เมื่อโลกแห่งเทคโนโลยีหมุนไปอย่างรวดเร็ว แหล่งเรียนรู้อย่างห้องสมุดจะยังคงรักษาบทบาทและศักยภาพในการตอบสนองความกระหายใคร่รู้ของผู้คนรุ่นใหม่ในสังคมได้หรือไม่ อนาคตของห้องสมุดจะเป็นเช่นไรหากปรับตัวไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลง และห้องสมุดในอนาคตควรจะมีบทบาทอย่างไร สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park หน่วยงานในสังกัด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ เปิดเวทีเพื่อนำเสนอแนวคิดให้แก่ผู้คนในสังคมไทยเพื่อแสวงหาคำตอบร่วมกัน ในงาน TK Forum 2016 “นวัตกรรมห้องสมุดกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21” (Library Innovation and Learning in the 21st Century) จัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2559 เวลา 09.00-16.00 น. ณ ห้อง Meeting Room 3-4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นายราเมศ พรหมเย็น รักษาการรองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ เปิดเผยว่าการจัดประชุมสัมมนาวิชาการครั้งนี้ของทีเคพาร์คเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้เกิดสังคมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ โดยทีเคพาร์คได้จัดกิจกรรมประชุมวิชาการประจำปีมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ทางวิชาการด้านการอ่าน การส่งเสริมการอ่าน การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ โครงสร้างและระบบการเรียนรู้ ให้ผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนนักกิจกรรมทางสังคม สามารถนำความรู้ แนวคิดและข้อเสนอแนะจากการประชุมสัมมนา ไปเผยแพร่ต่อยอดขยายผลและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม
ด้าน คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา กรรมการบริหาร สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กล่าวว่าสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือทีเคพาร์ค เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ มีพันธกิจหลักในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ด้วยแนวคิด “ห้องสมุดมีชีวิต” เพื่อส่งเสริมให้เกิดนิสัยรักการอ่าน การแสวงหาความรู้ และการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ โดยหัวข้อของการประชุมวิชาการ TK Forum ในปีนี้ เกิดขึ้นจากการตระหนักถึงบทบาทของห้องสมุด ในยุคที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้พฤติกรรมการแสวงหาความรู้และการเรียนรู้เปลี่ยนแปลงไป จนดูเหมือนว่าบทบาทของห้องสมุดที่มีต่อสังคมกำลังลดน้อยลง และเกิดคำถามว่า ทำอย่างไรห้องสมุดจึงจะยังคงเป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อการพัฒนาคน และจำเป็นต้องดำรงอยู่ต่อไป ซึ่งการประชุมในวันนี้จะมาร่วมกันชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ในการพัฒนาห้องสมุด ที่สอดคล้องกับทักษะการเรียนรู้ของศตวรรษที่ 21 โดยมีผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง ด้วยหวังว่านี่อาจจะเป็นคำตอบต่อคำถามดังกล่าวได้
นายวัฒนชัย วินิจจะกูล หัวหน้าฝ่ายวิชาการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ เปิดเผยว่าประเด็นที่ตั้งโจทย์ไว้ใน TK Forum 2016 คือความท้าทายของห้องสมุด เพราะเมื่อเทคโนโลยีสารสนเทศเปลี่ยนแปลงก็ย่อมส่งผลกระทบอย่างมากต่อรูปแบบหรือวิธีการเข้าถึงความรู้ของคนทั่วไป ซึ่งทำให้ห้องสมุดต้องมีบทบาทที่เปลี่ยนไป
“เห็นได้อย่างชัดเจนแล้วว่าในเชิงนามธรรม จาก TK Forum 2015 ทุกคนน่าจะมองเห็นตรงกันจากการประชุมในครั้งที่แล้วว่าจากบทบาทเดิมของห้องสมุด จะต้องเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ ซึ่งในการประชุม TK Forum 2016 ครั้งนี้ จึงได้เชิญวิทยากรซึ่งเป็นกรณีตัวอย่างของหน่วยงานที่ลงมือปรับเปลี่ยนแปลงโฉมห้องสมุดในหลายประเทศ มานำเสนอแนวคิดและนวัตกรรมต่างๆให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม เชื่อมโยงความรู้ของโลกให้เข้ากับบริบทในสังคมไทย"
“ซึ่งไฮไลท์นอกจากจะมีไบรอัน แกมเบิลส์ อดีตผู้อำนวยการห้องสมุดเมืองเบอร์มิงแฮม ที่ได้รับการกล่าวขานถึงด้วยความชื่นชมจากสื่อทั่วโลก และเป็นห้องสมุดได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว มีผู้เข้าเยี่ยมชมและใช้บริการเกือบ 3 ล้านคนภายในปีแรก และคิมเบอร์ลี่ แมทธิวส์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการระบบห้องสมุดประชาชนไมอามี่-เด๊ด ซึ่งเป็นระบบห้องสมุดขนาดใหญ่อันดับที่ 7 ของสหรัฐแล้วนั้น ยังมีกรณีศึกษาจากบ้านใกล้เรือนเคียงของเราอย่าง เหงียน เลก ชอ ที่ปรึกษาคณะกรรมการห้องสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ (NLB) ซึ่งมองว่าห้องสมุดและหอจดหมายเหตุจะต้องสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อธำรงรักษาความเชื่อมโยงผูกพันกับผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เครื่องมือสืบค้นทางอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์สื่อสารแบบพกพากลายเป็นสิ่งแพร่หลาย เธอกำลังมีงานสำรวจและรวบรวมข้อมูล เพื่อเตรียมพัฒนานวัตกรรมบริการด้านดิจิทัลให้กับหอจดหมายเหตุแห่งชาติสิงคโปร์อีกด้วย โดยกรณีสิงคโปร์น่าสนใจมาก เพราะสิงคโปร์เตรียมบริการให้เข้าถึงข้อมูลผ่านอุปกรณ์ไร้สาย หรือ Mobile Device ตั้งแต่ประมาณ 5 ปีที่ผ่านมาเพราะพฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป ส่วนเรื่องการแปลงข้อมูลเป็นดิจิทัล การนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ เหล่านี้เกิดขึ้นมานานมากกว่า 10 ปี ทั้งสิ้น ล่าสุดที่สิงคโปร์กำลังดำเนินการคือการนำหุ่นยนต์มาใช้ในห้องสมุด”
นายวัฒนชัยกล่าวด้วยว่า TK Forum 2016 จะทำให้ผู้เข้าร่วมได้มองเห็นแนวโน้มในอนาคต และเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างได้มีประสิทธิภาพ โดยหวังว่าผู้ร่วมงานจะได้รับมุมมองใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ จากวิทยากรนานาประเทศ แล้วนำไปประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรมให้เข้ากับบริบทของห้องสมุดในแต่ละพื้นที่
ในงาน TK Forum 2016 “ Library Innovation and Learning in the 21st Century” มีหัวข้อการบรรยายและเสวนาที่น่าสนใจมากมาย อาทิ “Managing Innovative Personalities for Successful Library Innovation” โดย คิมเบอร์ลี่ แมทธิวส์ (Kimberly Matthews) ผู้ช่วยผู้อำนวยการห้องสมุดประชาชนไมอามี่-เด๊ด สหรัฐอเมริกา, “Future City, Future Library: Experiences and Lessons Learned from the Library of Birmingham” โดย ไบรอัน แกมเบิลส์ (Brian Gambles) อดีตผู้อำนวยการห้องสมุดเมืองเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักรและ “How to Develop and Promote Innovation in the Public Service: Case of Public Libraries in Singapore” โดย เหงียน เลก ชอ (Ngian Lek Choh), ที่ปรึกษาคณะกรรมการห้องสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ (NLB)