เส้นทาง Startup เริ่มต้นไกลให้ถึงฝัน
จากกระแสของคนเจนวาย (Gen Y) หรือคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2523 - 2540 ที่พยายามหลุดจากกรอบของการทำงานในแบบเดิมๆ อย่างการเป็นพนักงานประจำ เพื่อออกมาสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือสิ่งยิ่งใหญ่ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนทำธุรกิจของตนเองหรือการทำอาชีพฟรีแลนซ์ ได้นำมาสู่อีกทางเลือกหนึ่งของสิ่งที่คนเจนวายฝันไว้ นั่นก็คือ Startup (สตาร์ทอัพ) การทำธุรกิจรูปแบบใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะนอกจากจะมีวิธีการระดมทุนโดยไม่ต้องลงเงินเองแล้ว โมเดลธุรกิจยังสามารถเติบโตได้แบบก้าวกระโดด และยังช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับโลกอีกด้วย
แต่แน่นอนว่าความฝันอันสวยหรูย่อมไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะการทำสตาร์ทอัพ มีอัตราเสี่ยงที่จะล้มเหลวมากกว่าประสบความสำเร็จ การศึกษาแนวทางของการทำสตาร์ทอัพที่ถูกต้องจากผู้ที่มีประสบการณ์จึงจำเป็นอย่างมาก
ในโอกาสฉลองก้าวสู่ปีที่ 11 อุทยานการเรียนรู้ TK park กับ กิจกรรมฉลองครบรอบ 11 ปี TK: Dream Maker จึงจัดเสวนาที่ชื่อว่า Startup อย่างไรให้ไปถึงฝัน โดย Techsauce ทีมผู้เชี่ยวชาญที่หลงใหลและคลุกคลีอยู่ในวงการสตาร์ทอัพอย่าง ชรัตน์ เพ็ชร์ธงไชย และ อรนุช เลิศสุวรรณกิจ ร่วมเสวนากับ เปรมวิชช์ สีห์ชาติวงษ์ เจ้าของและผู้ก่อตั้ง Storylog สตาร์ทอัพที่สร้างสรรค์พื้นที่แบ่งปันเรื่องราวและแรงบันดาลใจผ่านตัวหนังสือ ที่มาร่วมกันแนะนำแนวทางการทำสตาร์อัพให้ประสบความสำเร็จ ตามเส้นทางต่อไปนี้
ทำไม Startup จึงได้รับความนิยม
อาจกล่าวได้ว่าคนเจนวายเติบโตมาในยุคสร้างฝัน สื่อต่างๆ ได้ปลูกฝังในเรื่อง “ต้องไปให้ถึงฝัน” ไอดอลคนรุ่นก่อนอาจจะเป็นนักธุรกิจชื่อดัง แต่ในยุคนี้ก็อาจจะเป็นสตีฟ จ็อบส์, มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก, ต๊อบ เถ้าแก่น้อย คือเป็นคนที่ลุกขึ้นมาทำอะไรด้วยตัวเองจนประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นผลจากโลกที่เปิดกว้างขึ้น ไม่มีใครมาบอกให้ต้องทำทุกอย่างตามขั้นตอนแล้ว อีกประเด็นคือเรื่องของโอกาสในปัจจุบันที่เยอะขึ้นมาก ถ้าย้อนไปสักแปดเก้าปีที่แล้ว สมมติจะเปิดร้านขายของ ก็ต้องเช่าหน้าร้าน แต่สมัยนี้แค่ถ่ายรูปลงขายออนไลน์ โอกาสกว้างขึ้นมาก จริงๆ แล้วคนรุ่นก่อนก็มีที่อยากทำธุรกิจของตัวเองเหมือนกัน แต่ก็จะทำเมื่อผ่านประสบการณ์มาแล้วประมาณหนึ่ง แล้วถึงค่อยผันตัวมาทำธุรกิจ
เกิดเป็นคำถามว่า “ทำไมต้องทำแบบนี้ ฉันว่าแบบนี้ดีกว่า” จากผลสำรวจพบว่าคนเจนวายหรือเจนมิลเลนเนียล (Millennials) ในต่างประเทศ กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่จะอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ เพราะไม่ต้องมีเจ้านาย ไม่ต้องมีลูกน้อง บริหารจัดการทุกอย่างด้วยตนเองได้ และมีคุณสมบัติที่สำคัญก็คือ ‘Passion’ กับ ‘ความกล้า’ อยู่ในตัวเองสูงมาก ประจวบเหมาะกับสองสามปีหลัง เริ่มมีคำว่า ‘สตาร์ทอัพ’ ขึ้นมาพอดี คนรุ่นใหม่จึงมองว่าอาจเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ของตัวเองได้
