ดีด สี ตี เป่า บรรเลง เพลงอาเซียน
ดนตรีเป็นศาสตร์และศิลป์อย่างหนึ่งที่ผูกติดกับวิถีชีวิตของมนุษย์เรามายาวนาน ทั้งยังเป็นสื่อกลางสำหรับความสัมพันธ์ กล่าวอีกนัยคือเป็นภาษาสากลให้คนที่พูดคนละภาษาเข้าใจถึงกันได้ และเพื่อเป็นการต้อนรับเข้าสู่ประชาคมอาเซียน TK park ได้จัดกิจกรรม “TK park Music ed. 2015 : ASEAN Melodies” ด้วยการพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับดนตรีของประเทศอาเซียน พร้อมบรรยายและสาธิตเครื่องดนตรีอาเซียน โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ปัญญา รุ่งเรือง คณบดี คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ผู้ทำวิจัยหัวข้อ "ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับดนตรีในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์"
เริ่มเปิดรายการดนตรีอาเซียนโดยผู้ดำเนินรายการ เกริ่นถึงความสำคัญของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนว่า ประกอบไปด้วยปัจจัยหลักๆ หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง และสุดท้าย’ศิลปวัฒนธรรม’ โดยย้ำว่าดนตรีเป็นตัวเชื่อมที่ดีที่สุดในการอยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้ ไม่เฉพาะอาเซียน เพราะดนตรีคือภาษาที่ไม่ต้องการคำพูดใดๆ
ต่อมา รองศาสตราจารย์ ดร.ปัญญา รุ่งเรือง เริ่มต้นบรรยายถึงเครื่องดนตรี “อย่างที่ทราบกันดีว่าอาเซียนประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย, กัมพูชา, บรูไนดารุสซาลาม, พม่า, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, ลาว, สิงคโปร์, เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งเพิ่งมารวมกันตัวกันไม่นานนี้ แต่จริงๆ นั้นดนตรี เป็นวัฒนธรรมที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อน ที่สำคัญเลยก็คือ ภูมิเอเชียของเราเต็มไปด้วยวัฒนธรรมหลากหลายมากที่สุดในโลก เพราะฉะนั้นดนตรีก็มีความหลากหลายมากที่สุดในโลก บางอย่างไทยเราได้รับอิทธิพลจากเพื่อนบ้าน เช่นเดียวกันเครื่องดนตรีของประเทศเพื่อนบ้านก็ได้รับอิทธิพลจากไทย”
เมื่อพูดถึงประเภทเครื่องดนตรีในแถบอาเซียน อ.ปัญญา อธิบายเพิ่มเติมว่า เต็มไปด้วยเครื่องดนตรีที่เกิดขึ้นจากพืชพันธ์ธรรมชาติ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ ประเภทโลหะ (ฆ้อง,ระนาด) และประเภทไม้ไผ่ เป็นหลัก พร้อมสาธิตเครื่องดนตรีไม้ไผ่ของประเทศลาวเป็นประเทศแรก นั่นก็คือ ‘จ๊องหน่อง’ ทำจากไม้ไผ่ เวลาดีดต้องสอดคาบไว้ในปาก ให้กระพุ้งแก้มทำหน้าที่เป็นกล่องเสียง
สำหรับเครื่องเป่ามีอยู่หลากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชาที่นิยมเป่าขลุ่ย หรือประเทศอินโดนีเซียก็มี ‘ซูลิง’ เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าลักษณะคล้ายขลุ่ย ทำจากไม้ไผ่ ใช้ผสมผสานเพื่อบรรเลงประกอบการขับร้องต่างๆ รวมไปถึงเครื่องเป่าอีกชนิดหนึ่งอย่าง ‘แคนน้ำเต้า’ สามารถพบได้ในอาเซียนหลายประเทศ ทั้งลาว พม่า กัมพูชา เป็นต้น
ส่วนเครื่องดนตรีไม้ไผ่ประเภทเขย่า อ.ปัญญา ยกตัวอย่าง ‘อังกะลุง’ ของประเทศอินโดนีเซียที่ใช้เล่นตั้งแต่สมัยโบราณ ต่างจากอังกะลุงไทย เพราะทำจากท่อไม้ไผ่ 2 ชิ้นแนบกันโครงไม้ไผ่ท่อ เวลาเขย่าจะเกิดเสียงก้องกังวาน แต่ละอันจะมีเพียงโน้ตเดียว ใช้แสดงเป็นกลุ่ม เพื่อเกิดเป็นทำนองขึ้นมา
มาถึงเครื่องสาย อ.ปัญญา หยิบ ‘ซอรือบับ’ ของอินโดนีเซียขึ้นมาสาธิตเป็นชิ้นแรก รูปร่างจะคล้ายกับซอสามสายของไทย ใช้บรรเลงเดี่ยวและบรรเลงประกอบการขับร้อง ส่วนซอสามสายไทยเรา มีตั้งแต่สมัยสุโขทัย เป็นเครื่องดนตรีชั้นสูงสมัยโบราณจำพวกเครื่องสายที่มีขนาดใหญ่กว่าซอด้วง และมีลักษณะพิเศษกว่าคือรูปร่างสวยงามกว่าซอชนิดอื่น มีสามสาย คันชักอิสระ กะโหลกซอมีขนาดใหญ่ มีเสียงไพเราะ นุ่มนวล
ไม่เพียงแค่สาธิตวิธีการเล่นเครื่องดนตรี แต่ อ.ปัญญา ยังร่วมทำการแสดงพิเศษ ด้วยการผสมผสานระหว่างเครื่องดนตรีไทยกับอาเซียน นำโดย อ.พารณ ยืนยง หัวหน้าภาควิชาดนตรีไทยและดนตรีตะวันออก คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับเลือกเป็นตัวแทนนักดนตรีไทยไปแสดงในคอนเสิร์ต ‘One Asia’ ร่วมกับศิลปินญี่ปุ่นและอาเซียน ณ ประเทศกัมพูชา
เริ่มจากเพลงเต้ยรำพึงและพม่ารำขวาน ของประเทศพม่า ต่อมาเป็นเพลงดวงจำปา ของประเทศลาว ก่อนจะเล่นเพลงบูรงกากา ประเทศอินโดนีเซีย พร้อมเชิญชวนผู้ฟังร้องตามไปพร้อมๆ กันอย่างสนุกสนานจนครบทุกประเทศกลุ่มอาเซียน
นอกจากนี้ อ.ปัญญา ยังสาธิตเครื่องดนตรีของประเทศเวียดนามที่ตัวเองเพิ่งศึกษาล่าสุด นั่นก็คือ ‘แดนเปา’ พิณน้ำเต้าสายเดี่ยวแบบโบราณ และด้วยสุ่มเสียงอันไพเราะ มีเสน่ห์ ทำให้ชาวเวียดนามนิยมเล่นแดนเปากันมาก จนมีคำกล่าวว่า ให้ผู้หญิงระวังผู้ชายที่เล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้ เพราะอาจทำให้ตกหลุมรักได้โดยไม่รู้ตัว
บรรยากาศภายในกิจกรรมครั้งนี้ อบอวลไปด้วยเสียงดนตรีพื้นบ้านนานาประเทศที่คอยขับกล่อมผู้ร่วมกิจกรรม ได้รับความรู้ สนุกสนาน ตลอดจนมอบความอิ่มเอมใจให้กับผู้ร่วมกิจกรรม ได้หอบความสุขกลับบ้านไปพร้อมความรู้เกี่ยวกับเครื่องดนตรีพื้นบ้านที่หาชม หาฟังได้ยาก
สำหรับท่านไหนที่สนใจอยากร่วมกิจกรรมดนตรีดีๆ แบบครั้งนี้ TK park Music Ed จัดขึ้นทุกสุดสัปดาห์สุดท้ายของเดือน สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่เว็บไซต์ www.tkpark.or.thและ www.facebook.com/tkparkclub