TK Reading Club ตอน เวลาในขวดแก้ว
อุทยานการเรียนรู้ TK park เชิญชวนนักอ่านคอวรรณกรรมเข้าร่วมกิจกรรม TK Reading Club ในตอน “เวลาในขวดแก้ว” โดยได้หยิบยกนวนิยายชั้นครูของคุณประภัสสร เสวิกุล ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2554 ท่านได้สร้างสรรค์ผลงานอันมีคุณค่าทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น บทกวี สารคดีจำนวนมาก เช่น ลอดลายมังกร ขอหมอนใบนั้นที่เธอฝันยามหนุน สำเภาทอง ซิงตึ๊ง ฯลฯ ผลงานจำนวนไม่น้อยได้รับรางวัลในระดับชาติและได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ รวมถึงได้รับการดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ด้วย
นวนิยายเรื่อง “เวลาในขวดแก้ว” ได้รับการคัดเลือกเป็นหนังสือดีสำหรับเด็กและเยาวชน โดยสมาพันธ์องค์กรเพื่อพัฒนาหนังสือและการอ่าน พ.ศ. 2541 – 2542 และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ ตีพิมพ์ซ้ำ รวมถึงดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์และละครเวทีหลายครั้ง โดยได้รับเกียรติจากคุณกอล์ฟ ชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล บุตรชายของคุณประภัสสร เสวิกุลให้เกียรติมาเป็นวิทยากร พร้อมทั้งคุณแม่ชุติมา เสวิกุล ภริยาของคุณประภัสสร เสวิกุลร่วมเสวนาด้วย ในส่วนนักอ่านที่มานั่งล้อมวงพูดคุยก็ให้การต้อนรับกันอย่างอบอุ่นทีเดียว
“ถ้าฉันเก็บเวลาไว้ในขวดแก้วได้
สิ่งแรกที่ฉันจะทำ…
คือสะสมคืนวันที่ล่วงเลยมานิรันดร์
เพียงเพื่อมอบมันแก่เธอ”
เพลง เวลาในขวดแก้ว
ความประทับใจที่มีต่อนวนิยายเรื่องเวลาในขวดแก้ว
คุณกอล์ฟกล่าวว่า “เวลาในขวดแก้ว” เป็นนวนิยายเรื่องเอกของคุณพ่อประภัสสร ทำให้คุณพ่อเป็นที่รู้จักกว้างขวาง นวนิยายเล่าถึงเรื่องของเด็กวัยรุ่นที่เผชิญปัญหาในสังคม ผ่านความผูกพันของครอบครัวและเพื่อน โดยเฉพาะเรื่องราวความผูกพันระหว่างเพื่อนที่โดดเด่นและค่อนข้างเป็นสากล ทำให้ผู้อ่านเข้าถึงได้ มีตัวละครเอกคือ นัต และเพื่อนๆ คือ ชัย ป้อม และเอกร่วมฟันฝ่าปัญหาไปด้วยกัน โดยเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของนัต ทั้งเรื่องการคบเพื่อน การเรียน ไปจนถึงเรื่องการเมืองที่ผู้อ่านก็สามารถพบเจอได้
คุณกอล์ฟเสริมว่า ในส่วนของความประทับใจในนวนิยายเรื่องนี้นั้นแบ่งได้ 3 มิติ ได้แก่ 1.มิติของความเป็นลูก คือความภาคภูมิใจในตัวคุณพ่อ เพราะรู้ว่าคุณพ่อรังสรรค์ถ้อยคำในนวนิยายเพื่อถ่ายทอดความคิดออกมาอย่างประณีต 2.มิติของความเป็นนักอ่าน ประทับใจที่นวนิยายเรื่องนี้ทำให้เราสามารถเข้าไปอยู่ในหนังสือได้ โดยตอนที่เริ่มอ่านนั้นอายุ 14 ปี เป็นเด็กหอ อยู่นิวซีแลนด์ คุณพ่อคุณแม่ให้หนังสือเล่มนี้ติดตัวไป เพื่ออ่านและแปลหากคิดถึงบ้าน 3.มิติของความเป็นนักอยากเขียน นวนิยายเล่มนี้ถือเป็นคู่มือการเขียนที่ดีที่สอนวิธีการทำให้คนอ่านผูกพันกับตัวละครและเนื้อเรื่อง
เสน่ห์ของนิยายเรื่องเวลาในขวดแก้ว