Startup คืออะไร
แนวคิดของการทำสตาร์ทอัพเกิดจากการที่เราไปเจอปัญหา แล้วอยากจะเข้าไปแก้ปัญหานั้น ไม่ใช่การขายของออนไลน์ และไม่ได้จบแค่การแก้ปัญหา แต่สตาร์ทอัพยังต้องมองต่อไปว่าสิ่งที่แก้ปัญหาแล้ว จะสร้างรายได้จากการแก้ปัญหาอย่างไรด้วย ต้องมองทั้งในแง่การแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้ และในแง่การสร้างธุรกิจของตัวเอง
ยกตัวอย่างเช่น GrabTaxi เป็นหนึ่งในธุรกิจสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ จุดเริ่มต้นมาจากคนที่เดินทางด้วยแท็กซี่บ่อยๆ สิ่งหนึ่งที่รู้สึกกังวลว่าการโดยสารจะปลอดภัยแค่ไหน คืออยากได้อะไรที่มารับรองในระดับหนึ่งว่าคนขับคนนี้จะไม่น่ากลัว อีกสิ่งคือการที่แท็กซี่ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น จนกระทั่งวันหนึ่ง มีคนเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องการเรียกรถแท็กซี่ผ่านแอพลิเคชัน
อีกตัวอย่างคือ ทุกคนเคยเจอปัญหาตอนพักเที่ยง ไม่รู้จะทานอะไรดี ก็เลยมีแอพลิเคชันที่เป็นแพลตฟอร์มแนะนำร้านอาหารที่อยู่ใกล้ๆ ชื่อ Wongnai โดยการเปิดให้เจ้าของร้านมาใส่ข้อมูลเกี่ยวกับร้านอาหาร เพื่อให้คนทั่วไปเข้ามารีวิวร้านที่เคยไปทานมาได้
หรืออย่าง Storylog เป็นพื้นที่ให้คนมาเขียนคอนเทนต์ของตัวเองได้ ซึ่งเกิดจากความรักในการเขียนของคุณเปรมวิชช์ โดยมีรูปแบบที่ง่ายที่สุด เพื่อให้คนอยากเขียนเข้ามาเขียน มีระบบจัดเก็บให้อย่างดี และสามารถจัดเก็บบันทึกความทรงจำแล้วแชร์ต่อให้คนอ่านได้ แตกต่างจากเฟซบุ๊กที่ผ่านไปไม่นานก็จะหายไปในไทมไลน์ ยากแก่การค้นหากลับมาอ่าน
ทั้งสามตัวอย่างนี้เป็นสิ่งที่ช่วยพิสูจน์ได้ว่า การทำสตาร์ทอัพไม่จำเป็นต้องสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งปัญหานั้นอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นปัญหาใหญ่โตระดับโลกก็ได้ แต่เป็นปัญหาที่ทุกคนรู้สึกว่า ถ้ามีทางออกขึ้นมา ทุกคนก็พร้อมจะใช้นั่นเอง
ไอเดียในการทำ Startup มาจากไหน
ในการเริ่มต้นทำสตาร์ทอัพนั้นมีลำดับขั้นตอนที่สำคัญอย่างแรกเลย นั่นคือการหาไอเดียในการสร้างผลิตภัณฑ์ โดยมีที่มาของไอเดียอยู่ 3 รูปแบบคือ
1.พบเจอปัญหาด้วยตนเอง และนำมาต่อยอดเป็นไอเดีย
2.พบเจอปัญหาจากคนรอบๆ ตัว และนำมาต่อยอดเป็นไอเดีย
3.มีไอเดียที่คนทำอยู่แล้ว แต่ยังแก้ปัญหาไม่ถูกจุด จึงนำมาพัฒนาต่อ
ซึ่งไอเดียการทำซ้ำตามข้อ 3 มักเป็นสิ่งที่คนเข้าใจผิด อย่าง Facebook ก็ไม่ใช่โซเชียลเน็ตเวิร์กเจ้าแรก ก่อนหน้านี้ก็มี HI5 และ My Space แต่ Facebook เป็นเจ้าเดียวที่โดดเด่นขึ้นมา แม้ไม่ใช่เจ้าของไอเดียใหม่ แต่กลับตอบโจทย์ได้มากที่สุด หรืออย่างในต่างประเทศก็มีไอเดียที่คล้ายกับ Wongnai อยู่ เราแค่ดูไอเดียจากต่างประเทศแล้วมาศึกษาว่ามีโอกาสเกิดขึ้นในตลาดบ้านเราได้ไหม ถ้าเราหาช่องว่างตรงนั้นเจอ ก็สามารถทำบางอย่างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ได้เหมือนกัน ซึ่งไม่ใช่การลอก แต่คือการปรับและพัฒนาให้เข้ากับประเทศของเรา
ปัจจัยในการทำ Startup สู่ความสำเร็จ
เพราะการทำธุรกิจสตาร์ทอัพไม่ใช่การลงมือทำทุกอย่างเพียงคนเดียว จึงจำเป็นต้องหา ‘เพื่อนร่วมทีม’ ในตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ทั้งโปรแกรมเมอร์ นักการตลาด นักออกแบบ นักบัญชี และอีกหลายหน้าที่ ไม่ต่างกับการตั้งบริษัทขนาดย่อมขึ้นมา
หลายคนที่เริ่มต้นทำสตาร์ทอัพมักจะมีปัญหาในการหาเพื่อนร่วมทีมหรือ Co-founder จากประสบการณ์ตรงของคุณเปรมวิชช์ที่ริเริ่มทำ Storylog เพียงคนเดียว แล้วจึงเริ่มหาทีมด้วยการออกไปพบปะผู้คนตามอีเวนต์สตาร์ทอัพต่างๆ หรือที่เรียกว่า Startup Weekend เป็นการรวมตัวกันของคนที่เก่งด้านโปรแกรม ด้านการตลาด และด้านออกแบบ มาอยู่รวมกัน จากคนที่ไม่เคยเจอหน้ากันมาก่อนก็มาเจอกันในงานนี้ ถ้าสนใจกันก็ร่วมกันพัฒนาโปรเจกต์ให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา รวมไปถึงการพบเจอกันใน Co-working space พื้นที่การทำงานรูปแบบใหม่ที่เหล่าคนทำสตาร์ทอัพมักใช้เป็นสถานที่ทำงาน
คุณเปรมวิชช์กล่าวว่าการหา Co-founder ยากกว่าหาแฟน คบแฟนสองเดือนแล้วไม่ชอบยังบอกเลิกได้ แต่ Co-founder ต้องทำงานด้วยกันไปตลอด ซึ่งเขาต้องใช้เวลากว่าหนึ่งปีในการหาทีมที่ใช่เลยทีเดียว เพราะไม่ว่าเราจะเก่งทางด้านไหนเป็นพิเศษ ก็จำเป็นต้องมีเพื่อนร่วมทีมทีเก่งด้านอื่นมาช่วยกันอยู่ดี เพราะก่อนที่จะเอาผลิตภัณฑ์ไปขายลูกค้า ต้องขายคอนเซปต์ให้ทีมเห็นร่วมกันก่อน เพื่อที่จะร่วมแรงร่วมใจสร้างงานขึ้นมาได้ นับเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
‘เงินทุน’ คืออีกหนึ่งปัจจัยหลักที่สำคัญในการทำธุรกิจ และสำหรับการทำสตาร์ทอัพเอง เงินทุนกลายเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องลงเองทั้งหมด เพราะมีแหล่งเงินทุนที่มาจากนักลงทุน โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ VC (Venture Capital) คือบริษัทร่วมลงทุนหรือนักลงทุนรายใหญ่ และ Angel Investor นักลงทุนอิสระที่พร้อมรับความเสี่ยงได้สูง ซึ่งกว่าจะได้เงินก้อนนี้มาลงทุนต้องผ่านการ Pitch Idea หรือการขายไอเดียของโมเดลธุรกิจเพื่อจูงใจให้นักลงทุนเห็นว่าโมเดลธุรกิจของเราสามารถทำกำไรหรือเติบโตต่อไปได้ จึงจะร่วมลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่สามารถสร้างรายได้ในทันที เหมือนเป็นการขายจิตวิญญาณของตัวเองให้คนอื่นรับรู้ ว่าสิ่งที่เราอยากจะทำคืออะไร และภาพในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป
ถ้าหากใครได้ศึกษาเรื่องสตาร์ทอัพอย่างจริงจัง จะเห็นว่ารายได้จากการทำสตาร์ทอัพสูงถึงหลักหลายสิบล้านบาท แต่จริงๆ แล้วเปอร์เซ็นต์ของสตาร์ทอัพที่ไม่ประสบความสำเร็จสูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว จึงไม่ควรไปโฟกัสที่เรื่องเงิน ให้มุ่งมั่นสร้างผลิตภัณฑ์ให้ดีก่อนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าก่อน เมื่อได้เสียงตอบรับที่ดีจากลูกค้าแล้ว ถึงเวลานั้นจะก็มีนายทุนมาเสนอเงินทุนให้กับเรา และรายได้จำนวนมหาศาลจะตามมาเอง
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย