กล้าก้าวตามฝัน...เพราะคำตอบนั้นอยู่ที่ปลายทาง
การเดินทางคือการเรียนรู้ เชื่อว่าข้อความนี้คงเคยผ่านหูใครต่อใครมาแล้วทั้งนั้น โดยเฉพาะในยุคนี้ที่การเดินทางคนเดียวไปยังต่างแดน กลายเป็นเทรนการใช้ชีวิตที่ผู้คนใฝ่ฝัน ด้วยเหตุนี้ หนึ่งในกิจกรรมเสวนา Dream Maker ที่จัดขึ้นในโอกาสที่อุทยานการเรียนรู้ TK park ครบรอบ 11 ปี จึงได้นำ “นักเดินทางต่างวัย” 3 คน คือ กาญจนา พันธุเตชะ (ป้าแป๋ว) นัท ศุภวาที และ ภาณุ มณีวัฒนกุล มาร่วมพูดคุยภายใต้หัวข้อ Dream for Life-Long Learning: การเดินทางคือการเรียนรู้ เพื่อหาคำตอบการเรียนรู้จากการเดินทางที่แต่ละคนกล้าก้าวออกไป
“ป้าแป๋ว” กับคำตอบหลังการเดินทางหลังวัยเกษียณ
ป้าแป๋ว-กาญจนา พันธุเตชะ หญิงวัย 63 ปีที่ออกเดินทางไปต่างแดนเพียงลำพังตั้งแต่เกษียณอายุราชการ จุดเริ่มต้นของการเป็น Backpacker ของป้าแป๋วนั้น มาจากการชอบท่องเที่ยวตั้งแต่สมัยยังสาว แต่เป็นการเที่ยวในช่วงวันหยุดกับเพื่อนหรือครอบครัว เมื่อเกษียณอายุราชการจึงเริ่มต้นที่จะออกท่องโลกกว้างด้วยตนเอง ด้วยเหตุผลง่ายๆ หลายข้อว่า มีเวลา มีสุขภาพที่แข็งแรง มีความคล่องตัว มีแผนการเดินทาง และมีความต้องการที่จะไปเห็นร่องรอยประวัติศาสตร์ที่เคยเห็นแต่ในโทรทัศน์ หรืออ่านจากหนังสือ เหตุผลเหล่านี้เป็นคำตอบอย่างดีว่า ทำไมหญิงในวัยนี้จึงสามารถเดินทางคนเดียวได้โดยที่คนในครอบครัวไม่ขัดข้อง
ทริปแรกของป้าแป๋วเริ่มจากการเดินทางในประเทศ ตามจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ ก่อนจะขยับออกมาประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ ซึ่งเป็นประเทศที่ป้าแป๋วชอบมากที่สุดเพราะมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ก่อนจะเดินทางไปอีกหลายประเทศอย่าง มาเลเซีย เวียดนาม ญี่ปุ่น และมีแผนเดินทางไปรัสเซียในอีกไม่นาน
สำหรับคนในวัยนี้ การเดินทางเพียงลำพังจะต้องระมัดระวังตัวเองเป็นพิเศษ คือไม่เดินทางไปทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย อย่างป้าแป๋ว ที่มีเป้าหมายหลักเป็นพิพิธภัณฑ์และสถานที่ทางประวัติศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจกับเรื่องที่เคยเรียนรู้มา แล้วนำมาบอกเล่าการเดินทางผ่านไลน์ถึงครอบครัวและเพื่อน ก่อนที่ลูกชายจะนำไปบอกเล่าผ่านกระทู้ “แม่ผมเกษียณไปเป็น Backpacker” และล่าสุดคือเพจ “ป้าแบ็คแพ็ค” เพื่อเป็นแนวทางให้กับคนรุ่นเดียวกันที่จะทำตามความฝันด้วยการท่องเที่ยว
การเรียนรู้จากการเดินทางของป้าแป๋ว จึงเน้นไปที่การทำความเข้าใจกับเรื่องราวที่ผ่านมาเพื่อบอกต่อกับคนรุ่นต่อไป
อยู่ญี่ปุ่นอย่างหมาป่า (เพื่อกลับมาอย่างมีสุข)
88 วันในญี่ปุ่นผ่านโครงการวูฟ (WWOOF คือ โครงการที่ทำงานในฟาร์มเพื่อแลกที่พักและอาหารซึ่งมีอยู่เกือบทุกประเทศในโลก) ของ นัท ศุภวาที นักเขียนเจ้าของผลงาน “อยู่ญี่ปุ่นอย่างหมาป่า” เป็นการเดินทางครั้งยาวนานที่ทำให้เขาได้เรียนรู้อะไรมากมายโดยเฉพาะความสุขในชีวิต หลังจากที่นัทได้ใช้ชีวิตมนุษย์เงินเดือนมา 7 ปีเต็ม แล้ววันหนึ่งเขาก็ตัดสินใจลาออกจากงาน Copy Writer ที่มั่นคง เพื่อเดินทางไปเรียนรู้ความหมายของชีวิต ผ่านการทำงานที่ใช้แรงกายในฟาร์มแห่งหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น
แรงจูงใจสำคัญของนัท ไม่ใช่ความเบื่อหน่ายในงานที่ทำ แต่เพราะอยากไปเจอผู้คน และประสบการณ์ใหม่ๆ จากการได้ไปใช้ชีวิตร่วมกับคนในประเทศที่เขาชื่นชมในความตั้งใจและขยันขันแข็ง ที่นั่นทำให้นัทได้รู้จักคนญี่ปุ่นแบบแท้จริง และเลือกดึงข้อดีของพวกเขามาปรับใช้กับตัวเอง อย่างการตั้งใจจริงเวลาทำงาน การเรียนรู้สิ่งที่ชอบอย่างลึกซึ้ง และการได้ไปเจอนักท่องเที่ยวจากชาติต่างๆ ที่มีมุมมองการใช้ชีวิตที่หลากหลาย
เมื่อนัทกลับมาเมืองไทย หลายคนคิดว่าเขาคงอยากกลับมาเปิดฟาร์มใช้ชีวิตเรียบง่ายที่ต่างจังหวัด แต่เปล่าเลย นัทเลือกกลับไปทำงานเดิมที่เขาเคยทำก่อนลาออกมาใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น เพราะเขาได้คำตอบจากการเดินทางครั้งนี้แล้วว่า งานทุกงานต่างมีคุณค่าของตัวเอง และมีความยากลำบากที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นงานที่ตัวเองมีความถนัดคืองานที่เหมาะกับเขาที่สุด
88 วันในญี่ปุ่นทำให้อย่างน้อย เขาก็ได้เรียนรู้ที่จะกลับมาใช้ชีวิตการทำงานอย่างมีความสุขมากกว่าเดิมนั่นเอง
ชายผู้ออกเดินทางมาทั้งชีวิตเพื่อเข้าใจชีวิต
ภาณุ มณีวัฒนกุล หากค้นหาชื่อนี้ในเว็บไซต์เสิร์ชเอนจิน จะพบว่าเขาเป็นคนที่มากความสามารถ ทั้งการเป็นนักเขียน นักข่าว ช่างภาพ นักวิจารณ์ และนักเดินทาง ด้วยอาชีพสายสารคดีที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง เขาจึงได้ออกเดินทางไปยังที่ต่างๆ รอบโลก ค่อยๆ สะสมประสบการณ์ ความรู้ จนตกตะกอนออกมาเป็นงานเขียนและความเข้าใจชีวิต
จุดเริ่มต้นการเดินทางของภาณุเกิดจากความอยากไป ทั้งไปคนเดียวและไปเป็นกลุ่ม ก่อนเดินทางทุกครั้งเขาจะเตรียมทำการบ้านมาเป็นอย่างดี เพื่อให้ได้ตั๋วเดินทางและที่พักราคาประหยัด โดยการถามไถ่จากเพื่อนหรือชาวต่างชาติที่เคยไป และมักจะบุกเบิกไปยังสถานที่ที่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จัก อย่างเช่น อินเดีย จีน ซึ่งสมัยก่อนนั้นไม่เป็นที่นิยมมากเท่าปัจจุบัน จึงเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าท้าทายชีวิต ในการที่จะเดินทางไปสู่จุดหมาย เพื่อนำมาบอกเล่าผ่านตัวหนังสือและภาพถ่าย
สิ่งที่ภาณุชอบมากที่สุดระหว่างการเดินทาง คือการได้พบกับผู้คน การได้แบ่งปันประสบการณ์ของแต่ละฝ่าย ซึ่งคนเหล่านี้เขาบอกว่าคือหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างดีที่ทำให้เราได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตำราไม่ได้บันทึกไว้ สำหรับภาณุแล้ว การเดินทางทำให้เขาได้เรียนรู้วิธีการจัดการกับปัญหาต่างๆ แต่หากการเดินทางนั้นไม่ใช่การไปคนเดียว เขาก็จะได้เรียนรู้ถึงการแบ่งปันและอยู่ร่วมกันกับคนอื่น
แม้ว่าการเดินทางเพื่อการเรียนรู้ของทั้งสามคน จะไม่ได้มีเป้าหมายที่เหมือนกันเสียทีเดียว และพวกเขาต่างยืนยันว่าแม้จะชอบการเดินทาง แต่การเดินทางไม่ใช่หนทางเดียวที่เราจะใช้เรียนรู้ชีวิต แต่เป็นอีกหนึ่งทางหนึ่งที่จะทำให้ตอบคำถามที่วนอยู่ในความคิดเราได้
แล้ววิธีหาคำตอบของคุณคืออะไร
การเดินทางอาจเป็นหนึ่งในการเรียนรู้ที่สามารถพบคำตอบของชีวิตในช่วงเวลานี้ก็เป็นได้
พี่ตองก้า