รู้จักจุลินทรีย์ สิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วที่อยู่ใกล้ตัว
บนโลกใบนี้ล้วนมีสิ่งมีชีวิตมากมายที่เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ไม่ว่าจะมนุษย์ด้วยกันเองหรือสัตว์ชนิดต่างๆ ที่ต่างพึ่งพาอาศัยและใช้ชีวิตร่วมกันเป็นวัฏจักร แต่รู้หรือไม่ว่า ยังมีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อีกมากมายที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่กลับมีชีวิตอาศัยอยู่ร่วมกับเราได้อย่างกลมกลืน
จุลินทรีย์ (Microorganism) คือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มีทั้งเซลล์เดียวและหลายเซลล์ มีองค์ประกอบของเซลล์ไม่ซับซ้อน แตกต่างจากเซลล์ของสิ่งมีชีวิตชั้นสูงอย่างมนุษย์หรือสัตว์ที่มีความซับซ้อน จุลินทรีย์ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตและก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) และมีบทบาทสำคัญมากต่อวัฏจักรต่างๆ ของโลกใบนี้
เพื่อเป็นการทำความรู้จักกับสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วนี้มากขึ้น อุทยานการเรียนรู้ TK park จึงได้จัดกิจกรรม นิทรรศการโลกใบจิ๋วของจุลินทรีย์ เรียนรู้เรื่องราวของจุลินทรีย์ผ่านนิทรรศการและการทดลองแสนสนุก พร้อมด้วยวิทยากรนักวิทยาศาสตร์มาให้ความรู้แบบใกล้ชิด
และหนึ่งในวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านจุลินทรีย์อย่าง แก่นพงศ์ บุญถาวร นักศึกษาปริญญาเอก หลักสูตรนานาชาติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้มาให้สัมภาษณ์ถึงที่มาของกิจกรรมในครั้งนี้ พร้อมไขข้อข้องใจว่าทำไมมนุษย์อย่างเราต้องทำความรู้จักกับสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อย่างจุลินทรีย์
มนุษย์เริ่มต้นค้นพบจุลินทรีย์ได้อย่างไร
ประวัติศาสตร์ของเรื่องชีววิทยายาวนานมาก แต่มาบูมจริงๆ ตอนที่มนุษย์ประดิษฐ์สิ่งที่เรียกว่า กล้องจุลทรรศน์ ทำให้เราค้นพบว่าสิ่งที่เรามองไม่เห็น จริงๆ แล้วยังมีสิ่งมีชีวิตอะไรมากมายเต็มไปหมด เพราะฉะนั้นไอเดียแรกของการเกิดคำว่า จุลินทรีย์ คือการเกิดขึ้นของกล้องจุลทรรศน์นั่นเอง ซึ่งตอนนี้ก็ยังเป็นเครื่องมือที่สุดตัวหนึ่งของวงการชีววิทยา ซึ่งวงการชีววิทยาสมัยก่อนจะใช้คำว่า ธรรมชาติวิทยา คือศึกษาต้นไม้และสัตว์ที่มองเห็น แต่พอเรามีเครื่องมีที่ดีขึ้นอย่างกล้องจุลทรรศน์ ทำให้เราศึกษาอะไรที่เล็กลงได้ เราค้นพบเซลล์ ค้นพบจุลินทรีย์ กล้องจุลทรรศน์จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของวงการชีววิทยาจริงๆ กล้องก็มีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จากการใช้แสงก็เปลี่ยนเป็นใช้อิเล็กตรอนแทน เพื่อให้เรามองเห็นสิ่งที่เล็กลงไปได้มากขึ้น การศึกษาจุลินทรีย์เป็นคำตอบแรกของการศึกษาชีววิทยา หรืออย่างสาขาอื่นๆ ที่ต่อยอดมาจากชีววิทยาอย่างสาขาการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารก็มีการศึกษาจุลินทรีย์เช่นเดียวกัน
ทำไมเราต้องทำความรู้จักกับจุลินทรีย์
เพราะจุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ใกล้ตัวเรามาก ซึ่งมีทั้งมุมที่ดีและไม่ดี ทุกคนเคยเป็นหวัด เราเคยเป็นโรคนั้น โรคนี้ ซึ่งเราทุกคนกลัว สัตว์ทุกชนิดจะมีนักล่าและมีศัตรูทางธรรมชาติ แต่มนุษย์ตอนนี้กลับไม่มีศัตรูทางธรรมชาติแล้ว ศัตรูจริงๆ ของมนุษย์คือมนุษย์เองกับจุลินทรีย์หรือเชื้อโรคพวกนี้ ซึ่งการที่เราจะรักษาและป้องกันได้ เราต้องรู้จักมันก่อน ส่วนวงการอาหารเราก็ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มองไม่เห็นเหล่านี้เป็นหลัก อย่างขนมปัง ต้องอาศัยเชื้อราชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ยีสต์ ในการทำ โยเกิร์ตต้องใช้แบคทีเรียที่เรียกว่าแลคโตบาซิลลัส ถั่วหมักของญี่ปุ่น กิมจิของเกาหลี เต้าเจี้ยวของจีน บ้านเราก็มีปลาร้า ข้าวหมาก หรือของกินที่มาพร้อมกับประวัติศาสตร์ของมนุษย์ตั้งแต่อียิปต์โบราณ นั่นคือการหมักดอง ที่เป็นการเปิดประตูใหม่ของการทำอาหาร ก็ล้วนแล้วแต่พึ่งพาจุลินทรีย์นี้ในการปรุง และตอนนี้การศึกษาจุลินทรีย์แทบจะครอบคลุมทุกกลุ่มของการศึกษาสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่คนและพืช การศึกษาตรงนี้จะกว้างมาก ทั้งในมุมรักษาโรคและการใช้ประโยชน์ด้านอาหาร
การรู้จักกับจุลินทรีย์ส่งผลดีต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของเราอย่างไร
ถ้ามองในมุมปกติอาจจะรู้สึกเหมือนไม่ส่งผลหรือไม่รู้จักมาก่อนเลยก็สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ แต่ถ้าเรารู้จักดีทำให้เรารู้ข้อมูลบางอย่างที่เป็นประโยชน์ได้ อย่างการรู้ว่าทำไมเชื้อโรคถึงเข้าร่างกายได้และเราจะรักษาด้วยวิธีไหน เวลาเราไปซื้อยา จะพบว่ามีความเชื่อแปลกๆ ที่พบเจอในอินเทอร์เน็ต แต่ถ้าเรารู้ว่าอาการแบบนี้ วิธีการรักษาไม่น่าใช่แบบนี้นะ เราก็สามารถเลือกวิธีที่ทำให้ชีวิตเราดีขึ้นได้ หรืออย่างการซื้ออาหารหมักดอง ถ้าเรารู้ว่าทำมาจากแบคทีเรียประเภทไหน กระบวนการทำเป็นอย่างไร ทำให้เราสามารถรู้ว่ามาตรฐานการผลิตน่าเชื่อถือไหม หรือแม้กระทั่งเวลาเราทำอาหารที่นำไปสู่การประกอบธุรกิจ บางทีเราก็ต้องรู้ด้วย อย่างการทำขนมปังจะเลือกยีสต์แบบไหนหรือพันธุ์ไหนที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าได้ การรู้ข้อมูลพวกนี้มากทำให้เกิดประโยชน์ เพราะธุรกิจมีอะไรมากกว่าแค่การขาย เราสามารถมองในมุมลึกลงไปอีกได้ เป็นทางเลือกในการพัฒนาได้
จุลินทรีย์ในร่างกายของเราส่งผลต่อเราขนาดไหน
ในร่างกายของเราจะมีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อยู่กับเราเสมออยู่แล้ว เขามีคุณประโยชน์กับเราอยู่สองอย่าง อย่างแรกที่เคยรู้กันมาว่าในสำไส้ถ้ามีแบคทีเรียจะเพิ่มวิตามินบี 12 หรือวิตามินเคได้ เพราะจริงๆ เราไม่สามารถย่อยได้ทุกสารอาหาร แต่จุลินทรีย์บางประเภทจะผลิตเอนไซม์ที่จะช่วยให้เราสามารถดึงคุณประโยชน์ของสารอาหารได้มากขึ้น และสอง จุลินทรีย์บางประเภทเขาจะมาแค่กินตามผิวเรา ไม่สามารถจะก่อโรคได้ เราก็อยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข แต่ถ้ามีตัวอื่นพยายามจะเข้ามา พวกเขาจะหลั่งสารบางอย่างออกมาเพื่อปกป้องตัวเองอยู่แล้ว เหมือนเป็นเจ้าของบ้าน ซึ่งก็เป็นคุณประโยชน์กับเราเหมือนกัน
เราจะเริ่มต้นศึกษาจุลินทรีย์ได้อย่างไร
มีหนังสือดีๆ และข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตมากมายให้อ่าน แต่การเรียนรู้จากหนังสืออย่างเดียวก็ยังยากอยู่ เพราะในประเทศไทยเองมีสื่อวิทยาศาสตร์ยังไม่เยอะมาก ถ้ามีก็เป็นวิชาการลึกๆ จึงต้องลงมือปฏิบัติด้วย ผมกำลังเผยแพร่ไอเดียเกี่ยวกับอุปกรณ์ราคาถูกให้เด็กๆ สามารถทำเองที่บ้านได้ แทนที่จะทำให้กล้องจุลทรรศน์ดีขึ้น แต่เรากลับทำให้ดีเกือบเท่าเดิม แต่ราคาถูกลง เพื่อให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น ส่วนใหญ่กล้องทั่วไปก็ราคาหลักหมื่นหรือถ้าแบบติดกล้องสำหรับถ่ายรูปได้ก็เป็นแสน ตรงนี้เป็นปัญหาสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก เพราะแต่ละโรงเรียนก็มีงบประมาณไม่เท่ากัน บางโรงเรียนมีกล้องแค่ตัวสองตัว เวลาดูแทบไม่มีโอกาสได้สังเกตรายละเอียด เราเลยเกิดไอเดียที่จะหาอุปกรณ์ราคาไม่แพง แต่สามารถใช้ทดแทนกันได้ อย่างกล้องมาโครที่ให้ลองประดิษฐ์นี้ แน่นอนว่ามันทดแทนกล้องจุลทรรศน์จริงๆ ไม่ได้ แต่สามารถเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ศึกษาด้านนี้ ถ้าเด็กๆ มาลองถ่ายและส่งข้อมูลเหล่านี้ไปอยู่ในฐานข้อมูล นักวิจัยก็สามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้โดยที่ไม่ได้ต้องลงไปถ่ายเอง หรืออย่างนิทรรศการและการจัดเวิร์คช็อปในครั้งนี้ก็เป็นผลดีมาก การให้คนที่มีความรู้ด้านการสื่อสารหรือพวกนักออกแบบศิลปินเข้ามาเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์เพื่อร่วมกันออกแบบสื่อการเรียนรู้ ต่อไปการเรียนรู้วิทยาศาสตร์จะง่ายขึ้น การเรียนรู้ของเด็กจะไม่มีปัญหาอีกต่อไป
วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย