TK Café: สวัสดีโรคซึมเศร้า ยิ่งกว่าการรักษาคือความเข้าใจ
ในช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้ หลายคนคงเคยได้ยินข่าวการฆ่าตัวตายของเหล่าคนดังในแวดวงต่างๆ ที่เกิดจากอาการของ ‘โรคซึมเศร้า’ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ใหม่ในสังคมไทย คนส่วนใหญ่อาจยังไม่เข้าใจหรือไม่ทราบมาก่อนว่าอาการดังกล่าวเป็นอาการของโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติทางสารเคมีในสมอง ซึ่งต้องทำการรักษา โดยอาการจะส่งผลต่อด้านอารมณ์และสภาพจิตใจของผู้ป่วยเป็นหลัก ทำให้รู้สึกท้อแท้ หดหู่ เบื่อหน่าย มีทัศนคติด้านลบต่อตัวเอง จนถึงขั้นอยากจะฆ่าตัวตาย ซึ่งนอกจากการรักษาด้วยยาตามอาการแล้ว ยังต้องอาศัยความเข้าใจจากคนรอบข้างด้วยเช่นกัน
อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมกับเหล่าอาสา ชวนมาล้อมวงพูดคุย ในกิจกรรม TK Café กับ 31 หัวข้อคัดสรรที่จะสร้างบทสนทนา เติมแรงบันดาลใจ จุดพลัง และสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ กับเรื่องราวธรรมดาที่แสนมหัศจรรย์ที่มอบประสบการณ์ดีๆ ไม่แพ้การอ่านหนังสือสักเล่ม
โดยหนึ่งในหัวข้อที่เหล่าอาสามาร่วมแบ่งปันคือหัวข้อ สวัสดีโรคซึมเศร้า ที่ได้เหล่าคนอาสาอย่าง คุณตุลย์ - ธนพล จตุทิพยคันธา, คุณสายป่าน - พชรมน ปานช้าง และ คุณภัทร - ณภัทร ชัชวาลโกศล สามผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่อยากจะมาแบ่งปันประสบการณ์จากอาการป่วยของตนเอง ให้ทุกคนได้เข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้น รวมไปถึงข้อปฏิบัติต่างๆ ของคนรอบข้างที่จะช่วยให้พวกเขาอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติ
จุดเริ่มต้นของอาการซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีที่อยู่ในสมองที่มีชื่อว่า เซโรโทนิน (Serotonin) มีปริมาณน้อยลงจากเดิม ทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางจิตใจที่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์และความรู้สึก คือมีอาการท้อแท้ เบื่อหน่าย ไม่มีชีวิตชีวา ซึ่งสาเหตุของโรคเกิดขึ้นได้จากพันธุกรรมบางส่วน แต่โดยมากมักเกิดการที่ผู้ป่วยต้องเผชิญกับภาวะความเครียดที่หนัก ปัญหาที่หาทางออกไม่ได้ การสูญเสียคนรัก นอกจากนั้นเป็นเรื่องของความผิดปกติทางร่างกายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับสารเคมีในสมอง ก็สามารถส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้านี้ได้เช่นกัน
“ส่วนตัวเกิดจากความเครียดก่อน ตัวผมเองเป็นคนที่รักสันโดษ ชอบไปเที่ยวคนเดียว มีครอบครัวมีแฟน แต่ชอบไปเที่ยวคนเดียวมากกว่า ลักษณะการอยู่คนเดียวแบบนี้ทำให้คนรอบข้างมองว่าผมเป็นคนติสต์ มีโลกส่วนตัวสูง ซึ่งส่วนตัวไม่ได้มองว่าเป็นคนแบบนั้น แค่ผมชอบในสิ่งที่ผมทำ แต่พอทำแบบนี้มากขึ้นนานขึ้นก็เริ่มส่งผลกระทบต่อตัวผมเอง คนรอบข้างก็ไม่รู้ เวลาเครียดไม่สามารถปรึกษาใครได้ เพราะไม่มีใครรู้ว่าผมเป็นอะไร
