Cyberbullying ภัยร้ายออนไลน์ ที่หลายคนมองข้าม
โลกออนไลน์ทำให้คนธรรมดาเป็นคนดังได้ในเวลาข้ามคืน
แต่โลกออนไลน์ก็ทำให้คนธรรมดา สามารถซ่อนตัวตน เพื่อสร้างความเจ็บปวดให้กับคนอื่นได้
เมื่ออิสระอยู่ในกำมือ บางครั้งเราอาจเผลอไปรังแกคนอื่น หรือกลายเป็นคนที่ถูกรังแกบนโลกออนไลน์ ที่เรียกว่าCyberbullying ได้เช่นกัน
และเพราะการรังแกกันในโลกออนไลน์ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่สังคมจะปล่อยผ่านเลยไป ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของผลงานวิจัยเกี่ยวกับ Cyberbullying ในประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย และคุณสิทธิพงษ์ อิ่มทองใบ : เจ้าของ #เป็นทุกอย่างยกเว้นนักศึกษา ผู้ที่เคยเป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำในเรื่องของ Cyberbullying จึงมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการรังแกบนโลกไซเบอร์ที่หลายคนอาจมองข้าม
Cyberbullying คืออะไร ทำไมถึงต้องแกล้งกัน
ผศ.ดร.วิมลทิพย์: เริ่มจากคำว่า บูลลี่ (bully) ก่อน มันคือการรังแกกัน อย่างแกล้งกันในโรงเรียน พอย้ายการทำลายกันจากโลกความเป็นจริงมาในโลกออนไลน์ ถึงเรียกว่าเป็น ไซเบอร์บูลลิ่ง (Cyberbullying) ที่มีเจตนาให้อีกฝ่ายเจ็บปวด โดยทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ถ้าเราล้อเพื่อนแล้วเพื่อนไม่โอเค แล้วเราหยุด นี่คือแค่ล้อเล่น จะต่างกันตรงเจตนา ซึ่งมันมีสาเหตุมาจาก ‘Self-Esteem’ หรือ ‘ความยอมรับนับถือตัวเอง’ ของแต่ละคน ถ้าเด็กเติบโตมาด้วยการนับถือตัวเอง มีตัวตนที่แข็งแกร่ง เขาจะมีความรู้สึกสองอย่างที่ติดตัวไปจนโต คือเคารพตัวเอง และเคารพผู้อื่น เมื่อรักตัวเองมากพอจะไม่ยอมทำให้ตัวเองตกต่ำ เมื่อรักตัวเองจะเคารพผู้อื่นอัตโนมัติ เราต้องยอมรับและเคารพในตัวเอง แต่อย่าเอาไปผูกกับการเรียนว่าต้องเรียนเก่ง จริงๆ มันคนละเรื่อง มันคือความภูมิใจในตนเอง คนที่ขาดตรงนี้ พอเขาได้แกล้งใครก็จะรู้สึกดี รู้สึกเจ๋ง สูงขึ้น พอมีคนทำแบบเดียวกัน ก็กลายเป็นสนับสนุนการแกล้งกันแบบนี้ไปเรื่อยๆ
ความรุนแรงในการทำร้ายกันในโลกออนไลน์กับออฟไลน์ต่างกันอย่างไร
ผศ.ดร.วิมลทิพย์: ในโลกความเป็นจริง ถ้าเกิดชกต่อยกันก็จะมีบาดแผลทางกายและทางใจ แต่ก็รู้ว่าใครเป็นคนทำ ทำเพราะอะไร ส่วนโลกออนไลน์บางทีเราไม่รู้ตัว คนที่ถูกบูลลี่ในโลกออนไลน์ ถึงเขาจะไม่มีบาดแผลทางกายก็จริง แต่ทางใจรุนแรงนะ แล้วเขาจะเกิดความรู้สึกหวาดระแวง คนนั้นพูดถึงเราหรือเปล่า แถมยังไม่รู้ตัวคนทำแน่ๆ ว่าใคร ต้องดำเนินชีวิตแบบถูกจ้องมองอยู่ตลอดเวลา สำหรับเด็กน่ะ เพื่อนสำคัญมาก เพื่อนทำอะไรกับเรามันเรื่องใหญ่ ถ้าเราสวมรองเท้าลองเป็นเด็ก เรื่องนี้มันซีเรียสมาก
สิทธิพงษ์: ผมมีรุ่นน้องคนนึง สวยระดับดาวโรงเรียน แต่เขาไม่เล่นโซเชียลเลย มันมีสาเหตุจากที่เมื่อก่อนเขาเคยเล่นอินสตาแกรม มีคนติดตามเป็นหมื่น แล้ววันนึงเขาโพสต์รูปหน้าสดของตัวเองลงไป มีคนมาคอมเม้นท์วิจารณ์หน้าตาแบบเสียหาย ซึ่งน้องเขารับคำวิจารณ์ไม่ได้ เสียใจกับคำต่อว่าของคนอื่น ดีที่พ่อของน้องให้คำปรึกษาที่ดีมาก พ่อบอกน้องว่าทำไมต้องให้คนที่ไม่รัก ไม่รู้จัก มาตัดสินความสวยของตัวเราด้วย แต่เหตุการณ์นั้นก็ทำให้น้องเขาเปลี่ยนเป็นคนที่ไม่เล่นโซเชียลเหมือนแต่ก่อนไปเลย
ปัจจุบันแนวโน้มเรื่อง Cyberbullying ในไทยเป็นอย่างไร
ผศ.ดร.วิมลทิพย์: จากที่เก็บข้อมูลมาทั่วประเทศ คนไทยจะเคยมีประสบการณ์ Cyberbullying มากถึง 45 เปอร์เซ็นต์ เกี่ยวข้องทั้งแบบทำเขา ถูกกระทำ แล้วก็เป็นกองเชียร์หรือผู้แชร์ ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศญี่ปุ่นถือว่าของไทยเยอะมากนะ ของเขาแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ ที่ญี่ปุ่นเขาจะมีหลักคิดก่อนโพสต์ว่า เขาเกี่ยวข้องมั้ย ถ้าแชร์แล้วเขาได้อะไร ถ้าเขาไม่เกี่ยวเขาจะไม่ยุ่งเลย เพราะถือเป็นมารยาทในสังคมของเขา แต่ของเราแชร์เอาสะใจ หรือถ้าไม่พอใจอะไรก็โพสต์เลย กลายเป็นเรื่องแบบไทยๆ ไปแล้ว
สิทธิพงษ์: แนวโน้มเรื่องนี้พูดยาก เพราะคนไทยมองเรื่องธรรมดาเป็นเรื่องไม่ธรรมดา มองเรื่องไม่ธรรมดาเป็นธรรมดา การดูถูกเหยียดหยามเรามองว่าไม่เป็นไร ปล่อยผ่านไป สามัญสำนึกคนเราไม่เท่ากัน เราทำตามใจตนเองจนปกติ ตามใจคือไทยแท้ เด็กไทยยังมีความคิดแบบ ถ้ามีเพื่อนลุกขึ้นถามอาจารย์ตอนจะหมดคาบ คนนั้นจะถูกเพื่อนมองไม่ดีแล้ว สังคมเราคนเก่งตอบได้จะถูกเม้าท์ จะถูกอิจฉา กลายเป็นพิษภัยอีก ทำให้เราไม่กล้าเพราะจะถูกนินทา ก็เป็นการกลั่นแกล้งอีกแบบหนึ่ง
คนที่ชอบบูลลี่คนอื่นถือว่าเป็นโรคทางจิตหรือเปล่า
ผศ.ดร.วิมลทิพย์: ไม่ถึงขนาดโรคจิต เพียงแค่ Self-Esteem มีปัญหา คนปกติจะไม่ทำคนอื่นแบบนี้ ในต่างประเทศเรื่อง Cyberbullying ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง จะมีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง แต่สังคมไทยเป็นสังคมอุปถัมภ์ ไม่เผชิญหน้า ซึ่งบางอย่างมันหยวนๆ ไม่ได้ ประเทศไทยมีข้อดีหลายอย่างอยู่แล้ว เพิ่มเรื่องนี้เข้าไปจะน่าอยู่ยิ่งขึ้น
สิทธิพงษ์: ปัญหาการแกล้งกันเกิดได้ทั้งจากคนสนิทและไม่สนิท คนสนิทจะล้ำเส้น ความเกรงใจจะหายไป อย่างการล้อชื่อพ่อแม่ ทั้งที่สังคมสอนให้เราเคารพพ่อแม่มาก หรือบางทีเราเอาจุดด้อยคนอื่นมาพูดให้ตลก แล้วคิดว่าไม่เป็นไรหรอก คำว่าไม่เป็นไรต้องเปลี่ยนใหม่ เปลี่ยนที่ตัวเรา ต้องไม่ทำร้ายเขา ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา
แนวโน้มในอนาคตเรื่อง Cyberbullying จะเป็นอย่างไร
ผศ.ดร.วิมลทิพย์: Cyberbullying ที่เกิดขึ้น จะตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เหมือนกับเรื่องอื่นๆ แต่สังคมจะอยู่ยากขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปจะมีปัญหาอื่นเกิดขึ้นมา ถ้าเราสร้างเด็กที่แข็งแกร่ง ต่อไปไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไรก็รอด เราสร้างความเข้มแข็งให้กับคนจะดีกว่า ทำใจให้แข็งแกร่งพร้อมรับกับปัญหาต่างๆ เริ่มจากตัวเราก่อน และต้องเริ่มเปลี่ยนตั้งแต่วันนี้เลย
อยากฝากอะไรถึงผู้ที่กระทำและโดนกระทำในโลกออนไลน์
ผศ.ดร.วิมลทิพย์: ทุกคนต้องเปลี่ยนที่ตัวเอง จัดการตัวเองให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตอนนี้ ดูแลคนรอบข้าง หลายอย่างมันเปลี่ยนจากคนตัวเล็กๆ อย่าก่นด่าอย่างเดียว เราต้องทำอะไรเพื่อสังคมนี้ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทำได้เลย เราจะมีสังคมที่เราต้องการ หากวันก่อนนั้นเราได้ลงมือทำมัน
สิทธิพงษ์: ถ้าเราโดนบูลลี่สิ่งแรกที่อยากให้คิดคือ อย่ามองความเศร้าด้วยสายตาที่เศร้านัก ถ้าเราดำดิ่งไปกับมันเราจะแก้อะไรได้ล่ะ ต้องเปลี่ยนทัศนคติก่อนเลย และถ้าไม่อยากให้มีการบูลลี่เราก็อย่าบูลลี่คนอื่น จุดเล็กๆ มันจะค่อยๆ ขยาย สังคมที่มีแต่ความเกลียดชัง ดูถูก ก็จะเปลี่ยนเป็นสังคมที่ยอมรับความแตกต่าง ความหลากหลาย ได้ในที่สุด
พี่ตองก้า