เสน่ห์ของนวนิยายเรื่องนี้อยู่ที่เรื่องราวของความสัมพันธ์ในครอบครัวที่สามารถจับต้องได้ ส่วนปัญหาในนวนิยายก็สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ซึ่งคุณพ่อก็พยายามสะท้อนให้เห็นปัญหาในสังคมไทยโดยไม่ได้โทษใคร เพียงแต่พยายามเสนอทางออกว่ามิตรภาพอาจจะช่วยเยียวยาปัญหาได้
นอกจากนี้ คุณกอล์ฟยังเสริมว่า เสน่ห์ของนวนิยายเรื่องนี้ยังอยู่ที่การอ่านแต่ละครั้ง แต่ละช่วงเวลาและประสบการณ์ที่แตกต่างกันก็ให้แง่คิดที่แตกต่างกันไปด้วย กล่าวคือ ครั้งแรกอ่านช่วงที่ยังเป็นเด็กนักเรียน ก็ยังไม่เข้าใจเรื่องพ่อแม่ที่ไม่ให้เวลาแก่ลูก อ่านครั้งที่สองช่วงที่เริ่มทำงาน ครั้งที่สาม อ่านในฐานะผู้ปกครองที่ต้องดูแลลูกก็ทำให้เข้าใจเรื่องการให้เวลาแก่ลูกว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก
มุมมองความรักใน “เวลาในขวดแก้ว”
คุณแม่ชุติมากล่าวว่า ในส่วนของเรื่องมิตรภาพและความรักของวัยรุ่น คือป้อมที่เป็นหญิงสาวห้าวๆ คล้ายทอมบอยแอบชอบนัต แต่นัตรักแบบน้อง มีความสงสารเห็นใจ และรักป้อมในอีกแบบหนึ่ง แต่สำหรับจ๋อมนั้นนัตหลงรัก เนื่องจากจ๋อมเป็นลูกคนรวยที่มีอิทธิพล แต่ครอบครัวแตกแยก จ๋อมจึงกลายเป็นคนโดดเดี่ยว นัตที่ชื่นชมอยู่แล้ว จึงเห็นใจเพราะเจอปัญหาคือความโดดเดี่ยวเหมือนกัน
คุณกอล์ฟเสริมว่าในเรื่องนี้มีความรักหลายรูปแบบ ทั้งเพื่อนๆ พี่น้อง พ่อแม่ลูก เช่น ความรักที่นัตมีให้แก่น้องคือภาระว่าต้องดูแลน้อง แต่ก็รู้สึกผิดด้วยที่ดูแลน้องไม่ดีพอ หรือแม่ของนัตเกลียดพ่อก็ปลูกฝังลูกๆ แต่ท้ายที่สุดก็ช่วยเหลือกันเมื่อนัตมีปัญหาถูกตำรวจจับ ทั้งนี้เรื่องราวดำเนินไปด้วยเพราะความรัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจำกัดความได้ ทุกคนมีความรักให้แก่กัน “ความรัก มิตรภาพ และความหวัง” เป็นแก่นหลักของนวนิยายเรื่องนี้
คุณแม่ชุติมากล่าวเสริมว่าในแง่ครอบครัว ความรักของแม่นัตคือความเป็นห่วงอนาคตลูก จึงบังคับให้เรียนนิติศาสตร์ แม้นัตจะไม่อยากเรียนก็ตาม แต่สุดท้ายด้วยความรักแม่ ก็ยอมให้ตามใจแม่และเรียนจนจบ
คุณกอล์ฟเสริมอีกว่า คิดว่านัตคาดหวังอยากให้ครอบครัวอบอุ่น จึงคิดถึงแต่ช่วงเวลาที่ยังอบอุ่นแต่ก็ผ่านไปแล้ว เป็นความรักแบบ ideal (อุดมคติ) แม้นัตจะคาดหวังว่าจะมีความรักที่ดีกับจ๋อมแต่ก็ทำไม่ได้ แต่ในฐานะคนอ่าน คิดว่าจากประสบการณ์ของนัตเรื่องครอบครัวแตกแยก หากนัตมีครอบครัวก็น่าจะเป็นคนที่รักและเข้าใจลูกแน่นอน
“เวลาในขวดแก้ว” กับการสะท้อนภาพสังคม
คุณกอล์ฟกล่าวว่า นวนิยายเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นเรื่องการกดขี่ข่มเหงและการเอารัดเอาเปรียบคนที่ด้อยกว่า ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่ ทั้งยังสะท้อนให้เห็นปัญหาครอบครัว คือการหย่าร้างที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีอยู่เช่นกัน ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ รวมถึงนวนิยายอีกหลายเรื่อง ๆ เป็นมาสเตอร์พีซและสามารถข้ามผ่านเวลาไปได้
สังคมกับการส่งผลต่อเส้นทางชีวิตของตัวละคร
คุณกอล์ฟเผยว่า จากที่เคยร่วมสนทนากับผู้อ่าน นักอ่านหลายท่านมองว่าปัญหาที่ตัวละครวัยรุ่นเผชิญเป็นปัญหาที่หนักหนาสาหัส ทั้งการหย่าร้างของพ่อแม่ การท้องก่อนวัยอันควร การทำแท้ง แต่ถ้านักเขียนหรือคุณพ่อไม่นำเสนอก็จะเหมือนการซ่อนปัญหาไว้ใต้พรม คุณพ่อจึงถ่ายทอดออกมาอย่างเรียบง่าย ให้ผู้อ่านได้เห็นการเติบโตของตัวละครท่ามกลางปัญหาของนัต ซึ่งบอกเราโดยไม่จำเป็นต้องบอกอย่างตรงๆ เลยว่า เมื่อประสบปัญหา คุณไม่ต้องหันไปพึ่งเหล้ายา เพราะยังมีทางออกทางอื่น คือเพื่อนที่เผชิญปัญหาไปด้วยกัน ทั้งนี้ นวนิยายเรื่องนี้อาจไม่ได้บอกว่าเราควรจะเริ่มแก้ปัญหาที่ตรงไหน เพราะที่จริงปัญหาบางอย่างเราอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การหย่าร้างของพ่อแม่ แต่จะบอกได้ว่าช่วยให้เผชิญและผ่านปัญหาอย่างไร
ถึงตรงนี้คุณแม่ชุติมาเสริมว่า ช่วงเวลาในนวนิยายคือ พ.ศ. 2514 - 2516 สถานการณ์ทางการเมืองวุ่นวาย คุณประภัสสรเขียนถึงเหตุการณ์เหล่านี้ในช่วงที่เวลาผ่านไปแล้ว และมีความกระจ่างมากขึ้น ค่อนข้างตกตะกอนแล้ว แต่ช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองก็ยังไม่มีใครกล้าพูด จึงอาจกล่าวได้ว่านวนิยายเล่มนี้เปรียบเสมือนบันทึกประวัติศาสตร์ เป็นความกล้าหาญ ซึ่งทำให้มีคนนำเสนอเรื่องนี้ในอีกหลายแง่มุม คุณประภัสสรก็พยายามจะประมวลเหตุการณ์แต่ไม่ตัดสินใคร นวนิยายของคุณประภัสสรก็มักจะมีลักษณะเช่นนี้
นอกจากนี้ “เวลาในขวดแก้ว” ยังสะท้อนปัญหาต่างๆ ผ่านเด็กผู้ชายกลุ่มหนึ่งที่ต้องแบกรับปัญหาต่างๆ ต้องช่วยดูแลน้องสาวของนัตที่ท้อง จนในที่สุดก็พาน้องไปทำแท้ง แสดงให้เห็นการตัดสินใจที่อาจยังไม่มีวุฒิภาวะ ผู้อ่านบางท่านก็สงสัยว่าทำไมต้องพาน้องไปทำแท้ง แต่อย่าลืมว่าตัวละครเหล่านี้ยังเด็กมาก ๆ และแม้แต่เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็ยังมี
คุณแม่ชุติมายังเผยอีกว่า คุณวิกรม กรมดิษฐ์ ก็เคยแสดงทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ปัญหาครอบครัวส่วนหนึ่งมาจากวัยรุ่นที่ไม่ได้ตระหนักเข้าใจปัญหา เด็กที่พลาดท้องแล้วมีลูก ลูกที่เกิดขึ้นมาก็จะกลายเป็นเด็กมีปัญหาอีก เรื่องท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น ผู้ใหญ่จึงน่าจะต้องหาทางป้องกัน แม้จะเป็นเรื่องใหญ่เรื่องยาก วิธีหนึ่งที่น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาได้คือ “การทำให้เด็กผู้ชายเป็นสุภาพบุรุษมากขึ้น” เพราะถ้าสังคมมีแต่คนดีก็จะทำให้สังคมดีโดยปริยาย
นวนิยายของคุณประภัสสรที่อยากแนะนำนักอ่าน
คุณกอล์ฟกล่าวว่าเรามีหนังสือดีๆ เยอะมาก ทั้งไทยและเทศ หนังสือเป็นเครื่องมือที่ดีที่จะสามารถอธิบายความซับซ้อนของความสัมพันธ์ของมนุษย์ได้ ชีวิตเป็นเรื่องยาก แต่ถ้ามีอะไรที่พอจะช่วยทำให้เราเลี่ยงปัญหาได้ ก็น่าจะเป็นหนังสือ
คุณแม่ชุติมาเสริมว่าเรื่องเวลาในขวดแก้วนี้ นักศึกษาที่นำไปอ่านถูกใจมาก เพราะมีเรื่องความผูกพันระหว่างเพื่อน และหนังสือยังสะท้อนให้เห็นว่าถ้าแก้ปัญหาแบบนี้ ผลจะเป็นแบบไหน เช่น ตอนที่หนิงทำแท้งก็เป็นการส่งสารถึงหญิงสาวว่าถ้าคุณพลาดจะต้องเผชิญกับปัญหาอะไร เช่น การทำแท้งทำให้ในอนาคตมีลูกยากและอันตรายถึงชีวิต คือชี้ปัญหามากกว่าจะตัดสิน และเป็นสิ่งที่น่าจะทำให้หลายคนน่ายับยั้งชั่งใจได้ เด็กที่ตัดสินใจผิดพลาดแล้วฆ่าตัวตายก็มีมากมาย แต่ถ้าผ่านจุดที่เป็นปัญหาไปได้ก็จะรอด หนังสือทำให้เห็นว่าเราควรจะแก้ปัญหาแบบไหน ซึ่งก็น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาสังคมได้
คุณกอล์ฟแนะนำหนังสือเรื่องอื่นๆ ของคุณประภัสสรอีก เช่น “ขอหมอนใบนั้นที่เธอฝันยามหนุน” ที่เล่าเรื่องของล่องจุ๊น ลูกชายคนกลางที่เกิดมาในช่วงที่ครอบครัวประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก พ่อจึงคิดว่าเขาเป็นตัวซวย กลายเป็นชะตากรรมที่ถูกยัดเยียดให้ล่องจุ๊นต้องฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อพิสูจน์ตนเอง นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่อง “ซิงตึ๊ง” ที่น่าสนใจ โดยเล่าเรื่องราวชีวิตของวัยรุ่นที่ต่อสู้ชีวิตด้วยตนเองด้วยจิตใจที่มั่นคงเข้มแข็ง แม้จะตกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สามารถชักนำไปในทางที่ไม่ดี แต่ในที่สุดก็สามารถที่จะผ่านพ้นเรื่องราวเลวร้ายไปสู่ทิศทางที่ดีได้
ส่วนคุณแม่ชุติมาแนะนำหนังสือ “ชุดวรรณกรรมเพื่ออาเซียน” ซึ่งเป็นการร้อยเรียงเรื่องราวเกร็ดประวัติศาสตร์ของประเทศอาเซียนเพื่อให้เรารู้จักประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ให้ดีขึ้น จะได้รับทั้งความรู้และความสนุก มี 10 เรื่อง แต่ตอนนี้ยังขาดอีก 3 เรื่อง ซึ่งคุณแม่ชุติมากับคุณกอล์ฟจะสานต่อให้จบ
หนึ่งในชุดวรรณกรรมเพื่ออาเซียนเรื่องที่อยากแนะนำคือ “จะฝันถึงเธอทุกคืนที่มีแสงดาว” เล่าเรื่องราวของประเทศอินโดนิเซียตั้งแต่ช่วงที่ยังถูกปกครองโดยฮอลันดา ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาจนถึงยุคของซูฮาร์โต โดยเล่าผ่านมิตรภาพระหว่างชานนท์ เด็กชายชาวไทยและ วิชชา เด็กหญิงชาวอินโดนีเซีย ความสัมพันธ์ในวัยเด็กกลายเป็นความผูกพันและเป็นมิตรภาพที่ไม่อาจทำลายได้ เหมือนดังที่ตัวละครบอกว่า “ฉันจะฝันถึงเธอทุกคืนที่มีแสงดาว” ซึ่งมีการสอดแทรกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทางประวัติศาสตร์ เช่น ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นเข้ามาสร้างทางรถไฟสายมรณะที่เข้ามาในประเทศไทยก็ได้นำชาวอินโดนีเซียเข้ามาเป็นแรงงานด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้จึงจะเห็นได้ว่าประเทศเราประเทศเขาก็ล้วนมีความเกี่ยวพันกันทั้งสิ้น เหมือนที่คุณประภัสสรกล่าวไว้ว่า “ถึงเราไม่สนใจการเมือง แต่การเมืองจะมากระทบเราเสมอ” อันเป็นคติการทำงานที่ทำให้คุณประภัสสรสอดแทรกเรื่องราวเหตุการณ์ทางการเมืองเสมอเพื่อให้คนอ่านค่อยๆ ซึมซับ
แล้วกลับมาพบกับกิจกรรมดี ๆ เช่นนี้ได้ใหม่ในเดือนมีนาคมกับเรื่องลูกอีสาน ของคุณคำพูน บุญทวี
เพราะการอ่านไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในตำราเรียน…
Chestina Inkgirl
แหล่งข้อมูล
www.facebook.com/psevikul/?fref=ts
www.culture.go.th/thai/index.php?option=com_content&view=article&id=3195:2015-05-20-08-28-50&catid=34:news&Itemid=351
www.bloggang.com/mainblog.php?id=chomphak&group=11&month=06-10-2013&gblog=16