“พอความเครียดสะสมไปเรื่อยๆ วันหนึ่งทำงานแล้วรู้สึกปวดหัวมากๆ มือสั่นขาสั่น สิ่งที่ผมทำได้ตอนนั้นคือเอามือจิกหัว ทำอะไรก็ได้ให้มันหายสั่น คือก่อนหน้านั้นมันมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่าเราเป็น ผมลองนึกกลับไปดูพฤติกรรมตั้งแต่สมัยเด็ก สิ่งที่ผมจำได้คือตั้งแต่ป.4 เวลาผมเล่นกับเพื่อน จะชอบทำให้เพื่อนยิ้ม แต่ในใจจะคิดว่าใครจะทำแบบนี้ให้กับเราบ้าง นั่นคือจุดเริ่มต้นว่าเราทำไปเพื่ออะไร จากที่เล่นสนุกก็กลายเป็นเล่นน้อยลง จากที่พูดคุยกลายเป็นนั่งนิ่ง ปกติถ้าผมไม่ออกไปทำงานก็จะนั่งอยู่หน้าจอคอม ในวันที่ผมเครียดผมจะเหนื่อยมาก มันแสดงออกมาผ่านร่างกายที่ทำให้ชัก เกร็ง แล้วในหัวคิดเสมอว่าอยากตาย คิดว่าโลกนี้มันให้อะไรกับเรา คำพูดมันจะวนๆ อยู่ในลักษณะนี้” คุณตุลย์ หนึ่งในอาสาสมัครบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นอาการป่วยของตนเองที่เกิดขึ้นจากอาการเครียดที่สะสมมานาน
ขณะเดียวกันทางคุณสายป่านมีสาเหตุเริ่มต้นมาจากผลข้างเคียงหลังการตั้งครรภ์ “ตอนเราตั้งครรภ์ลูกคนแรก วันแรกที่คลอดน้องออกมา ด้วยความที่ร่างกายมีความเปลี่ยนแปลง ทำให้รู้สึกว่ามีอาการซึมเศร้า คืออาการตัวชา มือสั่น ตอนนั้นเข้าใจว่าเป็นอาการหลังคลอดที่เกี่ยวกับฮอร์โมนในร่างกายที่จะเป็นแค่ช่วงสองสามเดือนแรก แต่พอเวลาผ่านไปสามสี่เดือนก็ยังไม่หาย จนลูกจะอายุขวบหนึ่งแล้ว อาการเหล่านั้นก็ยังไม่หาย ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ เช่น ไม่สามารถจับสิ่งของได้เป็นเวลานานๆ เพราะมือจะสั่น หรือจำไม่ได้ว่าทำอะไรไป หรือขนาดจำคำที่จะเขียนไม่ได้ อารมณ์ก็เหวี่ยงขึ้นลงเหมือนคนนิสัยไม่ดี จนสามีเริ่มสังเกตว่าเป็นอาการที่ไม่ปกติ เขาจึงแนะนำให้ไปหาหมอ ถึงได้รู้ว่าเราเป็นโรคซึมเศร้า
“ช่วงแรกที่ทำการรักษาไม่ได้ผลเลย อาจเป็นเพราะเรายังปรับจูนกับคุณหมอไม่ได้ ยาที่ใช้ก็ส่งผลกระทบต่อร่างกาย ใจสั่น ครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนเป็นไข้ตลอดเวลา เวียนหัวอาเจียน ทำให้คิดว่าการรักษาทำไมถึงยากเย็นนัก จนทำให้เกิดความคิดอยากฆ่าตัวตาย เคยทำจนเกือบสำเร็จ หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนโรงพยาบาลที่รักษา หมอก็สอบถามทุกอย่าง จนรู้ว่าเราเป็นอยู่แล้ว แต่มีการกระตุ้นให้เป็นมากขึ้น”
ส่วนคุณภัทรมีอาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นจากความเครียดในที่ทำงาน “ก่อนหน้าเคยทำงานอยู่ที่ต่างประเทศ นอนไม่เป็นเวลา เราจะนอนเปิดไฟตลอด ทำให้เราเครียดตลอดเวลา จนมาทำงานที่ล่าสุด มาเจอการทำงานที่ซีเรียสมากๆ แล้วเราไม่มีภูมิคุ้มกัน ทำให้คิดว่าทำไมเราต้องมาเจออะไรแบบนี้ เหมือนเราทุกข์แล้วไม่ยอมรับ อยากจะออกไปจากตรงนั้น พอกลับถึงบ้านก็นอนไม่หลับ จนพี่ที่ทำงานคนหนึ่งทักว่าเราเป็นโรคจิตหรือเปล่า ตอนนั้นเราไม่ยอมรับ เราก็บอกตัวเองว่าจะไม่มีทางฆ่าตัวตายเด็ดขาด แต่มันก็อดคิดไม่ได้ว่าอยากจะตาย ทั้งๆ ที่เราศึกษาเกี่ยวกับธรรมะมาบ้างก็ตาม
“โชคดีที่ออฟฟิศมีนักจิตวิทยาคอยให้คำปรึกษา เขาก็แนะว่าถ้าเป็นโรคซึมเศร้าก็มีทางออกหลายทาง ไม่ใช่ต้องลาออกอย่างเดียว ให้ลองไปหาหมอให้มีการยืนยันว่าเป็นจริงๆ ก็สามารถกลับมาลาป่วยได้ จากจุดนั้นพอไปหาหมอก็พบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจริงๆ”
จากเรื่องราวของอาสาสมัครทั้งสามท่าน จะเห็นได้ว่าอาการป่วยของโรคซึมเศร้าเกิดจากหลายสาเหตุ สิ่งสำคัญคือเมื่อเริ่มรู้สึกว่าตนเองกำลังป่วยให้รีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อยืนยันอาการป่วยที่เป็นและยอมรับว่าตนเองกำลังเป็นโรคซึมเศร้า ก่อนที่จะรีบทำการรักษาโดยเร็วที่สุด
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากอาการป่วย
แม้ว่าอาการของโรคซึมเศร้าจะสามารถระบุสาเหตุของการเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน แต่ในแง่รายละเอียดอาการต่างๆ ของผู้ป่วยแต่ละคนก็แตกต่างกันออกไป ซึ่งสิ่งที่ผู้ป่วยสามารถเรียนรู้ได้ดีที่สุดคือประสบการณ์ตรงจากผู้ที่ป่วยจริงๆ
“สิ่งที่ผมอยากจะมาแชร์คือการสังเกตว่าคนที่เป็นโลกซึมเศร้าเป็นอย่างไร ผมเป็นคนชอบถ่ายภาพ ภาพวิวท้องฟ้า ธรรมชาติ มักจะโพสต์ภาพเหล่านี้ลงไอจีบ่อยๆ แต่อยากให้สังเกตคำที่ผมสื่อ อยากให้ลองสังเกตคำที่ใช้ในโซเชียลมีเดียของคนรอบข้างดูว่า เขามีสถานะที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าขนาดไหน เช่น ไม่อยากตื่น อยากจมลงไป อยากให้สังเกตดู เพราะเป็นโซเชียลฯ สื่อหลักที่คนใช้ระบายออกอารมณ์ออกมา” คุณตุลย์ได้แชร์ถึงวิธีการสังเกตของคนที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคซึมเศร้าผ่านโซเชียลมีเดีย
นอกจากเรื่องการสังเกตแล้ว สิ่งที่คนรอบข้างสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้คือคำพูดที่มีผลต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วยอย่างมาก “การที่เราได้ยินคำพูดประมาณว่า ‘อย่าคิดไปเองสิ เข้มแข็งสิ อย่าอ่อนแอสิ สู้สิ มองไปวันพรุ่งนี้ ถ้าเป็นอะไรไปให้คิดถึงคนข้างหลัง’ แนะนำว่าให้ลองปรับเปลี่ยนการให้กำลังใจ เพราะว่าคำพูดเหล่านี้ ทำให้เรารู้สึกผิดที่เราป่วย เพราะเราไม่ได้ตั้งใจจะป่วย จะยิ่งทำให้รู้สึกแย่เข้าไปอีก ซึ่งเราไม่ได้อ่อนแอ เราไม่ได้ไม่สู้ แค่เราป่วยจริงๆ ซึ่งหมอจะใช้วิธียอมรับมากกว่า จะไม่ใช้วิธีการพูดแบบนี้” คุณสายป่านได้แนะนำเรื่องคำพูดของคนรอบข้างที่ต้องระมัดระวัง
ส่วนทางด้านผู้ป่วยเองก็ต้องหาแรงจูงใจอะไรบางอย่างที่เป็นเหมือนการให้กำลังใจตนเองด้วยเช่นกัน “ขณะที่เราป่วยจะมีช่วงที่ดีกับช่วงที่ดาวน์ ถ้าเป็นช่วงที่ดีจะต้องรีบตั้งอนาคตและจุดมุ่งหมายดีๆ ไว้ เราจะเป็นคนชอบอ่านชอบเขียน คือตั้งใจไว้ว่าจะมีหนังสือเป็นของตัวเอง ถ้ายังไม่มีจะไม่ยอมตายก่อน พอเวลาดาวน์ก็จะคิดว่ายังเขียนหนังสือไม่เสร็จเลย หรือตั้งเป้าหมายระยะสั้นอย่างเช่น ถ้าเรายังไม่ได้ไปงานกีฬาสีลูกจะยังไม่ยอมตาย ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณหมอให้ตั้งความหวังกับตัวเองไว้” คุณสายป่านแชร์เทคนิคที่ได้เรียนรู้จากคุณหมอ ก่อนที่คุณภัทรจะช่วยเสริมจากประสบการณ์ส่วนตัวว่า “เวลาป่วยเป็นโรคนี้ทำให้มีเสียงในหัวบอกให้เราฆ่าตัวตาย ซึ่งเสียงเหล่านั้นไม่ใช่เสียงของเรา แต่เป็นอาการของโรค ต้องรักษา ซึ่งการจะรักษาตัวเองให้หายได้ ต้องมีแรงจูงใจว่าอยากจะหายจริงๆ พยายามหาอะไรทำให้ตัวเองรู้สึกดี อย่างวันนี้ที่เราแต่งตัวสีสดๆ มาเพื่อให้ชีวิตดูมีอะไรที่สดชื่นบ้าง เป็นการให้กำลังใจตัวเองอย่างหนึ่งเหมือนกัน”
โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่ง เป็นอาการป่วยที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแค่ร่างกาย แต่ยังส่งผลไปถึงจิตใจ ซึ่งนอกจากจะต้องอาศัยการรักษาอย่างถูกวิธีจากแพทย์แล้ว ผู้ป่วยและคนรอบข้างเองก็มีผลต่อการรักษาให้หายด้วยเช่นกัน
ความเข้าใจสำคัญที่สุด
แม้ว่าในปัจจุบันโรคซึมเศร้าจะเป็นโรคที่อยู่ในกระแสสังคม เนื่องจากมีผู้ป่วยที่เริ่มเปิดเผยตัวมากขึ้น แต่เนื่องจากเป็นโรคที่มีความแตกต่างและซับซ้อนมากกว่าโรคทางร่างกายอื่นๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสร้างความเข้าใจให้กับทั้งผู้ป่วยและคนรอบข้าง
“โรคซึมเศร้าเป็นโรคใหม่ในสังคมไทย เพราะฉะนั้นการที่ผู้ป่วยจะเข้าไปรักษาเราจะถูกคนทั่วไปมองว่าเป็นคนบ้า ตั้งแต่ยังไม่ได้รักษาแล้ว เพราะฉะนั้นเราอยากให้เปลี่ยนทัศนคติก่อนว่า จริงๆ มันคือโรค โรคก็ต้องรักษาที่โรงพยาบาล ไม่ใช่รักษาด้วยตนเอง มีการกินยา ปรึกษาหมอเพื่อให้หายจากโรค เราจึงอยากเปลี่ยนทัศนะคติของผู้ที่ไม่ได้เป็นหรือคนรอบข้าง ว่าการเข้าโรงพยาบาลไม่ใช่คนบ้าเสมอไป เขาแค่อยากจะหายจากโรคซึมเศร้าเท่านั้นเอง ซึ่งปัจจัยในการรักษาให้หาย ไม่ได้อยู่ที่หมอเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ตัวเองด้วย หมอเป็นแค่คนที่คอยดูแลระบบประสาท และคนที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้คือคนรอบข้าง เพื่อนๆ พ่อแม่พี่น้อง แฟน ที่จะช่วยฉุดเราขึ้นมาจากโรคซึมเศร้าได้” คุณตุลย์ฝากคำแนะนำถึงทุกคนที่มีคนรอบข้างป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
“อยากให้คนส่วนใหญ่ยอมรับว่ามันคืออาการป่วยจริงๆ อาการทุกอย่างที่คนมองว่าเป็นความอ่อนแอ คิดไม่ได้ ทำไมไม่ปลง ถ้าเราไม่ป่วยก็คงทำได้ แต่คือเราป่วย จึงจำเป็นต้องรักษา ขอฝากคนที่สงสัยว่าตัวเองป่วยหรือไม่แน่ใจ อย่างแรกคือต้องกล้าที่จะเข้าไปรักษา เปิดใจปรึกษาแพทย์ก่อน จะเป็นหรือไม่ยังไม่รู้ ถ้ากล้าแล้วขั้นตอนต่อไปจะง่ายขึ้น” คุณสายป่านย้ำถึงการเปิดใจสำหรับคนที่สงสัยว่าตนเองกำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
“อยากจะให้ทุกคนมองว่ามันเป็นโรคโรคหนึ่ง เหมือนเป็นหวัดที่สามารถรักษาหายได้ อยากจะบอกให้คนที่สงสัยว่าตัวเองเป็นให้ไปปรึกษาแพทย์ อย่านิ่งนอนใจ จะช่วยได้ดีกว่า ส่วนคนรอบข้างอย่าคิดว่าเขาป่วยจนทำอะไรเองไม่ได้ เพราะถ้ารักษาอย่างถูกวิธีก็มีโอกาสหายได้” คุณภัทรทิ้งทายถึงการรักษาโรคซึมเศร้าที่มีโอกาสหายไม่ต่างกับโรคอื่นๆ ทั่วไป
เพราะฉะนั้นแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการรักษาอย่างถูกวิธี คือการที่ทุกคนมีความเข้าใจในโรคซึมเศร้า ทั้งตัวผู้ป่วยที่ต้องเข้าใจในอาการป่วยของตนเอง รวมไปถึงคนรอบข้างที่จะช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรคนี้ได้ในที่สุด
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย