฒนาวิธีการรักษาต่างๆ ได้แบบเรียลไทม์มากขึ้น หรือการแจ้งอุบัติเหตุผ่านเซนเซอร์ที่ติดบนยานพาหนะ ก็จะทำให้การรายงานอุบัติเหตุเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น
นอกจากนี้ ลองคิดภาพ Smart Home ที่เกิดขึ้นได้จริง ด้วยการใช้ต้นทุนต่ำ อย่างเช่นการติดเซ็นเซอร์ที่ตอบรับการปรับอุณหภูมิ เปิด-ปิด ไฟภายในบ้าน เครื่องปรับอากาศ หรืออะไรพวกนี้ นอกจากมันจะทำให้เราสะดวกสบายมากขึ้น ในบ้านที่มีบุคคลทุพลภาพ หรือผู้สูงอายุ คนเหล่านี้ก็จะได้ประโยชน์มากๆ จากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปแบบนี้
ในระดับรัฐบาล หากเราสามารถทำระบบโครงข่าย อินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่งให้เกิดขึ้นได้จริง มันก็จะทำให้การจัดสรรทรพยากรหลายๆ อย่างของเราเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หลักๆ ที่เห็นได้ชัดก็คือเรื่องของการคมนาคม เราอาจยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ ที่ใช้ระบบบรรยายสภาพการจราจรกับรถแท็กซี่ หรือมีเซ็นเซอร์ที่คอยจัดส่งข้อมูลไปยังศูนย์กลางของเครื่อข่าย เพื่อวิเคราะห์ จัดการสัญญาณไฟจราจร และเลือกเส้นทางที่เหมาะสมที่สุด เป็นต้น
ทีนี้ ถ้าถามต่อ ว่ามันเชื่อมโยงกับการพัฒนาระดับภูมิภาค หรือระดับโลกไปพร้อมกันยังไง ก็อาจกล่าวได้ว่า การเชื่อมต่อแบบอินเทอร์เน็ต ที่ทำให้คนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วเนี่ย ที่สุดแล้ว มันทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องต่างๆ ที่รวดเร็วขึ้น มันส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายในมิติต่างๆ ทั้งเรื่องของความคิด ที่อยู่อาศัย ไปจนถึงฐานะของคนคนหนึ่งด้วย ถ้าฐานะเปลี่ยน ก็แปลว่าชีวิตโดยภาพรวมของเขาทั้งหมดเปลี่ยนไปในทางที่ดีครับ” อาจารย์ วิวัฒน์ กล่าวสรุป