TK Reading Club ตอน ม่านมรณา
อุทยานการเรียนรู้ TK park เชิญชวนนักอ่านคอวรรณกรรมเข้าร่วมกิจกรรม TK Reading Club ในตอน “ม่านมรณา” เพื่อพบปะพูดคุยกับ "ปองวุฒิ รุจิระชาคร" นักเขียนหนุ่มมากประสบการณ์และรางวัล เช่น รางวัลการประกวดเรื่องสั้นพานแว่นฟ้า รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด เข้ารอบสุดท้านรางวัลซีไรต์สาขานิยายประจำปี 2558 พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่มนักอ่าน
รู้จักปองวุฒิ รุจิระชาคร
คุณปองวุฒิกล่าวว่าใช้นามปากกา “ปองวุฒิ” เขียนหนังสือหลากหลายแนว เช่น นิยายรัก บทความลงนิตยสาร เรื่องสั้น สารคดี ไปจนถึงวรรณกรรมเยาวชน อย่างเรื่องม่านมรณา ก็เป็นนวนิยายรักโรแมนติก-ลึกลับ
เริ่มอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก 6-7 ขวบ เริ่มจากการ์ตูน เช่น โดราเอมอน ดราก้อนบอล ตามประสาเด็กยุค 90 พออายุได้ประมาณ 10 ขวบก็เริ่มอ่านวรรณกรรมเยาวชน อ่านงานของโรอัล ดาห์ล ชอบค่ายดอกหญ้า ส่วนคุณแม่เป็นคนชอบอ่านหนังสือ ตนเห็นคุณแม่อ่านก็อ่านตามเพราะความเคยชิน อ่านทั้งนิยายรัก นิตยสารสตรีสาร สกุลไทย ขวัญเรือน คุณแม่ยังไปยืมหนังสือจากห้องสมุดมาให้ด้วย พอโตเป็นวัยรุ่นก็อ่านแนวสืบสวนมาก นักเขียนไอดอลที่ชื่นชอบมีหลายแนว ทั้งวรรณกรรมเยาวชน สืบสวนสอบสวนทั้งไทยและเทศ เช่น กนกพงศ์ ประภัสสร ชาติ กอบจิตติ อกาธา คริสตี้ ไอแซค อสิมอฟ
จุดเริ่มจับปากกาเขียน
พื้นฐานนักเขียนเริ่มต้นจากเขียนไดอะรี่ พอตอนอายุ 15 ปี ก็เขียนไดอะรี่ การเขียนไดอะรี่เป็นการเริ่มจากการเขียนสิ่งที่เราเป็นและรู้จริงๆ เป็นการฝึกเรียบเรียงความคิด
จากนั้นก็เขียนหนังสือมาเรื่อยๆ พอเรียนมหาวิทยาลัยปี 1 ปี พ.ศ.2544 ก็เขียนเรื่องสั้นส่งขวัญเรือน เรื่อง “ฟ้าหลังฝนที่เปลี่ยน” ความยาวประมาณ 3-4 หน้า ใช้เวลาเขียนประมาณหนึ่งสัปดาห์ เล่าเรื่องความสัมพันธ์ของเพื่อนชาย-หญิง 2 คนสมัยเด็กที่จากกันไปตอนโต ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริง
โชคของผู้เริ่มต้นและงานเขียนลงตะกร้า
“การแสวงหาเริ่มต้นด้วยโชคของผู้เริ่มต้นเสมอ” (The Alchemist ขุมทรัพย์สุดปลายฝัน, เปาโล โคเอลโย)
คุณปองวุฒิกล่าวว่าเป็นโชคของผู้เริ่มต้น คือ เริ่มต้นเขียนแล้วดีเลย โชคดีมาก
ส่วนเรื่องท้อก็มีบ้าง เพราะงานเขียนก็ลงตะกร้าเยอะเหมือนกัน (หัวเราะ) ตอนช่วงนั้นอายุประมาณ 19 – 20 กำลังเรียนคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาธุรกิจการตลาด ตอนที่เขียนแล้วไม่ได้ตีพิมพ์ก็มีเศร้าบ้างเพ้อบ้างตามวัย ท้อแต่ไม่เคยเลิก เพราะมีใจชอบมากกว่าที่คิด จึงเขียนชิ้นใหม่ไปเรื่อย ๆ แบ่งเวลามาทำ เขียนนิยายจบไป 6 เรื่อง เรื่องสั้นกับนิยายรวม ๆ ก็ 20 เรื่อง ตีพิมพ์แค่ 6 เรื่องเท่านั้น แต่ก็แสดงว่าเรารักชอบจริง
สไตล์การอ่านและเขียนที่ใช่
