
บทเรียนรู้รอดปลอดภัย 1:
การดูแลตนเอง การป้องกัน การเตรียมความพร้อม และการประเมินความเสี่ยงจากอันตราย
แม้ว่าวัยเด็กจะเป็นวัยที่ยังถือว่าศักยภาพในการดูแลตนเองและป้องกันอันตรายจากภัยต่างๆ อาจจะไม่สามารถเทียบเท่ากับผู้ใหญ่ แต่การเตรียมความพร้อมด้วยการทำความเข้าใจและฝึกฝนสามารถทำได้ไม่ว่าจะเป็นวัยไหนก็ตาม
อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมมือกับสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม ค่ายรู้รอดปลอดภัย ซึ่งเป็นการต่อยอดมาจากกิจกรรม เตรียมตัว รู้รอด โดยครั้งนี้มาในรูปแบบของค่ายฝึกทักษะเต็มรูปแบบ เปิดโอกาสให้เด็กๆ อายุระหว่าง 9 - 12 ปี จำนวน 45 คนได้ฝึกฝนทักษะในการช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นถึง 2 วันเต็ม ในวันที่ 16 - 17 ธันวาคมที่ผ่านมา ด้วยการเรียนรู้ทั้งทฤษฎีและการลงมือปฏิบัติจริง โดยความร่วมมือของทีมบุคลากรจากโรงพยาบาลราชวิถี, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย, สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร, มูลนิธิร่วมกตัญญู, มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง, ศูนย์ความปลอดภัย โรงพยาบาลรามาธิบดี และสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
ฐานการเรียนรู้ออกเป็น 4 ฐานกิจกรรมใหญ่ๆ โดยเริ่มต้นกันที่ กิจกรรมการเรียนรู้ที่ 1 การดูแลตนเอง การป้องกัน การเตรียมความพร้อม และการประเมินความเสี่ยงจากอันตราย ที่ประกอบไปด้วยฐานย่อยทั้งหมด 3 ฐานดังต่อไปนี้

ทำอย่างไรให้มีสุขภาพดี
ในส่วนแรกคือการทำให้เด็กๆ ได้เข้าใจถึงหลักการดูแลตนเองเบื้องต้น โดยคำแนะนำของพี่ๆ จากโรงพยาบาลราชวิถี ผ่านแนวคิดการทำตนเองให้มีสุขภาพดีด้วยวิธีการง่ายๆ ที่สามารถท่องจำได้ แบ่งออกเป็น 4 กรอบ 10 เคล็ดลับ ซึ่ง 4 กรอบจะประกอบไปด้วย
1.บริโภคเพียงอยู่รอด คือการบริโภคอาหาร น้ำ ยา สื่อ เพศสัมพันธ์ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
2.คำนึงความปลอดภัย คือการมีสติ ไม่ประมาท ทำให้ปราศจากความเสี่ยง เลี่ยงภัย และระงับภัยได้เร็ว
3.ทำใจให้สบาย คือการทำจิตใจให้มีความสุข ด้วยการผ่อนคลาย ไม่เครียด เจียดเวลาพักผ่อน และนอนพอสมควร
4.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ คือการทำกายบริหาร ด้วยการทำงานบ้าน เดิน วิ่ง เล่นกีฬาให้พอเหนื่อย และอย่าหักโหม
และในส่วนของ 10 เคล็ดลับที่ทำให้สุขภาพดี ประกอบไปด้วย
1.มีหุ่นดี
2.กินอาหารเพื่อสุขภาพ
3.ออกกำลังกาย
4.พักผ่อนให้เพียงพอ
5.อารมณ์ดี เดินสายกลาง
6.งดสารเสพติด
7.มีเพศสัมพันธ์ปลอดภัย
8.ฉีดวัคซีนตามคำแนะนำ
9.ตรวจสุขภาพตามความเหมาะสม
10.ระวังภัย ไม่ประมาท
เพื่อเป็นการช่วยให้เด็กๆ สามารถจดจำเคล็ดลับเหล่านี้ได้ขึ้นใจขึ้น พี่ๆ จึงนำเสนอผ่านเกมแผ่นป้าย โดยการนำ 10 เคล็ดลับมาจัดหมวดหมู่ในอยู่ใน 4 กรอบข้างต้น พร้อมทั้งช่วยขยายความรายละเอียดในแต่ละเคล็ดลับให้เด็กๆ เข้าใจยิ่งขึ้น
นอกจากเคล็บลับดีๆ แล้ว พี่ๆ จากโรงพยาบาลราชวิถียังมีการทดลองสนุกๆ เกี่ยวกับการล้างมือให้สะอาด ด้วยการให้เด็กๆ ถูฝ่ามือให้ทั่วด้วยน้ำยาเรืองแสง ก่อนจะนำมือเข้าไปในเครื่องตรวจจับ ใครที่ถูมือไม่สะอาดและทั่วถึง จะปรากฏจุดที่น้ำยาเรืองแสงไม่ได้เคลือบไว้ ซึ่งเป็นการจำลองการล้างมือให้เห็นภาพชัดเจน หากล้างไม่สะอาดและทั่วถึงเชื้อโรคก็จะติดอยู่บนมือของเรานั่นเอง

การประเมินความเสี่ยงและอันตราย
หลังจากที่ได้เรียนรู้ตัวเองกันในเบื้องต้นแล้ว เด็กๆ ก็ต้องมารู้จักการประเมินความเสี่ยงภายในบ้าน ซึ่งเป็นสถานที่ที่เด็กๆ ใช้เวลาอยู่มากที่สุด ด้วยความเป็นสถานที่อันคุ้นเคย อาจทำให้ใครหลายคนมองข้ามความปลอดภัยหรือมองไม่เห็นภัยอันตรายต่างๆ ที่อาจสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ การประเมินความเสี่ยงไว้ก่อนจึงเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง
พี่ๆ จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้จำลองห้องมินิเธียเตอร์ 2 ให้กลายเป็นบ้านจริงๆ โดยมีการจัดวางมุมต่างๆ ทั้งห้องนั่งเล่นและห้องครัว ที่มีจุดต่างๆ ที่มีความเสี่ยง อย่างเช่น ปลั๊กไฟที่มีแก้วน้ำวางอยู่ พัดลมที่ไม่มีฝาตะแกรงปิด มีดคัตเตอร์ที่ไม่ได้ปิดใบมีด โคมไฟแชนเดอเรียที่ห้อยไว้อย่างไม่มั่นคง ฯลฯ แล้วให้เด็กๆ นำกระดาษโพสต์อิทไปแปะจุดที่มองว่ามีความเสี่ยง และถามเหตุผลว่าเพราะอะไร ก่อนที่พี่ๆ จะอธิบายว่าถ้าหากไม่ระวังแล้ว จะเกิดภัยต่างๆ ขึ้นอย่างไรบ้าง
เรียกได้ว่าเป็นการฝึกประเมินความเสี่ยงที่มีความคล้ายคลึงกับสถานการณ์จริงอย่างมาก เมื่อเด็กๆ กลับไปที่บ้านก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทันที
การแจ้งประสานเหตุ
วิธีการประเมินความเสี่ยงข้างต้น อาจเป็นเพียงการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น ซึ่งถ้าเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงๆ สิ่งที่เด็กๆ จะต้องทำในขั้นตอนต่อไปจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก พี่ๆ จากโรงพยาบาลราชวิถีได้แนะนำวิธีการลดความสูญเสียให้มากที่สุด ด้วยการโทรสายตรง 1669 เพื่อเรียกศูนย์กู้ชีพนเรนทร โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งเป็นวิธีที่ดีและง่ายที่สุด โดยมีขั้นตอนง่ายๆ 5 ขั้นตอนดังต่อไปนี้
1.กดโทร 1669
2.แจ้งชื่อและเบอร์โทรกลับ เพื่อให้ศูนย์ฯ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม รวมถึงสอบถามเส้นทางได้
3.ให้ข้อมูลเหตุการณ์ เพื่อให้ศูนย์ฯ สามารถประเมินเหตุการณ์คร่าวๆ ได้
4.บอกสถานที่เกิดเหตุ ควรบอกจุดสังเกตใหญ่ๆ ของสถานที่ที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน รวมถึงชื่อซอยและถนนให้ถูกต้อง เพื่อให้รถของศูนย์ฯ เดินทางมาถึงให้ไว้ที่สุด
5.แจ้งข้อมูลผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วย อธิบายอาการรวมถึงจำนวนของผู้ป่วยให้ชัดเจน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถให้คำแนะนำเบื้องต้นในการปฏิบัติ ก่อนที่รถของศูนย์ฯ จะเดินทางไปถึง
เนื่องจากเบอร์สายตรง 1669 เป็นเบอร์ที่สามารถโทรฟรี จึงมักมีผู้ที่ไม่หวังดีโทรมาก่อกวนเจ้าหน้าที่ที่รับสายอยู่เสมอ ทางพี่ๆ จึงได้เปิดวิดีโอที่จำลองสถานการณ์ ว่าถ้าหากเกิดเหตุฉุกเฉินจริงๆ แล้วมีคนโทรเข้ามาก่อกวน จะส่งผลทำให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ไม่สามารถโทรแจ้งเหตุได้ เพราะสายไม่ว่าง เหตุการณ์อาจเลวร้ายจนส่งผลให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตได้
จากกิจกรรมดังกล่าวจะเห็นได้ว่า เด็กๆ นั้นมีศักยภาพในการดูแลตนเองและป้องกันอันตรายจากภัยต่างๆ ได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว เพียงแค่อาศัยความเข้าใจ ฝึกฝนเรียนรู้ และหมั่นสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัวอยู่เสมอ อาจทำให้ความสูญเสียที่กำลังจะเกิดขึ้น ลดน้อยลง หรือไม่เกิดขึ้นเลยได้เช่นกัน
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย