เมื่อวันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม 2559 เวลา 14.00 น. ที่ผ่านมานี้ อุทยานการเรียนรู้ TK park เชิญชวนนักอ่านคอวรรณกรรมเข้าร่วมกิจกรรม TK Reading Club ณ ห้องมินิเธียเตอร์ 2 อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 Dazzle Zone ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในตอน “กาหลมหรทึก” ของชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์ หรือในนามปากกา “ปราปต์” นักเขียนหนุ่มไฟแรง ผู้คว้ารางวัลนวนิยายยอดเยี่ยมจากนายอินทร์อะวอร์ด ประจำปี 2557 มาครอง และเข้ารอบสุดท้ายของรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (S.E.A. Write) ปี 2558 โดยได้รับเกียรติจากคุณปราปต์มาร่วมเสวนาด้วย ในส่วนนักอ่านที่มานั่งล้อมวงพูดคุยก็ให้การต้อนรับกันอย่างอบอุ่นทีเดียว
ความในใจต่อกาหลมหรทึก
นอกจากความสนุกสนานตื่นเต้นครบอรรถรสของความเป็นนวนิยายสืบสวนสอบสวนเล่มนี้แล้ว นักอ่านยังมีความในใจอยากบอกอีกว่า...
นักอ่านท่านหนึ่งกล่าวว่า รู้สึกว่าฉากเฉลยค่อนข้างกล่าวทีเดียวรวดเดียวจบเกินไป คือตัวละครมาพูดแล้วเฉลยหมดทุกอย่างในฉากเดียว ทำให้รู้สึกเสียดายเล็กน้อย
ในขณะนี้นักอ่านรุ่นเยาว์กล่าวว่าชอบตอนจบที่หักมุม เดาไม่ถูก คาดไม่ถึง นักอ่านรุ่นเยาว์อีกท่านกล่าวว่าชอบการสอดแทรกประวัติศาสตร์ เช่น วัดโพธิ์ เพราะเป็นสถานที่ที่เรารู้จักอยู่แล้ว จึงอ่านแล้วอินตาม ใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบตะวันตกมากกว่าไทย ของไทยถ้าเป็นแนวสืบสวนสอบสวนก็จะเป็นอีกสไตล์ เป็นแนวพีเรียด เช่น ของคุณสรจักร
ในด้านภาษา คุณปราปต์ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่ามีนักอ่านรุ่นเยาว์ส่วนหนึ่งที่บอกว่าภาษาเก่าเกินไป อ่านยาก ซึ่งก็คงเป็นเรื่องของวัยและประสบการณ์การอ่านด้วย
นักอ่านท่านหนึ่งเสริมว่าเรื่องภาษาไม่ต้องเป็นกังวลเพราะถึงช่วงวัยหนึ่งเมื่อนักอ่านรุ่นเยาว์เติบโตขึ้นก็จะเข้าใจเอง
วางโคลง – โครง : ก่อนจะเป็นกาหลมหรทึก
คุณปราปต์เล่าให้ฟังว่า ตนยึดกลโคลงเป็นหลัก โดยเลือกใช้โคลงในเรื่องเพราะเป็นโคลงที่ค่อนข้างเข้าใจง่ายกว่ารูปแบบอื่น ๆ อ่านแล้วสามารถทำความเข้าใจได้ เหมาะสมที่จะเลือกใช้กับตัวละคร วาด ชีพ ศักดิ์ อ่ำ ลุ ทั้งยังได้ที่มาจากการไปดูรูปภาพโคลงกลอนที่วัดโพธิ์ และหากเลือกโคลงแบบอื่น ๆ ที่ยากก็เสี่ยงที่จะอธิบายผิด เช่น โคลงรูปพญานาค (ปฏิพัทธิ์ภุชงค์) ก็เป็นโคลงที่ยาก
จากนั้นจึงดูที่เหยื่อทั้ง 5 คน แล้วนำมาเชื่อมโยงกับโคลง เหมือนเรื่องสั้นย่อย ๆ ของเหยื่อ 5 คน ซึ่งทีแรกคิดว่าควรจะให้ทั้ง 5 คนนี้มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันหรือเปล่า แต่ต่อมาก็คิดว่าไม่จำเป็น 5 คนนี้ก็เหมือนเรื่องสั้น 5 เรื่อง แต่ละคนก็จะมีเหตุการณ์แตก – แยกกันไป จากนั้นก็ใช้วิธีการจดไว้ในโปรแกรมเอกเซลทั้งวันที่ – เวลา – เหตุการณ์ แล้วก็เล่าตามลำดับเวลาเพื่อให้คนอ่านอ่านแล้วเข้าใจ ไม่งง ในเนื้อเรื่องก็จะลงวันที่ไปตามลำดับ ซึ่งนอกจากจะมีประโยชน์ในเรื่องของความเข้าใจ ยังเกี่ยวกับการเฉลยเรื่องราวทั้งสถานที่และเวลาในตอนท้ายอีกด้วย
ประวัติศาสตร์ในเรื่องเล่า
คุณปราปต์เคยเผยว่าไม่ได้ชอบประวัติศาสตร์ แต่เหตุใดในนวนิยายของเขาจึงมีการสอดแทรกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์
คุณปราปต์กล่าวว่าทั้งสองอย่างนี้คือแรงบันดาลใจ เช่น ข่าวน้ำมันรั่วเมื่อสองสามปีก่อนนั้นกระทบใจตนมาก ก็เลยจินตนาการต่อ ประกอบกับได้ทราบมาว่ามีราชการลับอย่างหนึ่งของสุนทรภู่ที่ทุกวันนี้ยังไม่รู้ว่าคือเรื่องอะไร จึงจับมาเชื่อมโยงกัน
นอกจากนี้แม้จะได้ชื่อว่าเป็นนวนิยาย แต่กาหลมหรทึกไม่ละเลยประวัติศาสตร์ เพราะผู้เขียนเดินเรื่องโดยอิงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นการสอดแทรกเรื่องความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม กบฏบวรเดช เรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 คุกบนเกาะตะรุเตา หรือแม้แต่เรื่องราวของวัดโพธิ์เป็นต้น
คุณปราปต์กล่าวว่า อย่างวัดโพธิ์มีความน่าสนใจตรงที่เราเหมือนรู้จักมัน แต่แท้ที่จริงมันยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เราไม่รู้อีกเยอะ หลังปี พ.ศ. 2475 ที่เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลังจากนั้นประมาณปี พ.ศ. 2482 จอมพลป. ต้องการให้ประเทศไทยเป็นอารยประเทศเพื่อให้รอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคม จึงออกรัฐนิยมขึ้นมา มีข้อบังคับต่าง ๆ เช่น ให้ใส่หมวก ห้ามกินหมาก ชื่อสยามถูกเปลี่ยนเป็นไทย
ส่วนเรื่องอักขรวิบัติ (การตัดตัวพยัญชนะไทยทิ้ง เช่น ตัด ษ แล้วใช้ ส แทนเพื่อเขียนให้ง่ายขึ้น) มาพร้อม ๆ กับคำว่า “สวัสดี” ซึ่งเมื่อก่อนไม่มี คุณปราปต์เสริมว่า ใน ยุคจอมพล ป. พิบูลสงครามตอนนั้นมีข่าวลือว่า ญี่ปุ่นสงสัยว่าเราว่าเล่นกลจดหมายหรือไม่ จึงท้วงติงให้เขียนภาษาไทยให้ง่ายขึ้น
ส่วนเรื่องศรีบูรพาที่ใส่เข้ามาว่าเป็นไอดอลในดวงใจของนางเอกก็ใส่เข้ามาเพราะเป็นช่วงเวลาที่ตรงกับโครงเรื่องที่วางไว้ ประกอบกับนางเอกเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ถูกพิษการเมืองเล่นงาน และนักหนังสือพิมพ์สมัยนั้นก็มีอยู่ไม่กี่คนที่มีชื่อเสียง จึงใส่เข้ามาเพราะทำให้คนอ่านตามได้ง่ายด้วย
คุณปราปต์เสริมว่าต่างกับเรื่องกบฏบวรเดชที่เขาสนใจมาก อยากให้ปรากฏในนวนิยายมากหน่อย แต่หาความเชื่อมโยงไม่ได้ จึงใส่เข้ามาไม่มาก
นักอ่านท่านหนึ่งแสดงความเห็นว่ารู้สึกว่าการสอดแทรกเรื่องประวัติศาสตร์บางเรื่องหากไม่ใช่เรื่องที่ตนสนใจก็จะรู้สึกเบื่อบ้างเล็กน้อย นักอ่านรุ่นเยาว์อีกท่านก็กล่าวว่ารู้สึกว่าอ่านยาก อย่างไรก็ตามนักอ่านท่านหนึ่งกล่าวว่า ชอบการสอดแทรกเกร็ดประวัติศาสตร์ของนักเขียน เพราะเป็นเรื่องที่น่ารู้ บางเรื่องเราก็เป็นเรื่องที่เราคิดว่ารู้อยู่แล้วเลยไม่ได้ใส่ใจ เรื่องราวประวัติศาสตร์ที่สอดแทรกเข้ามามันไม่ทั่วไป ไม่น่าเบื่อ ไม่ได้ดูยัดเยียด
ปมในใจของตัวละคร : โรคจิตหรือมีปม ?
การแก้แค้นส่วนตัวของตัวละครที่โหดเหี้ยมและเยือกเย็น ทำให้ผู้อ่านหลายท่านเกิดคำถามหรือตั้งข้อสงสัยว่า “ผู้ร้ายเป็นโรคจิตหรือไม่”
คุณปราปต์เฉลยว่าตัวละครมีปมในใจ มีบาดแผลที่ทำให้คิดแก้แค้น ไม่ใช่ฆาตกรโรคจิต แม้แต่ตัวนายกล้า ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้ร้ายก็ไม่ใช่ฆาตกรโรคจิต เพียงแต่เป็นคนที่จงรักภักดีฝังใจกับนาย การกระทำทุก ๆ อย่างจึงเป็นไปเพื่อนายหมด
ถึงตรงนี้นักอ่านมีข้อสงสัยว่าเหตุใดนายกล้าผู้ไม่รู้ภาษา จึงสามารถฆ่าคนโดยทิ้งคำกลอนไว้กับศพเหยื่อได้ ผู้เขียนเฉลยว่าบรรณาธิการก็ทักท้วงเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ตนก็ยืนยันว่าแม้นายกล้าจะไม่รู้ภาษาแต่ก็สามารถทำได้ เนื่องจากผูกใจอยู่กับเรื่องของนาย โคลงเป็นสิ่งเชื่อมโยงระหว่างเขากับเจ้านายของเขา นอกจากนี้เวลาที่คนเราจะทำอะไรแล้วเห็นภาพต่าง ๆ แต่กล้าจะไม่ภาพปกติเหมือนคนทั่วไป แต่เขาจะเห็นเป็นโคลง เพราะผูกใจอยู่แต่กับเจ้านาย
นอกจากนี้แม้แต่ตัวละคร ลูกสาวของพะนอนิจคือเด็กหญิงไวทิพย์ คนอ่านก็ตีความได้ว่า เด็กหญิงที่เล่นสนุกทำร้ายร่างกายคุณตา อาจเป็นโรคจิตตั้งแต่กำเนิดหรือเป็นความไร้เดียงสาของเด็กหรือไม่ก็ได้
นักอ่านท่านหนึ่งกล่าวว่า ตอนจบก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รู้สึกว่านวนิยายเรื่องนี้ไม่ค่อยเหมือนนวนิยายไทย แต่มีความเป็นนวนิยายต่างประเทศมากกว่า คือ “ไม่แคร์คนอ่านว่าจะจบอย่างไร” ทำให้รู้สึกว่ามัน “ไปสุด”
คุณปราปต์เผยว่าทีแรกก็มีความหวั่นใจเรื่องตอนจบ เพราะมันเป็นงานประกวด ตอนที่เขียนประกวดก็ไม่ได้อ่านหนังสือประกวด แต่ก็คาดไว้ว่าหนังสือที่ประกวดส่วนใหญ่จะเน้นเรื่อง “ความดีงาม” ในสังคม การเลือกจบแบบในเรื่องกาหลมหรทึกจึงทำให้คิดว่ามันจะแรงไปสำหรับกรรมการหรือเปล่า แต่ในที่สุดก็เลือกที่จะจบแบบนี้ เพราะถ้าไม่เขียนให้จบแบบนี้ ตัวเองก็คงเสียใจ แต่ปรากฏว่ากรรมการชอบทั้งที่ไม่ได้คิดหวังมาก่อน
นิยาม “แดน บราวน์แห่งสยามประเทศ”
ด้วยเรื่องเล่าแนวสืบสวนสอบสวนที่ทั้งตื่นเต้นและแสดงให้เห็นกระบวนการสืบสวนสอบสวนของปราปต์ จึงทำให้ได้รับการนิยามว่าเป็น “แดน บราวน์แห่งสยามประเทศ”
คุณปราปต์เผยว่าครั้งแรกที่เห็นประโยคนี้อยู่บนปกหนังสือก็รู้สึกกดดันมาก เพราะโดยส่วนตัวก็ไม่ได้อ่านแดน บราวน์เยอะมาก แต่ก็ยอมรับว่าแดน บราวน์ก็เป็นแรงบันดาลใจ อ่านงานของเขาแล้วชอบ ถ้าไม่ได้อ่านเรื่องรหัสลับดาร์วินชีในวันนั้น ก็คงไม่มีกาหลมหรทึกในวันนี้ ก็รู้สึกเป็นเกียรติที่ยกเรามากขนาดนี้
ส่วนในประเทศไทย คนอ่านจะให้ค่ากับแดน บราวน์เยอะมาก ทุกวันนี้ก็เฉย ๆ ไม่ได้รู้สึกกดดันอะไรแล้ว เพราะเข้าใจว่ามันเป็นคำทางการตลาดมากกว่า
นักอ่านท่านหนึ่งแสดงความเห็นว่า การเล่าเรื่องใช้ภาษา บทสนทนาของตัวละครก็เหมือนยุคปัจจุบันมากกว่า ไม่ค่อยพีเรียด ทั้งสำนวน วิธีการเล่าเรื่องที่เปิดปม ทิ้งปมไว้ แล้วไปสู่ประเด็นใหม่ดูมีความเป็นสมัยใหม่เหมือนงานเขียนของแดน บราวน์ผสมกับการสืบสวนสอบสวนแบบ CSI อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำให้งานขาดอรรถรสใด ๆ
นักอ่านอีกท่านเสริมว่า ไม่ค่อยเจอหนังสือแนวสืบสวนสอบสวนนี้ในนวนิยายไทย อย่างเช่นคุณสรจักรก็จะเป็นแนวสืบสวนอีกแบบที่ไม่ได้เล่าวิธีสืบสวนเป็นลำดับเช่นนี้ ไม่เหมือนของปราปต์ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับแดน บราวน์มากกว่า
Short List S.E.A. Write 2558
คุณปราปต์เล่าความรู้สึกตอนเข้ารอบซีไรต์ให้ฟังว่า ดีใจแต่ก็รู้ว่าคงไม่ได้ซีไรต์ เพราะนวนิยายที่เขียนมันเป็นแค่การเขียนเอามัน แต่ซีไรต์มันมีอะไรมากไปกว่านั้น
คุณปราปต์เล่าย้อนให้ฟังว่านวนิยายติดลองลิสต์ (Long List) ซีไรต์ทั้ง 2 เรื่อง คือ กาหลมหรทึกกับนิราศมหรรณพ ส่วนตัวอยากให้นิราศมหรรณพเข้ารอบช็อร์ตลิสต์มากกว่า เพราะเชียร์มหรรณพมากกว่า อย่างไรก็ตาม กาหลมหรทึกก็เข้ารอบแทน
จุดเด่นของเรื่องที่ทำให้เข้ารอบน่าจะเป็นกลโคลง เราหยิบยกเรื่องที่คนน่าจะไม่ค่อยรู้จักเช่นนี้มาเขียน ทั้งยังบอกวิธีการอ่านด้วย คนอ่านเองแม้จะไม่รู้จักกลโคลงมาก่อนก็สามารถอ่านตามได้ อีกทั้งยังเป็นนวนิยายแนวสืบสวนของไทยที่ไม่ค่อยเจอบ่อย มันแสดงวิธีสืบสวนจริง ๆ ซึ่งของไทยไม่ค่อยมี และยังมีความเป็นพีเรียด มีการใส่งานกวีด้วย
ตะวันตกปะทะตะวันออก : โรเบิร์ต แลงดอน VS คินดะอิจิ
แม้ว่าคุณปราปต์จะได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนนวนิยายสืบสวนสอบสวนมาจากแดน บราวน์ ผู้มีตัวละครพระเอกนักสืบอย่างโรเบิร์ต แลงดอน แต่คุณปราปต์กลับเผยว่า ที่จริงแล้วตอนเขียนไม่ได้นึกถึงแดน บราวน์ แต่นึกถึงคินดะอิจิมากกว่า
คุณปราปต์เผยว่าตอนลงมือเขียนก็นั่งนักว่าทำไมตนเองจึงชอบคินดะอิจิ ก็นั่งลิสต์ความชอบนั้นเป็นข้อ ๆ และจะเห็นได้ว่าในกาหลมหรทึกจะได้รับอิทธิพลของคินดะอิจิด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเขียนเรื่องเป็นตอนสั้น ๆ หรือฆาตกรรมในห้องปิดตาย
นักอ่านท่านหนึ่งกล่าวว่า ตอนเฉลยก็ยังไม่ค่อยอินที่เหยื่อทั้ง 5 คนหรือคนตายไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย คุณปราปต์เผยว่านอกจากต้องการให้ชื่อของเหยื่อสัมพันธ์กับกลโคลงแล้ว ยังต้องการสื่อถึงว่านางเอกเป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้น แค้นแบบไม่ลืมหูลืมตา เพราะคนที่ตายก็เป็นผู้บริสิทธิ์ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กันเลย จึงคิดว่าไม่จำเป็นต้องให้เหยื่อมีความเกี่ยวข้องกัน
งานเขียนเอามัน VS งานเขียนประกวด
คุณปราปต์เผยว่าทั้งสองอย่างมีความแตกต่างกันในตอนแรก คือ งานประกวดจะกำหนดธีมชัดเจนว่าต้องการแนวไหน หรือกำหนดว่าต้องจรรโลงสังคม ฯลฯ เช่นอย่างนิราศมหรรณพ เราไม่ได้เขียนเพื่อประกวดจึงเขียนตามใจอยาก
อย่างไรก็ตาม งานประกวดก็มีข้อดี เพราะโดยส่วนตัวชอบที่มีกรอบกำหนดมาให้ การมีกรอบมาบังคับไม่ให้เราไหลไปเรื่อยๆ ไม่ฟุ้งซ่าน ทำให้คิดงานได้ง่ายกว่า มีข้อกำหนดการทำงาน และไม่เหลวไหล ขยันมากกว่า ส่วนข้อเสียของงานประกวดคือ ในเมืองไทยมักจะมีข้อกำหนด เช่นว่าจะต้องส่งเสริมวัฒนธรรมอันดี ซึ่งตนเองมองว่าวัฒนธรรมอันดีคืออะไร อะไรคือการกำหนดว่าสิ่งนี้ดีงาม สิ่งนี้ไม่ดี แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการทำให้คิดด้วยว่าเราจะเสี่ยงได้ขนาดไหน กระทุ้งได้ขนาดไหน
กาหลมหรทึก VS นิราศมหรรณพ
คุณปราปต์เปรียบเทียบความเหมือน – แตกต่างของนวนิยาย 2 เรื่องนี้ว่า ทั้งสองเรื่องเป็นนวนิยายแนวสืบสวนสอบสวน นิราศมหรรณพมีส่วนที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์บ้างแต่ไม่มากเท่ากับเรื่องกาหลมหรทึก เรื่องกาหลมหรทึก เหยื่อทุกคนตายไม่เหมือนกัน แต่ในนิราศมหรรณพตายเหมือน ๆ กัน คือ สภาพศพไม่มีบาดแผลภายนอก มีขวดน้ำมันตกอยู่ และตายในวัดเหมือนกัน
นักเขียนในดวงใจ
คุณปราปต์เผยว่าชอบคุณทมยันตี คุณสรจักร ซิดนีย์ เชลดอน พอโตมาก็ไม่ได้ชอบใครเป็นพิเศษ อ่านได้หมด แต่หนังสือที่อ่านแล้วรู้สึกโลกเปลี่ยนไป คือเรื่องเด็กเก็บว่าว (The Kite Runner) ของฮาเหล็ด โฮเซนี
เขียนนิยายสไตล์ปราปต์
ถึงช่วงสุดท้ายนี้ มีน้อง ๆ นักอ่านหลายคนสนใจอยากลองเขียนนวนิยายจึงขอพูดคุยและขอเคล็ดลับการเป็นนักเขียนจากคุณปราปต์ บรรยากาศการพูดคุยจึงเต็มไปด้วยความสนุกสนาน
คุณปราปต์เผยว่าอยากเป็นนักเขียนตั้งแต่เด็ก เวลาใครถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ก็บอกว่าอยากเป็นนักเขียน แต่คนฟังก็จะส่ายหน้า นักอ่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งแสดงทัศนะว่า ผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองมองว่าอาชีพนักเขียนเป็นอาชีพไส้แห้ง จึงเป็นห่วงมากกว่า
อย่างไรก็ตามคุณปราปต์ก็สานฝันได้สำเร็จ ทั้งยังได้รับการชื่นชมถึงงานเขียนที่ตื่นเต้นระทึกแต่เล่าเรื่องเข้าใจง่าย คุณปราปต์กล่าวว่าความที่จบพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ไม่ได้จบอักษรศาสตร์โดยตรง จึงเขียนเพื่อให้คนอ่านเข้าใจได้ง่าย และเริ่มต้นเขียนจากการชอบงานสืบสวน ชอบทริลเลอร์ ผสมผสานการชอบกลโคลงอยากเขียนก็เริ่มต้นเขียนเลย อย่างตนเองเริ่มต้นงานเขียนแรกตั้งแต่สิบปีก่อนในเว็บเด็กดี ให้น้องๆ อ่านมากๆ แล้วก็เขียนไปเรื่อยๆ เข้าคอร์สบ้างก็ได้ เพราะจะมีสอนเทคนิคดีๆ บ้าง แต่ว่าอย่างไรก็ให้เขียนออกมา การจะเขียนนวนิยายนั้นไม่ใช่เพียงนั่งเทียนเขียนก็รอด แต่ข้อมูลต้องแน่น รู้ลึกรู้จริง
คุณปราปต์เผยว่าตนไปดูทุกสถานที่ที่ไปได้เพื่อเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุด อย่างนิราศมหรรณพก็ไปทุกที่ ที่ไหนไปไม่ได้จริง ๆ ก็จะเสิร์ชข้อมูลให้ได้มากที่สุด เมื่อเขียนเสร็จก็เลือกคนที่มีความรู้ให้อ่าน แล้วฟังคอมเมนต์จะช่วยได้ดี
แล้วกลับมาพบกับกิจกรรมดี ๆ เช่นนี้ได้ใหม่ในครั้งหน้า
เพราะการอ่านไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในตำราเรียน…
Chestina Inkgirl