คุณปองวุฒิเผยว่าแนวที่ชอบอ่านที่สุดคือสะท้อนสังคม เพราะชอบสังเกตคน เป็นแนวเรื่องสั้นประกวดรางวัล แต่คนไม่ค่อยชอบอ่าน ส่วนสไตล์ส่วนตัวคือ หักมุม แม้จะเป็นเรื่องซีเรียสสะท้อนสังคมก็ยังมีหักมุมตามแนวอกาธา คริสตี้ ไอแซค อสิมอฟที่แม้จะไซไฟก็ยังหักมุม
สำหรับวิธีการทำงานเขียนนั้น มาจากการสังเกตโลกความจริง ลงพื้นที่จริงเพื่อสัมภาษณ์เห็บข้อมูล รวมทั้งอ่านหนังสือทำรีเสิร์ชด้วย เช่น เรื่องบุษบาข้างทุ่ง เป็นนวนิยายรักตลกเกี่ยวกับเรื่องการขาย ตนเรียนมาทางบริหารธุรกิจการตลาดก็นำมาประยุกต์เขียนเรื่องการขาย นางเอกต้องไปขายรถไถนา ตนก็ต้องไปสัมภาษณ์เพื่อนที่เป็นคนขายรถไถนา แล้วก็ไปดูชาวนาทำนา
นอกจากนี้คุณปองวุฒิยังให้ข้อคิดว่า เราควรจะกระตือรือร้น สนใจติดตามข่าวสารและสนใจวิเคราะห์ขบคิดเรื่องสังคมเสมอ สมมติประกวดเรื่องสั้นสะท้อนสังคม แล้วไม่เคยสนใจเรื่องสังคมเลยก็ไม่ใช่ เพราะถ้าเราหยิบสิ่งที่สะสมมามันจะง่ายและเป็นธรรมชาติมากกว่ามาฝืนเก็บข้อมูลและสนใจในเวลาสั้น ๆ เพื่อประกวด งานอขียนก็เหมือนยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่มานิดเดียว จริง ๆ ใต้น้ำเก็บข้อมูลเยอะ บางเรื่องตนก็เก็บสะสมข้อมูลมาเรื่อย ๆ หลายปีจนถึงเวลาที่พร้อมก็เขียน อย่างเรื่อง Cassette ท่วงทำนองในรอยรัก เป็นเรื่องของเพื่อนที่เจอกันในยุคดิจิทัล แล้วย้อนไปยุคเทปคาสเส็ต
ม่านมรณา
เมื่อกล่าวถึงนวนิยายเรื่องม่านมรณา นวนิยายเล่มใหม่ของคุณปองวุฒิที่เพิ่งวางจำหน่ายไปเมื่องานหนังสือปลายปีที่แล้ว คุณปองวุฒิเล่าเรื่องย่อให้ฟังว่า เป็นเรื่องกลุ่มช่างกล้องที่เข้าไปถ่ายรูปในหุบเขาแล้วเจอเหตุการณ์ลึกลับสยองขวัญ เรื่องนี้ใช้เวลาเขียนประมาณสองเดือน
คุณปองวุฒิเล่าว่า เป็นคนชอบเรื่องกล้องอยู่แล้ว ที่บ้านก็ชอบ ประกอบกับไปถามคนที่รู้มากกว่าเรา จึงมีการเขียนสอดแทรกให้ข้อมูลเรื่องกล้องเยอะ รวมถึงก็มีการสอดแทรกเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ เช่น อย่าไปรุกล้ำพื้นที่ธรรมชาติ
อีกทั้งมีการค้นคว้าข้อมูลประกอบการเขียน เช่น ความเป็นอยู่ชาวดอย อ่านเรื่องพิธีกรรมผีปู่ผีย่า อ่านเรื่องวิญญานในอุษาคเนย์ เป็นความเชื่อแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่แล้ว และก็ถามอาจารย์นักวิชาการด้วย
ส่วนเรื่องภาษาค้นพบตอนจะเขียนต้นฉบับว่าไม่รู้ภาษาเหนือเลย ก็ถามเพื่อนคนเหนือ แล้วสำนักพิมพ์ก็มาช่วยเช็กอีกรอบ หาคนที่รู้จริงมาช่วยเช็ก คนภาคเหนือจริง ๆ ก็ชอบ แต่คนกลางไม่ชอบ
ตัวละคร และซ่อนกิมมิก
พิณธาร หรือนางเอกหรือจบปริญญาโท เป็นคน Gen Y เป็นมนุษย์เงินเดือน คุณปองวุฒิออกแบบตัวละครโดยการนำมาจากคนรอบตัว เช่น เพื่อนอยู่บริษัทใหญ่หน่อย เงินเดือนเยอะ ชอบทำกิจกรรมเวลาว่าง นอกจากนี้ยังออกแบบให้นางเอกเก่งกล้า ไม่ค่อยกลัวผีเพราะต้องไปสู้กับผีอีกตัว ส่วนตัวละครร้ายก็เทา ๆ ไม่ได้ร้ายมาก อย่างสิรดนัย ก็มีแง่มุมดี ๆ เหมือนกัน เหมือนในซีรี่ส์ฝรั่งที่เทา ๆ ไม่ได้ขาว
คุณปองวุฒิเสริมว่าตัวละครที่น่าสงสารที่สุด คือ คำฝ้ายกับบัวตอง คำฝ้ายรักคุด ไม่ตายแต่ก็เหมือนตายทั้งเป็น ส่วนบัวตองนั้นถูกฆ่าตายไปเลย
ในส่วนของการหักมุมซึ่งเป็นสไตล์และกิมมิกของคุณปองวุฒินั้น คุณปองวุฒิกล่าวว่านิยายรักก็หักมุมได้ อาจไม่ต้องถึงขั้นหักมุมถึงขั้นพระเอกชั่ว แต่เราหักมุมเล็กๆ ได้ เช่น พระเอกโผล่มาช่วยในตอนที่คาดไม่ถึง องค์ประกอบก็เล่นได้ ถ้าเรียบง่ายไปคนก็ไม่ชอบ ถ้าคนอ่านบอกว่านึกได้อยู่แล้วมันก็ไม่สนุก ถ้าเดาไม่ได้คนอ่านจะรู้สึกสนุกและคุ้มค่า อย่างเล่มนี้ก็มีก๊อกสอง คือจู่โจมคนอ่านในช่วงเวลาที่คาดไม่ถึง ทั้งที่ตอนแรกเหมือนจบแล้วแต่ก็มีแถมอีก
เราต้องทำข้อมูลไว้เยอะ ออฟซีนคือตัวละครแต่ละคนเป็นคนยังไง ช่วงเวลาที่คิดนั้นเหมือนเขียนบทภาพยนตร์ พอลงมือเขียนต้นฉบับก็เหมือนการออกกองไปถ่ายกับดารา ซึ่งมันจะได้ความสมจริง ไม่ลอยๆ และไม่ประสบปัญหาคือตันตรงกลางเรื่อง ยิ่งเป็นแนวลึกลับก็ต้องคิดไว้เลย เพราะตอนแรกๆ ต้องโปรยไว้เพราะมันโยงกับตอนท้ายเรื่อง และยังต้องสะท้อนสังคมคือเรื่องช่างกล้องที่พยายามจะเข้าไปถ่ายรูปในพื้นที่ธรรมชาติ
วินัยในการเขียน
คุณปองวุฒิเผยว่ายึดอาชีพเป็นนักเขียนอิสระมา 11-12 ปีแล้ว มาถึงจุดที่รู้ช่วงเวลาที่หัวแล่น คือ ช่วงเช้า – บ่ายสอง ก็จะเน้นทำงานช่วงนั้นเยอะหน่อย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดและยากที่สุดคือสร้างแรงบันดาลใจให้สนุกกับงาน พยายามทำอะไรใหม่อยู่ตลอดเวลา ให้เรามีไฟ กระหายที่จะเขียนอยู่ตลอด ช่วงแรกก็เหมือนอัลบั้มแรก พอต่อๆ มาก็หนืดแล้ว ไอเดียหมด ต้องสะสมประสบการณ์และความมีไฟ ส่วนมากเน้นให้จบไปเป็นเรื่องๆ เวลาอินๆ กับเรื่องไหนก็เขียนเรื่องนั้นก่อน นอกจากนี้ ทุกครั้งที่เขียนจะต้องรู้สึกว่านี่เป็นเล่มแรกที่จะเขียน ก็จะทำให้มีไฟ กับเป็นเล่มสุดท้ายในชีวิตที่จะทำ เพื่อให้เรามีแรงเขียนต่อไป
งานเขียนเวทีประกวด
การเขียนงานเวทีประกวดทำให้เรามีโอกาสได้เขียนงานที่มันขายยาก คืองานวรรณกรรมแนวสะท้อนสังคม หาเวทีลงยาก ใช้หลักการแบบเดิมคือ ใช้สิ่งที่เก็บสะสมมาอยู่แล้วมาเขียน
ฝากถึงน้อง ๆ ที่อยากเขียนนิยาย
คุณปองวุฒิกล่าวว่า ต้องเริ่มจากเป็นนักอ่าน เพราะถ้าไม่อ่านจะขาดเทคนิคหลายอย่าง ต้องกระหาย มีความอยากเล่า และต้องลองเขียนให้จบ จะได้รู้จุดบกพร่อง ต้องทำ ปรับปรุง สังเกต เหมือนทักษะทุกอย่าง คือ ต้องฝึกฝน ส่วนตัวผ่านความลำบากมาเยอะ เจ็บมาเยอะ ต้องเข้มแข็ง ต้องถามตัวเองว่าทำเพราะอะไร ถ้ารักอยู่แล้วก็ต้องทำ ไม่ใช่ไปรอการตอบสนองจากคนอื่น
กิจกรรม TK Reading Club ตอนม่านมรณา จบลงพร้อมความอบอุ่นและความสนุกสนาน วิทยากรและนักอ่านทุกท่านได้ร่วมถ่ายรูปเป็นที่ระลึก พบกับกิจกรรมดี ๆ เช่นนี้ได้ในวันที่ 2 กรกฎาคม กับนิยายแปลจีนเรื่อง จอมนางจารชนหน่วย 11 และวันที่ 15 กรกฎาคม กับนิยายแปลภาษาอังกฤษ เรื่องย้อนคืน เพราะการอ่านไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในตำราเรียน…